Skip to main content

แม้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในทุกๆปีจะเป็นหนึ่งในงานที่มีเงินสะพัด และหนังสือจำนวนไม่น้อยย้ายสัมโนครัวจากร้านหนังสือไปอยู่ในมือนักอ่าน แต่ในช่วงเวลานอกจากนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า ผู้คนใช้เวลาบนหน้ากระดาษน้อยกว่าหน้าจอลงไปมากสังเกตได้จากร้านหนังสือหลายแห่งที่ทยอยปิดตัวไป ไม่เว้นแม้ร้านแฟรนไชส์เจ้าดังที่ขายตามห้าง ความซบเซาของธุรกิจหนังสือทำให้มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่อำเภอเมืองพัทลุงไม่มีร้านหนังสือให้บริการแม้แต่ร้านเดียว แต่ราวห้าเดือนก่อน แด็กซ์กวีหนุ่มชาวพัทลุงที่พลัดถิ่นไปอยู่ดินแดนล้านนาชั่วเวลาหนึ่งตัดสินใจบินกลับรังมาเปิดร้านหนังสืออิสระที่จังหวัดบ้านเกิด ทำให้เมืองพัทลุงกลับมามีร้านหนังสือให้บริการชาวเมืองผู้หิวกระหายกลิ่นน้ำหมึกอีกครั้ง

Swiftlet Bookshop & Coffee หรือ ร้านหนังสือนกนางแอ่นซ่อนตัวอยู่บนถนนช่วยทุกขราษฎร์หลังวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง แม้ร้านจะเป็นเพียงห้องแถวเล็กๆ แต่ก็อัดแน่นด้วยหนังสือและข้าวของต่างๆไม่เว้นแม้ประตูร้านที่อัดแน่นไปด้วยสติกเกอร์ ในวันที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนไปเยี่ยมเยียนที่ร้าน เราไม่ใช่แขกกลุ่มเดียวที่แวะมาเยี่ยมเยียนหากแต่มีหนุ่มสาวอีกสองคนใช้บริการในมุมหนึ่งของร้านที่มีป้าย "รับซื้อบทกวี" ติดไว้บนฝาผนัง หลังแดกซ์ เจ้าของร้านเสร็จสิ้นจากการดริปกาแฟให้ลูกค้า พิพิธภัณฑ์สามัญชนก็ชวนเขามานั่งพูดคุยถึงความคิดความฝันในการเปิดร้านหนังสืออิสระแห่ง ด้วยความหวังจะให้เป็นพื้นที่สาธารณะเล็กๆที่ชาวเมืองโดยเฉพาะบรรดาเยาวรุ่นมีโอกาสมาเสพย์ตัวหนังสือ จิบกาแฟ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ     

จากแดนใต้สู่ดินแดนล้านนา

"เรื่องเปิดร้านหนังสือนี่ไม่ใช่ความฝันของผมหรอก จริงๆแล้วผมฝันจะเป็นนักเขียน แต่ประเทศนี้เป็นนักเขียนอย่างเดียวคงอยู่ไม่รอด"

แด็กซ์เล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าสู่แวดวงน้ำหมึกและกวีว่า เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเก็บกระเป๋าขึ้นไปเรียนที่คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 59

"ตอนขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพ ผมเริ่มสนใจงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต ของพวกแมกซิม กอร์กี หรือจอห์น สไตน์เบ็ค แต่ตอนหลังก็มาเริ่มสนใจงานกวีที่ผมรู้สึกว่า เป็นวิธีการสื่อสารที่สั้น กระชับ แต่ก็มีภาษาที่สละสลวย"

"พอเริ่มมาสนใจงานวรรณกรรม งานกวี ผมก็เริ่มซื้อ เริ่มสะสมหนังสือ แล้วก็เริ่มไปร่วมกิจกรรมต่างๆ จนบังเอิญไปเจอเพื่อนที่เรียนรามด้วยกัน เราก็เลยมาจับกลุ่มพูดคุยเรื่องหนังสือที่มหาลัย แต่ก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่เป็นทางการอะไร แค่จับกลุ่มคุยตามใต้ต้นไม้บ้าง ริมสระน้ำบ้าง"

หลังเรียนจบในปี 2562 แดกซ์ให้เวลาค้นหาตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนตัดสินใจกลับไปทำงานในร้านกาแฟที่จังหวัดบ้านเกิดสองแห่ง แต่ทำได้ไม่นานก็ตัดสินใจลาออกมา ในช่วงปี 2563 แด็กซ์ยังไปๆมาๆระหว่างบ้านเกิดที่พัทลุงกับกรุงเทพ จนได้มีโอกาสแวะเวียนไปร่วมการชุมนุมเพื่อเก็บเรื่องราวมาแต่งบทกวีตามโอกาส ก่อนที่ในปี 2564 สายลมจะพัดพาให้นกนางงแอ่นจากแดนใต้ผู้นี้ไปสู่เมืองนครพิงค์เชียงใหม่

"ช่วงปี 63 ผมก็ไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพกับพัทลุง จนมีโอกาสเข้าไปร่วมการชุมนุมเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้ไปเป็นแกนนำหรือจัดตั้งอะไร แค่ไปสังเกตการณ์แล้วก็หาวัตถุดิบหาเรื่องราวมาเขียนบทกวี พอถึงปี 64 ก็มีเพื่อนที่เป็นกวีชวนไปเที่ยวไปอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากงานที่ร้านกาแฟในพัทลุงได้ไม่นาน พอเพื่อนชวนผมก็บอกกับที่บ้านว่าจะขอไปเที่ยวเชียงใหม่ ทีแรกก็ตั้งใจแค่ไปเที่ยวหาเพื่อนระยะสั้นๆแต่ไปๆมาๆก็อยู่ที่นั่นไปเจ็ดแปดเดือน"

เมื่อฝุ่นมาก็ถึงเวลากลับบ้าน

"ตอนไปอยู่ที่เชียงใหม่ผมก็ยังไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้หาประสบการณ์ใหม่ๆให้ชีวิต ได้ไปม็อบที่นั่น อย่างตอนที่มีกรณีอาจารย์เอาโซ่ไปคล้องหอศิลป์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผมก็อยู่ด้วย แล้วก็ได้ไปเข้าค่ายเสริมความรู้ประเด็นทางการเมืองให้ตัวเอง ตอนหลังเพื่อนก็แนะนำว่าผมเคยชงกาแฟมาก่อน ถ้ามีม็อบที่ประตูท่าแพผมน่าจะลองไปชงกาแฟขายดูจะได้มีรายได้เข้ามาบ้าง ผมก็ลองไปทำอยู่พักหนึ่งก็ขายได้พอสมควรเลย แต่ช่วงหลังม็อบเริ่มซาก็เลยไม่ได้ไปขาย ช่วงที่อยู่เชียงใหม่ถึงไม่ได้มีรายได้เข้ามาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เพราะไปอยู่กับเพื่อนเลยไม่ได้ใช้เงินมากนัก"

"หลังอยู่ที่เชียงใหม่ได้ประมาณแปดเดือน ผมก็ตัดสินใจกลับบ้านที่พัทลุง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพื่อนๆที่ไปอยู่ด้วยกันต่างแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง แล้วช่วงนั้นปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่ก็ค่อนข้างหนัก"

"ตอนที่กลับมาผมก็ยังไม่ได้คิดเรื่องทำร้านหนังสือหรอกนะ คิดแค่อยากเป็นนักเขียน แต่ก็รู้ดีว่าถ้าเอาดีทางนั้นก็น่าจะอยู่ไม่รอด แล้วบังเอิญมีอยู่วันหนึ่งผมผ่านมาเห็นห้องแถวให้เช่าตั้งอยู่บนถนนหลังเทคนิค พอเห็นแล้วก็รู้สึกชอบคิดว่าน่าจะเช่ามาทำกิจการเล็กๆของตัวเองได้ ก็เลยติดต่อเจ้าของตึกเพื่อดูข้างใน พอเปิดเข้ามาดูก็รู้สึกว่านี่แหละ ใช่เลย ก็เลยทำสัญญาเช่าแล้วก็เริ่มทำร้าน"

ร้านหนังสือนกนางแอ่น ภารกิจฟื้นลมหายใจร้านหนังสือเมืองพัทลุง

"พัทลุงเคยมีร้านหนังสือสองร้าน ร้านนึงเป็นร้านดังในห้างที่มีสาขาทั่วประเทศ ส่วนอีกร้านเป็นร้านใหญ่ที่มีสาขาในภาคใต้ แต่ตอนที่ผมกลับจากเชียงใหม่ ร้านหนังสือทั้งสองร้านซึ่งผมมีบัตรสมาชิกทั้งคู่ก็ปิดตัวไปหมดแล้ว"

"สำหรับผมมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เมืองพัทลุงไม่มีร้านหนังสือ ตัวผมเองสมัยเด็กๆเวลาเข้าเมืองพัทลุง ถ้าไม่ได้ไปหาอะไรกินก็จะตรงไปร้านหนังสือ เด็กนักเรียนในเมืองพัทลุงระหว่างรอเวลาดูหนังหรือรอพ่อแม่มารับก็มักเข้าไปเลือกซื้อหนังสือรอเวลากันเพราะร้านมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง"

"อาจจะด้วยต้นทุนโดยเฉพาะราคากระดาษที่สูงขึ้นทำให้หนังสือมีราคาแพง จนคนซื้อหนังสือน้อยลง ร้านหนังสือบางร้านก็เลยอยู่รอดยาก ผมก็เลยพอจะเข้าใจอยู่บ้างว่าทำไมร้านหนังสือบางแห่งรวมทั้งร้านในเมืองพัทลุงต้องปิดตัวไป แต่สำหรับร้านของผมที่เป็นร้านอิสระ ตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายมันจะต่างไปจากร้านขนาดใหญ่ ตอนที่เปิดร้านผมเลยยังไม่ได้กังวลเรื่องว่าจะประคองร้านไปได้หรือไม่มากนัก"   

"อย่างที่เล่าไปตอนแรกว่าผมเริ่มสะสมหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัย พอต้องมาเปิดร้านหนังสือของตัวเองก็เลยมีหนังสือที่สะสมไว้มาวางขายเหมือนเป็นทุนตั้งต้น นอกจากนั้นผมก็ไปหาหนังสือทั้งมือหนึ่งและมือสองมาวางเพิ่มเติม"    
"ผมตั้งชื่อร้านว่า swiftlet ซึ่งแปลว่านกนางแอ่น ผมมีชื่อนี้ในใจมานานแล้ว ในแง่หนึ่งนกนางแอ่นก็เป็นสัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลพัทลุงเอฟซี ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลประจำบ้านเกิดที่ผมตามเชียร์มานานแล้ว ในอีกแง่หนึ่งนกนางแอ่นก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอิสระ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ผมยึดถือและร้านหนังสือของผมก็เป็นพื้นที่ของอิสระและเสรีภาพทางความคิดด้วย"    

"หนังสือส่วนใหญ่ที่วางก็เป็นหนังสือวรรณกรรมแนวที่ผมชอบ นอกจากนัันก็มีแนวสังคมการเมืองบ้าง สำหรับผมถ้าจะทำร้านหนังสือก็อยากขายหนังสือแนวที่ตัวเองชอบเป็นหลัก เพราะถ้าเปิดร้านแล้วต้องขายหนังสือแนวที่ตัวเองไม่ชอบก็ไม่รู้จะเปิดร้านไปทำไม”

“ตั้งแต่เปิดร้านวันแรกก็มีคนแวะเข้ามาถามว่าร้านของผมทำอะไร ตอนแรกเขาเข้าใจว่าผมเปิดคาเฟ่เพราะมีกาแฟขายด้วย แต่พอรู้ว่าผมเปิดร้านหนังสือ เรื่องของร้านผมก็ถูกเล่าต่อกันแบบปากต่อปาก บางคนที่มาก็บอกผมว่าดีใจที่พัทลุงมีร้านหนังสืออีกครั้ง“

"ตอนนี้ผมเปิดร้านมาได้ห้าเดือนแล้ว (พฤศจิกายน 2566) ก็เริ่มมองเห็นกลุ่มนักอ่านและลูกค้าที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น พวกเด็กนักเรียนจะชอบหนังสือวรรณกรรมหรือหนังสือไซไฟ กลุ่มผู้ใหญ่ก็อาจจะชอบงานวรรณกรรมแนวอบอุ่นหัวใจ" นอกจากขายหนังสือแล้วที่ร้านผมก็ขายกาแฟแล้วก็อาหารไปด้วย คนทำงานแวะมาซื้อกาแฟกันพอสมควรอยู่ เอาจริงๆถ้านับเป็นปริมาณ ผมขายกาแฟได้เยอะกว่าหนังสือนะ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ทำกำไรให้ร้านเป็นชิ้นเป็นอันจะมาจากหนังสือมากกว่า" 

เมื่อมองไปที่มุมหนึ่งของร้าน จะพบว่ามีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงอยู่ด้วย เช่น หนังสืองานศพ ดา ตอร์ปิโด หนังสือกรุงเทพไม่มีคนเสื้อแดงของสำนักพิมพ์อ่าน และวารสารสารคดีฉบับจดหมายเหตุพฤษภา 53 เราเลยถามแดกซ์ไปแบบทีเล่นทีจริงว่าจัดหนังสือคนเสื้อแดงไว้เป็นหิ้งแยกแบบนี้ในพื้นที่อย่างจังหวัดพัทลุง เคยมีลูกค้ามาชวนคุยหรือวิพากษ์วิจารณ์บ้างหรือไม่ ทว่าคำตอบที่แดกซ์ตอบมาก็ทำให้เรารู้สึกผิดคาด

"ไม่เคยเจออะไรแบบนั้นนะครับ ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงออกหรือถามอะไร ถ้าจะมีคนรู้สึกเขาก็คงเก็บมันไว้ในใจ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเรื่องมันก็นานมาแล้ว หรือไม่งั้นการแสดงออกในลักษณะเกลียดชังต่อคนเสื้อแดงมันก็คงไม่ได้เป็นเรื่องน่ายินดีหรือน่าชื่นชมเหมือนแต่ก่อนแล้ว"

แหล่งแฮงค์เอาท์ใหม่ของเยาวรุ่นเมืองลุง

“ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของทางร้านจะเป็นกลุ่มนักเรียนทัังมัธยม ทั้งเทคนิค นักเรียนที่มาร้านส่วนใหญ่จะซื้อหนังสือวรรณกรรม บางคนอ่านแนวไซไฟ ซึ่งไซไฟนี่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเลย แต่ผมก็พยายามศึกษาความต้องการของลูกค้า เลยต้องหาหนังสือแนวไซไฟมาวางด้วย"

"ถ้าดูบนชั้นหนังสือ ชั้นที่อยู่ติดผนังทั้งฝั่งขวากับฝั่งซ้ายของร้านจะเป็นหนังสือที่ผมเคยซื้อสะสมไว้เป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นหนังสือมือสอง ส่วนโต๊ะตรงกลางจะเป็นหนังสือใหม่ โดยเฉพาะพวกหนังสือไซไฟที่น้องๆชอบอ่านกัน"

"เกือบทุกๆวันจะมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มเยาวชนหรือนักเรียนแวะเวียนมาดูหนังสือที่ร้าน บางวันถ้าไม่ได้เข้ามาดูหนังสือพวกเขาก็มานั่งคุยกันถึงเรื่องต่างๆที่เจอมา ทั้งเรื่องที่ถูกครูตัดผม หรือการทำโทษด้วยการตี"

"ผมดีใจที่ตอนนี้ร้านของผมกลายเป็นพื้นที่แฮงค์เอาท์ของนักเรียนในเมืองพัทลุง ถึงร้านของผมจะเป็นร้านเล็กๆ แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าร้านของผมจะต้องจัดอีเวนท์ใหญ่โตอะไร แค่เป็นพื้นที่ที่กลุ่มนักเรียนหรือคนพัทลุงได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยเหตุด้วยผล หรือสามารถจัดอีเวนท์เล็กๆที่มีความอบอุ่นก็น่าจะเพียงพอสำหรับผมแล้ว"

"นับจากเปิดร้านมา ผมจัดอีเวนท์อ่านกวีไปครั้งหนึ่งแล้ว มีคนมาร่วมงานประมาณ 20 คน ถึงจะไม่มากแต่ก็เป็นงานที่อบอุ่น ก่อนหน้านั้นช่วงที่มีการรณรงค์เสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญ ผมก็เปิดพื้นที่หน้าร้านให้คนมาร่วมลงชื่อ ในอนาคตก็หวังว่าจะได้ใช้พื้นที่ของผมจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมกับนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่"

ก่อนจบบทสนทนา แดกซ์มอบเสื้อรูปอนุสรณ์ถังแดงที่แขวนอยู่ในร้านให้กับทางพิพิธภัณฑ์เป็นที่ระลึกกลับกรุงเทพ พร้อมทิ้งท้ายว่า

"ร้านหนังสืออิสระแต่ละร้านมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง อย่างที่เชียงใหม่มีร้านเล่าซึ่งมีจุดเด่นคือมีหนังสือเก่าให้เลือกซื้อเยอะ ส่วนร้าน Book Republic ก็มีจุดเด่นที่หนังสือวิชาการหรือบางครั้งก็อาจจะมีนักวิชาการในพื้นที่ที่เป็นนักเขียนมานั่งอ่านหนังสือที่ร้านด้วย ส่วนที่ร้านของผม จุดเด่นน่าจะเป็นแกงกะหรี่ที่หากินยากในพัทลุง (หัวเราะ) แต่ถ้าเอาในแง่ของร้านหนังสืออิสระ ผมคิดว่าจุดเด่นของร้านผมคือการเป็นพื้นที่ที่มีความอบอุ่นเป็นกันเอง มีแผ่นเสียงให้เลือกฟังเพลงได้ตามอัธยาศัย นอกจากจะมาหาหนังสือมากินกาแฟแล้ว ร้านของผมก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆในบรรยากาศเป็นมิตรด้วย"

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์