Skip to main content

พัทลุงปลดแอก เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมอีกกลุ่มหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นในช่วงที่มีกระแสการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในช่วงกลางปี 2563 เนื่องจากจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยในเขตเมือง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพัทลุงปลดแอกรวมถึงผู้เข้าร่วมการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ทางกลุ่มจัดส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยม ส่วนประเด็นที่ทางกลุ่มเคลื่อนไหวเป็นหลักคือประเด็นด้านสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของโรงเรียนและทรงผม ซึ่งท้ายที่สุดการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มก็ส่งผลให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติต่อนักเรียนในโรงเรียนบางแห่งของจังหวัดพัทลุง

การที่จังหวัดพัทลุงไม่มีมหาวิทยาลัยในตัวเมืองเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้กลุ่มพัทลุงปลดแอกยากที่จะยืนระยะในการเคลื่อนไหว เพราะเมื่อนักเรียนที่ทำกิจกรรมกับทางกลุ่มจบการศึกษาในระดับมัธยมก็ต้ัองแยกย้ายไปเรียนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดอื่นๆ ยิ่งเมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนเข้าสู่สภาวะซบเซาตั้งแต่ช่วงหลังปี 2564 ทางกลุ่มก็ไม่ได้จัดกิจกรรมจนทำให้ยากที่จะหาสมาชิกรุ่นใหม่มาส่งต่อการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมภายในจังหวัด

จากบันทึกซึมเศร้า สู่พัทลุงปลดแอก

ช่วงกลางปี 2563 กระแสความตื่นตัวทางการเมืองแผ่ขยายเข้าไปถึงในโรงเรียนมัธยม มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆในโรงเรียนทั้งการผูกสัญลักษณ์โบว์ขาวและการชูสามนิ้วระหว่างการเข้าแถว ขณะเดียวกันก็มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันตั้งกลุ่ม "นักเรียนเลว" เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาในโรงเรียน เช่น เรื่องทรงผม การแต่งกาย กฎระเบียบที่อาจไม่เข้ากับยุคสมัย นักเรียนที่จังหวัดพัทลุงเองก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของนักเรียนด้วยเช่นกัน

เบล ผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มพัทลุงปลดแอกระบุว่าตัวเขาเองเริ่มสนใจประเด็นทางสังคมจากเรื่องใกล้ตัวคือเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน โดยที่จังหวัดพัทลุงก็มีการละเมิดสิทธิของนักเรียน เช่น การกร้อนผมนักเรียนที่ไว้ผมยาว หรือดึงกิ๊บติดผมของนักเรียนหญิง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาร่วมของนักเรียนส่วนหนึ่งในจังหวัดพัทลุง เมื่อเห็นว่าพื้นที่อื่นๆเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของนักเรียน เบลจึงใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวที่มีผู้ติดตามประมาณพันกว่าคน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะติดตามเพราะผลงานการถ่ายภาพของเขา ประกาศว่าหากเขาสนใจจะจัดการชุมนุมที่จังหวัดพัทลุงจะมีใครสนใจเข้าร่วมหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเขาประกาศออกไปครั้งนั้นก็ไม่มีการตอบรับจากผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก เขาจึงลบโพสต์ดังกล่าวทิ้ง

หลังจากเบลประกาศชวนคนมาร่วมชุมนุมได้ไม่นาน ก็มีเพจเฟซบุ๊ก "บันทึกซึมเศร้า" ประกาศรับสมัครทีมงานและผู้ปราศรัยเพื่อจัดการชุมนุมในจังหวัดพัทลุง พอเห็นประกาศเบลก็ทักไปที่เพจดังกล่าวเพื่อแจ้งความประสงค์ว่าเขาอยากขึ้นปราศรัยในประเด็นการศึกษา เมื่อถึงวันนัดหมายเบลก็ไปร่วมการชุมนุมด้วย ทว่าการชุมนุมครั้งนั้นน่าจะไม่ใช่ความทรงจำที่ดีนักของเบล เพราะเมื่อถึงคราวที่เขาต้องขึ้นปราศรัย เขากลับไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้ เบลยอมรับว่าครั้งนั้นเขาพูดไม่ออกเพราะตื่นเวทีเนื่องจากครั้งนั้นนับเป็นการพูดในที่สาธารณะครั้งแรกในชีวิตของเขาและเป็นการขึ้นเวทีท่ามกลางผู้ร่วมชุมนุมหลักร้อยคนและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาวางกำลังอยู่ในพื้นที่ เบลมาทราบในภายหลังว่าแอดมินเพจ บันทึกซึมเศร้าที่เป็นคนนัดหมายการชุมนุม ไม่ได้มาในที่ชุมนุมด้วยเพราะถูกผู้ปกครองสั่งห้าม เบลมาเห็นในเวลาต่อมาว่า เพจบันทึกซึมเศร้าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เพจพัทลุงปลดแอกและถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแชร์ข่าวหรือนัดหมายการทำกิจกรรมในจังหวัดพัทลุงและจังหว่ะใกล้เคียงเรื่อยมา เบลเองก็ได้ทักไปทางเพจเพื่อสอบถามรายละเอียดเวลาที่เขาจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่ม

จากการแสดงออกในรั้วโรงเรียนสู่การชุมนุมในที่สาธารณะ

เนื่องจากพัทลุงไม่มีมหาวิทยาลัยในตัวเมือง ทางกลุ่มจึงต้องพยายามหาพันธมิตรกลุ่มอื่นๆที่จะพอมาช่วยจัดกิจกรรมได้ เช่น กลุ่มอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในพื้นที่พัทลุง และกลุ่มคนที่งานเคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากรหรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ โดยในเดือนกันยายน 2563 กลุ่มพัทลุงปลดแอกร่วมกับเครือข่าย ภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆในจังหวัด จัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์เพื่อประกาศจุดยืนและทิศทางการเคลื่อนไหวที่อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์การสังหารประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพัทลุง 

ล่วงมาถึงเดือนตุลาคม 2563 กลุ่มพัทลุงปลดแอกจัดการชุมนุม #พัทลุงไล่ตู่ที่สวนท่ามิหรำ โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มหลักเป็นนักเรียนมัธยมที่เรียนหนังสืออยู่ในเมืองพัทลุง เบลระบุว่าในความเห็นส่วนตัวของเขา การชุมนุมครั้งนี้ซึ่งนับเป็นการชุมนุมครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในจังหวัดถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่เพราะมีฝนตกลงมาจนมีผู้มาเข้าร่วมชุมนุมไม่มากนัก

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พัทลุงปลดแอกจัดการชุมนุมอีกครั้งที่แยกเอเชียซึ่งตัวของเบลเห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้น่าจะเป็นการชุมนุมครั้งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งในแง่จำนวนของผู้ชุมนุมที่มีนักเรียนเข้าร่วมราว 300 คน ทั้งๆที่ในวันนั้นมีฝนตกลงมา นอกจากนั้นผู้ปราศรัยแต่ละคนก็สามารถนำเสนอประเด็นที่ตั้งใจมาสื่อสารได้อย่างครบถ้วน ที่สำคัญนักเรียนที่มาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ยังแสดงออกว่าพวกเขาก้าวข้ามความกลัวด้วยการแต่งชุดนักเรียนมาร่วมการชุมนุมซึ่งต่างไปจากการชุมนุมในครั้งก่อนๆที่นักเรียนมักหลีกเลี่ยงการสวมชุดนักเรียนมาเข้าร่วมการชุมนุมเพราะเกรงว่าจะถูกทำโทษหรือคุกคามโดยครูที่โรงเรียน เบลระบุด้วยว่าในการชุมนุมครั้งที่สามนี้ถือเป็นการชุมนุมที่มีสีสันเพราะนอกจากการปราศรัยแล้วผู้ชุมนุมยังร่วมทำกิจกรรมสันทนาการกันด้วยทำให้การชุมนุมครั้งนั้นไม่เครียดจนเกินไป และมีบรรยากาศไม่เหมือนการชุมนุมประท้วงแต่เหมือนการมาพบปะ มาฟังเพื่อนเล่าเรื่อง   

นอกจากการจัดการชุมนุมแล้ว กลุ่มพัทลุงปลดแอกยังจัดกิจกรรมรูปแบบอื่นๆด้วย เช่น ไปจัดปราศรัยย่อยที่หน้าสถานีตำรวจในจังหวัดพัทลุงเพื่อประท้วงการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพ รวมถึงการร่วมจัดกิจกรรมในวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น กิจกรรมโกนหัวในโอกาสครบรอบเจ็ดปีการรัฐประหารที่อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง เป็นต้น 

แม้ในช่วงปี 2563 กลุ่มพัทลุงปลดแอกจะสามารถเป็นหัวขบวนนำเด็กนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวทั้งในประเด็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนและประเด็นการเมืองในภาพใหญ่ได้ แต่การที่ในตัวเมืองพัทลุงไม่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ทำให้กลุ่มขาดความต่อเนื่องในการทำงาน เพราะเมื่อสมาชิกรุ่นก่อตั้งของทางกลุ่มทยอยจบการศึกษาระดับมัธยมพวกเขาต่างต้องเดินทางออกไปศึกษาต่อในจังหวัดอื่น ขณะเดียวกันในช่วงตั้งแต่ปี 2564 ที่สถานการณ์การชุมนุมขนาดใหญ่ทั่วประเทศเริ่มลดจำนวนลงจนกระทั่งหยุดไปในช่วงปี 2565 และ 2566 ทางกลุ่มก็ไม่ค่อยมีโอกาสจัดกิจกรรมทำให้ยากที่จะหาสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อ

ความสำเร็จเล็กๆของกลุ่มกิจกรรมเล็กๆ

ล่วงมาถึงปี 2566 แม้เพจเฟซบุ๊กพัทลุงปลดแอกจะยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแชร์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเมือง และปัญหาสิทธินักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดพัทลุง แต่ทางกลุ่มแทบไม่ได้มีบทบาทในการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะอีกแล้ว ทั้งด้วยเงื่อนไขภายในที่ทีมงานต่างสำเร็จการศึกษาและย้ายออกจากจังหวัดพัทลุงโดยที่ไม่มีทีมงานชุดใหม่มาสานต่อกิจกรรมกลุ่ม

ขณะเดียวกันปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวมของประเทศที่ความสนใจของผู้คนก็ไปอยู่ที่การเมืองในระบบแทนการเมืองบนท้องถนนก็อาจทำให้องค์กรเคลื่อนไหวขนาดเล็กอย่างพัทลุงปลดแอกยากที่จะยืนระยะต่อในฐานะองค์กรหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม

ในฐานะคนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม เบลยังมองในแง่ดีว่า แม้กลุ่มพัทลุงปลดแอกได้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะไปแล้ว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรมเล็กๆกลุ่มนี้ก็มีส่วนสำคัญในการสะท้อนปัญหาการกดทับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การปฏิบัติต่อนักเรียนของหลายๆโรงเรียนในจังหวัดพัทลุงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น 

เรื่องและภาพของเบล โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

ภาพกิจกรรมจากเพจเฟซบุ๊ก พัทลุงปลดแอก