จากคนที่ไม่เคยสนใจหรือตั้งคำถามกับประเด็นทางสังคมหรือการเมืองมาก่อน การถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงอย่างข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายและการกระทำความผิดภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในปี 2548 จนต้องสูญเสียอิสรภาพไปราวหนึ่งปีเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ อันวาร์ กระโจนเข้าสู้การทำกิจกรรมด้านสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่ไปกับการต่อสู้คดีในชั้นศาล ระหว่างปี 2556 – 2560 โชคชะตาพลิกผันพัดพาอันวาร์เข้าสู่โลกหลังกำแพงเป็นคำรบที่สองเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดลงโทษจำคุกอันวาร์เป็นเวลา 12 ปี
แม้โทษทัณฑ์ที่ออกมาจะหนักหน่วง แต่อันวาร์ก็เชื่อและสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าที่เขานับถือว่าเขาจะขออยู่ในเรือนจำเพียง 4 ปี เท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นนั้น การถูกจองจำไม่ได้จำกัดอิสรภาพทางความคิดของอันวาร์ เขายังคงพยายามหาไอเดียใหม่ๆเพื่อนำมาใช้พัฒนาหรือต่อยอด การทำงานสื่อสารประเด็นปัญหาในพื้นที่
ดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะตอบรับคำขอของเขา หลังรับโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปี อันวาร์ได้รับอิสรภาพอีกครั้งหลังได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามโอกาสสำคัญจนเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัว
หลังพ้นโทษในปี 2560 อันวาร์ตัดสินใจกระโจนเข้าสู่ความท้าทายครั้งสำคัญในปี 2563 ด้วยการริเริ่มจัดตั้ง The Motive เว็บไซต์ข่าวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมุมมองใหม่ๆภายใต้แนวคิด "รังสรรค์สังคมให้ตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน" โดยได้ต้นแบบมาจาก สื่อออนไลน์ “ตระกูลเดอะ” ได้ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในขณะนั้น
ในปี 2565 The Motive ที่พึ่งตั้งไข่ได้ไม่ถึงสองปีสร้างปรากฎการณ์ด้วยการจัด Event เปิดตัว ที่มี Speaker ระดับ VIP ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตแคนดิเดตนายก รวมถึงตัวแทนของขบวนการ BRN มาแสดงวิสัยทัศน์ถึงอนาคตและก้าวต่อไปของปาตานี
แม้งานเปิดตัวจะสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ The Motive ยังคงเผชิญกับโจทย์และความท้าทายสองประเด็นใหญ่ๆ ทั้งอนาคตด้านธุรกิจว่าจะเลี้ยงองค์กรและคนทำงานในระยะยาว รวมถึงดึงดูดคนหน้าใหม่เข้ามาทำงานได้อย่างไร และประเด็นการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ ว่าจะทำงานสอดประสานในวาระหรือประเด็นปัญหาใหม่ๆที่อาจจะยังไม่เป็นที่รับรู้มากนักในหมู่คนทำงานภาคประชาสังคมให้มีพลังได้อย่างไร
นักโทษการเมือง
อาจนับได้ว่า เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็งในปี 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธในพื้นที่ซึ่งยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (2566) รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงสามฉบับทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและพ.ร.บ.ความมั่นคงฯทยอยถูกประกาศใช้ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง อันวาร์ซึ่งเป็นชาวอำเภอยะรังเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและตัวเขาเองก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ด้วยการถูกดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 12 ปี การถูกดำเนินคดีเปลี่ยนชีวิตของอันวาร์ไปอย่างสิ้นเชิง จากคนที่ไม่ได้สนใจในประเด็นทางสังคมหรือการเมือง ระหว่างต่อสู้คดีอันวาร์เริ่มเข้ามามีส่วนในการทำกิจกรรมด้านสื่อในพื้นที่ จนกระทั่งเขามาถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 12 ปี หลังถูกคุมขังเป็นเวลาสี่ปี อันวาร์ก็พ้นโทษเพราะได้รับการอภัยโทษตามโอกาสสำคัญต่างๆ
“ผมเริ่มเข้าเรียนระดับนิเทศน์ศาสตร์ที่ราชภัฎยะลาในปี 2547 แต่เรียนได้ประมาณปีเดียวก็มาถูกจับในคดีความมั่นคง ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีผมก็สายลมแสงแดดไม่ได้สนใจเรื่องสังคมหรือทำกิจกรรมอะไร เรียนหนังสืออย่างเดียว เอาจริงๆก่อนหน้าเหตุการณ์ปล้นปืนการทำกิจกรรมนักศึกษาในพื้นที่ก็ไม่ได้มีความเข้มข้นอะไร”
“ผมมาถูกจับช่วงปี 2548 หลังจากเข้าเรียนที่ราชภัฎยะลาได้ประมาณหนึ่งปี ผมคิดว่าที่ตัวเองถูกดำเนินคดีน่าจะเป็นเพราะมีเพื่อนที่โรงเรียนเก่าให้ชื่อกับฝ่ายความมั่นคงไป คือโรงเรียนเก่าของผมเป็นโรงเรียนที่ถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียนจบช่วงระหว่างปี 45 – 47 จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ”
“หลังถูกดำเนินคดีผมก็ถูกขังอยู่พักใหญ่ๆน่าจะราวๆหนึ่งปีได้ ศาลถึงให้ประกันตัวมาสู้คดีช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 การถูกคุมขังช่วงแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผม นักโทษคดีความมั่นคงถูกปฏิบัติในลักษณะที่แตกต่างจากผู้ต้องขังอื่นๆ บางครั้งพวกเราต้องอยู่บในห้องขังยาวนานกว่านักโทษคดีอื่นๆ ต้องใส่โซ่ตรวน บางวันก็ได้กินข้าวกันไม่ครบสามมื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ผมถูกคุมขังในรอบที่สองหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีของผมออกมา”
“การถูกดำเนินคดีทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามกับปัญหาในพื้นที่ พอได้รับการประกันตัวผมก็เข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆจนกระทั่งค้นพบตัวเองว่าอยากทำงานสื่อเพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ จนกระทั่งไปได้รู้จักรุ่นน้องที่มีความสนใจอยากทำสื่อผมเลยเข้าไปช่วยเขาก็ตั้งสำนักข่าวชื่อ บุหงารายานิวส์ ทำข่าวในพื้นที่ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณ และกำลังคน บุหงารายานิวส์ต้องปิดตัวลงไปในปี 2555 ส่วนตัวผมเองก็ช่วยงานที่บุหงารายานิวส์อยู่พักหนึ่งแล้วก็ขอพักเพื่อออกมาทำร้านน้ำชาของตัวเอง”
“ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผมมีความผิดในปี 50 แต่ศาลอุทธรณ์มาพิพากษายกฟ้องในปี 52 ผมก็เข้าใจว่าคดีคงจบแล้ว แต่กลายเป็นว่าพอมาถึงวันที่ 30 เมษายน ปี 56 ก็มีหมายมาส่งที่บ้านเรียกให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 1 พฤษภาคม เท่ากับว่าผมรู้ล่วงหน้าแค่วันเดียว”
“คือจริงๆหมายมันออกมาพักหนึ่งแล้วถ้าดูวันที่ออกตามเอกสารแต่ไม่รู้ทำไมมันถึงเพิ่งมาส่งที่บ้านผมหนึ่งวันก่อนหน้าวันพิพากษา”
“พอรู้เรื่องตอนนั้นผมก็รีบโทรปรึกษาคู่คดีหลายคนๆเลยว่าเอาไงดี จะไป(ฟังคำพิพากษา)ไหม เอาจริงๆจังหว่ะนั้นถ้าจะหนีก็คงหนีกันได้ แต่ทุกคนมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง ก็เลยบอกว่าจะไปตามนัดศาล ผมก็โอเคไปก็ไป ปรากฎว่าพอฎีกาออกมาผมโดนโทษจำคุก 12 ปี”
“ครอบครัวผมที่ไปฟังคำพิพากษาตอนฟังศาลก็ไม่เข้าใจ ยังถามผมตอนศาลเสร็จว่ารอดใช่ไหม ผมเองต้องหันไปบอกทั้งแม่และภรรยาทั้งน้ำตาเลยว่าถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ผมจำได้ว่าก่อนเข้าเรือนจำ ผมบอกทั้งแม่ทั้งภรรยาว่าผมจะอยู่ในเรือนจำแค่สี่ปี ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงพูดแบบนั้นออกไป ทั้งแม่ทั้งภรรยาก็งงกันว่าศาลสั่งติดคุก 12 ปี มันจะไปอยู่สี่ปีได้อย่างไร แต่สุดท้ายก็มีอภัยโทษตามโอกาสจนผมได้ออกจากเรือนจำหลังรับโทษประมาณสี่ปีตามที่เคยพูดไว้จริงๆ ถ้าพูดด้วยหลักทางศาสนาก็เหมือนว่าอัลเลาะห์ตอบรับคำสวดดุอาอ์ของผม”
“การเข้าเรือนจำในรอบที่สองมันต่างจากรอบแรกอย่างสิ้นเชิง การปฏิบัติกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเปลี่ยนไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้น อย่างแรกเลยคือครั้งหลังนักโทษคดีความมั่นคงจะไม่ถูกตีตรวนแล้ว ขณะที่ผู้คุมเองก็มีความเข้าใจและไว้วางใจนักโทษกลุ่มนี้มากขึ้น เห็นได้จากทุกครั้งที่มีการจัดงานในเรือนจำโดยเฉพาะงานด้านศาสนา ผู้คุมก็จะขอให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเข้ามาช่วยจัดงาน ผู้คุมบางส่วนก็รู้จักผมจากช่วงที่ผมทำงานกับบุหงารายานิวส์ ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป ตัวผู้คุมเองเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจในการกระทำของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงการปฏืบัติจึงต่างไปจากที่ผมถูกคุมขังรอบแรกในปี 48”
“ระหว่างถูกคุมขังรอบที่สอง ความคิดความตั้งใจของผมเกี่ยวกับการทำงานสื่อสารประเด็นในพื้นที่ก็ยิ่งแรงกล้าขึ้น ผมตั้งใจว่าถ้าพ้นโทษออกไป ก็จะไปทำงานสื่อสาร ตอนแรกก็มีแผนจะไปช่วยงานวาร์ตานีซึ่งเป็นสื่ออิสระสำนักหนึ่งในพื้นที่ ถึงขั้นเขียนแผนปฏิรูประบบการทำงานที่เตรียมไว้เสนอตอนผมพ้นโทษไว้แล้ว แต่ระหว่างที่ถูกคุมขังมีเพื่อนที่เคยอยู่วาร์ตานีมาเยี่ยมแล้วเล่าให้ฟังว่าสมาชิกรุ่นก่อตั้งลาออกกันหมดแล้วด้วยเหตุผลบางอย่าง ผมเลยต้องฉีกแผนที่ตัวเองเขียนแล้วมองหาความเป็นไปได้ใหม่ แต่จนถึงวันที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อถูกคุมขังครบสี่ปี ผมก็ยังไม่ทันตกผลึกว่าจะไปอยู่องค์กรไหน หรือจะตั้งองค์ใหม่”
แรงบันดาลใจจาก’สื่อตระกูลเดอะ’
หลังพ้นโทษออกมาในปี 2560 อันวาร์ก็ถูกทีมงานวาร์ตานีชุดใหม่ชวนไปคุยเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานและพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะไปร่วมงานกับวาร์ตานี แต่อันวาร์มองว่าแนวทางการทำงานขอวาร์ตานีชุดใหม่กับแนวทางการทำงานของเขาน่าจะไม่ตรงกัน อันวาร์จึงปฏิเสธคำเชิญแล้วกลับมาทำธุรกิจร้านน้ำชาของตัวเอง อันวาร์ว่างเว้นจากการทำงานสื่อไปเกือบๆสามปีเพราะยังมองไม่เห็นแนวทางการว่าจะทำสื่อไปทางไหนดี กระทั่งเริ่มมีการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์เจ้าใหม่ๆ เช่น The Standard, The Matter และ The Momentum อันวาร์ก็เริ่มมองเห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นแล้วตัดสินใจเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพเพื่อมาดูงาน
“ตอนออกจากเรือนจำผมทิ้งงานสื่อไปพักใหญ่ๆเพราะยังไม่รู้จะเริ่มต้นยัง จนกระทั่งเริ่มมีพวกสื่อตระกูลเดอะ อย่าง The Standard, The Momentum ผมก็เห็นว่าสื่อออนไลน์พวกนี้มีรูปแบบน่าสนใจทั้งเนื้อหาที่ไม่ได้เขียนข่าวรายวันแต่เน้นคอนเทนท์ที่ไม่บูด อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วก็มีอินโฟกราฟฟิกที่น่าสนใจ แล้วผมก็มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานของ The Isan Record ได้แลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับการทำสื่อท้องถิ่น คุยไปคุยมาก็เริ่มมีไอเดียเลยตัดสินใจบอกภรรยาว่าขอเข้ากรุงเทพนะ จะไปดูงาน”
“ผมติดต่อเอก (ธนกร วงษ์ปัญญา) ว่าจะไปขอดูงาน The Standard เค้าก็บอกมาเลย ช่วงที่ขึ้นไป The Standard กำลังมีประชุมสรุปงานประจำปีผมเลยมีโอกาสดูการทำงานของเขาอย่างลึกซึ้ง พอได้เห็นวิธีการทำงานที่เป็นมืออาชีพของที่นั่นผมก็ยิ่งรู้สึกมีไฟ หลังจากนั้นก็ตระเวนดูคุยกับนักข่าวทั้งของ The Momentum แล้วก็คนรู้จักอีกคนที่ 101 Word จนเห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้น”
“พอกลับบ้านผมก็นั่งวิเคราะห์แบบจริงจังว่าจุดอ่อนจุดแข็งของสื่อตระกูลเดอะในการรายงานข่าวในพื้นที่คืออะไร แล้วก็วิเคราะห์ว่าสื่อในพื้นที่อย่างวาร์ตานี อิศรา หรือ @ชายแดนใต้ ว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร จากนั้นก็เขียนคอนเซปงานแล้วนัดเพื่อนๆที่จะชวนลุยงานด้วยกันมาคุย”
“ในการคุยพวกเราสรุปบทเรียนกันด้วยว่าที่ผ่านมาการทำสื่อในพื้นที่มีปัญหาอะไร ซึ่งก็พบว่าหลักๆคือเรื่องค่าตอบแทน ที่ผ่านมาหลายๆครั้งเราไม่ได้คุยเรื่องค่าตอบแทนให้ชัด คนมาทำส่วนใหญ่มาด้วยใจซึ่งสุดท้ายมันก็ทำได้แค่แป็ปเดียวเพราะเวลาเติมน้ำมันต้องใช้เงินไม่ใช่ใช้ใจ มาครั้งนี้เราเลยคุยกันว่าเบื้องต้นถ้ายังไม่มีค่าเรื่องอย่างน้อยต้องมีค่าน้ำมันค่าข้าวมีเงินกองกลางส่วนนี้แล้วเราก็ต้องขยับขยายไปหาเงินค่าตอบแทนเพื่อเลี้ยงคนทำงานให้ได้”
The Motive สื่อน้องใหม่เพื่อผลักดันประเด็นปัญหาในพื้นที่
หลังการพูดคุยกับทีมก่อตั้งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โจทย์สำคัญที่อันวาร์กับเพื่อนๆผู้ร่วมก่อตั้ง The Motive ต้องคิดคือการตั้งชื่อ โดยอันวาร์วางโจทย์สำคัญทั้งกับตัวเองและเพื่อนของเขาว่าสื่อที่จะตั้งขึ้นจะไม่ใช่ภาษามลายูเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าฝ่ายความมั่นคง รวมถึงคนบางกลุ่มอาจมีอคติกับชื่อจนเลือกที่จะไม่รับฟังข้อมูลที่พวกเขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริง
“ตอนคิดชื่อผมเห็นไอเดียที่ธนาธรเคยโพสต์ชวนคนตั้งชื่อพรรคการเมืองก็เลยเอาไอเดียนั้นมาใช้บ้างด้วยการโพสต์บนโลกออนไลน์ว่า ถ้าผมจะทำสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่อยากให้ตั้งชื่อว่าอะไรดี ก็มีคนเสนอมาแต่ส่วนใหญ่เป็นชื่อภาษามลายูทั้งหมด ก็เลยต้องมาประชุมกับทีมเพื่อหาชื่อใหม่ ผมโยนโจทย์ให้กับทั้งตัวเองและเพื่อนในทีมว่าเราจะไม่ใช้ชื่อภาษามลายู เพื่อนก็งงทำไม ผมก็ตอบไปว่าถ้าทำสื่อแบบนี้ พอใช้ชื่อภาษามลายูปั้ปอคติมาทันที ฝ่ายความมั่นคงระแวงทันที สู้เราตั้งชื่อด้วยภาษาอื่นแล้วไปทำเนื้อหาให้เข้มข้นดีกว่า พอเพื่อนเข้าใจเราก็ระดมชื่อกันตอนประชุมเลย”
“ตอนแรกก็คุยกันว่าพวกเราเป็นคนที่แอคทีฟ จะใช้ The Active ดีไหม พอเสิร์ชดูปรากฎว่ามีคนใช้ไปแล้ว เลยลองหาคำว่า Motive ดูว่ามีใครใช้ไหมเพราะเราตั้งใจจะทำสื่อที่กระตุ้นให้เกิดการขบคิดหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในพื้นที่ ปรากฏว่ายังไม่มีเราก็เลยตัดสินใจใช้ ส่วนโลโกพวกเราก็แบ่งกันไปออกแบบแต่สุดท้ายก็ลงความเห็นว่าจะใช้โลโกที่ผมออกแบบเป็นตัว M ซ้อนกันสองตัว M หนึ่งคือ Motive ส่วนอีก M คือ มลายู ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ เป็นตัวตนของพวกเรา ส่วนสีเราก็เสิร์ชกันดูว่าสีไหนให้ความหมายถึงการสร้างแรงบันดาลใจสุดท้ายก็เลยได้เป็นสีน้ำเงินแบบที่เห็นในโลโก”
จุดเริ่มต้นที่ไม่ได้คาดคิด
อันวาร์กับเพื่อนที่ร่วมก่อตั้ง The Motive ตั้งใจทำสื่อเพื่อบอกเล่าประเด็นทางการเมือง อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ในพื้นที่สามจังหวัด พวกเขายังพูดกันถึงเรื่องที่วันนัดประชุมก่อตั้ง The Motive ไปพ้องกับวันคล้ายวันก่อตั้งขบวนการ BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ด้วยความบังเอิญเพราะต่างคนต่างว่างประชุมกันวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 แบบติดตลกว่าถ้าใช้วันนี้เป็นวันก่อตั้ง ทางการไทยคงไม่พ้นโยง The Motive เข้ากับขบวนการเป็นแน่ ทว่าเมื่อ The Motive เริ่มทำงาน ประเด็นข่าวที่พวกเขาทำงานในช่วงแรกกลับไม่ใช่เรื่องความมั่นคงแต่เป็นการแพร่ระบาดของโควิด19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“The Motive ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารในประเด็นการเมือง อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม แต่ช่วงเวลาที่เราเริ่มทำงานประเด็นใหญ่ตอนนั้นคือการระบาดของ Covid19 ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ พวกเราก็คุยกันว่าเอาไงดี Covidมา ต้องทำอะไร สื่อสารยังไง สุดท้ายก็เลยไปปรึกษาเพื่อนที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุข ก็ได้รับคำแนะนำว่าลองรายงานตัวเลขประจำวันดูไหม แต่ไม่ต้องทำสเกลใหญ่ เอาแค่ในพื้นที่ เราก็เริ่มกันจากตรงนั้น”
“ทีนี้พอตามประเด็นโควิดมันก็ไม่ได้มีแค่เรื่องผู้ติดเชื้อแต่มันมีเรื่องผลกระทบอื่นๆด้วย เช่น พอมีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด พิธีศพจะทำยังไง การละหมาดวันศุกร์ทำได้ไหม เรื่องการปิดชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อ ประเด็นพวกนี้ยังไม่ถูกพูดถึงหรือพูดถึงน้อย เราเลยพยายามทำกันจนทำให้คนรู้จัก The Motive มากขึ้น”
“ถึง The Motive จะยังไม่ได้ทำประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงหรือประเด็นการเมืองแบบเต็มตัว แต่การทำประเด็นโควิดก็ทำให้เราต้องมีวิวาทะกับทางราชการแล้ว คือตอนนั้นมีเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการส่วนกลางแห่งหนึ่งรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดในสตูลรายแรกแล้ว เราก็รายงานโดยใช้ข้อมูลนั้น ปรากฏว่ามีข้าราชการระดับสูงในจังหวัดสตูลออกมาปฏิเสธว่าสตูลไม่มีผู้ติดเชื้อและข่าวที่ออกมาเป็นข่าวปลอม แล้วก็มีส.ส.สตูลโทรมาคุยกับเราว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน ผมก็บอกไปว่าก็เอามาจากเว็บส่วนกลาง เพื่อความสบายใจผมเลยบอกกับส.ส.ที่ประสานมาไปว่าเดี๋ยวจะไปตรวจสอบข้อมูลให้อีกรอบ ถ้าผิดก็จะแก้ไขแล้วชี้แจงให้”
“พอไปตรวจสอบก็พบว่าตัวผู้ป่วยเป็นคนสตูล แต่ไปติดเชื้อที่กรุงเทพในคลัสเตอร์สนามมวยแล้วอยู่รักษาตัวที่กรุงเทพ แต่เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการส่วนกลางกลับรายงานว่าเป็นเคสที่จังหวัดสตูลซึ่งคลาดเคลื่อนไป ทาง The Motive เลยมาเขียนหมายเหตุชี้แจงในโพสต์เดิม แต่เว็บไซต์ของหน่อยงานรัฐที่เราไปข้อมูลมาใช้กลับถูกลบโดยไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูลใดๆ แล้วผมก็มาทราบข้อมูลทีหลังว่าจริงๆช่วงที่ The Motive รายงานการติดเชื้อที่สตูล มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดแล้วแต่ไม่มีการนำผู้ติดเชื้อไปตรวจ ATK ทำให้ไม่มีตัวเลขในระบบ แล้วสุดท้ายจังหวัดสตูลก็มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนเกือบคุมไม่อยู่”
“ทีนี้พอโควิดระลอกแรกเริ่มซา The Motive ก็เริ่มไปทำข่าวการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน รวมถึงประเด็นการเมืองและกระบวนการสันติภาพ แฟนเพจบางคนคงจำภาพว่าเราทำเรื่อง Covid มา เลยมาคอมเมนท์ทำนองว่า The Motive อย่าทำเรื่องการเมือง เรื่องกระบวนการสันติภาพเลย ไปทำเรื่อง Covid แบบเดิมได้ไหม เหมือน Covid เป็นภาพจำของ The Motive ไปแล้ว แต่ผมชี้แจงไปว่าเราก่อตั้งมาเพื่อทำงานประเด็นเหล่านี้ ส่วนการรายงานเรื่อง Covid มันเป็นความจำเป็นของสถานการณ์ พอ Covid เริ่มระบาดระลอกสองเราก็คุยกันในทีมว่าเอายังไงดี แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าในเวลานั้นมีคนทำงานเรื่อง Covid ในพื้นที่แล้ว The Motive ก็จะถอยมาทำประเด็นการเมือง กระบวนการสันติภาพ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมตามความตั้งใจของเราส่วนข่าว Covid ก็จะแชร์จากคนอื่นเอาตามโอกาส”
Scenario Patani ขบคิด สนทนา ว่าด้วยก้าวต่อไปของปาตานี
แม้ The Motive จะเริ่มต้นการทำงานด้วยการรายงานสถานการณ์ Covid ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะสถานการณ์พาไป แต่ทีมงานทุกคนต่างระลึกเสมอว่าพวกเขาก่อตั้งสื่อสำนักนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารประเด็นด้านการเมือง กระบวนการสันติภาพ และวัฒนธรรมของพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ระหว่างที่สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid ดำเนินไปสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ทีมงาน The Motive ก็รายงานสถานการณ์เหล่านั้นไปด้วย เช่น รายงานสถานการณ์การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปิดล้อมชุมชน โดย The Motive จะเน้นรายงานในลักษณะการให้ภาพรวม ไม่ใช่การทำข่าวรายวัน ทั้งด้วยกำลังที่มีไม่พอและเพราะ The Motive ไม่ต้องการทำงานทับซ้อนกับสื่อกระแสหลักแต่ต้องการนำเสนอประเด็นที่มีมิติที่ลึกกว่าการรายงานสถานการณ์รายวัน เมื่อเวลาผ่านไป The Motive เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทว่าคนที่ติดตามก็ไม่เคยเห็นหน้าคร่าตาว่าจริงๆแล้ว The Motive คือใคร อันวาร์จึงคุยกับเพื่อนร่วมทีมว่าน่าจะถึงเวลาจัดงานเปิดตัว The Motive เสียที
“คนเริ่มถามกันหนาหูชึ้นว่า The Motive คือใคร เพราะคนเคยเห็นแต่เห็นเพจ เห็นเว็บไซต์ แต่ไม่เคยเห็นหน้า ตอนแรกเราก็ตั้งใจจะจัดกิจกรรมเปิดตัวเล็กๆ ในปี 2020 ที่เราเริ่มต้นทำงานเลย แต่ก็หาเงินสนับสนุนไม่ทัน เลยต้องปรับแผนใหม่ จากรีบจัดงานเล็กเป็นค่อยๆหาทุนจัดงานเปิดตัวแบบใหญ่ไปเลย สุดท้ายก็เลยมาเป็นงาน Scenario Patani ในปี 2565”
“งาน Scenario เป็นงานใหญ่ ตอนที่เริ่มคุยงานกันพวกเรามองหาโมเดลว่าจะจัดแบบไหนดี ตัวผมเห็นโมเดลงานใหญ่ของ The Standard เลยลองเอามาเสนอในที่ประชุม จากนั้นเราก็ปรับให้เข้ากับบริบทของ The Motive ตอนที่พวกเราวางแผนจะจัดงานมันพ้องไปกับสถานการณ์การเจรจาสันติภาพที่ทั้งฝ่ายไทยและขบวนการเห็นว่าจะต้องมีการปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ผมกับทีมเลยคุยกันว่าจะทำให้งานเปิดตัว The Motive เป็นเวทีปรึกษาสาธารณะอีกเวทีหนึ่ง ที่จะเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆฝ่ายเข้ามาคุยกันเรื่องอนาคตของพื้นที่”
“ตอนที่คุยกันผมบอกทีมว่าไหนๆจะจัดแล้ว ต้องใหญ่ ต้องแกรนด์ ทั้งในแง่ของประเด็นที่พูดถึงถึงทั้งการปกครอง กระบวนการสันติภาพ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในแง่ของแขกรับเชิญ เรามีนักวิชาการมาร่วมเวที แต่นั่นไม่ใช่จุดพีค ผมโยนโจทย์ไปเลยว่าต้องได้คนที่คุมนโยบายหรือเคยคุมนโยบายมาแสดงวิสัยทัศน์ว่าถ้าคุณมีอำนาจบริหาร คุณจะจัดการพื้นที่อย่างไร ผมโยนชื่อทั้ง Tony Woodsome (ทักษิณ ชินวัตร) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สำหรับ Tony ผมคิดว่าต้องเชิญมาเพราะเหตุการณ์ทั้งกรือเซะและตากใบล้วนเกิดในสมัยของเขา และเมื่อเชิญ Tony แล้วก็ต้องเชิญธนาธรกับอภิสิทธิ์มาด้วย เท่ากับว่าในเวทีจะมีอดีตนายกสองคนแล้วก็อดีตแคนดิเดตนายกที่ถูกตัดสิทธิอีกคน”
“ทีนี้พอมีคนของฝ่ายไทยแล้ว มันก็ต้องมีคนจากฝ่ายขบวนการด้วย ตอนนั้นเพื่อนๆในทีมตกใจกันใหญ่เลย ตอนบอกจะชวนโทนี่ร้องว้าวแล้ว พอบอกจะชวนตัวแทนฝ่ายขบวนการด้วยนี่ตาตั้งกันเลย พวกถามกันเฮ้ยเอาจริงเหรอ ผมก็ยืนยันว่าเอาจริง พร้อมบอกว่าถ้าทักษิณ ไม่มา ตัวแทนขบวนการจะไม่มาก็ได้ แต่ถ้าทักษิณมา ขบวนการก็ต้องมา พออธิบายแนวคิดเบื้องหลังในการเชิญคนร่วมเวทีกับทีมเพิ่มเติมไปว่า ที่ชวนคนในขบวนการมา ไม่ได้ต้องการให้เขามาคุยรายละเอียดการเจรจา แต่ต้องการให้มาแสดงวิสัยทัศน์เหมือนกับโทนี่ ธนาธร หรืออภิสิทธิ์ว่า ถ้าขบวนการได้เป็นฝ่ายบริหาร จะจัดการพื้นที่อย่างไร มีแนวคิดวิสัยทัศน์อย่างไร พอคุยไอเดียกันสุดและทุกคนเห็นชอบ พวกเราก็ลุยงานกันเลยทั้งประสานงานทั้งหาทุนอะไรต่างๆ”
“ในขั้นตอนการประสานงาน เราเจอปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างเรื่องทุนจัดงาน เพราะองค์กรที่รับปากว่าจะเป็นสปอนเซอร์ให้เราขอถอนตัวในนาทีท้ายๆ ผมก็ฉิบหายละ เอาไงดี พวกกราฟฟิกแอดเวอร์ไทส์ต่างๆเตรียมไว้พร้อมแล้ว speaker ก็ดีลไว้หมดแล้วมีแค่ Tony ที่ยังไม่คอนเฟิร์ม ผมกับทีมปรึกษากันแบบเร่งด่วนเลยว่าจะทำไงดี มีคนเสนอว่าถ้าไม่มีทุน เช่าสถานที่ไม่ได้ ก็ปรับเป็นงานออนไลน์ดีไหม แต่สำหรับผมงานระดับนี้ speaker line up ขนาดนี้ ถ้าจัดออนไลน์ 100% มันคงจืดแย่ ผมเลยกลับไปเจรจากับองค์กรที่ให้ทุนอีกครั้ง”
“ตอนนั้นผมนึกขึ้นได้ว่าองค์กรที่เคยรับปากว่าจะสนับสนุนงาน Scenario เขาสนับสนุนโต๊ะเจรจาระหว่างไทยกับขบวนการ ผมเลยใช้จุดนั้นไปเจรจาว่าส่วนหนึ่งของการทำโต๊ะเจรจาคือการจัดกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ The Motive กำลังจะทำในงาน Scenario ถ้าองค์กรคุณไม่สนับสนุนเรามันก็เหมือนกับคุณไม่ได้สนับสนุนโต๊ะเจรจาอย่างแท้จริง สุดท้ายเขาก็ไฟเขียวอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดเวทีของเรา”
“สุดท้ายเวที Scenario Patani ก็เกิดขึ้นและผ่านไปได้ด้วยดี สำหรับผมในแง่ของตัวอีเวนท์ถือว่าประสบความสำเร็จนะ แต่ก็มีเรื่องที่คิดว่าไม่สุดอยู่อย่างน้อยๆสองเรื่อง เรื่องแรกคือตัวแทนของขบวนการไม่ได้พูดในประเด็นที่เราคาดหวัง คือที่เราเชิญมาเราอยากฟังวิสัยทัศน์ว่าถ้าคุณเป็นผู้บริหารจะจัดการพื้นที่อย่างไร ใช้นโยบายแบบไหน คนไทยหรือคนจีนในพื้นที่คุณจะมีนโยบายหรือจะดูแลพวกเขาอย่างไร ปรากฏว่าเวลา 15 นาทีจากครึ่งชั่วโมงหมดไปกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ แล้วก็ค่อยๆไล่มาว่าปัจจุบันขบวนการทำอะไรอยู่ แต่ก็ไม่ได้คุยว่าแล้วอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากรู้ คุณจะบริหารจัดการ จะมีนโยบายอย่างไร"
"ส่วนเรื่องที่สองที่คิดว่าไม่สุดคือตอนจัดงานเราหวังว่าสิ่งที่พูดคุยกันตลอดทั้งเจ็ดคืนของงานจะถูกนำไปพูดคุยหรือผลักดันต่อโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ แต่ปรากฏว่าเหมือนประเด็นที่เราคุยกันมันอาจจะไกลเกินไปสำหรับบริบทองค์กรภาคประชาสังคมหรือคนทำงานในพื้นที่ ทำให้พออีเวนท์จบสิ่งที่เราพูดคุยก็ไม่ได้ถูกนำไปทำงานต่อแบบที่ผมคาดหวังไว้ หลังจบเวทีผมเลยสรุบบทเรียนว่าถ้าจะจัด Scenario ครั้งต่อไป คงต้องชวนเพื่อนๆที่ทำงานภาคประชาสังคมมาร่วมพูดคุยและกำหนดประเด็นในเวทีที่พวกเขาสามารถนำไปทำงานต่อได้เลยเพื่อไม่ให้การจัดงานต้องเสียเปล่า”
ทำงานแบบมืออาชีพแต่ไม่ละทิ้งอุดมการณ์
สำหรับสื่อระดับภูมิภาคขนาดเล็กที่ทำงานสื่อสารประเด็นเฉพาะที่มีความเข้มข้น การหาแนวทางประกอบธุรกิจที่ทำให้องค์กรอยู่รอดควบคู่ไปกับการคงตัวตนและความเข้มข้นของเนื้อหาคือเรื่องที่มีความท้าทาย โดยกรณีของ The Motive ความท้าทายในประเด็นนี้อาจจะสูงกว่าสื่อทางเลือกระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นรายอื่นๆเพราะพวกเขาต้องทำงานภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วยความอ่อนไหวของพื้นที่ แม้การสื่อสารประเด็นอย่างวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ บางครั้งก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความกังวลใจให้เจ้าหน้าที่รัฐ
“ที่ผ่านมาคนมักมอง The Motive ว่าเป็น NGO ที่ทำงานสื่อ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะภาพจำของทีมงานหลายๆคนที่เคยทำงานหรือยังทำงานอยู่ในแวดวง NGO หรือภาคประชาสังคม แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ The Motive ตั้งใจจะเป็นคือสื่อมืออาชีพที่ตีแผ่ประเด็นการเมืองในพื้นที่ กระบวนการสันติภาพ หรือประเด็นอื่นๆที่องค์กรภาคประชาสังคมทำงาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลัก ขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เองก็อาจมีข้ออ่อนในเรื่องการสื่อสาร The Motive เชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเข้าไปอุดช่องว่างตรงนั้น ส่วนจะทำได้แค่ไหนก็ให้เวลาและผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์”
“ที่ผมบอกว่า The Motive ไม่ต้องการเป็น NGO ที่ทำสื่อส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมรู้สึกว่าไม่อยากขอทุนเพื่อมาทำสื่อเพราะเวลาเราขอทุนมาทำงานมันจะต้องคิดด้วยว่าถ้าเราจะสื่อสารประเด็นนั้นประเด็นนี้แหล่งทุนจะโอเคไหม แต่ถ้าเราเป็นสื่ออาชีพที่ยืนด้วยตัวเองได้ เราจะทำประเด็นไหน มันก็เป็นเรื่องว่าคนจะอ่านหรือผู้บริโภคเขาซื้อประเด็นที่เราทำงานไหม เราสนใจแค่นั้น ไม่ต้องสนใจว่าคนให้ทุนทำงานเขาจะพอใจหรือไม่”
“สำหรับโมเดลธุรกิจของ The Motive ตอนนี้ผมกำลังมองไปที่การแยกเป็นสองขา ขาหนึ่งคือ The Motive ที่มีหน้าที่ผลิตคอนเทนท์เป็นหลัก อีกขาหนึ่งคือขาธุรกิจที่มีหน้าที่หารายได้เข้าองค์กร ซึ่งที่เรามองคือการรับจ้างผลิตเนื้อหาหรือดูแลเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานราชการหรือภาคเอกชนในพื้นที่ ตรงนี้แหละที่พวกเราคุยกับหนักว่าเราจะรับงานอะไรได้บ้าง ถ้ามีฝ่ายปกครอง กอ.รมน.หรือกองทัพมาจ้างทีมเราผลิตคอนเทนท์เราจะรับไหม ซึ่งในทีมก็คุยกันว่าด้วยจุดยืนของ The Motive ถ้าขาหนึ่งเราสื่อสารประเด็นในพื้นที่ แต่อีกขาเราไปรับทำงานสื่อสารให้ทหารหรือตำรวจซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย เราจะอธิบายกับคนอ่าน The Motive อย่างไร สุดท้ายในทีมก็วางเกณฑ์กันว่าหากเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษา วัฒนธรรมที่ไม่ได้ขัดกับอุดมการณ์ขององค์กรเราก็จะรับทำงาน แต่ถ้าเป็นกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคงเราก็จะปฏิเสธไป”
“ความท้าทายสำคัญในการหารายได้ของ The Motive คือข้อจำกัดด้านการตลาด เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาทำงานตรงนี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากแวดวง NGO ที่ไม่ค่อยจะมีหัวทางธุรกิจ ครั้นจะไปจ้างคนทำงานการตลาดมืออาชีพมาทำงานเต็มเวลาก็ยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุน”
“การรับจ้างผลิตสื่อในพื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องที่มีความท้าทายเพราะองค์กรในพื้นที่ยังนิยมจ้างทีมผลิตงานจากกรุงเทพ ผมเชื่อว่าทีมงาน The Motive มีความสามารถในการทำงานไม่แพ้กรุงเทพและเราก็ยังมีข้อได้เปรียบคือในการจ้างงานก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทางจากกรุงเทพหรือค่าที่พัก เรารับผิดชอบตัวเองในส่วนนี้ แต่พอเราให้เขาดูเรตราคาของเราที่คิดในอัตราทีมผลิตสื่อมืออาชีพองค์กรในพื้นที่ก็มักจะมองว่าแพงเกินไปทั้งๆที่ค่าจ้างของเราเมื่อเทียบกับค่าจ้างรวมค่าที่พักและโรงแรมของทีมผลิตสื่อในกรุงเทพก็ยังถือว่าของเราถูกกว่าอยู่มาก บางครั้งเราเองก็ต้องยอมลดราคาของตัวเองลงมาเพื่อให้มีรายได้เข้ามาบ้างรวมทั้งสร้างผลงานให้ติดตลาด”
“ช่วงเลือกตั้ง 2566 ก็มีพรรคการเมืองบางส่วนที่จ้างทีมงานเราผลิตคอนเทนท์ ซึ่งตรงนี้ผมจะคุยกับผู้ว่าจ้างเลยว่าเรายินดีทำงานให้คุณ แต่หากเราเห็นว่านโยบายบางส่วนของคุณมีประเด็นที่น่าเขียนวิพากษ์วิจารณ์คุณจะมาจำกัดเราตรงนั้นไม่ได้นะ ในส่วนที่คุณจ้างงานเราทำให้เต็มที่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์สื่อสารสาธารณะซึ่งเป็นงานของ The Motive เราก็จะทำในแพลทฟอร์มของเรา เป็นคนละส่วนกัน”
“ในส่วนของธุรกิจ การสร้างรายได้ให้องค์กรเป็นสื่อมืออาชีพที่เลี้ยงคนทำงานได้เป็นเป้าหมายหลักที่เรากำลังจะมุ่งไป ส่วนในแง่ของประเด็นที่ The Motive จะทำงานหลังจากนี้คงเป็นเรื่องของกระบวนการเจรจาสันติภาพที่จะต้องติดตามอย่างเข้มข้น ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเรายังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนว่าภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยการเจรจาจะไปในทิศทางไหน มุมหนึ่งผมเองก็มองว่ารัฐบาลใหม่นี้ดูจะให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่น้อยไปหน่อยซึ่งทีมงานของ The Motive เองก็จะต้องทำความเข้าใจเรื่องกลไกของรัฐสภาไทยให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ติดตามความคืบหน้าของกระบวนการเจรจาสันติภาพผ่านทางส.ส.ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพ cover จากเฟซบุ๊กอันวาร์ ภาพประกอบอื่นๆ จาก The Motive