จากเงินตั้งต้นเพียง 6,000 บาท นุ๊ก วัชรพล นาคเกษมและผองเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง Lanner สำนักข่าวท้องถิ่นออนไลน์รายใหม่ของภาคเหนือ แม้ตัวนุ๊กจะพอมีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง โดยเฉพาะงานเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนและนวัตกรรมทางสังคม แต่การก่อตั้งสำนักข่าวด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนุ๊ก
แม้นุ๊กจะมีประสบการณ์ทำงานมาบ้างตั้งแต่สมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษา และสมัยทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่กรุงเทพ แต่การทำงานด้านสื่อถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนุ๊กโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรของตัวเองในภูมิภาคที่ห่างไกลจากบ้านเกิด
หนึ่งปีของการทำงาน (จากพฤษภาคม 2565 - 2566) สำนักข่าวที่เพิ่งตั้งไข่อย่าง Lanner พยายามตามหาข่าวมาเผยแพร่ทุกวันเพื่อสร้างแบรนด์และความเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยความใหม่ หลายๆ ครั้งการนำเสนอข่าวของ Lanner ก็ยังเป็นการไล่ตามการนำเสนอข่าวของสื่อเมืองกรุง ในช่วงที่ Lanner มีอายุครบขวบปีก็ต้องรับมือกับศึกใหญ่อย่างการเลือกตั้ง 66 หลังการเลือกตั้งนุ๊กและทีมของเขาเริ่มทบทวนถึงบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่าที่ผ่านมาบ่อยครั้งพวกเขานำเสนอเนื้อหาด้วยแว่นของ "คนกรุงเทพ" จนทำให้แบรนด์ของ Lanner ในฐานะสื่อทางเลือกที่นำเสนอเรื่องราวของภาคเหนือดูไม่แข็งแรงเท่าที่ควร หลังจบศึกเลือกตั้ง 66 นุ๊กและทีมงาน Lanner จึงจับเข่าคุยกันเพื่อปรับทิศทางการทำงานขององค์กรใหม่ โดยตัวของนุ๊กในฐานะบรรณาธิการบริหารตั้งเป้าว่าห้าปีจากนี้ เขาหวังจะทำให้ Lanner เป็นองค์กรสื่อมืออาชีพของคนเมืองเหนือ และสามารถรองรับเพื่อนร่วมงานรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่
วัยเด็กที่เมืองระยอง
นุ๊กเป็นคนจังหวัดระยองโดยกำเนิด ครอบครัวฝั่งพ่อเขาเป็นคนในพื้นที่ ขณะที่ครอบครัวฝั่งแม่เขาอพยพจากภาคอีสานตั้งแต่รุ่นตากับยายที่เข้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ที่อำเภอปลวกแดงระยองโดยแม่ของเขามาเกิดที่จังหวัดระยอง
นุ๊กเริ่มมีความสนใจประเด็นทางการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนชั้นม.ต้น โดยเริ่มจากปู่ของเขาที่รับหนังสือพิมพ์รายวันและชอบเปิดทีวีช่องคนเสื้อแดง ในช่วงที่มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 นุ๊กซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นม.ต้นเมื่อเห็นข่าวการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก็รู้สึกเห็นใจผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลัง แต่เขาก็ต้องเก็บความรู้สึกไว้เงียบๆ ไม่สามารถบอกเล่าให้คนที่โรงเรียนฟังได้
"จังหวัดระยองเป็นอีกจังหวัดที่คนมีความสนใจทางการเมืองค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่คนที่นั่นเค้าไม่ค่อยชอบทักษิณหรือคนเสื้อแดงกัน ยิ่งที่โรงเรียนนี่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างเลย เคยมีครูคนหนึ่งถามนักเรียนในชั้นว่ามีใครเป็นคนเสื้อแดงไหม พอมีเพื่อนผมคนหนึ่งยกมือขึ้นปรากฎว่าเพื่อนก็ถูกครูตำหนิแถมยังถูกดึงหูด้วย ผมเห็นแบบนั้นเลยไม่กล้าพูดอะไรในชั้นเรียน แล้วพอมาพูดกับเพื่อน เพื่อนก็มักบอกว่า "มึงเป็นคอมมิวนิสต์เหรอ" พอเจอกับสภาแวดล้อมแบบนั้นสุดท้ายผมก็เลยได้แต่เก็บเรื่องการเมืองไว้คุยกับตัวเอง ยังงงอยู่อะไรวะคอมมิวนิสต์"
Gap year ที่ร้านหนังสือ กับการตัดสินใจเข้าแวดวงนักกิจกรรม
พอขึ้นชั้นม.ปลาย นุ๊กเริ่มมีความฝันที่จะจะเรียนนิเทศและทำงานสื่อ ในสมัยที่เขาเรียนชั้นมัธยมสื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นที่นิยมอยู่ นิตยสารอย่าง a day ที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นในยุคนั้นมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จุดประกายให้เขาอยากก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อ
"สมัยที่ผมเรียนม.ปลายสื่อกระดาษยังบูมอยู่เลย ไม่คิดเลยว่ามาถึงวันนี้สื่อกระดาษจะทยอยปิดไปหลายรายแล้ว อย่าง a day ที่ผมชอบอ่านนี่ก็มีคนนิยมอ่านกันเยอะ อ่านไปอ่านมาผมก็เริ่มรู้สึกอยากเป็นคนเขียนบ้าง"
"นอกจากอ่านพวกนิตยสารแล้วหนังสืออีกประเภทที่ผมชอบอ่านก็พวกวรรณกรรม อย่างหนังสือของบินหลา สันกาลาคีรี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ การอ่านมันค่อยๆ พาไปเจอสิ่งที่เราชอบ ถึงผมจะชอบงานสื่อแต่ก็มองไปที่สื่อพวกนิตยสารมากกว่า ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการเป็นนักข่าวที่ต้องทำข่าวรายวันมันเหมือนงานรูทีน ไม่เหมือนกับการทำงานในนิตยสารที่ลงลึกมากกว่า"
หลังเรียนจบชั้นม.6 ในช่วงปี 2557 นุ๊กตัดสินใจหยุดเรียนเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อหาประสบการณ์ทำงาน ด้วยพื้นฐานเป็นคนรักการอ่าน นุ๊กตัดสินใจไปสมัครเป็นพนักงานในร้านขายหนังสือแห่งหนึ่งในจังหวัดซึ่งเป็นร้านเอเย่นต์ที่คอยกระจายหนังสือให้แผงหนังสืออื่นๆ ในจังหวัด
"หลังเรียนจบมัธยมในปี 57 ผมหยุดเรียนไปปีนึงด้วยหลายเหตุผลทั้งด้านเศรษฐกิจแล้วก็เรื่องการหาที่เรียนเพราะคะแนนแอดมิชชั่นผมมันก็ไม่ได้สูงมากนัก ผมเลยหยุดเรียนเพื่อหาประสบการณ์ทำงานก่อน ก็ได้ไปทำงานที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ปรากฎว่าเจ้าของร้านนี่เค้าไปทางกปปส.แบบสุดเลย เปิดบลูสกายทั้งวันและก็รับหนังสือที่เป็นที่นิยมในหมู่กปปส. จำได้ว่าผมเป็นคนนั่งห่อหนังสือ power of change ของสุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.) ที่พิมพ์สำนักพิมพ์ Lips ไม่ต่ำกว่าร้อยเล่ม หรือหนังสือการ์ตูนสุเทพก็เหมือนกัน เวลาคนถามหานิยายจีนของสำนักพิมพ์มติชนเขาก็เรียกมติชิน(ล้อเลียนจากทักษิณ ชินวัตร) เรื่องการเมืองผมสนใจในฟากฝั่งประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็ต้องแอบอยู่ดีอยู่ยากชิบหาย(ฮา)"
"ผมทำงานที่ร้านหนังสือได้ประมาณปีนึงชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ช่วงวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร (22 พฤษภาคม 2558) มีข่าวนักกิจกรรมออกไปแสดงออกจนถูกจับทั้งวัน ตอนเช้าเป็นข่าวพวกดาวดินที่อีสาน ตอนบ่ายเป็นพวกนักกิจกรรมที่หอศิลป์ ผมได้แต่คิดตอนนั้นว่าประเทศนี้ไม่ไหวแล้ว ยิ่งพอเห็นว่าคนที่ถูกจับก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม ผมก็ได้แต่ถามตัวเองว่า ไอ้เหี้ยแล้วกูก็จะทำอะไรได้บ้าง ทีนี้หนึ่งในคนที่ถูกจับมีพี่แมน (ปกรณ์ อารีกุล อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งนครศรีธรรมราช พรรคก้าวไกล) ที่เรียนม.บูรพาอยู่ด้วย มันเป็นจังหวะที่ม.บูรพาเปิดรับตรงพอดี ผมเลยตัดสินใจลองสอบตรงเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ที่ม.บูรพา แล้วก็สอบติดก็เลยได้ไปเรียนที่นั่น แล้วตั้งแต่วันแรกที่ผมไปมหาลัยผมก็ไปถามหาว่ากลุ่มลูกชาวบ้านอยู่ที่ไหน แล้วหลังจากนั้นตลอดเวลาที่เรียนที่ม.บูรพาผมก็ทำกิจกรรมมาโดยตลอดจนกระทั่งเรียนจบ"
ความเติบโตในแวดวง NGO
นุ๊กเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพาในปี 2558 ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปี 1 เขาก็เข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มลูกชาวบ้าน ในช่วงที่นุ๊กเข้าเรียนรุ่นพี่ในกลุ่มลูกชาวบ้านหลายๆ คนเริ่มทยอยจบการศึกษา ในปี 2560 นุ๊กตัดสินใจตั้งกลุ่มกิจกรรมใหม่ของเขาขึ้นมาคือ "กลุ่มโกงกาง" เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ทั้งด้านประชาธิปไตยและประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออก
"ในช่วงที่เข้าเรียน พี่แมนและหลายๆ คนเค้าจบไปแล้ว แต่ช่วงที่ผมเรียนอยู่เค้าก็ยังแวะเข้ามาที่มหาลัยอยู่บ้าง ผมเลยมีโอกาสรู้จักและได้ทำกิจกรรมร่วมกับพี่เขาในบางโอกาส"
"การเข้ามาอยู่ในแวดวงกิจกรรมทำให้ผมค้นพบกับประเด็นที่น่าสนใจใหม่นอกเหนือจากประเด็นการเมืองโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการพัฒนาที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม อย่างภาคตะวันออกเรื่องที่ใหญ่ที่สุดก็น่าจะเป็นประเด็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ที่มีการกำหนดกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ให้เอื้อกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการพัฒนาเหล่านั้น"
"หลังเข้ามาทำกิจกรรมผมมีโอกาสรู้จักกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) มันมีโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ผมเข้าไปร่วมด้วยที่นั่นรวบรวมคนรุ่นใหม่ไปทำกิจกรรมทางสังคมไว้เยอะมาก เปิดโลกอีกใบเลยเพราะเรารู้จักแต่สายกิจกรรมการเมือง พอเรียนจบจากม.บูรพาผมก็เข้าไปขอทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงของทางมูลนิธิแบบเต็มตัว ก่อนที่จะขยับขยายเป็นสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม SYSI ที่ถือเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ ผมโดยเข้าไปทำงานในส่วนของงานติดตามเพื่อการพัฒนา ดูแลสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการของ SYSI"
ก้าวแรกสู่งานสื่อ
แม้ความฝันของนุ๊กในช่วงมัธยมจะอยู่ที่การทำงานสื่อ ทว่าเมื่อเขาก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนุ๊กก็ไปทำงานในส่วนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกิจกรรมเยาวชนเป็นหลัก ตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมนักศึกษาจนถึงสมัยที่จบออกมาทำงาน อย่างไรก็ตามระหว่างที่ทำงานกับโครงการ นุ๊กก็มีโอกาสกลับมาสานฝันของเขาในการทำงานสื่อด้วยความบังเอิญราวกับว่าโชคชะตาของเขาถูกขีดไว้แล้ว
"ระหว่างที่ผมทำงาน ผมก็ต้องผลิตเนื้อหาลงเพจอยู่ แต่ปรากฎว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเพจของโครงการคนรุ่นใหม่ฯ ถูกแฮค กว่าจะกู้มาได้ก็ใช้เวลานาน ระหว่างนั้นเราเลยต้องเปิดเพจของโครงการเพจใหม่ เพราะมันเป็นช่วงที่มีอีเว้นท์พอดี ทีนี้พอเรากู้เพจกลับมาได้ก็กลายเป็นว่าโครงการมีสองเพจ ผมเลยเริ่มใช้เพจของโครงการอีกเพจเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองไปเลย เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่กับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย"
"กลายเป็นว่าพอเริ่มมาทำคอนเทนท์ ผมก็รู้สึกมีความสุขมากงานหลักของผม แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เป็นเรื่องที่ผมตกผลึกมาจากม็อบช่วงปี 63"
"ตอนที่รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) อ่านข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันฯ ผมรู้สึกว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นแล้ว และผมก็คิดต่อไปว่าเหตุผลที่ผมทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพเยาวชนเป็นเพราะผมเชื่อเรื่องที่ว่าถ้าเราส่งเสริมพัฒนาคนรุ่นใหม่ได้เต็มที่ เป็นพลเมืองที่คิดและแคร์สถานการณ์ทางสังคม เมื่อสถานการณ์มันสุกงอมคนก็น่าจะก้าวออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนที่ผมได้ฟังรุ้งพูดผมก็รู้สึกว่าความคิดความเชื่อของผมมันคงไม่จำเป็นแล้ว ไปทำอย่างอื่นได้แล้ว"
เบื้องหลังคือชายทะเล เบื้องหน้าคือขุนเขา
นุ๊กเริ่มอาชีพการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่สมาคมคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) แต่แพสชันในวัยมัธยมอย่างการทำงานสื่อเริ่มกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ล่วงมาถึงปลายปี 2564 นุ๊กตัดสินใจออกมาทำสื่อร่วมกับเพื่อนๆ ที่เชียงใหม่
"ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ผมตัดสินใจว่าจะออกมาทำสื่อ ผมเริ่มมองหาแหล่งทุนและลู่ทางโดยช่วงนั้นก็มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงานของ The Isaan Record เว็บไซต์สื่อทางเลือกประจำภูมิภาคอีสานที่ทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคอีสาน เกี่ยวกับแนวทางการตั้งองค์กรสื่อลักษณะเดียวกับ The Isaan Record ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีหลายๆอย่าง เลยเพิ่มความกล้าที่จะทำมากยิ่งขึ้น"
"สำหรับตัวผมเองเป็นคนภาคตะวันออกโดยกำหนดและก็ไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับภาคเหนือเลย แต่ที่ตัดสินใจเลือกมาทำสื่อที่เชียงใหม่เป็นเพราะผมมีเพื่อนอยู่ที่นี่หลายคน หนึ่งในนั้นคือเพื่อนที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัยในโครงการคนรุ่นใหม่ของมอส. แล้วก็ทำเพจด้วยกัน แต่ก็ทำงานออนไลน์จากเชียงใหม่เป็นหลัก มันก็ยิ่งตอกย้ำนะว่าข่าวในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือมันมี มันจำเป็น แต่สื่อทำข่าวน้อยมาก เลยเห็นโอกาสที่น่าจะมาตั้งสำนักข่าวด้วยกัน นอกจากนั้น ผมก็ตั้งใจจะมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เลยตัดสินใจเลือกมาที่นี่"
1 ของปีของ Lanner - บทเรียนและทิศทางที่ต้องเปลี่ยนแปลง
หลังหมดสัญญากับที่ทำงานเก่าในเดือนกุมภาพันธ์ นุ๊กย้ายมาที่เชียงใหม่ในเดือนเมษายน มาเริ่มทุกอย่างจากศูนย์หาห้องเช่าถูกๆ กับมอเตอร์ไซค์ที่หยิบยืมจากเพื่อนมาใช้งาน แม้นุ๊กกับเพื่อนจะพูดคุยกับแหล่งทุนที่จะสนับสนุนการทำงานขององค์กรสื่อที่พวกเขาตั้งใจจะตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แล้ว แต่ในช่วงที่นุ๊กย้ายมาเชียงใหม่และเปิดเพจทำข่าวครั้งแรกเงินโครงการยังไม่ได้รับอนุมัติ นุ๊กและเพื่อนๆ เลยรวบรวมเงินเก็บและเงินที่เหลือจากการทำกิจกรรมครั้งก่อนๆซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,000 บาท มาใช้ซื้ออุปกรณ์จำเป็นสำหรับการทำข่าวชุดแรก
"ผมกับเพื่อนๆ ถือฤกษ์วันแรงงานปี 65 เป็นวันเปิดตัวเพจครั้งแรก เพราะคิดว่าถ้ามัวแต่รองบก็ไม่ได้เริ่มงานเสียที หลังจากรวบรวมเงินก้อนแรกได้ประมาณ 6,000 บาทเราก็เอามาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นแล้วก็เริ่มลุยกันเลย สำหรับชื่อ Lanner เราเพิ่งมาคิดกันได้ไม่กี่วันก่อนเปิดเพจ (1 พฤษภาคม 2565) มาจากการผสมระหว่างคำว่าล้านนาซึ่งเป็นชื่อเรียกอาณาจักรโบราณในภาคเหนือกับ เน่อ ซึ่งเป็นสำเนียงของคนเมือง แถมมันยังเป็นชื่อของเหยี่ยวชนิดหนึ่งที่ฝรั่งเศสซึ่งสะท้อนถึงอิสระ และเสรีภาพและความเป็นสื่อสารมวลชนด้วย"
"งานชิ้นแรกของเราคือข่าวการชุมนุม Worker Fest! เราทุกคน คือ คนงาน We All Are Workers การชุมนุมเนื่องในวันแรงงานที่เชียงใหม่ หลังจากนั้นเราก็พยายามจับทางว่าจะรายงานอะไรและอย่างไรดี ช่วงแรกๆ เราคิดกันว่าต้องพยายามหาข่าวมาออกทุกวัน แต่กลายเป็นว่าบางครั้งเราก็เหมือนทำข่าวไม่ต่างจากสำนักข่าวกระแสหลักทั่วไป อาจเป็นข้อจำกัดว่าตัวผมเองไม่ใช่คนเหนือ แล้วความสนใจของผมรวมถึงคนในทีมก็ยังเป็นเรื่องที่โยงกับการเมืองที่กรุงเทพ"
"ช่วงที่มีการเลือกตั้งในปี 66 Lanner ก็เกาะติดการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด แม้งานหลายชิ้นที่จะเป็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในภาคเหนือแต่บริบทและกรอบการนำเสนอสุดท้ายมันก็ยังเป็นแว่นของคนกรุงเทพที่มองมาที่ภาคเหนืออยู่ดี ไม่ต่างจากสำนักข่าวสื่อกระแสหลักที่ใช้นักข่าวภูมิภาคลงพื้นที่แล้วรายงานข่าว หลังจบเลือกตั้งผมกับเพื่อนๆ ในทีมตัดสินใจว่าน่าจะถึงเวลาที่พวกเราควรจะได้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามเป้าที่เราอยากจะสร้างสำนักข่าวทางเลือกเพื่อคนภาคเหนือและบอกเล่าเรื่องราวของคนภาคเหนือผ่านมุมมองของคนภาคเหนือจริงๆ เสียที"
"หลังการคุยกันพวกเราสรุปบทเรียนร่วมกันว่าจากนี้เราคงไม่จำเป็นต้องวิ่งหาข่าวเพื่อรายงานทุกวัน แต่ต้องพยายามผลิตงานแต่ละชิ้นให้ลึกและเน้นเล่าเรื่องที่ไม่ถูกรายงานโดยสื่อกระแสหลัก อย่างช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา (2566) เราออกรายงานชิ้นหนึ่งเรื่อง "เชียงใหม่ เมืองไม่มีอนาคต" เพื่อเล่าเรื่องที่เชียงใหม่ไม่มีตลาดงานที่ดีรองรับนักศึกษาจบใหม่ ทั้งๆ ที่เชียงใหม่มีมหาลัยอยู่หลายแห่ง ทำให้พอนักศึกษาเรียนจบต้องไปหางานทำที่อื่นถ้าอยากมีรายได้ที่ทำให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายงานชิ้นนั้นได้รับผลตอบรับดีมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะมันเป็นประเด็นที่ไม่มีใครค้นและเขียนอย่างจริงจังมาก่อนและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเป็นประเด็นร่วมที่นักศึกษาจบใหม่หลายๆ คนต่างรู้สึกเหมือนๆ กัน"
"สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เราจะโฟกัสให้จริงจังมากขึ้น คงเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ถูกละเลย หรืออาจถูกเขียนอีกแบบในตำราเรียนของส่วนกลาง ซึ่ง Lanner ในฐานะสื่อทางเลือกเราจำเป็นที่จะต้องเขียนงานเชิงลึกเพื่อนำเสนอเรื่องราวในอีกมุมหนึ่งที่เป็นมุมของคนในพื้นที่จริงๆ"
"งานอีกส่วนที่เป็นภารกิจสำคัญ หรืออาจจะเรียกได้ว่าจุดกำเนิดของ Lanner คือการเป็นปากเสียงให้กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพราะปีๆ หนึ่งคนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีการออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะเพื่อนำเสนอความทุกข์ร้อนหรือข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา ซึ่งข่าวพวกนี้มักถูกละเลยโดยสำนักข่าวกระแสหลัก ภารกิจในส่วนนี้เป็นภารกิจสำคัญที่เราจะละเลยไม่ได้ พวกเราทุกคนที่ Lanner คิดอยู่เสมอว่าพวกเราไม่ใช่แค่สื่อแบบสื่อกระแสหลัก แต่เราเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมที่ใช้สื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง"
ก้าวต่อไปของ Lanner และก้าวต่อไปของสื่อทางเลือกไทย
ในฐานะสื่อทางเลือกที่พึ่งพาทรัพยากรจากผู้บริจาค ความอยู่รอดขององค์กรกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในองค์กรดูเหมือนจะเป็นเหรียญคนละด้าน เพราะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องเลือกว่าจะจัดสรรทรัพยากรไปในทิศทางไหนซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นปัญหางูกินหาง
หากจัดสรรทรัพยากรโดยให้น้ำหนักกับความอยู่รอดของค์กร ก็อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของคนทำงาน แต่หากให้น้ำหนักกับคุณภาพชีวิตของคนทำงานก็อาจกระทบต่อสภาพคล่องและการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม นุ๊ก ในฐานะผู้บริหารองค์กรและคนที่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนดูจะรับรู้ถึงข้อจำกัดส่วนนี้ดี
"เรื่องทรัพยากรเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วงที่องค์กรเพิ่งตั้งไข่เราต้องใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง อย่างตัวผมเองการทำงานในฐานะบรรณาธิการช่วงแรกๆ ก็ทำโดยไม่มีค่าตอบแทนแล้วผมไปหารายได้ทางอื่น ส่วนนักข่าวที่เป็นรุ่นบุกเบิกก็เคยทำงานโดยมีเบี้ยเลี้ยง 300 บาทต่อวันเพื่อไปทำข่าว เราเริ่มมาจากจุดนั้น แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาผมถือว่าเราพัฒนาตัวเองไปพอสมควร มีคนติดตามมากขึ้นจนถึงตอนนี้เปิดเพจมาได้สองปีเศษเรามีคนติดตามบนเฟซบุ๊กมากกว่า 20,000 แอคเคาท์ ผลงานก็มีคนไลค์ คนแชร์ คนเข้ามาโต้ตอบมากขึ้น"
"ความฝันห้าปีจากนี้ผมคงมองไปที่การทำให้ Lanner เติบโตขึ้น และทำให้เป็นองค์กรสื่อมืออาชีพที่เพื่อนร่วมงานสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขมีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผมยังหวังด้วยว่า Lanner จะเป็นหนึ่งในทางเลือกให้นักศึกษาคนเชียงใหม่หรือนักศึกษาที่จบจากเชียงใหม่แล้วอยากใช้ชีวิตที่นี่ มองเราเป็นหนึ่งในทางเลือกขององค์กรที่ทำให้พวกเขาจะได้ทำงานที่ฝันไปพร้อมๆกับมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมมีความรู้สึกมากๆ เพราะบทความ "เชียงใหม่ เมืองไม่มีอนาคต" ที่เผยแพร่ไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน
"นอกจากการทำสื่อเล่าเรื่องภาคเหนือแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Lanner มองเป็นภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมให้มีสื่อทางเลือกลักษณะเดียวกับเราหรือ The Isaan Record เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ เพราะการมีสื่อทางเลือกมากขึ้นหมายถึงการตรวจสอบการทำงานของรัฐจะยิ่งเข้มข้นขึ้น อย่างตอนนี้ภาคอีสาน นอกจาก The Isaan Record แล้ว ก็มีสื่อทางเลือกอีกจ้าวที่ริเริ่มในชื่อลาวเด้อ หรือภาคตะวันออกบ้านผมเนี่ยก็มีสื่อทางเลือกเกิดใหม่เกิดขึ้นอีกสองสำนัก ซึ่งหากในอนาคตมีคนในภูมิภาคอื่นๆ สนใจจะเริ่มทำงานสื่อทางเลือกหาก Lanner พอจะให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนทางไหนได้เราก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยตรงนั้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในข้อหลังที่มีความสำคัญมากเพราะมันจะเป็นก้าวแรกไปสู่การกระจายอำนาจ หรือการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และประชาธิปไตย"
เรื่องและภาพถ่ายของนุ๊กที่อ่างแก้ว โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์