Skip to main content

 

 

 

 

 

 

กว่าจะ 30 ปี “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” เรื่องราวของผู้ใช้แรงงาน ตั้งอยู่บนถนนนิคมอุตสาหกรรม ด้วยความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานไทย ทั้งคนทำงาน นักวิชาการ กับมูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท ประเทศเยอรมนี ได้ขอใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น พื้นที่บริเวณนั้นแต่เดิมเคยถูกใช้เป็นสถานีตำรวจรถไฟ และเป็นสหภาพแรงงานรถไฟ ก่อนจะถูกปิดไปจนกลายเป็นพื้นที่ร้าง และนำมาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้ประชาชนเข้าชมจนถึงปัจจุบัน

 

ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานไล่เรียงตามช่วงเวลาของ “คนแรงงาน” ในสังคมแต่ละช่วงตั้งแต่สังคมไทยโบราณ ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานในประเทศไทยว่า “แรงงานมันมาจากไหน?” และได้ตกตะกอนความคิดระหว่างการเดินชมแต่ละส่วนจัดแสดง

 


 

แรงงาน ไพร่-ทาส ในสังคมไทยโบราณ

ในยุคสมัยหนึ่ง ไพร่-ทาส ใน “สังคมศักดินา” เป็นเสมือนชนชั้นแรงงานในยุคปัจจุบันที่ดำเนินการผลิตในสังคมทุกด้านผ่านการเกณฑ์แรงงาน รวมถึงใช้ศักดินากำหนดหน้าที่ทางสังคม ภายในส่วนจัดแสดงจะแสดงให้เห็นถึงอุปกรณ์ในการทำงานของไพร่และทาส โดยส่วนใหญ่วัตถุจัดแสดงจะเป็นอุปกรณ์สำหรับทำการเกษตร เช่น เกวียนจำลอง และภาพจำลองการทำงานของพวกเขาเหล่านั้นในขณะทำงานการเกษตร 

 

กุลีจีน : แรงงานรับจ้างรุ่นแรก

“แรงงานจีน” เป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรก ๆ ของสังคมไทย บรรยากาศภายในพื้นที่จัดแสดงส่วนนี้จะเป็นจำลองการใช้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานชาวจีน แสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อและวิถีชีวิตทั้งขณะการทำงาน มีการจัดแสดงชีวิตของแรงงานช่วงพักผ่อนหย่อนใจ ประกอบกับมีป้ายแสดงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแรงงานจีนให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักกับพวกเขามากขึ้น


 

การปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5

“การปฏิรูปประเทศ” ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของระบบแรงงาน และเหตุการณ์สำคัญอย่าง การยกเลิกระบบ “ขุนนาง-ไพร่-ทาส” ในส่วนนี้จะพาผู้เข้าชมย้อนรอยดูความเปลี่ยนแปลงและสิ่งของจัดแสดงชิ้นสำคัญ บอกเล่ากระบวนการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างภาพจำลองการทำทางรถไฟ

.

กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ภายในชวนชมภาพแรงงานในสังคมไทย จัดแสดงจำลองภาพบรรยากาศ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” สู่ระบอบประชาธิปไตย ให้ผู้เข้าชมได้ชมวัตถุจัดแสดงทั้งของจริงและวัตถุจำลอง เช่น หมุดคณะราษฎรจำลอง เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เหรียญกล้าหาญ เป็นต้น

 

จากสงครามโลกถึงสงครามเย็น

ส่วนหนึ่งของเรื่องราวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วง “รัฐนิยม” ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกในสมัยนั้น เมื่อเข้าไปครั้งแรกจะพบกับเครื่องบินจำลองขนาดใหญ่ และแบบจำลองการสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ นอกจากนั้นยังมีแบบจำลองวิถีชีวิตของประชาชนอย่างเครื่องอบไอน้ำสำหรับร้านทำผม ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ฉบับจริง และหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน 

ภายในพื้นที่จัดแสดงลักษณะคล้ายลูกกรงจากสถานที่ภายในที่เคยใช้เป็นสถานีตำรวจรถไฟด้วย

อุโมงค์ชีวิต “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย”

อุโมงค์ที่บอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถึงสิ่งที่บุคลากร อาสาสมัคร และจิตอาสา เคยทำและทำอยู่ ให้ผู้เข้าชมได้อ่านกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นระหว่างเดินชมส่วนจัดแสดงให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นถึงที่มาที่ไปและกว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย แบบเข้าใจขึ้นไปอีกขั้นและเห็นภาพการก่อร่างของพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

 

ศิลปวัฒนธรรมกรรมกร

ในวันที่เหนื่อย ใครต่อใครก็ต้องการความบันเทิง แน่นอนว่าในกลุ่มแรงงานก็มี “กิจกรรมบันเทิง” ด้วยเช่นกัน ภายในพื้นที่จัดแสดงจะบอกเล่าถึงรูปแบบความบันเทิงต่าง ๆ เช่น การแต่งเพลง วงดนตรี เนื้อเพลง บทเพลงที่สะท้อนเรื่องราว วิถีชีวิตของแรงงานเอาไว้ ภายในมีที่นั่งให้ผู้เข้าชมได้นั่งดูนั่งชมภาพความบันเทิง นอกจากดนตรีแล้วก็ยังมี หนังสือรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอีกด้วย เช่น หนังสือของ “จิตร ภูมิศักดิ์” เรื่อง “โฉมหน้าศักดินา” หนังสือแปล “โคทาน”

จาก 14 ตุลาฯ ถึงวิกฤติเศรษฐกิจ

จุดสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเพราะแรงงานไทยยังคงต้องไปทำงานและเป็นเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ต่อ ภายในจัดแสดงป้ายความรู้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516, 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 

นิทรรศการนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวถึงแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าว แนะนำให้รู้จักกับ “ยีนส์ฮาร่า” การต่อสู้ของแรงงานหญิงฮาร่า การเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ 

นิทรรศการได้กล่าวถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์ ตัวอย่างตุ๊กตาของจริงจากโรงงานเคเดอร์ ภาพจำลองอาคารโรงงาน และสถิติคนงานที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเรื่องอื่น ๆ ให้ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องราวของแรงงานสิทธิสตรี แรงงานเด็ก 



 

ภาพจำลองเหตุการณ์การใช้แรงงานเด็กอิงจากข่าวจากหนังสือพิมพ์ และเรื่องราวของแรงงานอื่น ๆ ที่หากมีโอกาสคุณต้องลองมาชมด้วยตนเอง

แรงงานไทย อย่างไรต่อ?

หลังจากเดินชมจนจบหมดทุกส่วน ภาพของแต่ละห้องชวนสะท้อนความคิดของผู้ชมต่อแรงงานตั้งแต่สังคมยุคโบราณจวบจนปัจจุบัน ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “ท้ายที่สุดแล้ว แรงงานไทย อย่างไรต่อ?” หากมีโอกาสก็อยกาเชิญชวนบุคคลที่สนใจเข้าร่วมชม ร่วมตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ไปด้วยกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ตั้งอยู่ที่ นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เปิดบริการทุกวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 10:00 - 16:30 น.