Skip to main content

"สมัยนั้นเวลาอาตมาได้ยินว่าบ้านไหนมีของโบราณ ก็จะรู้สึกปิติ อยากดู อยากเห็น บางที่พอรู้เรื่องไม่ว่าจะดึกจะค่ำแค่ไหนก็ยอมดั้นด้นไปดู บางทีพอไปถึงบ้านเขาช่วงกลางคืนหมาก็เห่ากันเกรียวเลย พอไปถึงสนทนากับเขาแล้วก็ขอดูของโบราณ แล้วพอได้เห็นก็ปิติ อยากได้มาเก็บรักษาไว้"

"ทีนี้พอคุยกับเจ้าของบางคนก็ถวายของเก่าให้ บอกว่าจะอุทิศให้พ่อแม่บ้าง ให้สามีบ้าง บางคนตอนแรกเขาก็ไม่ให้ ไม่ขาย บอกจะเก็บไว้ให้ลูกหลานดู แต่พอหลังจากนั้นก็เอามาถวาย บอกกลัวลูกหลานไม่เห็นคุณค่าเอาไปทิ้ง หรือเอาไปขาย แล้วเอามาให้อาตมาก็มี"

คือบางช่วงบางตอนที่พระวิมลญาณมุนี (ครูบาบุญชื่น) เจ้าอาวาสวัดลีเล่าให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนฟังเกี่ยวกับภารกิจการสะสมรวบรวมโบราณวัตถุและของโบราณสมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม

ด้วยความชอบส่วนตัว ครูบาบุญชื่นเริ่มสะสมของเก่าตั้งแต่สมัยบวชเป็นสามเณร เริ่มจากกลักไม้ขีดอันเล็กๆ กับนิตยสาร ครูบาบุญชื่นเริ่มค้นพบความสนใจที่แท้จริงของท่านได้แก่การสะสมโบราณวัตถุ ทั้งพระพุทธรูปหินทราย ผ้าเขียนลายนิทานชาดก ไปจนถึงคัมภีร์โบราณจนถึงปี 2566 ข้าวของที่ท่านรวบรวมไว้ที่วัดลีน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 ชิ้น

เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ในเบื้องแรกครูบาบุญชื่นได้แต่เพียงเก็บรวบรวมโบราณวัตถุไว้ที่วัดลีเพียงเพราะเกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีเข้าไปตัดเศียรพระหรือโบราณวัตถุอื่นๆ ไปขายให้ชาวต่างชาติหรือไปทำความเสียหายประการอื่น แต่เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มานมัสการท่านที่วัดและได้เห็นสิ่งที่ท่านเก็บรักษาไว้ ทางผู้ว่าฯ ก็ได้เปรยกับท่านว่าน่าจะนำข้าวของที่จัดเก็บไว้มาจัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้โดยทางผู้ว่าฯ และหน่วยงานราชการจะช่วยจัดหางบประมาณให้ พิพิธภัณฑ์เวียงพยาวหรือพิพิธภัณฑ์วัดลีจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2550

ในชั้นแรกทางวัดไม่ได้มีอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ จึงต้องดัดแปลงศาลาการเปรียญเป็นสถานที่จัดแสดงเป็นการชั่วคราวไปก่อน ระหว่างรอการจัดหางบประมาณเพื่อสร้างอาคารถาวรที่ได้มาตรฐานสำหรับใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในขณะที่สัมภาษณ์ครูบาบุญชื่นในเดือนสิงหาคม 2566 การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ก็มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว และน่าจะพร้อมสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทั้งสำหรับคนในชุมนุมรวมถึงผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ล้านนาหรืองานโบราณคดีในอนาคตอันใกล้

จากนักสะสมรุ่นเยาว์สู่อินเดียน่า โจนส์แห่งเวียงน้ำเต้า

ครูบาบุญชื่นเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเก็บสะสมของโบราณก่อนที่จะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ว่า เริ่มจากสมัยที่ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเมืองชุม ในตำบลแม่ตั๋ม จังหวัดพะเยา (สมัยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) เจ้าอาวาสมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่ชงน้ำชาถวาย โดยทุกๆ เดือนจะให้รางวัลเป็นไม้ขีดหนึ่งกล่อง ครูบาบุญชื่นสังเกตว่ากลักไม้ขีดแต่ละกล่องมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ท่านจึงเริ่มเก็บสะสม นอกจากกลักไม้ขีดท่านก็สังเกตเห็นว่าซองบุหรี่ที่พระบางรูปสูบมีลวดลายสวยงามจึงเอามาเก็บไว้ด้วย หลังจากเริ่มสะสมกลักไม้ขีดและซองบุหรี่ครูบาบุญชื่นเริ่มเก็บสะสมนิตยสารที่ทางวัดบอกรับเป็นประจำเพิ่มเติมเพราะเห็นว่านิตยสารเหล่านั้นมีภาพสวยงามและภาพแปลกๆอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นภาพเครื่องบินหรือภาพดารา แต่นิตยสารนี้ท่านเก็บไว้ได้ไม่น่า เมื่อโยมแม่ของท่านมาเยี่ยมแล้วพบเข้าก็เก็บไปเผาไฟทั้งหมดโดยบอกกับท่านว่าเป็นเณรมาเก็บหนังสือที่มีรูปสีกาแบบนี้ญาติโยมเห็นจะติเตียน มาถึงวันนี้ครูบาชื่อรู้สึกเสียดายอยู่เล็กๆ เพราะหากนิตยสารเหล่านั้นยังอยู่ก็น่าจะมีคุณค่าในทางการศึกษาอยู่บ้าง

ครูบาบุญชื่นย้ายจากวัดเมืองชุมมาจำพรรษาที่วัดลีเพราะมีญาติโยมไปนิมนต์มา เบื้องแรกท่านไม่ได้ตั้งใจจะมาเพราะวัดเมืองชุมอยู่ใกล้บ้าน ใกล้กับโยมพ่อโยมแม่ของท่านมากกว่า แต่เมื่อญาติโยมมานิมนต์หลายครั้งเข้าท่านก็ตัดสินใจย้ายมาจำพรรษที่วัดลีก่อนจะได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในปี 2512 วัดลีเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2038 โดยเจ้าสี่หมื่นพะเยา ผู้ครองเมืองพะเยาในเวลานั้น ครูบาบุญชื่นอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่าลีเป็นภาษาโบราณแปลว่าตลาด โดยคนในท้องถิ่นสมัยโบราณเวลาจะไปตลาดก็มักพูดว่าไป "ไปกาดไปลี" แม้วัดลีจะตั้งอยู่นอกจากเขตตลาดหรือตัวเมืองในปัจจุบัน แต่ในอดีตที่ตั้งของวัดลีถือว่าอยู่ในเขตชุมนุมเวียงพยาว หรือ เวียงน้ำเต้า ชุมชนโบราณที่เจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 21  

แม้จะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนมีกิจด้านการปกครองพระลูกวัดและกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ครูบาบุญชื่นก็ยังคงสนใจตามหาและเก็บสะสมของโบราณโดยเฉพาะโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางศิลปะ ท่านมักจะหาเวลาท่องเที่ยวไปในเขตเวียงน้ำเต้าโดยเฉพาะตามวัดร้างเพื่อรวบรวมพระพุทธรูปหรือโบราณวัตถุที่ส่วนมากเป็นหินทรายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดลี บางครั้งหากโบราณวัตถุอยู่ใต้ดินท่านก็ค่อยๆ ไปขุดขึ้นมาด้วยตัวเอง บางครั้งท่านถึงขนาดไปขุดวัตถุโบราณตอนกลางคืนแบบไม่กลัวผีหรือเจ้าที่เจ้าทาง      
   
"ความอยากมันครอบ ว่าต้องไปเอามาได้ ถ้าได้รู้ว่ามีของโบราณจะดึกแค่ไหนก็ไป กลัวไม่ทันคนอื่น สมัยก่อนที่วัดไม่มีรถ ไม่มีพาหนะก็เหมารถสามล้อไป พอไปช่วงกลางคืนสามล้อเขาก็ไม่กล้าเข้าไปบอกผีดุ อาตมาก็บอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวจุดไต้เดินเข้าไปเอง พอเข้าไปได้เห็นพระพุทธ เห็นของโบราณอาตมาก็ขนลุกด้วยความดีใจ มันปิติจนบอกไม่ถูก"

"บางที่ที่อาตมาไปก็มีข่าวว่ามีคนเคยเอาของไปแต่สุดท้ายต้องเอามาคืน ตัวอาตมาเองไม่เคยเจอใครมาทวงนะ อาจจะมีเสียงอะไรบ้างเหมือนเขาตามมาดูแล้วก็กลับไป ทุกครั้งเวลาไปขุดไปหาอาตมาจะตั้งจิตอยู่เสมอว่าเราเอามา เพื่อมารักษา ให้ลูกให้หลานได้ดู ถ้าอาตมาไม่ไปเอามา อาจจะมีคนมาขุดไปขายให้ฝรั่ง หรือไม่ก็ทุบทำลายดูว่าข้างในมีอะไร แบบนั้นมันก็น่าเสียดาย"

ครูบาบุญชื่นเล่าต่อไปว่าท่านไม่เพียงไปเก็บรวบรวมโบราณวัตถุหรือของเก่าตามวัดร้าง แต่บางครั้งก็ไปรวบรวมมาจากวัดหรือตามบ้านด้วย ในอดีตวัดในชนบทหลายๆ แห่งก็จะมีคัมภีร์โบราณหรือผ้าเขียนลายชาดกที่ใช้ขึงประกอบเวลามีการเทศน์มหาชาติเก็บไว้ แต่อาจเป็นเพราะในขณะนั้นทางวัดเองอาจไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ หรืออาจขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือทรัพยากรที่จะเก็บรักษาให้ถูกต้อง คำภีร์โบราณของบางวัดถูกเก็บไว้ในตู้ธรรมโดยไม่มีการดูแลจนเสียหายเพราะถูกหนูกิน ครูบาบุญชื่นเล่าว่าในอดีตเวลาท่านได้รับกิจนิมนต์ไปที่วัดอื่นท่านมักจะจะมองที่ฐานพระหรือบนธรรมาสน์ว่ามีคัมภีร์โบราณวางอยู่หรือไม่ หากมีท่านก็มักจะออกปากขอเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้ซึ่งในอดีตทางวัดก็มักจะมอบให้แต่ในปัจจุบันหลายๆ วัดเริ่มเห็นคุณค่าของโบราณเหล่านี้และได้ทำการเก็บรักษาดีกว่าในอดีตแล้ว  

ไม่เพียงแต่การเสาะแสวงหาข้าวของตามวัด สมัยหนุ่มๆ ครูบาบุญชื่นก็เคยตระเวนไปดูของโบราณตามบ้านญาติโยมด้วย

"สมัยนั้นเวลาอาตมาได้ยินว่าบ้านไหนมีของโบราณ ก็จะรู้สึกปิติ อยากดู อยากเห็น บางที่พอรู้เรื่องไม่ว่าจะดึกจะค่ำแค่ไหนก็ยอมดั้นด้นไปดู บางทีพอไปถึงบ้านเขาช่วงกลางคืนหมาก็เหล่ากันเกรียวเลย พอไปถึงสนทนากับเขาแล้วก็ขอดูของโบราณ แล้วพอได้เห็นก็ปิติ อยากได้มาเก็บรักษาไว้"

"ทีนี้พอคุยกับเจ้าของบางคนก็ถวายของเก่าให้ บอกว่าจะอุทิศให้พ่อแม่บ้าง ให้สามีบ้าง บางคนตอนแรกเขาก็ไม่ให้ ไม่ขาย บอกจะเก็บไว้ให้ลูกหลานดู แต่พอหลังจากนั้นก็เอามาถวาย บอกกลัวลูกหลานไม่เห็นคุณค่าเอาไปทิ้ง หรือเอาไปขาย แล้วเอามาให้อาตมาก็มี"

จุดกำเนิดของพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว ดูไม่ต่างจากภาพยนตร์ชุดอินเดียน่า โจนส์ ภาพยนต์แนวล่าสมบัติชื่อดัง เพียงแต่ในขณะที่อินเดียน่า โจนส์ไปรวบรวมโบราณวัตถุจากทั่วโลกเพื่อเอามาไว้ที่สหรัฐ ครูบาบุญชื่นจะรวบรวมและเก็บรักษาโบราณวัตถุไว้เป็นสมบัติของคนในท้องถิ่น

จากของสะสมสู่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว

ครูบาบุญชื่นเล่าว่าในช่วงแรกหลังจากท่านรวบรวมข้าวของโบราณมาก็เพียงแต่นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัด แต่ยังไม่ได้นำมาจัดแสดงอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพราะไม่มีงบประมาณและทรัพยากรที่จะใช้ดำเนินการ กระทั่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาท่านหนึ่งซึ่งพื้นเพเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยามานมัสการท่านที่วัด แล้วได้เห็นของโบราณที่ครูบาบุญชื่นสะสมไว้ ผู้ว่าฯ จึงปรารภกับท่านว่าควรจะนำมาจัดแสดงให้ญาติโยมหรือสาธารณะชนได้เข้ามาดูอย่างเป็นระบบ ผู้ว่าฯ ยังรับปากกับท่านด้วยว่าจะหาผ้าป่าให้กองหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นทุนตั้งต้นในการดำเนินงาน โดยครั้งแรกหาปัจจัยมาได้ประมาณล้านกว่าบาท แต่ก็ยังติดที่ขณะนั้นทางวัดยังไม่มีอาคารที่จะใช้จัดแสดงวัตถุที่สะสมไว้และงบประมาณเท่าที่มีในขณะนั้นน่าจะไม่พอหากจะต้องนำมาใช้ก่อสร้างอาคารสำหรับจัดแสดง ท้ายที่สุดจึงครูบาบุญชื่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงหาทางออกโดยทำการปรับปรุงศาลาการเปรียญซึ่งเป็นอาคารสองชั้นมาใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นการชั่วคราวไปก่อน เว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า เริ่มมีโครงการที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่วัดลีตั้งแต่ปี 2544 แล้ว แต่เพราะติดขัดด้านงบประมาณทำให้ต้องชะลอโครงการไป กระทั่งปี 2549 ทางจังหวัดพะเยาได้เข้ามาร่วมผลักดันจนสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ได้สำเร็จในปี 2550 

พิพิธภัณฑ์เวียงพยาวแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็นสองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงวัตถุโบราณซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่มีขนาดใหญ่ เช่น ศิลาจารึกโบราณที่บันทึกเรื่องราวการสร้างวัดลี ด้านหนึ่งจารึกรายนามของพระสงฆ์ที่อยู่ประจำวัด ส่วนอีกสามด้านจารึกรายนามผู้บริจาคสิ่งของเพื่อการสร้างวัดรวมถึงรายละเอียดข้าวของที่บริจาค จารึกดังกล่าวเขียนด้วยอักขระล้านนาโบราณโดยทางพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาถอดความจารึกเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันกำกับไว้บริเวณจัดแสดงด้วย 

นอกจากนั้นบริเวณชั้นหนึ่งก็ยังจัดแสดงพระพุทธรูปหินทรายศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 โดยพระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดไม่มีเศียร วัตถุจัดแสดงอีกชิ้นที่เป็นไฮไลท์บริเวณอาคารชั้นล่างได้แก่ถานหรือส้วมของพระสมัยโบราณทำด้วยหินทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 โดยในปี 2564 ไทยรัฐออนไลน์ได้เคยทำสกู๊ปเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงชิ้นนี้ว่าเป็นถานพระทำด้วยหินที่ผู้มีจิตศรัทธาทำถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่พร้อมระบุว่าถานพระที่เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาวเป็นฐานพระหินเพียงแห่งเดียวในล้านนา บริเวณชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ภาษาล้านนาโบราณอีกประมาณ 2,000 กว่าผูกที่ค้นพบจากบริเวณวัด ซึ่งในส่วนนี้ทางพิพิธภัณฑ์วัดลีมีความร่วมมือกับกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและมหาวิทยาลัยพะเยาที่จัดนักศึกษามาช่วยสังคยานาทำความสะอาดและคัดแยกคัมภีร์ใบลานออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ และทำรหัสกำกับไว้

สำหรับชั้นสองของอาคารจัดแสดงวัตถุโบราณ เช่น “พระบฏ” หรือพระบต ซึ่งเป็นภาพเขียนทศชาติชาดกบนผืนผ้าครูบาบุญชื่นเล่าว่าถูกนำมาขึงเวลามีเทศน์มหาชาติ โดยมี "พระยิ้ม" พระพุทธรูปหินทรายแกะสลัก ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างพะเยา ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเมื่อผู้ชมเดินถอยห่างออกมาก็จะเห็นเหมือนดวงตาสีดำขององค์พระเหลียวมองตาม เป็นวัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญ สำหรับวัตถุจัดแสดงอื่นๆ ที่รวมอยู่บนชั้นนี้มีทั้งพระพุทธรูปทำด้วยหินทรายและไม้แกะสลัก เศียรพระพุทธรูปหลายขนาด นอกจากนั้นก็มีมุมจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือการเกษตร รวมถึงธนบัตรโบราณ แต่วัตถุจัดแสดงในส่วนนี้จะน้อยกว่าที่รวบรวมและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ วัดเชียงทอง จังหวัดพะเยาซึ่งมุ่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นการเฉพาะ ของสะสมที่เกี่ยวข้องกับครูบาบุญชื่น ทั้งภาพถ่ายเก่าสมัยที่ท่านยังเป็นเล็ก ใบปริญญาและพัดยศและเอกสารรับรองการเลื่อมสมณศักดิ์ต่างๆ ก็ถูกจัดแสดงไว้ที่ชั้นสองของอาคารด้วยโดยมีการจัดเป็นห้องแยกต่างหากจากพื้นที่จัดแสดงหลัก

พิพิธภัณฑ์ - ชุมชน ต้องเกื้อกูลจึงยั่งยืน

ถึงเดือนสิงหาคม 2566 ที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและสนทนากับครูบาบุญชื่น การก่อสร้างอาคารถาวรสำหรับพิพิธภัณฑ์เวียงพยาวก็ก้าวหน้าไปตามลำดับ อย่างไรก็ตามครูบาบุญชื่นก็ได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับอนาคตออกมา เนื่องจากขณะให้ข้อมูลท่านมีอายุ 85 ปี จึงไม่มีความแน่นอนว่ากว่าที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่สุขภาพของท่านในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร ครูบาบุญชื่นจึงย้ำความสำคัญของการดูแลเกื้อกูลกันและกันระหว่างพิพิธภัณฑ์กับคนในชุมนุมว่า หากคนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ ก็จะมีคนภายนอกแวะเวียนมาเยี่ยมชม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในชุมชนด้วย แต่หากไม่ช่วยกันดูแลจนข้าวของสูญหายหรือไม่เหลืออะไรให้ดู วัดลีและชุมชนก็อาจจะไม่มีสิ่งดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนด้วยเช่นกัน 

"มีญาติโยมหลายๆ คนที่เคยบริจาคของเก่าของโบราณให้กับทางวัด พอได้กลับมาดูเขาก็มีความปิติว่าพอให้มาทางวัดก็รักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นสืบไป แล้วก็บอกว่าถ้าเขาไม่เอามาให้วันหนึ่งลูกหลานไม่เห็นคุณค่าเอาทิ้งหรือทำแตกสลายไปเขาคงเสียดาย ตัวอาตมาเองก็เหมือนกันหากวันหนึ่งไม่อยู่แล้วก็คงเป็นธุระของพระกับฆารวาสของวัดแห่งนี้ที่จะช่วยดูแลข้าวของเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป" 

"สำหรับตึกพิพิธภัณฑ์ ถ้าสร้างเสร็จทางกรมศิลป์ฯ เขาก็บอกว่าจะมาช่วยดูแลเรื่องการจัดแสดงแยกหมวดหมู่ทาสีให้เหมาะกับสิ่งที่จัดแสดง ส่วนคนที่จะมาดูแลก็คงอาศัยฆารวาสกับพระเณรที่วัดนี้ รวมถึงคนในชุมชน เมื่อก่อนทางวัดเคยจัดอบรมมักกุเทศน์รุ่นเยาว์ให้กับเด็กนักเรียน แต่พอเด็กๆ โตขึ้นก็ย้ายไปเรียนที่อื่นกัน สุดท้ายต้องอาศัยคนที่อยู่ในชุมชนให้ช่วยดูแลกันไป หากพิพิธภัณฑ์หากข้าวของตรงนี้ยังอยู่ ก็จะมีคนมาเที่ยวมาหาวัด มาหาชุมชน แต่ถ้าไม่มีคนช่วยกันดูแลจนไม่เหลืออะไรแล้วใครจะมาเที่ยวมาหา"

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์