31 ตุลาคม 2566 วันครบรอบ 17 ปีการเสียชีวิตของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ประท้วงการรัฐประหารในปี 2549 ด้วยการขับรถแท็กซีสีม่วงของตัวเองชนรถถังที่จอดอยู่บริเวณใกล้ๆ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 30 กันยายน 2549 ครั้งนั้นนวมทองเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ ยังไม่เสียชีวิต ระหว่างที่เขากำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” นวมทองจึงตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐโดยได้ทิ้งจดหมายลาตายที่มีความตอนหนึ่งว่า "ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก" ในปี 2556 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้สร้าง "สดมภ์นวมทอง" เสาทรงสามเหลี่ยมที่ใต้สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจุดที่นวมทองจบชีวิตตัวเอง เพื่อระลึกถึงการแสดงเจตจำนงค์ของนวมทองและทุกวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตก็จะมีคนมาจัดกิจกรรมรำลึกเป็นประจำทุกปี
สำหรับกิจกรรมที่สดมภ์นวมทองในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งบุญชู ภรรยาของนวมทองและนักเคลื่อนไหว เช่น นพ.เหวง โจจิราการและธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำนปช. ทานตะวัน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล เข้าร่วมพิธี นอกจากนั้นก็มีประชาชนเข้าร่วมงานรำลึกประมาณ 40 คน ตั้งแต่ก่อนเวลา 12.00 น. มีการนำแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่เขียนข้อความ "นวมทอง ไพรวัลย์ ตำนานแท็กซี่ชนรถถัง" บนป้ายดังกล่าวยังมีการนำภาพของพ.อ.อัคร ทิพโรจน์ กับถ้อยคำที่เขาเคยปรามาสนวมทองไว้มาขึงไว้ด้วย
หลังเสร็จพิธีสงฆ์และการวางพวงหรีดรำลึกแล้ว ก็เป็นช่วงการกล่าวครำลึกถึงนวมทอง
ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานนปช.กล่าวคำรำลึกตอนหนึ่งว่า นวมทอง ไพรวัลย์ เป็นนักสู้สามัญชน และถือเป็นครูของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้ของนวมทอง แต่ในวาระสุดท้ายนวมทองก็ยังเลือกที่จะสวมเสื้อที่ด้านหลังเป็นบทกวีมีความตอนหนึ่งว่า " อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน" คล้ายเป็นการสั่งเสียไว้ว่าประชาชนต้องสามัคคีกัน
ธิดาระบุต่อไปว่า บริบททางการเมืองช่วงก่อนที่นวมทองจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง การเมืองไทยอยู่ในช่วงของความขัดแย้ง ทั้งเรื่องพรรคการเมือง หรือเรื่องทุนสามานย์ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวเป็นแค่ความขัดแย้งที่ผิวเผิน แต่ความขัดแย้งที่แท้จริงคือความขัดแย้งที่ประชาชนรับไม่ได้กับการยึดอำนาจ ซึ่งถือเป็นการปล้นอำนาจของประชาชน ซึ่งนวมทองก็มองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ทะลุปุโปร่งและมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการอยู่กับการรัฐประหาร ไม่ต้องการทนอยู่กับการถูกปล้นอำนาจ จึงหวังว่านักต่อสู้ทุกคนจะได้เรียนรู้จากนวมทองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคงในอุดมการณ์และการมองสถานการณ์ว่าอะไรคือความขัดแย้งหรือปัญหาที่แท้จริง
ขณะที่ปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกลก็กล่าวสั้นๆ ว่า ตัวเขาในฐานะผู้แทนก็จะทำหน้าที่ผลักดันกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและมีกลไกต่อต้านการรัฐประหารเขียนบัญญัติไว้อย่างชัดเจน สำหรับรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ผ่านๆ มา หลายฉบับก็เขียนได้ดี แต่พอมีการรัฐประการก็จะถูกฉีก ในอนาคตนักการเมืองและผู้แทนของประชาชนไม่ว่าจากพรรคการเมืองใดก็มีพันธะที่จะต้องผลักดันรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดช่องให้มีการรัฐประหาร รวมถึงต้องเขียนบทเฉพาะกาลเพื่อนำตัวผู้วางแผนและสั่งการ การทำรัฐประหารมาลงโทษ
จากนั้นในช่วงเย็น กลุ่มนักกิจกรรมอิสระประมาณ 10 คน นัดหมายกันทำกิจกรรมจุดเทียนรำลึกที่สดมภ์นวมทอง โดย สุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย นำรูปปั้นครึ่งตัวขนาดเล็กของนวมทองมาวางระหว่างพิธีจุดเทียนพร้อมทั้งนำป้ายผ้าดิบขนาดใหญ่ที่มีภาพวาดของนวมทองกับบทกวีรำลึกมาแขวนระหว่างทำกิจกรรมด้วย กิจกรรมในช่วงค่ำดำเนินไปอย่างเงียบๆ โดยมีเสียงเพลงจากอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ มาร้องเพลงคลอกิจกรรมจุดเทียนรวมทั้งยังมีการเปิดบทเพลงที่ขบวนการนักเคลื่อนไหวในพม่าใช้ร้องระหว่างการชุมนุมมาเปิดคลอด้วยโดยหนึ่งในผู้ชุมนุมที่เป็นคนเปิดเพลงพูดออกไมค์ก่อนเปิดเพลงว่า เขาเองก็ไม่ทราบความหมายของเพลงดังกล่าว แต่ชอบทำนองและเชื่อว่าเนื้อหาน่าจะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งชาวพม่าก็กำลังดิ้นรนต่อสู้อยู่ไม่ต่างจากคนไทย
เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์