ระว่างวันที่ 28 -29 ตุลาคม 2566 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต้อนรับบรรยากาศวันฮาโลวีนด้วยนิทรรศการ “พูด ผี ปีศาจ Ghost talks” ชวนนักท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ โดยนอกจากนิทรรศการที่เต็มไปด้วยหุ่นผีประเภทต่างๆทั้งไทยและเทศ กับเวทีเสวนาที่พูดเรื่องประสบการณ์หลอนในวังหน้าแล้ว ศิลปินกลุ่ม ศาลาอันเต (Sala Arte) ยังเอาใจนักสะสมอาร์ตทอยด้วยขนของที่ระลึกที่ทั้งหลอนและน่ารักมาจำหน่ายในบริเวณงานด้วย สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในกิจกรรมสองวันนี้คงหนีไม่พ้นการจับตุ๊กตาผีสารพัดชนิดมาใส่ตู้กาชาปองให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ลุ้นและพาน้องกลับด้วย
การจัดนิทรรศการ “พูด ผี ปีศาจ Ghost talks” ถือเป็นอีกหนึ่งในมิติใหม่ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่พยายามปรับตัวให้เข้าโลกที่เปลี่ยนไป แม้จะยังคงความเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นทางการและอุดมด้วยจารีตประเพณี แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดประตูรับวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เข้ามามีกิจกรรมในพื้นที่ รวมถึงยังเปิดโอกาสให้เรื่องเล่าที่ดูจะเป็นเรื่องซุบซิบอย่างเรื่องผี มาเป็นเรื่องเล่าสำคัญในนิทรรศการนี้ด้วย
กิจกรรมในวันที่ 28 ตุลาคมที่ทางพิพิธฑ์ภัณฑ์สามัญชนได้ไปร่วมชมมีกิจกรรมหลักคือวงสนทนา ‘เรื่องหลอนในวังหน้า’ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเล่าเรื่องหลอนๆที่เคยมีคนพบเจอในวังหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร และกิจกรรม Mystery Tour ที่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์จะพาเดินสำรวจตามพื้นที่ที่เคยมีคนพบเห็นเรื่องหลอนๆ ซึ่งนอกจากจะได้ฟังเรื่องชวนขนหัวลุกแล้ว ทางผู้นำชมยังได้แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ผู้ชมนิทรรศการฟังเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้วย
พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในโทนสี “ฟักทอง”
ผู้ที่มาชมนิทรรศการ “พูด ผี ปีศาจ Ghost talks” จะได้เห็นพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในบรรยากาศที่แตกต่างไป จากเดิมที่เป็นอาคารที่ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศเคร่งขรึม และมีของจัดแสดงที่มักเป็นงานศิลปะชั้นสูง เช่น พระพุทธรูปหรือเครื่องใช้ไม้สอยที่ถูกทำขึ้นอย่างปราณีตเพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญ มาในวันนี้พระที่นั่งถูกตกแต่งด้วยหลอดไฟสีเหลืองอ่อนสลัว ๆ คล้ายสีผลฟักทอง ให้เข้ากับธีมฮาโลวีน ขณะเดียวกันวัตถุจัดแสดงในงานก็เป็นของจำลองที่ให้ความรู้สึกชวนหลอนอย่างศาลพระภูมิ หัวกระโหลกมนุษย์ กระสือ ศพบนเก้าอี้วีลแชร์ อุปกรณ์ทำพิธีกรรม-ตุ๊กตาคุณไสย แมงมุมยักษ์ ผสมผสานกับภาพวาดผีที่ตกแต่งบนฝาผนังเป็นศิลปะลายเส้นแสนน่ารักของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่พร้อมกับคำบรรยายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะเด่นของผีแต่ละตนซึ่งเป็นอีกมุมถ่ายรูปสำหรับเช็คอินเมื่อได้มาเยือนที่พิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้นก็มีมุมจัดแสดงสัตว์สตั๊ฟฟ์จากร้าน Care Taxidermy Thailand เช่น แมว งูเห่า เต่า คางคกยักษ์ดองที่จัดแสดงอยู่ภายในตู้กระจก ซึ่งหากเป็นในอดีตคงยากที่จะจินตนาการว่าของเหล่านี้จะได้มีโอกาสมาจัดแสดงในอาคารที่เคยเป็นวังเก่า
เปิดประตู เรียนรู้โลกจากผี
สำหรับการจัดงานฮาโลวีนครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้นำ “เรื่องผี” ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องเล่าที่ไม่เป็นทางการ หรือเรื่องซุบซิบ มาเป็นเรื่องเล่าหลักของนิทรรศการ ทั้งยังใช้เรื่องผีมาเป็นตัวดำเนินเรื่องการนำชมสถานที่และของสะสมของทางพิพิธภัณฑ์ด้วย
คุณโอ๋ ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงาน “พูด ผี ปีศาจ” และเป็นผู้นำชมวังหน้า “แบบหลอนๆ” ในครั้งนี้เล่าว่านิทรรศการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำการตลาดเชิงรุกเพื่อหากลุ่มผู้ชมใหม่ๆ เนื่องจากตัวพิพิธภัณฑ์ ฯ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นที่เก็บรวมรวมผลงานศิลปะชั้นสูง เมื่อมองจากสายตาคนนอกพื้นที่แห่งนี้ก็อาจจะดูเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ” ที่ผู้ชมต้องมีความสำรวม จนอาจทำให้ผู้คนบางส่วนเห็นว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ คุณโอ๋จึงเกิดแนวคิดที่จะจัดนิทรรศการที่มอบความสนุกโดยสอดแทรกสาระความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆกัน เพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่น่าประทับใจต่อผู้เข้าชม และดึงดูดให้คนกลุ่มใหม่ๆอยากมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ผ่านเรื่องราวหรือเนื้อหาที่ไม่หนักจนเกินไป ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมเรื่องผีๆและเทศกาลฮาโลวีนดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะถูกนำมาเล่าในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
คุณโอ๋เล่าต่อไปว่า เมื่อพูดถึงเทศกาลฮาโลวีน ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงผีฝรั่ง แต่จริงๆแล้วประเทศไทยก็มีเรื่องผีอยู่ไม่น้อยและเรื่องผีก็เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทย ขณะเดียวกัน ผีญี่ปุ่นหรือผีจีน ก็เป็นเรื่องที่น่าจะอยู่ในความคุ้นเคยของคนไทยด้วย คุณโอ๋จึงเกิดแนวคิดที่จะทำนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับผี เทพเจ้าทั้งในความเชื่อของคนไทยและคนชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตามในการทำนิทรรศการครั้งนี้ทางพิพิธภัณฑ์ก็พยายามระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหา โดยหลีกเลี่ยงประเด็นความเชื่อบางอย่างที่มีความละเอียดอ่อน หรืออาจยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากนัก จะไม่ทำอาร์ตทอยเป็นพระพุทธรูปเพราะอาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจในหมู่ผู้เข้าชมบางกลุ่มได้
คุณโอ๋ยอมรับว่าก่อนจัดนิทรรศการนี้มีความกังวลอยู่บ้างว่าการเล่าเรื่องหลอนหรือเรื่องผีในพิพิธภัณฑ์อาจจะทำให้คนรู้สึกกลัวและไม่กล้ามาเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือไม่ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็คิดว่าโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ต่างผ่านเรื่องราวต่างๆมามากมาย พิพิธภัณฑ์ไม่ได้วัตถุจัดแสดงว่าเป็นเพียงวัตถุธรรมดาเท่านั้น หากแต่วัตถุเองก็มีชีวิตผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาด้วย ซึ่งเรื่องเล่าก็เป็นจุดขายของพิพิธภัณฑ์ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบเรื่องราวในมุมไหนมาเล่า
“ดังนั้น Mystery tour ใจความหลักของเรา เราไม่ได้ขายความหลอน เราขายประวัติศาสตร์ ความรู้ผ่านเรื่องที่คนสนใจ มาร้อยเรียงกัน โดยเอาฮาโลวีนมาเป็นสื่อกลาง”
เล่น ของ (เล่น) ผี
เกี่ยวกับการนำอาร์ตทอยเข้ามาเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ คุณโอ๋ระบุว่าทางพิพิธภัณฑ์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคอลเลคชันของที่ระลึกที่อาจจะยังไม่หลากหลายนัก ขณะที่วงการอาร์ตทอยเองก็เผชิญความท้าทายและเติบโตได้ยากในประเทศไทยเพราะขาดพื้นที่จัดแสดง ทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจึงเห็นโอกาสที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มศิลปินอาร์ตทอย ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็จะได้ประโยชน์คือมีคอลเลคชันของที่ระลึกเพิ่มขึ้นขณะที่ศิลปินเองก็จะได้โชว์ผลงานของพวกเขาซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทั้งรายได้ และความเป็นที่รู้จัก ในช่วงสงกรานต์ปี 2566 ทางพิพิธภัณฑ์มีความร่วมมือแรกกับกลุ่มศิลปิน โดยได้ผลิตกาชาปองชุดพิเศษ “นวพ่าห์” สัตว์พาหนะเก้าชนิดของเทพนพเคราะห์ ออกมาให้ผู้เข้าชมงานได้นำไปสะสม
สำหรับงานฮาโลวีนครั้งนี้นอกจากจะได้ทำของที่ระลึกมาจำหน่ายแล้ว ศิลปินอาร์ตทอยยังสามารถใช้พื้นที่ของทางพิพิธภัณฑ์ในการแสดงผลงานสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระควบคู่ไปด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าการออกแบบต้องไม่สื่อหรือกระทบกับประเด็นที่เปราะบาง เช่น การเมืองหรือศาสนา เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับครอบครัว ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม
“ทางพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่อยากจะตีกรอบเด็กๆว่าต้องเป็นเรื่องไทยๆอย่างเดียว ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมันสำคัญในปัจจุบันนี้มาก นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่ากาชาปองจึงมีผีไทย ผีเทศ ผีล้านนา ผีประจำถิ่น บางคนก็บอก เอ้ย นี่อะไร เขาไม่รู้จัก ก็จะได้เกิดปฏิสัมพันธ์ เขาก็จะได้สามารถเอาไปค้นต่อได้ ” คุณโอ๋ระบุ
เรื่องหลอนในวังหน้า
ในช่วงของ Mystery Tour ซึ่งเป็นการเดินชมวังหน้าแต่ใช้ “เรื่องผี” มาเป็นเรื่องเล่าในการนำชม คุณโอ๋ได้ถ่ายทอดเรื่องหลอนๆที่น่าสนใจ เช่น
เรื่องของสมเด็จพระองค์เจ้ายี่เข่ง พระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์มีรูปปั้นขอสมเด็จพระองค์เจ้ายี่เข่งขนาดความสูง 38 เซนติเมตรจัดแสดงอยู่ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑให้ความเคารพนับถือสมเด็จพระองค์เจ้ายี่เข่งมาอย่างเนิ่นนานถึงขนาดเรียกว่า “คุณยาย” เสมือนว่าตัวเองเป็นลูกหลานของท่าน คุณโอ๋เล่าว่าก่อนหน้านี้รูปปั้นคุณยายยี่เข่งถูกจัดเก็บไว้ที่คลังชั้นบน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปเช็คของและทำความสะอาดคลังทุกๆ เดือน บางครั้งก็จะพบเห็นคุณยายปรากฏตัวในชุดผ้าแถบสมัยโบราณมาเดินเล่นอยู่ในคลัง
ในเวลาต่อมารูปปั้นคุณยายถูกย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งวสันตพิมานบน ช่วงเวลากลางวัน เคยมีนักท่องเที่ยวบางคนพบเห็นและได้พูดคุยกับคุณยายโดยเข้าใจว่าคุณยายเป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้อง กระทั่งพบกับเจ้าหน้าที่ประจำห้องตัวจริงก็ได้เล่าให้ฟังว่าได้พบปะพูดคุยกับ “เจ้าหน้าที่อาวุโส” มา เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบก็รู้ทันทีว่าเป็นคุณยาย แต่ก็ตอบรับกับนักท่องเที่ยวไปแค่ว่า “อ้อ ค่ะๆ” แต่ไม่ได้เฉลยว่าคุณยายเป็นใคร เพราะไม่อยากทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกหวาดกลัว
ตำนานพระโกศ
คุณโอ๋เล่าต่อไปว่าเรื่องราวชวนขนลุกที่พบในวังหน้าจะไม่ได้มาในลักษณะที่น่ากลัวอะไร จะมาดีๆแบบที่เหมือนคนปกติ อีกเรื่องเล่าที่น่าสนใจคือเรื่องพระโกศที่จัดแสดงอยู่ในโรงราชรถของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ คุณโอ๋เล่าว่าพระโกศใบนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้ใช้เลย ซึ่งตามข้อสันนิษฐานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่สืบค้นได้คาดว่าเป็นพระโกศที่ใช้บรรจุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากลักษณะของฝาโกศที่เป็นยอดทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ที่มีไว้ใช้เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายที่ทรงบรรดาศักดิ์ชั้นสูง ประกอบกับสมัยรัชกาลที่สามได้พระราชทานให้กับการทำพิธีศพของเจ้าพระยานคร (น้อย) เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี
เหตุการณ์ระทึกขวัญในช่วงตอนทำพิธี ปรากฏว่าพระโกศล้มทับพนักงานภูษามาลาในขณะที่รถกำลังเคลื่อนจนพนักงานคนดังกล่าวเสียชีวิต ต่อมาเมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตัดสินใจว่าจะนำพระโกศใบนี้มาจัดแสดงในโรงราชรถของพิพิธภัณฑ์ก็เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศที่มืดฟ้ามัวดิน และเหตุการณ์ประหลาดในโรงราชรถตลอดเวลา คุณโอ๋ยังเล่าด้วยว่าโดยปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จะวางหมากพลูถวายบริเวณพระโกศเป็นประจำโดยเฉพาะในวันพระ และวันโกน
คุณโอ๋ยังให้เกร็ดความรู้ทิ้งท้ายด้วยว่านอกเหนือจากยอดพระมหาพิชัยมงกุฏที่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าพระโกศใบนี้มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งก็คือฐานขาสิงห์ ที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่อยู่ภายในโกศตามศิลปกรรมประเพณีไทย ซึ่งฐานขาสิงห์ จะสามารถพบเห็นได้ เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ และฐานพระพุทธรูป เป็นต้น
เรื่องและภาพโดย
อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์