Skip to main content

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาเป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐสังกัดกรมศิลปากร วัดถุจัดแสดงหลักในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือโบราณวัตถุที่ถูกขุดข้นพบในพื้นที่จังหวัดสงขลาและหัวเมืองสำคัญในภาคใต้ตอนล่าง แม้จำนวนวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้มากเทียบเท่ากับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรุงเทพ แต่ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาอยู่ที่แนวคิดในกา่รเปิดพื้นที่ให้ตัวพิพิธภัณฑ์เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนและธุรกิจท้องถิ่นในสงขลาผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกัน แทนที่จะเป็นเพียงพื้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุโบราณที่ลอยออกจากชีวิตและความเป็นมาเป็นไปของเมือง


จากศูนย์กลางอำนาจสู่แหล่งเรียนรู้ประจำเมือง

ธีรนาฎ มีนุ่น หรือคุณเมย์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เล่าให้ฟังว่าอาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาเป็นอาคารเก่ามีอายุมากกว่า 100 ปีและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) เริ่มก่อสร้างอาคารที่ต่อมากลายเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ในปี 2421 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ห้า อาคารพิพิธภัณฑ์ถูกใช้เป็นที่พำนักและที่ว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา จากนั้นอาคารแห่งนี้ก็ถูกใช้งานเรื่อยมาในฐานะศูนย์กลางอำนาจในพื้นที่ ทั้งในฐานะ ศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และศาลากลางจังหวัดสงขลา

คุณเมย์เล่าว่าเมื่อมีการย้ายศาลากลางจังหวัดสงขลาไปยังสถานที่ใหม่ อาคารพิพิธภัณฑ์ก็ถูกทิ้งร้างไปหลายปีกระทั่งถึงปี 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถาน จากนั้นจึงได้เริ่มกระบวนการบูรณะฟื้นฟูตัวอาคารพร้อมกันนั้นก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะใช้อาคารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยการสำรวบและรวบรวมวัตถุจัดแสดงต่างๆก่อนที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิศริยายศเป็นมกุฎราชกุมารในรัชกาลที่เก้าเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีเปิด

กระต่ายขูดมะพร้าว หีบสมบัติใต้น้ำถึงหมวกทหารญี่ปุ่น ชวนดูคอลเลคชันสำคัญในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา

เมื่อผู้ชมเดินมาถึงประตูทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ก็จะมองเห็นตัวอาคารจัดแสดงหลักตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังสวนหย่อมซึ่งตัดแต่งอย่างสวยงามอยู่ตรงกลาง ขณะที่บริเวณด้านข้างของสวนทั้งสองฝั่งก็จะมีอาคารโปร่งชั้นเดียวลักษณะคล้ายศาลาตั้งขนาบอยู่ ศาลาด้านซ้ายมือของสวนจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชาวสงขลาและชาวภาคใต้ที่ผูกพันอยู่กับการปลูกและใช้ประโยชน์ตาลโตนด การทำนา และการประมง (โหนด นา เล) โดยของวัตถุจัดแสดงในส่วนนี้จะมีทั้งตัวอย่างเรือขนาดเล็กที่ชาวประมงท้องถิ่นใช้หาปลา กระต่ายขูดมะพร้าวที่ทำเป็นรูปสัตว์ และครกสำหรับตำข้าว เป็นต้น

 

นอกจากวิถีชีวิตโหน นา เล แล้ว ส่วนจัดแสดงนี้ยังนำโมเดลจำลองการแสดงโนราห์และหนังตะลุงซึ่งถือเป็นศิลปะพื้นถิ่นของพื้นที่ภาคใต้ สำหรับศาลาอีกฝั่งหนึ่ง คุณเมย์เล่าว่าในอดีตเคยเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องความทันสมัยของจังหวัดสงขลา ทว่าต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกปรุงเป็นจุดนัดพบของผู้เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะแทน วัตถุจัดแสดงบางส่วนได้ถูกนำเข้าไปจัดแสดงภายในอาคาร คงเหลือเพียงโมเดลเรือเดินทะเลขนาดใหญ่  ภาพของหญิงชาวสงขลาที่ได้รับเลือกเป็น "นางงามสงขลา" คนแรก ซึ่งต่อมาถนนที่ตั้งบ้านของสาวงามคนดังกล่าวได้ถูกตั้งชื่อว่า “ถนนนางงาม”

เมื่อเดินไปยังอาคารจัดแสดงหลัก ผู้ชมจะต้องเดินเข้าอาคารลอดใต้ซุ้มบันไดคู่ซึ่งถือเป็นจุดถ่ายภาพเช็คอินหลักประจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

อาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาแบ่งเป็นสองชั้น ห้องจัดแสดงฝั่งซ้ายมือของชั้นล่างบอกเล่าเรื่องราวการก่อกำเนิดเมืองสงขลาและความเจริญงอกงามของศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่ผ่านโครงกระดูก เครื่องปั้นดินเผา และรูปเคารพทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู วัตถุจัดแสดงที่นับเป็นไฮไลท์สำหรับส่วนนี้ได้แก่ชิ้นส่วนกลองมโหระทึกสัมฤทธิ์ที่ขุดพบจากคลองแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะ

รูปภาพประกอบด้วย รูปปั้น, ในร่ม, ประติมากรรม, ศิลปะ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

คุณเมย์เล่าว่ามีการค้นพบชิ้นส่วนของกลองใบเดียวกับที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาอีกสองชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ส่วนอีกชิ้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว อำเภอจะนะ โดยคาดว่าที่ชิ้นส่วนกลองกระจัดกระจายกันไปน่าจะเป็นเพราะแต่ละชิ้นส่วนถูกขุดพบต่างกรรมต่างวาระกัน ผู้ค้นพบจึงนำไปมอบไว้คนละหน่วยงาน กระทั่งต่อมามีการพิสูจน์อายุโลหะ ลวดลายบนกลอง และทดลองนำชิ้นส่วนมาต่อกัน จึงพบว่าเป็นชิ้นส่วนของกลองใบเดียวกัน โดยทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลายังเคยจัดนิทรรศการพิเศษว่าด้วยกลองมโหระทึกทำให้ชิ้นส่วนกลองทั้งสามชิ้นได้มีโอกาสกลับมาอยู่รวมกันเป็นเวลาสามเดือน

หากต้องการชมนิทรรศการตามลำดับเวลาหลังชมห้องจัดแสดงในส่วนแรกผู้ชมจะต้องเดินขึ้นบันไดไปชมวัตถุจัดแสดงในห้องฝั่งซ้ายมือของอาคารชั้นสอง ห้องจัดแสดงในส่วนนี้บอกเล่าเรื่องของเมืองสงขลาในฐานะเมืองสำคัญที่อยู่บนเส้นทางเดินเรือของพ่อค้าหลากหลายชาติทั้งสยาม จีน อาหรับและตะวันตก ผ่านสินค้าหลากชนิดที่ถูกงมขึ้นมาจากใต้ทะเล ที่หน้าห้องจัดแสดงยังมีระฆังขนาดใหญ่จัดแสดงไว้ สันนิษฐานว่าระฆังดังกล่าวอาจถูกหล่อหรือนำเข้าที่เมืองสิงคโปร์เพราะมีข้อความภาษาอังกฤษสลักไว้ว่า Singapore Port นอกจากนั้นก็มีข้อความภาษายาวีซึ่งพอแปลได้ว่า เจ้าเมืองตรังกานูมอบให้เจ้าเมืองยะหริ่ง

เมื่อเดินจากห้องจัดแสดงสมบัติจากใต้น้ำไปบริเวณส่วนหน้าของอาคารชั้นสอง ผู้ชมจะพบนิทรรศการที่บอกความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยห้องฝั่งขวามือ (หันหน้าออกนอกอาคาร) เล่าชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิม ผ่านวัตถุจัดแสดง เช่น กริช หัวเรือกอและจำลอง กรงนกและ ผ้าปาเต๊ะ

ส่วนห้องฝั่งซ้ายมือจัดแสดงรูปเคารพขนาดเล็กทั้งของศาสนาพุทธิและฮินดูที่ขุดค้นได้จากแหล่งโบราณคดียะรังซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี โดยวัตถุจัดแสดงที่เป็นไฮไลท์ในส่วนนี้ได้แก่รูปปั้นวัว สัตว์ศักดิ์สิทธิตามความเชื่อของชาวฮินดู เมื่อเดินชมนิทรรศการมาถึงส่วนหน้าของอาคารชั้นสองผู้ชมยังสามารถพักสายตาจากเรื่องราวในอดีตไปมองลานสนามหญ้าของพิพิธภัณฑ์ที่ถูกตัดแต่งไว้อย่างสวยงามได้ด้วย   

เมื่อเดินลงจากอาคารชั้นสองผู้ชมจะได้พบห้องจัดแสดงที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาในประวัติศาสตร์ยุคใกล้อีกสองห้อง ห้องแรกจัดแสดงโมเดลจำลองของอาคารฝรั่งผสมจีน ชิโน-โปรตุกีส ที่จำลองมาจากร้านค้าจริงในย่านการค้าและศูนย์กลางของเมืองในอดีตที่กระจุกตัวอยู่บนถนนสำคัญสามเส้น ได้แก่ ถนนนครใน ถนนนครนอก และถนนนางงาม ร้านค้าที่ปรากฎบนโมเดลจำลองบางร้านยังคงดำเนินกิจการมาจนปัจจุบัน เช่น ร้านเกียดฟั่ง ข้าวสตู บนถนนนางงามซึ่งถือเป็นร้านข้าวสตูเจ้าแรกของเมืองสงขลา

นอกจากโมเดลจำลองแล้วห้องจัดแสดงนี้ยังรวบรวมวัตถุจัดแสดงอื่นๆที่บอกเล่าเรื่องราวการค้าขายของเมืองสงขลา เช่น อุปกรณ์ของช่างทำทองและตู้เซฟโบราณ หากใครต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเมืองสงขลา ห้องจัดแสดงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ส่วนจัดแสดงสุดท้ายเป็นมุมจัดแสดงเล็กๆที่เล่าเรื่องเมืองสงขลาช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะหนึ่งในพื้นที่ที่ทหารญี่ปุ่นมายกพลขึ้นบกพร้อมๆกับพื้นที่อื่นๆในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยมีวัตถุจัดแสดงที่สำคัญเป็นหมวกของทหารญี่ปุ่น คุณเมย์เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในส่วนนี้เพิ่มเติมว่า เนื่องจากสงขลาอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพ คำสั่งหยุดยิงของรัฐบาลจอมพลป.จึงเดินทางมาถึงช้ากว่าจังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้การรบที่สงขลายาวนานกว่าการรบในจังหวัดอื่นๆออกไปอีกค่อนวัน  

     

เปิดพื้นที่ มีส่วนร่วม กลยุทธ์ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากร

ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวอาคารที่มีเสน่ห์และเรื่องราวหรือของสะสมที่จัดแสดงอยู่ภายในเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงความพยายามของพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างตัวตนและเปิดให้พื้นที่ของตัวเองให้เป็นหนึ่งในลมหายใจของจังหวัดสงขลา

คุณเมย์เล่าว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีทรัพยากรและงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด แต่ถึงกระนั้นพิพิภัณฑ์ก็มีข้อได้เปรียบคือตั้งอยู่ในทำเลที่ดีคืออยู่ในย่านเมืองเก่าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยง และถนนหน้าพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดถนนคนเดินทุกวันศุกร์และวันเสาร์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะทำให้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นที่กิจกรรมของเมืองเพื่อดึงให้คนเข้ามาเยี่ยมชมหรือใช้บริการมากขึ้น นอกจากการทำภารกิจหลักคือเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุหรือสิ่งของที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ทั้งของเมืองสงขลาและของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างแล้ว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลายังมองหาโอกาสในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดสงขลาจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนที่เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้วให้กลับมาเยี่ยมชมอีกครั้งรวมถึงเปิดตลาดให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ

ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาเคยจัดนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น นิทรรศการพิเศษ “กริชสกุลช่างสงขลา" ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ทำให้พิพิธภัณฑ์มีทำงานร่วมกับนักสะสมและต่อเป็นการต่อยอดนำวัตถุจัดแสดงของทางพิพิธภัณฑ์มานำเสนอในแง่มุมใหม่ๆ นิทรรศการ "จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ” ที่จัดขึ้นช่วงปลายปี 2565 คือความพยายามเชื่อมอดีตของเมืองสงขลาเข้ากับปัจจุบันผ่านเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างกาแฟ โดยนิทรรศการนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับความร่วมมือจาก  เล่ากาแฟ: Laow Kafae ร้านกาแฟในพื้นที่เข้ามาเนรมิตห้องจัดแสดงห้องหนึ่งให้เป็นร้านกาแฟ นิทรรศการนี้ทำให้คอกาแฟหลายๆคนที่อาจไม่เคยรู้จักพิพิธภัณฑ์มาก่อนมีโอกาสมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรก ตัวของคุณเมย์เองประทับใจกับนิทรรศการนี้เป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงเวลาที่พิพิธภัณฑ์ อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟ 

สำหรับงานใหญ่ประจำปีที่ทางพิพิธภัณฑ์ตั้งใจจะจัดขึ้นทุกปีคืองาน Night at the Museum ที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ผู้ชมเข้าชมนิทรรศการในช่วงกลางคืน พร้อมจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆทั้งการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของภาคใต้และการแสดงดนตรีโดยศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมถึงจัดกิจกรรมให้ผู้ชมทดลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ ความพยายามในการเปิดพื้นที่พิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลาได้รับรางวัลต่างๆ ทั้งเครื่องหมายรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และใบรับรองการประเมินมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ระดับดีเยี่ยม โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

เรื่องและภาพ โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

ขอขอบคุณภาพกิจกรรม จากเพจ Songkhla National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา