Skip to main content

7 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยแถลงว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 212 เสียง และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังมีแถลงการณ์ออกมาองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งเห็นว่าหากคำถามประชามติไม่ดีหรือมีข้อจำกัดอาจส่งผลให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 จึงรวมตัวกันทำแคมเปญ "#Conforall" รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามให้คณะรัฐมนตรีนำไปใช้เป็นคำถามในการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือการจัดทำรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการจัดทำใหม่ทั้งฉบับและสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  

การรณรงค์ #Conforall ซึ่งเปิดตัวในวันที่ 13 สิงหาคม 2566 เกิดขึ้นในเงื่อนเวลาที่จำกัด เพราะนอกจากจะต้องรวบรวมรายชื่อให้ถึง 50,000 รายชื่อแล้ว ยังต้องลุ้นให้กกต.ตรวจสอบรายชื่อให้แล้วเสร็จและส่งคำถามถึงครม.ทันการประชุมนัดแรกด้วย ทางกลุ่มจึงกำหนดวันปิดรับรายชื่อเป็นวันที่ 25 สิงหาคม เพื่อเร่งจัดการเอกสารและยื่นให้กกต.ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อให้ทันกับการประชุมครม.นัดแรก ในวันที่ 22 สิงหาคมที่รัฐสภามีมติเลือกเศรษฐา ทวีศิลป์ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มประกาศว่ามีผู้ลงชื่อทั้งทางออนไลน์และลงชื่อบนกระดาษครบ 50,000 รายชื่อแล้ว แต่ในวันเดียวกันกกต.แจ้งกับตัวแทนกลุ่มระหว่างการประชุมร่วมกันว่า การเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติไม่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ ต้องลงลายมือชื่อบนกระดาษเท่านั้น ทำให้รายชื่อของประชาชนมากกว่า 40,000 รายชื่อ เสียไปในทันที ขณะที่ทางกลุ่มก็เหลือเวลาตามเส้นตายเดิมเพียงสามวันเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเมื่อถึงช่วงเย็นวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก็มีรายชื่อของประชาชนที่ลงผ่านแบบฟอร์มกระดาษเข้ามาเกิน 50000 รายชื่อและทะลุไปจนถึง 200,000 รายชื่อ 

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านเดิม ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ชูเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียง เมื่อผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ออกมาในลักษณะที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับก็อาจสะท้อนได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในความต้องการของผู้ใช้สิทธิที่เลือกทั้งสองพรรค ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 วันครบรอบเก้าปีรัฐประหาร 2557 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลกับแกนนำของอดีตพรรคฝ่ายค้านเดิมและพรรคการเมืองใหม่ได้แก่พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ โดยหนึ่งในข้อตกลงดังกล่าวได้แก่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างเร็วที่สุดโดยที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทว่าสุดท้ายเมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนให้พิธา แคนดิเดตนายกของพรรคได้เกินกึ่งหนึ่งของสองสภาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคก้าวไกลต้องยอมถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่ไม่มีพรรคก้าวไกล 

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยทำข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย อดีตพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มีจำนวนส.ส.มากเป็นอันดับสามในสภาผู้แทน ข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของทั้งสองพรรคระบุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วยว่า จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยในการประชุมครม.วาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้งสสร. ซึ่งหากเปรียบเทียบการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง MOUของพรรคก้าวไกล กับ MOU ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย จะพบว่า MOU ฉบับแรกมีความชัดเจนเรื่องที่มาของสสร.ว่าต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่ MOU ของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุที่มาเอาไว้

หลังมีการแถลงระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร เช่น คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กลุ่มศิลปะปลดแอก - Free Art และ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) หารือร่วมกันก่อนได้ข้อสรุปว่าแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยืนยันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากคำถามประชามติมีการสร้างเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญหรือมีความไม่ชัดเจนเรื่องที่มาของสสร. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็อาจไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศดีขึ้นหรืออาจยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลขร้ายลงไปอีก องค์กรภาคประชาสังคมข้างต้นจึงรวมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจภายใต้ชื่อ "กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ" เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน เสนอคำถามประชามติเพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อครม.เพื่อให้พิจารณานำไปใช้เป็นคำถามในการออกเสียงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป โดยคำถามที่ทางกลุ่มเสนอคือ

"ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"

ซึ่งหมายความว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ โดยคณะผู้ร่างได้แก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ดังที่ทางกลุ่มใช้ "เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%" เป็นสโลแกนในการรณรงค์และเป็นข้อความที่พิมพ์บนเสื้อรณรงค์ประจำแคมเปญ 

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญและตั้งโต๊ะเข้าชื่อครั้งแรกที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 สิงหาคม 2566 แม้ในขณะนั้นที่ประชุมรัฐสภายังไม่สามารถลงมติเลือกบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่แนวโน้มทางการเมืองเริ่มชัดเจนว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทางกลุ่มจึงกำหนดให้วันที่ 25 สิงหาคม เป็นวันรับรายชื่อวันสุดท้ายเพราะคาดการณ์ว่าหากในวันที่ 22 สิงหาคมรัฐสภาสามารถให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ก็จะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ในการจัดตั้งรัฐบาลและมีการประชุมครม.นัดแรกในช่วงระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน หากปิดรับรายชื่อล่าช้ากว่านั้นทางกลุ่มเห็นอาจว่าจะการเอกสารและส่งให้กกต.ทำการตรวจสอบจนแล้วเสร็จไม่ทันการประชุมครม.

เพราะมีอุปสรรค์จึงมีเรื่องราว

ในวันที่ 13 สิงหาคม ที่ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญและตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อครั้งแรกที่หอศิลป์ฯ มีคนมาร่วมลงชื่อในแบบฟอร์มกระดาษราว 500 คน สำหรับการรวบรวมรายชื่อในวันหลังจากนั้น iLaw หนึ่งในองค์กรร่วมจัดเปิดสำนักงานของตัวเองให้เป็นจุดรับลงชื่อของประชาชน ขณะเดียวกันก็มีประชาชนทั่วไปติดต่อเข้ามาทางเว็บไซต์ conforall ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารหลักของแคมเปญ เพื่ออาสาไปตั้งจุดรับรายชื่อทั้งตามร้านค้า สถานประกอบการณ์ของตัวเอง รวมทั้งตามที่สาธารณะต่างๆ นอกจากนั้นในช่วงแรกประชาชนที่ไม่สะดวกไปลงชื่อบนกระดาษตามจุดตั้งโต๊ะยังสามารถลงชื่อออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ conforall ได้ด้วยซึ่งในส่วนนี้เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการเข้าชื่อออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ ทางคณะทำงานของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามประสานไปยังกกต.เพื่อขอความชัดเจนว่าการลงชื่อทางออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจน

ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 11 วันหลังกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งโต๊ะเข้าชื่อเป็นครั้งแรกมีสามความเคลื่อนไหวสำคัญที่จะมีผลกระทบกับการรณรงค์ conforall เกิดขึ้น ในช่วงเช้าทางทีมงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนรายชื่อประชาชนยืนยันว่าในขณะนั้นสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้เกิน 50,000 รายชื่อแล้วโดยเป็นการลงชื่อในแบบฟอร์มกระดาษหนึ่งหมื่นกว่ารายชื่อ และเป็นการลงออนไลน์สี่หมื่นกว่ารายชื่อ จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกันที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือกเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าเข็มนาฬิกาได้เริ่มนับถอยหลังไปสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อได้รายชื่อครบแล้วทางกลุ่มจึงคาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามแผนที่วางไว้ ทว่าในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นเองตัวแทนของทางกลุ่มที่ไปพูดคุยกับกกต.เรื่องการลงชื่อออนไลน์ก็ได้รับทราบข่าวร้ายว่าไม่สามารถเข้าชื่อออนไลน์ได้ ทำให้รายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 40,000 ที่ลงผ่านระบบออนไลน์ตกน้ำไปในทันที และเท่ากับว่าทางกลุ่มจะมีเวลาเพียงสามวันในการหารายชื่อด้วยแบบฟอร์มกระดาษสี่หมื่นกว่ารายชื่อเพื่อให้ทันตามกำหนดเดิม หลังได้รับทราบเรื่องดังกล่าวตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเปิดแถลงข่าวด่วนในช่วงดึกของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อแจ้งข่าวและเชิญชวนให้ประชาชนที่ประสงค์จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญไปลงชื่อบนแบบฟอร์มกระดาษตามจุดลงชื่อใกล้บ้านซึ่งรวบรวมและประกาศบนเว็บไซต์ conforall

แม้จะพบกับอุปสรรค์ใหญ่ แต่ทันทีที่ทางตัวแทนกลุ่มแถลงข่าวต่อสาธารณะก็สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก มีประชาชนจากหลายพื้นที่ในหลายจังหวัดแจ้งความประสงค์เข้าอาสาเปิดจุดรับลงชื่อในพื้นที่ของตัวเอง บางคนอาสาไปยืนรับรายชื่อในจุดที่มีผู้คนสัญจรไปมาพพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้า พนักงานบริษัทหลายๆแห่งเอาแบบฟฟอร์มไปรวบรวมรายชื่อเพื่อนร่วมงานในสถานประกอบการณ์แล้วให้ไรเดอร์นำแบบฟอร์มมาส่งที่สำนักงานไอลอว์ซึ่งใช้เป็นจุดรวบรวมรายชื่อ

ตลอดวันที่ 25 สิงหาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทางกลุ่มเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อ โทรศัพท์ไม่รู้กี่สายโทรเข้ามาที่สำนักงานไอลอว์ตั้งแต่เช้าเพื่อสอบถามจุดลงชื่อและรายละเอียดการจัดส่งเอกสาร และตลอดทั้งวันน่าจะมีไรเดอร์นำเอกสารเข้ามาส่งไม่ต่ำกว่า 100 เที่ยว ไรเดอร์บางคนเมื่อนำเอกสารมาส่งก็ได้ขอร่วมลงชื่อด้วย ขณะเดียวกันแบบฟอร์มที่ประชาชนส่งมาทางไปรษณีย์ก็ทยอยเข้ามาที่ตู้ปณ.ที่ทางกลุ่มใช้เป็นช่องทางรับเอกสารทางไปรษณีย์จนระบบของไปรษณีย์มีปัญหาเพราะมีจดหมายเข้ามาที่ตู้ปณ.เป็นจำนวนมากจนประชาชนที่ส่งเอกสารมาเกิดความร้อนใจเพราะเมื่อตรวจสอบในระบบของไปรษณีย์จะพบว่าเอกสารจัดส่งไม่สำเร็จจึงโทรศัพท์เข้ามาแจ้งปัญหากับทีมงานของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่สำนักงาน iLaw หลายสาย ทีมงานจึงต้องตรวจสอบกับทางไปรษณีย์จนเมื่อได้ความว่าเป็นเพียงความขัดข้องของระบบแต่ตัวจดหมายมาถึงที่ตู้ปณ.ทางทีมงานจึงนำข้อมูลดังกล่าวไปอธิบายต่อเพื่อให้ประชาชนผู้ร่วมลงชื่อสบายใจว่าเจตนารมณ์ของพวกเขาไม่ได้ตกหล่น 

ในเวลาประมาณ 17.00 น. เฟซบุ๊กเพจของ iLaw ประกาศว่า ทางกลุ่มสามารถตรวจสอบรายชื่อที่ประชาชนส่งเข้ามาเกิน 50,000 คนแล้วโดยที่ในขณะนั้นยังมีรายชื่ออีกหลายรายชื่อที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบหรืออยู่ระหว่างการขนส่ง จากนั้นในเวลา 21.25 iLaw รายงานทางเฟซบุ๊กว่ารายชื่อที่ตรวจสอบแล้วเสร็จในขณะนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 112,507 รายชื่อ และยังมีอีกหลายรายชื่อที่รอการตรวจสอบ จนทีมงานประมาณการณ์กันว่าน่าจะมีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอคำถามประชามติในครั้งนี้มากถึงสองแสนรายชื่อ ในวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาสองวันหลังปิดรับรายชื่อทีมงานและอาสาสมัครของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญตรวจสอบรายชื่อแล้วเสร็จไปถึง 205,739 รายชื่อ

ไม่ใช่ปาฏิหาริย์แต่เป็นประชาชน

การรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ถึง 50,000 รายชื่อ เป็นเพียงครึ่งทางของภารกิจของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะในวันที่ 22 สิงหาคม ที่กกต.แจ้งตัวแทนกลุ่มว่าไม่สามารถเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทางกกต.ยังแจ้งด้วยว่าผู้ประสงค์เข้าชื่อเสนอคำถามประชามติมีหน้าที่แสกนเอกสารทุกแผ่นเป็นไฟล์ดิจิทัลรวมถึงต้องนำรายชื่อ และเลขบัตรประชาชนของผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดไปกรอกลงในไฟล์เอ็กเซลให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะนำส่งให้กกต.เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องได้ ลำพังการแสกนและกรอกเอกสารรายชื่อจำนวนมากกว่า 200,000 รายชื่อบนกระดาษเกือบ 30,000 แผ่นก็เป็นภารกิจที่จำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคนและเวลาอยู่แล้ว ทว่ากลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยังมีเงื่อนเวลาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมเข้ามาอีกเพราะในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกได้งวดขึ้นมาตามลำดับ    

ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเริ่มทำการสแกนเอกสารและกรอกข้อมูลผู้ร่วมเข้าชื่อลงในเอกสารเอ็กเซลควบคู่ไปกับการออกตั้งจุดรวบรวมรายชื่อ ก่อนจะมาทุ่มกำลังจัดเอกสารแบบเต็มระบบในวันที่ 26 สิงหาคม หลังปิดรับรายชื่อโดยงานในส่วนนี้จะเริ่มตั้งแต่การเปิดกล่องและซองไปรษณีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 ชิ้น การคัดแยกและเรียงลำดับเอกสาร การแสกนเอกสารและการกรอกข้อมูลเข้าสู่เอกสารเอ็กเซล ด้วยปริมาณรายชื่อที่มากกว่า 200,000 รายชื่อบนเอกสารที่มีเกือบ 30,000 แผ่นประกอบกับเวลาที่งวดลงตามความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลที่ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 รัฐบาลเศรษฐา 1 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเพราะมีการสรุปรายชื่อรัฐมนตรีและได้ส่งไปตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯพระมหากษัตริย์ การจัดทำเอกสารส่งกกต.ให้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วเสร็จทันเวลาที่จะมีการประชุมครม.นัดแรกดูจะเป็นภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่ประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองได้เข้ามาช่วยกันทำสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

เมื่อกกต.ประกาศว่าไม่สามารถเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์จนทำให้รายชื่อลดลงไปเหลือหนึ่งหมื่นรายชื่อและเหลือเวลาเพียงสามวันก่อนถึงเส้นตาย ประชาชนอย่างน้อย 2500 ร่วมกันเป็นอาสาสมัครรวบรวมรายชื่อและกระจายกันไปตั้งจุดรับลงชื่อมากกว่า 500 จุดทั่วประเทศ นอกจากนั้นประชาชนทั่วไปก็มีความตื่นตัวที่จะรวบรวมรายชื่อกันเองในครอบครัวหรือที่ทำงานและใช้เงินส่วนตัวจ่ายค่าไปรษณีย์เพื่อส่งเจตนารมณ์ของพวกเขามาให้ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญรับมาดำเนินการต่อจนทำให้รายชื่อของผู้ร่วมเสนอคำถามประชามติทะลุไปที่สองแสนรายชื่อภายในสามวันซึ่งเกินกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไปถึงสามเท่าตัว นอกจากนั้นก็มีอาสาสมัครอีก 200 ชีวิตที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามากรอกและแสกนเอกสารจนทำให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลข้างต้นถูกจัดการแล้วเสร็จในวันที่ 29 สิงหาคม หรือเพียงสี่วันนับจากการปิดรับรายชื่อในวันที่ 25 สิงหาคม ขณะเดียวกันก็มีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่แม้จะไม่สามารถสละเวลามากรอกข้อมูลด้วยตัวเอง แต่ก็ให้การสนับสนุนภารกิจของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วยการสั่งอาหารมาส่งที่สำนักงานไอลอว์เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมงานและอาสาสมัครทุกคน เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง

ราคาที่ไม่ควรถูกมองข้าม 

28 สิงหาคม 2566 ตัวแทนของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย ณ ที่ทำการพรรค เพื่อแจ้งให้พรรคเพื่อไทยทราบถึงกระบวนการเข้าชื่อที่กำลังเกิดขึ้นและเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลรับคำถามประชามติที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญพร้อมผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 205,739 ร่วมกันเสนอไปพิจารณาใช้เป็นคำถามประชามติในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายแถลงตอนหนึ่งว่า

"...เน้นย้ำว่า ด้วยรายชื่อที่มากขนาดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งถ้าเกิดอ้างเรื่องทางธุรการตรวจสอบรายชื่อไม่ทัน พรรคการเมืองหรือรัฐบาลเองมีทางเลือกในการรับคำถามจากประชาชนไปได้เลย ไม่มีความจำเป็นต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะวันนี้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงมาแล้ว"

คำแถลงของตัวแทนเครือข่ายดูจะไม่เป็นเรื่องที่ไกลเกินข้อเท็จจริงนัก หากพิจารณาถึง "ราคา" ที่ผู้ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 200,000 ร่วมกันจ่าย ทั้งค่าจัดส่งเอกสารที่ประมาณการกันว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 300,000 บาท ค่ากระดาษเกือบ 30,000 แผ่น ที่สำคัญคือค่าเสียเวลาและโอกาสของอาสาสมัครที่มาร่วมทำภารกิจครั้งนี้ให้เป็นจริงทั้งอาสามัครรับรายชื่อและอาสาสมัครจัดการเอกสารที่ร่วมกันทำงานตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม จนถึง 29 สิงหาคมโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ 

ในวันที่ 31 สิงหาคม ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้นำรายชื่อและความฝันของประชาชนมากกว่า 200,000 คน ไปยื่นต่อกกต.เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องและนำคำถามประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป  

หลังกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญนำรายชื่อไปยื่นต่อกกต. ทางกกต.จะมีเวลา 30 วันในการตรวจสอบรายชื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่ากกต.จะต้องใช้เวลาเต็ม 30 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่กกต.ไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อจากแบบฟอร์มกระดาษแต่ตรวจสอบจากเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดเตรียมมาให้แล้ว

ในวันที่ 1 กันยายน 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯและมีความชัดเจนว่าครม.เศรษฐา 1 จะประชุมนัดแรกในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเมื่อถึงวันที่มีการประชุมครม.นัดแรกปรากฎว่ากกต.ยังตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อผู้ร่วมเสนอคำถามประชามติไม่แล้วเสร็จ แต่เนื่องจากในการประชุมนัดนั้นคณะรัฐมนตรียังไม่ได้มีมติใดๆในเรื่องคำถามประชามติ มีเพียงการแต่งตั้งภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ คำถามประชามติที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่วมลงชื่อนำเสนอจึงยังมีโอกาสได้รับการพิจารณา

ในวันที่ 14 กันยายน ตัวแทนกลุ่มจึงเดินทางไปที่กกต.อีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้า จากนั้นในวันที่ 20 กันยายน กกต.ได้มีหนังสือแจ้ง จีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนกลุ่มที่มีรายชื่อเป็นผู้ยื่นเสนอคำถามประชามติว่ากกต.ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อผู้ยื่นเสนอคำถามประชามติครบ 50,000 รายชื่อแล้ว และจะดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่งก่อนนำคำถามไปบรรจุในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้มีเงื่อนเวลากำหนดไว้ จึงยังต้องติดตามต่อไปว่าเจตนารมณ์ของประชาชนกว่า 200,000 คน ที่แลกมาด้วยทรัพยากรและเวลาจะได้รับการตอบสนองจากคณะรัฐมนตรีอย่างไร

สำหรับของสะสมจากการรณรงค์ครั้งนี้ได้แก่

เสื้อสีน้ำเงินเข้ม สกรีนข้อความ "เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%"

ใบปลิวสีฟ้า "เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%" รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลงชื่อและความจำเป็นของการเสนอคำถามประชามติที่ดี

ตัวอย่างป้ายกระดาษที่ใช้ในแคมเปญ

"ช่วยกันทำให้ได้ 50,000 ชื่อ 7 วัน"
"เร่งรัด ตรวจสอบ รายชื่อประชาชน"

แผ่นซีดีจำลองที่ใช่นำไปยื่นต่อกกต เขียนข้อความหน้าแผ่น "2xx,xxx รายชื่อ นำส่งกกต. E-Doc"

ตัวอย่างซองเอกสารที่ผู้ส่งเขียนข้อความให้กำลังใจหรือความในใจอื่นๆ

เรื่องและภาพถ่ายวัตถุจัดแสดงโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพถ่ายกิจกรรมทั้งหมดจากเฟซบุ๊ก iLaw