ป้ายแผ่นไม้ หรือคัทเอ้าท์ เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาใช้สื่อสารทางการเมืองตั้งแต่สมัยขบวนการเคลื่อนไหวเดือนตุลาจนถึงยุคปัจจุบัน กลุ่ม ทะลุฟ้า - Thalufah กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ก็ใช้ป้ายคัทเอ้าท์เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองเวลาจัดกิจกรรมต่างๆด้วยเช่นเดียวกัน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป คัทเอ้าท์บางชิ้นเริ่มชำรุด ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงได้รับการติดต่อให้เก็บภาพคัทเอ้าท์ผลงานศิลปะเหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาและอนุรักษ์ผลงานเหล่านี้
ป้ายคัทเอ้าท์ที่ทางพิพิธภัณฑ์บันทึกภาพไว้มีจำนวนทั้งหมด 21 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็น คัทเอ้าท์ที่ใช้ในงาน DEMO EXPO จำนวน 8 ชิ้น การเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิผู้ใช้แรงงาน จำนวน 2 ชิ้น ป้ายที่ใช้ในเหตุการณ์รำลึก 6 ตุลา เมื่อปี 2564 จำนวน 3 ชิ้น และในกิจกรรมอื่นๆอีก 8 ชิ้น
ยกตัวอย่าง ภาพไดโนเสาร์ หนึ่งในผลงานศิลปะที่น่าสนใจ ซึ่งถูกนำมาใช้ในหลายกิจกรรม โดยศิลปินต้องการสื่อความหมายแทนกลุ่มคนที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจที่มาควบคุมพวกเขาให้มีแนวคิด ความเชื่อที่ล้าหลัง และไม่รู้จักเปิดรับความคิดหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
ภาพคัทเอ้าท์รูปเงาคนหยิบเก้าอี้ทำท่าคล้ายกำลังฟาด ซึ่งเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่คนทั่วโลกรู้จัก
หรือภาพคัทเอ้าท์ที่ใช้ในโอกาสเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิผู้ใช้แรงงาน อย่างเช่น ภาพมือสีน้ำเงินหนึ่งข้างที่กำลังกำค้อนและเคียว
นอกจากนั้น ก็มีป้ายคัทเอ้าท์ ผลงานศิลปะขนาดใหญ่ ที่ใช้ในงานมหกรรมดนตรีและศิลปะ DEMO EXPO ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2564 โดยกลุ่มทะลุฟ้า ร่วมกับเหล่าศิลปินรุ่นใหม่
DEMO EXPO มาจากคำว่า Democracy แปลว่า ประชาธิปไตย และ DEMO ที่แปลว่าการแสดงเป็นตัวอย่าง
ทางกลุ่มทะลุฟ้า ตั้งเป้าใช้ผลงานศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสื่อสารถึงแนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตยผ่านงานวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดนิทรรศการ งานศิลปะ และดนตรี โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ช่วงอายุระหว่าง 15- 20 ปี ทุกเพศ ที่มีความสงสัยและต้องการหาคำตอบของปัญหา และกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือ First Jobber ช่วงอายุระหว่าง 21 - 35 ปี ที่พอรับรู้ถึงปัญหามาบ้างแล้ว ชื่นชอบการเข้าสังคม และการปาร์ตี้
เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์