ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 91 มีร้านอาหารแห่งหนึ่งหลบซ่อนจากสายตาผู้คน เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะเห็นบ้านไม้สองชั้นสีขาว ชั้นล่างคือร้าน Jungfood ซึ่งมีที่มาจาก Jungle และ Food ภายในถูกตกแต่งด้วยดอกไม้สีสันสดใส หลังจากทักทายหมาบีเกิ้ลที่นั่งอยู่ชานบันไดวนแล้วเดินตามทางขึ้นไปบนชั้นสองของตัวบ้าน จะพบกับเขตแดนที่ต่างออกไป ในนิทรรศการ Spirits of The Marginized: จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ ซึ่งในนิทรรศการได้พังทลายความแตกต่างให้เป็นความหลากหลาย โดยกล่าวถึงเรื่องราวที่เคยถูกแยกขาดเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเรื่องของผีผู้หญิง คนทำแท้ง ชนเผ่าพื้นเมืองกับเรื่องหลังความตาย และสุดท้ายคือภาพฝันของคนตาบอด
ผีผู้หญิง ปีศาจสาว แค่ความสะใจหรืออาชญากรรมที่ถูกซ่อนไว้ใต้ระบบปิตาฯ
เมื่อเปิดประตูสู่ห้องนิทรรศการ เสียงเพลงดังคลอรับกับลมที่พัดเข้ามา หากใช้ผ้าปิดตาที่ทางนิทรรศการเตรียมไว้ให้ เมื่อเปิดตาจะพบกับนิทรรศการสื่อผสมที่รวมหลากหลายประเด็นเข้าด้วยกัน สิ่งแรกที่สะดุดตาคือแผนผังคดีที่ถูกกั้นด้วยแถบเชือกสีเหลืองดำ คล้ายกับห้องของนักสืบในหนังอาชญากรรม
เมื่อกวาดสายตาจะเห็นถึงรายละเอียดของคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ผีผู้หญิง” ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการแก้แค้นทั้งจากภาพยนต์และละครโทรทัศน์ ทั้งนางนาก จากเรื่องแม่นากพระโขนง ไปจนถึงเจนิเฟอร์ ที่โด่งดังจากความเป็นปีศาจและใช้ความงามของร่างกายหลอก “กินผู้ชาย” หรือ เพิร์ล ฆาตกรหญิงที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นฆาตกรโรคจิตที่อยากเป็นที่รักของผู้คน จากภาพยนต์ Pearl ซึ่งสร้างความสงสัยว่าแต่ละคนนั้นมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง
จนกระทั่งสังเกตเห็น “เอกสารไขคดี ก็มันสะใจนิ!” วางอยู่บนโต๊ะใต้แผนผังนั้น ภายในเอกสารได้บอกเล่าข้อมูล เกี่ยวกับผีผู้หญิงแต่ละคน(หรือตน?) ว่าถูกอำนาจทั้งจากครอบครัว รัฐ ระบอบปิตาธิปไตย ไปจนถึงศาสนาที่ก่ออาชญากรรมเพราะมีอคติทางเพศ ทำให้ผู้มีเพศกำหนดหญิงถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยมากพอ ส่งผลให้ผู้หญิงไม่กล่าวถึงปัญหาหรือออกมาสื่อสารผ่านกระบวนการยุติธรรม
แต่ในบางครั้งก็มีผู้หญิงที่ไม่ยอมรับอำนาจนั้น จึงปกป้องสิทธิตนเองด้วยการแก้แค้น แม้ตัวจะตายไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ เรื่องราวของผู้หญิงที่ออกมาปกป้องตนเองกลับถูกผลิตออกมาในรูปแบบของความชั่วร้าย น่าเกลียดน่ากลัว หรือไร้เหตุผล ทั้งในเรื่องเล่า วรรณกรรม จนถึงสื่อภาพยนต์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่กล่าวถึงที่มาที่ไปของผีผู้หญิงเลย
นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาเควียร์ ซึ่งตั้งใจนำเสนอประเด็น Feminine Rage มีที่มาจากคำถามว่าทำไมถึงมีแต่ผีผู้หญิงที่เฮี้ยน เป็นการแก้แค้นด้วยความสะใจหรือมีใครหลงลืมสาเหตุการตายของผู้หญิงกันแน่?
“ผีเด็ก” ผลผลิตซ้ำภาพจำของการทำแท้ง
ตัวละครผีที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้คือ “ผีสาวไอซ์” จากภาพยนต์เรื่องฝากเอาไว้ในกายเธอ ซึ่งไอซ์ถูกนำเสนอว่าเป็นวัยรุ่นสาว ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และต้องทรมานจนตายจากการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย ทำให้หลังจากนั้นไอซ์กลายเป็นผีสาวที่วนเวียนในสถานที่เดิม ด้วยความเจ็บปวดและแรงอาฆาต พ่วงกับภาพจำที่สังคมได้ฝากไว้ในใจผู้ชม ทั้งการท้องในวัยเรียน รัฐสวัสดิการที่ไม่พร้อมสำหรับการทำแท้งถูกกฎหมาย ไปจนถึงภาพจำที่มองว่าคนท้องต้องมีความเป็นแม่ตั้งแต่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนในครรภ์
ถัดจากหน้าต่างข้างกันจะพบป้ายผ้าสีขาวขนาดใหญ่ในหัวข้อ “ผีเด็ก” ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับภาพจำที่คนมีต่อการทำแท้งว่าเป็นการฆ่าเด็กทารกคนหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวอ่อนในครรภ์นั้นยังไม่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์ แต่ในสังคมปัจจุบันผลักดันให้การทำแท้งเป็นความผิดของผู้ตั้งครรภ์ ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิ ไปจนถึงผลักภาระความรู้สึกผิดให้ ทั้งการมองว่าเป็น “แม่ใจยักษ์”, “ฆาตกรฆ่าเด็ก” ไปจนถึงกดดันบุคลากรการแพทย์ที่สนับสนุนการทำแท้งผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งในหลายครั้ง การเสนอภาพเหล่านี้มีอยู่ในสื่อเช่นกัน ทั้งละครและภาพยนต์มักนำเสนอวิญญาณเด็กที่มาล้างแค้น หรือติดตามคนทำแท้งในรูปแบบเสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้ หรือภาพของเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่ม @ทำทาง ต้องการนำเสนอประเด็นนี้ว่าเป็นการลงโทษทางสังคมและยัดเยียดความเป็นแม่ ในทางการแพทย์พบว่า ตัวอ่อนอายุครรภ์ 2 เดือน มีขนาด 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น และในป้ายผ้านี้ยังเล่าเรื่องราวผีเด็กในมุมมองของคนทำแท้ง ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งการกลับมาเกิดเป็นน้องแมว การรู้สึกว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว รวมถึงคนทำแท้งที่รอว่าจะได้พบกันอีกครั้ง ไปจนถึงคนที่ไม่เชื่อว่าผีเด็กมีจริง
อย่างไรก็ตาม ผีเด็กจะมีจริงหรือไม่ หรือจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรนั้น “ขอให้เจ้าของประสบการณ์เป็นคนตีความเรื่องราวของเขาเอง”
นิทรรศการ Spirits of The Marginalized จัดถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้วยความร่วมมือของ บนชั้นสองของร้าน Junglefood