Skip to main content

หนังสือพิมพ์นับเป็นสื่อที่อยู่คู่กับมวลมนุษยชาติมาอย่างช้านาน สมาคมหนังสือพิมพ์โลก (World Association of Newspaper) และนักวิชาการหลายๆคนให้การยอมรับว่า The Relation ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1605 เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก

ขณะที่ในไทยหรือสยามบางกอกรีคอร์เดอร์ที่ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1844 นับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก มีนายแพทย์แดน บีช บรัดเล หรือ "หมอบรัดเล" เป็นบรรณาธิการ

นับจากมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรก กิจการการพิมพ์และหนังสือพิมพ์ในไทยก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพระราชนิพนธ์บทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์อยู่หลายครั้ง เช่น เคยพระราชนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ภายใต้นามปากกา อัศวพาหุ ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ปัญญาชนสยาม เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้เผยแพร่แนวคิดนำเสนอข้อเท็จจริง รวมถึงตั้งคำถามและท้าทายต่อผู้ปกครองที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ

นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์ยังถูกใช้รายงานและบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในโลกด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคสื่อเริ่มเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์กระดาษหลายๆฉบับทยอยปิดตัว บางฉบับลดจำนวนการผลิตหรือเปลี่ยนมาจัดส่งเฉพาะสมาชิกขณะที่บางฉบับยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กระดาษและมุ่งสื่อความเป็นสื่อออนไลน์แบบเต็มตัวเพื่อลดต้นทุน หนังสือพิมพ์จากสิ่งที่หาซื้อได้แทบทุกซอยกลายเป็นสินค้าหายาก

ในนิทรรศการ Front Page - Headline บันทึกไว้บนหน้าหนึ่ง พิพิธภัณฑ์สามัญชนคัดเลือกหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆทั้งต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเหตุการณ์สำคัญในระดับโลกมาจัดแสดง โดยสามารถแยกส่วนการจัดแสดงได้ดังนี้

1. การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นิทรรศการส่วนนี้จัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2548 - 2549 ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คณะทหารภายใต้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ในส่วนจัดแสดงนี้ยังมีการจัดแสดงสำเนาหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บันทึกเหตุการณ์ขณะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศครั้งแรก

2. การชุมนุมของคนเสื้อแดง กปปส. จนถึงราษฎร 63

นิทรรศการส่วนนี้จัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกการชุมนุมครั้งสำคัญๆตั้งแต่ช่วงปี 2553 จนถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในปี 2563 - 2564 โดยหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญที่จัดแสดงในส่วนนี้ ได้แก่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่มีภาพทหารพร้อมอาวุธก้มตัวลงใกล้ๆป้ายที่เขียนข้อความ "เขตใช้กระสุนจริง" ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่ากระสุนจริง (Live Firing) ผิดเป็นคำว่ายิงปลิดชีวิต (Life Firing) หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่รายงานการชุมนุม ราษฎรสาส์น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563

3. การเลือกตั้ง 2562 - 2566

นิทรรศการส่วนนี้จัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ยุบพรรคการเมืองสองพรรคได้แก่พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ โดยหนังสือฉบับสำคัญในส่วนนี้ ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเผยแพร่พระบรมราชโองการของรัชกาลที่สิบต่อกรณีที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ทรงถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคไทยรักษาชาติ หนังสือพิมพ์ฉบับที่รัชกาลที่สิบทรงอัญเชิญพระราชกระแสของรัชกาลที่เก้าเรื่องการให้คนดีปกครองบ้านเมืองมาเผยแพร่ในช่วงดึกของวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งเป็นคืนก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 .นิทรรศการส่วนนี้ยังจัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยด้วย

นอกจากนิทรรศการในส่วนที่เป็นหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองแล้ว นิทรรศการนี้ยังจัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ เช่น เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่เก้า การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สิบ การแพร่ระบาดของโควิด19 รวมถึงหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงจัดแสดงหนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ที่ยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กระดาษ ได้แก่ สยามกีฬา สตาร์ซอคเกอร์ โพสต์ทูเดย์ และเดอะเนชันด้วย

นิทรรศการ Front Page - Headline บันทึกไว้บนหน้าหนึ่ง จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 - 8 กันยายน 2566 ที่ Space ของ iLaw บ้านกลางเมืองรัชดา - ลาดพร้าว