ซองผงซักฟอก กล่องยาสีฟัน และกระป๋องน้ำอัดลม เป็นของใช้ธรรมดาสามัญที่น่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกๆคนจนไม่ได้รู้สึกว่ามีความพิเศษอะไร ใช้แล้วก็ทิ้งกันไป แต่สำหรับพระครูไพจิตธรรมาภรณ์ หรือหลวงพ่ออดุลย์แห่งวัดเชียงทอง ข้าวของเหล่านั้นไม่ใช่แค่ของใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่มันคือเรื่องราว คือชีวิต ของคนที่อยู่ร่วมสมัยกับของเหล่านั้น และหากนำนำข้าวของธรรมดาๆที่ผลิตขึ้นต่างยุคต่างสมัยเหล่ามาเรียงต่อกัน ก็จะสามารถเห็นได้ถึงวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จากความชอบส่วนตัวของเด็กชาวจังหวัดพะเยาที่หลงรักลวดลายที่สวยงามแปลกตาของซองผงซักฟอกรูปเปาบุ้นจิ้นและฝาจีบของขวดน้ำอัดลมหลากสี Passion และความตั้งใจที่จะส่งต่อความรู้ได้ผลักดันให้หลวงพ่ออดุลย์ก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์ความทรงจำขึ้นมาจนเป็นแหล่งเรียนรู้ "ประวัติศาสตร์ในครัวเรือน" ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
ของสะสมของเด็กน้อย
หลวงพ่ออดุลย์เล่าว่าท่านเริ่มสนใจเก็บสะสมสิ่งของตั้งแต่สมัยท่านยังเป็นเด็กและยังไม่ได้บวชเณร เริ่มจากถูกโยมแม่ใช้ให้ไปซื้อผงซักฟอก สมัยนั้นมีผงซักฟอกยี่ห้อ เปาบุ้นจิ้น ที่ซองเป็นสีแดงสดใสมีรูปท่านเปาอยู่กลางซอง ท่านเห็นว่าซองสีสวยดีก็เลยเริ่มเก็บไว้ ต่อมาท่านไปซื้อน้ำแข็งใสก็เห็นว่าที่ร้านมีฝาจีบน้ำอัดลมกองระเกะระกะอยู่เลยเก็บเอาฝามาเจาะรูทำเป็นของเล่น แต่เมื่อเห็นว่าฝาน้ำอัดลมที่มีหลากหลายยี่ห้อมีสีสันแตกต่างกันไปดูแปลตาดีท่านก็เริ่มเก็บฝาน้ำอัดลมที่ไม่ได้เจาะเพิ่มไปด้วย จากนั้นก็เริ่มทยอยเก็บฉลากของใช้อื่นๆที่เห็นว่ามีสีสันสวยงามจนจำนวนของที่เก็บสะสมไว้มีมากขึ้น หลวงพ่ออดุลย์เล่าแบบติดตลกด้วยว่าท่านเคยสะสมฉลากและข้าวของอื่นๆจนรกบ้านแล้วถูกโยมแม่เก็บทิ้งไปลายรอบเหมือนกัน
หลวงพ่ออดุลย์เข้ามาเป็นเด็กวัดที่วัดเชียงทองในขณะที่อายุได้ประมาณ 13 ปี แม้ย้ายมาอยู่ที่วัดท่านก็ยังคงเก็บสะสมหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของใช้ต่างๆอยู่เช่นเดิม เวลามีโยมมาทำบุญที่วัดท่านก็จะคอยเก็บของทำบุญที่พระไม่ได้ใช้ เช่น ของเล่นเด็กที่มีคนเอามาทำบุญเวลาญาติที่เป็นเด็กเสียชีวิตไว้ด้วย หลังเข้ามาอยู่ที่วัดเชียงทองในฐานะเด็กวัดได้ระยะหนึ่ง หลวงพ่ออดุลย์ก็บรรพชาเป็นสามเณรและดำรงเพศบรรพชิตเรื่อยมาจนอุปสมบทเป็นพระอยู่ที่วัดเชียงทองจนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส แม้จะเปลี่ยนจากเพศฆารวาสเป็นบรรพชิตท่านก็ยังเก็บสะสมของต่างๆไว้ที่กุฏิของท่านจนบางทีกุฎิของท่านจะรกจนแทบไม่มีทางเดิน
ช่วงแรกที่เก็บสะสมของ หลวงพ่ออดุลย์ก็ได้แต่เก็บสะสมไว้เพราะใจรักเฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พอมาถึงประมาณปี 2534 หลวงพ่ออดุลย์ได้ข่าวว่ามีคนจากจังหวัดแพร่เข้ามากว้านซื้อของโบราณจากคนในชุมชนใกล้ๆวัดเชียงทอง เช่น แอกไถนา เตารีดโบราณแบบใช้ถ่าน รวมถึงนาฬิกาโบราณ แม้คนที่เข้ามาซื้อจะไม่ได้ให้ราคาสูงมากแต่คนในชุมชนที่ไม่รู่ว่าของเหล่านั้นมีคุณค่าก็ขายไป หลวงพ่ออดุลย์รู้สึกเสียดายจึงพาพระเณรในวัดขึ้นรถตระเวนเข้าไปในหมู่บ้านประกาศขอรับบริจาคของเก่ามาเก็บรักษาเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ซึ่งก็มีผู้มีจิตศรัทธาบางส่วนมอบของเก่าเก็บให้กับทางวัด หลวงพ่ออดุลย์จึงตัดสินใจฉลองศรัทธาญาติโยมด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ขึ้นในบริเวณวัด
พื้นที่แห่งความทรงจำ
ก่อนที่ของสะสมของหลวงพ่ออดุลย์จะถูกจัดแสดงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ท่านเคยนำของสะสมบางสวนใส่ตู้โชว์ตั้งไว้ใกล้ๆกุฏิของท่าน แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแดดส่องทำให้ของสะสมบางส่วนถูกแดดเลียจนสีซีด ญาติโยมที่มาเยี่ยมวัดบางส่วนได้แนะนำหลวงพ่ออดุลย์ว่าท่านน่าจะต้องหาห้องหรือพื้นที่ร่มเป็นที่จัดแสดงเพื่อไม่ให้ข้าวของเสียหายหรือเสื่อมสภาพ หลวงพ่ออดุลย์และพระลูกวัดรวมถึงผู้มีจิตศรัทธาบางส่วนจึงช่วยกันปรับปรุงห้องว่างของวัดที่อยู่ในอาคารด้านข้างอุโบสถวัดขึ้นเป็นส่วนจัดแสดงของสะสม
เมื่อจะเริ่มจัดแสดงข้าวของอย่างจริงจังหลวงพ่ออดุลย์ก็คิดว่าจะใช้ชื่อพื้นที่จัดแสดงของท่านว่าอย่างไรดี เบื้องต้นท่านคิดว่าจะใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ย้อนอดีต แต่ท่านบังเอิญนึกถึงประโยคที่ท่านเคยไปเห็นจากสารคดีท่องเที่ยวว่า "เราจะไม่ทิ้งสิ่งใดไว้นอกจากรอยเท้า เราจะไม่เก็บสิ่งใดไปนอกจากความทรงจำ" ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากข้าวของที่สะสมไว้ ของส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำอัดลม ซองผงซักฟอก นาฬิกาโบราณ ไปจนถึงเพจเจอร์และโทรศัพท์รุ่นเก่าล้วนเป็นของน่าจะอยู่ในช่วงชีวิตและความทรงจำของใครหลายๆคน หลวงพ่ออดุลย์จึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ของท่านว่า "พิพิธภัณฑ์ความทรงจำ"
พื้นที่จัดแสดงของสะสมทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ความทรงจำแบ่งได้เป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกอยู่ด้านนอกห้องจัดแสดงหลัก ตกแต่งเป็นเพิงร้านโชว์ห่วย ติดป้ายโฆษณาเครื่องดิ่ม เช่น ไมโล เป็ปซี่ มิรินดา และ เครื่องดื่มชูกำลังสยามที่น่าจะมาจากต่างยุคต่างสมัย สังเกตได้จากโลโกและความเก่าของป้ายแต่ละใบ นอกจากนั้นก็มีป้ายสินค้าที่เคยเป็นที่นิยมในอดีต เช่น สบู่อาเซปโซและยาทันใจ
เมื่อเดินผ่านส่วนนั้นก็จะมาถึงห้องจัดแสดงหลักที่มีป้าย "พิพิธภัณฑ์ความทรงจำ" ติดตั้งไว้ เมื่อเดินเข้าไปในประตูห้องจัดแสดงหลักผู้ชมก็จะรู้สึกคล้ายกับตัวเองหลุดเข้าไปในร้านโชว์ห่วยเมื่อ 40 - 50 ปีก่อน เพราะจะมีสินค้าเก่าทั้งซองบุหรี่ ซองผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน แขวนอยู่เรียงรายรวมถึงแผงซองผงซักฟอกยี่ห้อเปาบุ้นจิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จุดประกายให้หลวงพ่ออดุลย์เก็บสะสมของจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ตอนหนึ่งการสนทนา หลวงพ่ออดุลย์ชวนให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มองของสะสมในมิติของความเป็นอนิจจังและความเปลี่ยนแปลง เช่นในตู้สะสมโทรศัพท์และเพจเจอร์เก่า ท่านชวนให้ผู้ชมมองย้อนไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่ครั้งหนึ่งเวลาจะติดต่อกันด้วยเรื่องด่วนต้องใช้โทรเลข ต่อมาก็ค่อยๆวิวัฒนาการมามีโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือเครื่องใหญ่ จนถึงเพจเจอร์ และโทรศัพท์รุ่นอาม่า และเชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นาน โทรศัพท์ทันสมัยอย่างไอโฟนก็จะต้องเข้าไปอยู่ในตู้นี้ในฐานะ "ความทรงจำ" ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ระหว่างเดินชมของในตู้ต่างๆหลวงพ่อยังเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของสินค้าบางชิ้นด้วย เช่น ยา "ทัมใจ" ที่เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า "ทันใจ" แต่ก็ต้องเปลี่ยนชื่อเพราะเกรงปัญหาเรื่องโฆษณาเกินจริงว่ากินแล้วหายทันใจ
ในพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำนี้แม้วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นของที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกางเมืองด้วย ได้แก่ แผ่นผ้าหาเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล.ป.พิบูลสงคราม ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ขณะที่ของที่เกี่ยวข้องกับการเมืองร่วมสมัยได้แก่เครื่องดื่มชูกำลัง "ทักษิณสู้" ที่เคยมีคนเสื้อแดงทำออกมาจำหน่าย
สำหรับของสะสมในพิพิธภัณฑ์ที่หลวงพ่ออดุลย์ภาคภูมิใจเป็นพิเศษ ได้แก่ "ผางลาง" หรือเครื่องส่งสัญญาณอันใหญ่ที่พ่อค้าเร่ในอดีตใช้เทียมกับเกวียน หลวงพ่อเล่าว่าท่านตามหาผางลางมานานกว่า 20 ปี แต่ก็หาไม่ได้ จนเคยตัดใจว่าคงหาไม่ได้ แต่ปรากฎว่ามีโยมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยาท่านหนึ่งเคยมาเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์ แล้วบังเอิญคุณพ่อของโยมท่านนั้นมี "ผางลาง" ไว้ในครอบครองแล้วมาถามโยมอาจารย์ท่านนั้นว่าจะนำไปมอบให้ใครดี สุดท้ายโยมอาจารย์จึงแนะนำให้คุณพ่อนำมามอบให้หลวงพ่ออดุลย์เพื่อจัดแสดงเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาเรียนรู้ต่อไป
วัด พิพิธภัณฑ์ ชุมชน
หลวงพ่ออดุลย์เล่าว่านับจากพิพิธภัณฑ์ความทรงจำเปิดขึ้นในปี 2551 ก็เริ่มมีคนมาเยี่ยมชมทั้งมาแบบส่วนตัวและมากันเป็นหมู่คณะ จนกระทั่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 ก็ต้องติดไป แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็เริ่มมีคนมาเยี่ยมชมอีกครั้ง เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็หมายถึงโอกาสที่คนในชุมชนจะสร้างรายได้ รวมถึงการมาขายของในพื้นที่วัดช่วงที่มีงาน ซึ่งหลวงพ่ออดุลย์เห็นว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างวัดกับชุมชน เพราะคนในชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญในการบริจาคของโบราณให้ทางวัดเก็บรักษาและจัดแสดงจนพิพิธภัณฑ์เป็นรุปเป็นร่างขึ้นมา คนในชุมชนที่เคยนำของมาบริจาคบางส่วนก็สะท้อนความปลื้มอกปลื้มใจที่สิ่งของของตัวเองได้เป็นประโยชน์ด้านการเรียนรู้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์
ถึงวันนี้พิพิธภัณฑ์ความทรงจำไม่เพียงสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้ชมในที่ตั้งเท่านั้น หากแต่ยังได้จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ในธีม "ร้านโชว์ห่วย" ไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆทั้งในจังหวัดพะเยาและพื้นที่อื่นๆด้วย
สำหรับท่านที่ประสงค์จะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ความทรงจำ สามารถเข้าชมได้ที่วัดเชียงทอง ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา 56000. โทรศัพท์: 089-9559979 และหากท่านมีข้าวของเครื่องใช้เก่าเก็บที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทางพิพิธภัณฑ์ก็สามารถติดต่อสอบถามเพื่อการบริจาคสิ่งของเพื่อส่งต่อความรู้กับทางพิพิธภัณฑ์ได้เช่นกัน
เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์