Skip to main content

การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ และการกำเนิดของหนังสือพิมพ์มีผลต่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เพราะข่าวสารจากหนังสือพิมพ์สามารถเชื่อมสังคมมนุษย์เข้าด้วยกัน ผู้คนที่แม้จะอยู่ห่างไกลออกไปก็สามารถรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของกันและกันได้

ในบริบทของสังคมไทย กิจการหนังสือพิมพ์เริ่มตั้งแต่ในยุครัชกาลที่สาม โดยหมอบรัดเลย์กับหนังสือจดหมายเหตุรายวันหรือบางกอกรีคอร์เดอร์ ที่เคยตีพิมพ์ข่าวสารในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยไปจนถึงพระบรมวางศานุวงศ์ชั้นสูงและขุนนาง

ในยุคสมัยหนึ่ง หนังสือพิมพ์ยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนชนหลายๆคน เช่น ก.ศ.ร. กุหลาบ(กุหลาบ ตฤษณานนท์) นักคิดที่อยู่ร่วมสมัยรัชกาลที่ห้า หรือ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์หรือ ศรีบูรพา นักคิดคนสำคัญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2448 – 2517 ได้ใช้สื่อสารความคิดของตัวเองต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ที่ถูกวางไว้ตามร้านกาแฟยังเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในหมู่คอการเมือง ซึ่งถือเป็นการแสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่งของประชาชน ที่สำคัญหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ยังทำหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศและของโลกไว้ด้วย 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สถานะ "สื่อหลัก" ของหนังสือพิมพ์กระดาษเริ่มถูกสั่นคลอน 
การพัฒนาของระบบอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสื่อรูปแบบใหม่ที่นำเสนอข่าวได้รวดเร็วกว่า และเข้าถึงได้ง่ายกว่า ในราคาที่ถูกกว่า ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์รวมถึงหนังสือพิมพ์มียอดขายลดลง บางฉบับประสบภาวะขาดทุนจนต้องปิดตัวไป บางฉบับปรับตัวไปเป็นสื่อดิจิตัลอย่างเต็มตัว แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป ทั้งในรูปแบบที่เคยเป็น หรือเปลี่ยนไปเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในนิทรรศการ "Front Page - Headline บันทึกไว้บนหน้าหนึ่ง" พิพิธภัณฑ์สามัญชนขอนำคอลเลคชันหนังสือพิมพ์ของเราที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลกมาจัดแสดง
โดยหวังให้ผู้เข้าชมได้มองหนังสือพิมพ์ในฐานะบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่อาจอยู่ใกล้ตัวจนมองข้ามไป 

นิทรรศการเปิดให้เข้าชม 3 กันยายน 2566 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ.สำนักงาน iLaw หมู่บ้านกลางเมือง รัชดา - ลาดพร้าว
สอบถามรายละเอียด 0852335316