อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง จัดแสดงของสะสมและมีกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและการปกป้องดินแดน
เมื่อลงทะเบียนเข้าชมเรียบร้อยแล้ว ทางเดินจะนำผู้ชมตรงขึ้นบันไดไปเพื่อสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า และชมงานประติมากรรมรวมถึงข้อความพระราชดำรัสหลายชิ้น เมื่อเดินต่อไปก็จะได้พบส่วนจัดแสดงที่แบ่งตามไทม์ไลน์ลำดับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทยก่อนที่จะได้ชมส่วนจัดแสดงที่เฉพาะเจาะจงไปในแต่ละยุค โดยในแต่ละช่วงก็จะมีภาพเหตุการณ์เปรียบเทียบเหตุการณ์ในโลกกับเหตุการณ์ภายในประเทศ และแสดงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุคในแต่ละช่วง
.
นิทรรศการนี้จะแบ่งส่วนจัดแสดงตามลำดับเวลาเป็น 4 ช่วง ได้แก่
• สุโขทัย - อยุธยาช่วงเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง
ภายในงานก็จะเน้นสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติวัฒนธรรมความมั่นคง เกริ่นเริ่มต้นจากความเป็นมาของการสร้างอักขระ ตัวอักษร ภาษา ภายในห้องมีทัศการค่อนข้างที่จะต่อเนื่องกันให้ดึงดูดความรู้สึกของผู้คนที่เข้าไปในงาน ให้เกิดความรู้สึกร่วมแล้ว เกิดเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจรักชาติฮึกเหิมอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะพาเราไปสู่ส่วนต่อมาที่กล่าวว่า
“การปกป้องชาติที่ผู้หญิงก็สามารถทำได้” เป็นข้อความที่เห็นเด่นชัด
ในส่วนการจัดแสดงเรื่องราวของอยุธยา ทำให้เรารู้จักกับวีรสตรีหญิงอย่าสมเด็จพระสุริโยทัย สร้างความรู้สึกว่าการปกป้องบ้านเมืองนั้น ผู้หญิงก็สามารถทำได้เช่นกันไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของผู้ชาย เท่านั้น นอกจากนี้ภายในห้องทำให้เรารู้สึกเข้าถึงบรรยากาศด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่น่าสนใจอย่าง ”อโยธยาโซเชียล” ที่ทางนิทรรศการได้จัดแสดงเพื่อสมมติเหตุการณ์ว่าหากอยุธยามีการใช้แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียจะเป็นอย่างไร
.
• อยุธยากู้กรุงครั้งที่หนึ่ง - อยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง
ส่วนที่สำคัญของอยุธยาที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการพูดถึงเหตุการณ์สงคราม “ยุทธหัตถี” ภายในนิทรรศการจะเริ่มจากการสร้างความรู้สึกร่วมก่อนที่จะเข้าสู่ห้องเหตุการณ์ที่กล่าวถึงการทำยุทธหัตถี หรือการทำสงครามบนหลังช้าง ใช้แสงสีและการจัดแสดงสร้างบรรยากาศและความรู้สึกปลุกเร้าอารมณ์ ก่อนที่จะเดินเข้าไปพบเจอกับภาพเหตุการณ์จำลอง รวมถึงภาพตัวอย่างการ์ตูนหรืองานเขียนที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เสริมให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงความรู้สึกที่ผู้คนในยุคนั้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อชาติ จนกระทั่งเรื่องราวภายในนิทรรศการค่อย ๆ เปลี่ยนไปให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตระหนักว่า แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแต่ความเจริญรุ่งเรืองนั้นก็ไม่แน่นอน ถ้าหากเกิดความประมาท หรือความไม่สามัคคีของคนในชาติ เพื่อนำไปสู่เนื้อหาส่วนต่อมาที่ “กรุงธนบุรี”
.
• กรุงธนบุรี - รัชกาลที่สี่
แน่นอนว่าพูดถึงกรุงธนบุรีต้องกล่าวถึงเรื่องทุบหม้อข้าว ในส่วนจัดแสดงนี้กล่าวถึงการทุบหม้อข้าว แสดงความรู้สึกปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ร่วม ให้เรานึกถึงความลำบาก และความพยายามของพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินในช่วงนั้นอีกด้วย
นิทรรศการนำพาเราไปสู่เรื่องราวช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ในช่วงนี้เองก็จะมีเกณฑ์สงครามเก้าทัพให้ทดลองเล่นกันเดินต่อไปอีกก็จะพบกับส่วนจัดแสดงถุงแดงจำลอง และเหรียญภายในห้อง สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความมั่นคง มั่งคั่ง ล้ำหน้าด้วยการเน้นแสงสีเสียงไปในโทนสีเหลืองและสีทอง ในส่วนนี้สามารถถ่ายภาพกับฉากที่นิทรรศการจัดไว้ได้อีกด้วย
.
• รัชกาลที่ 5 - ปัจจุบัน
ภายในส่วนจัดแสดงเล่าถึงการปฏิรูปและวางรากฐานการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของรัชกาลที่ 5 ไปจนถึงห้องจัดแสดงเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายในกล่าวถึงช่วงรัชกาลที่ 6 ในส่วนของวิวัฒนาการธงชาติไทยกว่าจะเป็น “ธงไตรรงค์” หรือธงชาติไทยในรูปแบบปัจจุบัน และบทบาทของสยามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
.
ภายในห้องสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด จะมีหมวกจำลอง ซึ่งจะแยกตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเราเดินเข้าไปในหมวกเราจะพบกับวีดีทัศน์บอกเล่าเรื่องราวสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. หมวกกะลาสีเรือ -กรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส วีรกรรมยุทธนาวีที่เกาะช้าง
2. หมวกหม้อตาลยุวชนทหาร -กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา วีรกรรมสะพานท่านางสังข์จังหวัดชุมพร
3. หมวกนิวส์บอยเสรีไทย -กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา วีรกรรมพลพรรคเสรีไทย หน่วยสนับสนุนกองกำลังสัมพันธมิตรต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย
4. หมวกเหล็กM1 ลายพรางตำลึง -กรณีสงครามเวียดนาม วีรกรรมกองพลทหารอาสาสมัคร
5. หมวกแก๊ป ทบ. -กรณีปราบปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในสมรภูมิเขาค้อ
.
หลังจากนั้น ในห้องต่อมาก็จะเป็นในส่วนของห้องรวบรวมดินจากทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ตระหนักถึงการต่อสู้ การพัฒนาประเทศ ไปจนถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระยะเวลายาวนาน
ระหว่างทางเดินจนสิ้นสุดการจัดแสดงก็ยังคงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ การสงครามอย่างต่อเนื่องให้ผู้ชมได้รำลึกถึงความพยายามตามที่นิทรรศการต้องการจะสื่อให้ เกิดความรู้สึกตระหนักถึงความเป็นมาของชาติไทย ความสำคัญของกษัตริย์และวีรชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
.
สามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ได้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย เลขที่ 9 หมู่ที่ 16 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130 เปิดให้เข้าชมทุกวัน “ยกเว้นวันจันทร์และวันพุธ” ตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.30 น. ติดต่อได้ที่เบอร์ 02-5338-4678
นำชมและเรียบเรียงโดย โศจิพร ธีราทรง