พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อยแห่งที่ 2 ชุมชนตรอกข้าวเม่า หรือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนตรอกข้าวเม่า- Baankhaomao Museum ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตบางกอกน้อยในการเผยแพร่และส่งเสริมความรู้วิถีชีวิตของชุมชน โดยชุมชนตรอกข้าวเม่ามีความเป็นมาที่น่าสนใจตั้งแต่ครั้งสถาปนากรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน ทว่าด้วยสังคมเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ไม่มีผู้ที่สืบทอดกระบวนการทำข้าวเม่าแบบโบราณ
อนึ่ง แต่เดิมเขตบางกอกน้อย มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเขตบางกอกน้อยตั้งแต่สถาปนากรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์นี้กล่าวถึงสถานที่สำคัญ ชุมชนที่สำคัญ และบุคคลที่สำคัญของเขตบางกอกน้อย ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงชุมชนตรอกข้าวเม่าแต่เรื่องราวยังไม่ครบถ้วน จึงนำมาสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่าเพื่อเป็นการเล่าถึงความสำคัญของชุมชนตรอกข้าวเม่าเพิ่มเติมจากเรื่องราวภาพรวม
.
ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นตรอกข้าวเม่า
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่าได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยความร่วมมือของเจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส ประชาชนตรอกข้าวเม่าและสมาชิกสภากรุงเทพฯ ซึ่งมีอนุชา เกื้อจรูญ ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อบอกเล่าประวัตศาสตร์อันยาวนานของชุมชน และได้รวบรวมสิ่งของในชุมชนมารักษาไว้ที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญ ที่แต่เดิมเป็นห้องเก็บของของวัด
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า มีการแบ่งส่วนการจัดแสดงทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนพระพุทธรูปโบราณที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ส่วนที่ 2 ส่วนการกล่าวถึงประวัติของชุมชนและการทำข้าวเม่าหมี่ และส่วนที่ 3 กล่าวถึงวิถีของชุมชนตรอกข้าวเม่าสมัยก่อน
.
ประวัติศาสตร์ของชุมชนตรอกข้าวเม่า
ชุมชนตรอกข้าวเม่าเป็นชุมชนที่มีอยู่ตั้งแต่สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ชาวบ้านจากกรุงศรีอยุธยาได้หนีสงครามตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทำการสถาปนากรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2310 แล้วนั้น ชาวบ้านที่อพยพก็ได้สร้างชุมชนใกล้กับพระราชวังที่เป็นสถานที่ประทับของพระเจ้าตากสินมหาราช
สาเหตุที่เรียกว่าชุมชนตรอกข้าวเม่านั้นมาจากการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ถึงแม้จะมีการประกอบอาชีพการทำสวนผลไม้ หรือผู้ชายเข้ารับราชการ แต่ว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนคือการขายข้าวเม่า ซึ่งความสามารถในการทำข้าวเม่าของคนในชุมชนมาจากช่วงที่ติดตามทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช โดยข้าวเม่าเป็นอาหารไว้สำหรับการเดินทัพ นอกจากนี้บริเวณชุมชนอยู่ใกล้คลองบางกอกน้อยซึ่งในสมัยก่อนจะอาศัยการเดินทางน้ำเป็นหลัก คลองจึงเป็นเส้นทางสำหรับสัญจรและการค้าขายของคนในชุมชนนี้และชุมชนอื่น โดยคนในชุมชนจะซื้อข้าวเม่าดิบที่มาจากจังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม เข้ามาขาย
ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงได้มีการสร้าง “วัดสุทธาวาส” ขึ้นมา ตามตำนานว่าวัดนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2314-2315 โดยพระนมดุสิตหรือเจ้าแม่ดุสิต เป็นผู้ที่ลี้ภัยจากสงครามเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 วัดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘วัดดุสิต’ และได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมา(เขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ) เมื่อ พ.ศ. 2330
ทั้งนี้วัดสุทธาวาสมีศิลปกรรมแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลายที่มีลักษณะพระอุโบสถมีสถาปัตยกรรมแบบแอ่นท้องเรือสำเภา หน้าบันเป็นแบบเทพพนมผุดจากดอกบัวเป็นการบ่งบอกถึงการสร้างด้วยสามัญชน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการทำรถไฟสายใต้บริเวณคลองบางกอกน้อย ชุมชนตรอกข้าวเม่าที่อยู่ใกล้กับคลองบางกอกน้อยก็ได้รับผลกระทบจากการทำรถไฟสายใต้ไปด้วยคือ การที่มีชาวเพชรบุรีเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมชุมชนตรอกข้าวเม่าเองเป็นชุมขนที่มีความหลากหลายเนื่องจากมีชาวมุสลิม ชาวจีน ชาวมอญ มาอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน และเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้เป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นทำให้มีทหารญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยในชุมชนเช่นกัน และทหารญี่ปุ่นได้ยึดสถานีรถไฟบางกอกน้อยเป็นสถานที่สำคัญในการทิ้งระเบิดของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ชุมชนตรอกข้าวเม่าที่อยู่บริเวณใกล้กันจึงได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิด จึงมีชาวบ้านบางส่วนอพยพหนีภัยสงครามออกจากชุมชน
.
กระบวนการทำข้าวเม่าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตรอกข้าวเม่า
ข้าวเม่านับเป็นอาหารทานเล่นโบราณและเป็นอาหารที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาค่อนข้างนาน แต่ถึงกระนั้นกลับมีกระบวนการทำที่ใช้เวลาหลายวัน ทำให้ไม่มีคนสืบทอด และเมื่อสังคมความเป็นเมืองเข้ามาที่คนได้รับการศึกษาจึงอยากประกอบอาชีพอื่นแทน
ข้าวเม่าที่ชุมชนนี้ใช้นั้นเป็นข้าวเปลือกของข้าวเหนียวเนื่องจากมีระยะการเก็บมากกว่าการใช้ข้าวเจ้า วิธีการทำคือนำข้าวเปลือกข้าวเหนียวมาแช่น้ำ 1 คืน เพื่อให้ข้าวเปลือกพองขึ้นแล้วนำไปคั่วที่เตา เมื่อคั่วเสร็จนำไปตำเพื่อให้เปลือกของข้าวหลุดออก และร่อนเปลือกเพื่อให้เหลือแต่ข้าวเม่าดิบ
จากนั้นนำข้าวเม่าดิบมาทำเป็นข้าวเม่าหมี่ เป็นการนำข้าวเม่าดิบมาราง นำทรายที่ล้างสะอาดมาคั่วในเตาเพื่อให้ร้อน แล้วนำข้าวเม่าดิบใส่ลงไปเพื่อทำการรางให้กรอบ ต่อมาจะร่อนทรายออกเพื่อให้เหลือแต่ข้าวเม่าหมี่ เมื่อได้ข้าวเม่าหมี่มาแล้วนั้นต้องนำมาผัดด้วยเครื่องปรุงคือ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ถั่ว กุ้งแห้ง เต้าหู้ พริกไทย กระเทียม ซึ่งการใส่น้ำตาลทรายและน้ำตาลปี๊บจะทำให้ข้าวเม่าไม่ติดกัน รสชาติที่ได้ของข้าวเม่าหมี่นั้นจะเป็นรสชาติหวาน เผ็ด เค็ม นอกจากข้าวเม่าแล้ว ชุมชนนี้ยังมีของขึ้นชื่อคือ ขนมกาละแมและข้าวเหนียวแดงอีกด้วย
.
สิ่งของที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์ผ่านการเล่าเรื่องด้วยซุ้มจำลองสถานที่ในชุมชน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่าได้จำลองวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนผ่านการเล่าเรื่องด้วยสิ่งของ โดยจะแบ่งพื้นที่เป็นซุ้มจำลองสถานที่จริง ซุ้มวางสิ่งของที่น่าสนใจ ซุ้มจำลองครัวโบราณ ซุ้มบ้านของขุนนาง ซุ้มร้านกาแฟสมัยก่อน และซุ้มเกียรติประวัติของอนุชา เกื้อจรูญ ผู้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตรอกข้าวเม่า และสิ่งของจากโรงหล่อของผู้ที่สนับสนุนวัดสุทธาวาส
เครื่องเล่นเทปรีล : แต่เดิมเป็นของอดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธาวาสได้มอบให้กับพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมไว้เป็นการอัดเทปคำสอนธรรมะเพื่อใช้สอนกับนักเรียน
ตะเกียงจากญี่ปุ่น : ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาประจำการในประเทศไทย แล้วได้ยึดสถานีรถไฟบางกอกน้อยมาเป็นที่ทำการของกองทัพ ซึ่งคนในชุมชนได้มีการติดต่อกับทหารญี่ปุ่นจึงได้รับตะเกียงจากทหารญี่ปุ่น
ตะเกียงแก๊สโบราณ : เป็นตะเกียงโบราณที่ต้องใช้หินแก๊สที่มีคุณสมบัติธาตุแคลเซียมคาร์ไบด์ที่จะทำให้เกิดแสงไฟ ลงไปในด้านล่างของตะเกียง แล้วปิดกระป๋องเติมน้ำด้านบน เมื่อน้ำผสมกับหินแก๊สจะทำปฏิกิริยาแล้วเกิดแก๊สอะเซทิลีนออกมา และเมื่อจุดไฟที่หัวแก๊สด้านบนตะเกียงจะมีไฟออกมา
เตาจีน 3 หลุม : เป็นเตาถ่านทำกับข้าวสมัยก่อน โดยมีคุณสมบัติที่มีเตา 3 หลุม โดยการใช้งานคือ เตา 2 หลุม เป็นส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารซึ่งใช้ได้ทั้ง 2 เตา เตาหนึ่งอาจประกอบอาหาร อีกเตาทำการอุ่นอาหาร ส่วนเตาที่ 3 เป็นเตาที่มีขนาดเล็ก จะอยู่บริเวณด้านบนไว้สำหรับใส่ถ่านที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร
.
ชุมชนทำข้าวเม่าที่เหลือแต่ชื่อเมื่อความเป็นสังคมเมืองย่างเข้ามา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ชาวบ้านก็กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนตามเดิม ทว่าความนิยมในการรับประทานข้าวเม่าและขนมอื่นในชุมชนมีน้อยลง ประกอบกับหลัง พ.ศ. 2500 ที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เริ่มมีการทำอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นจึงส่งผลต่อชุมชนตรอกข้าวเม่า กล่าวคือ คลองลัดวัดทองและคลองเล็กที่อยู่ใกล้ชุมชนมีน้ำเน่าเสียจากโรงงานรอบข้างชุมชนตรอกข้าวเม่า ส่งผลให้นำน้ำในคลองมาใช้ทำข้าวเม่าไม่ได้ รวมถึงผู้ที่สืบทอดการทำข้าวเม่าก็มีน้อยลงทุกที เนื่องจากได้มีการส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือเพื่อประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าการทำข้าวเม่าขาย และการทำข้าวเม่านั้นใช้กระบวนการที่นานและซับซ้อน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวเม่าไม่ได้รับการสืบทอดเท่าสมัยอดีต
ในปัจจุบันบ้านที่ทำข้าวเม่าสูตรโบราณเหลือเพียง 2 หลัง ที่สำคัญจะทำข้าวเม่าในวาระสำคัญเท่านั้น เช่นทำในช่วงวันสงกรานต์ที่จะเป็นการทำบุญให้กับบรรพบุรุษ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนตรอกข้าวเม่าจึงเป็นแหล่งบอกเล่าวัฒนธรรมของชุมชนที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะว่าชุมชนนี้ไม่ได้มีการทำข้าวเม่าเท่าในอดีต หากไม่มีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มีความสำคัญของฝั่งธนบุรีคงหายไปตามยุคสมัยและกาลเวลาเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นตรอกข้าวเม่าเปิดให้เข้าชม วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 8.30-16.00 น. สำหรับการเดินทางมาพิพิธภัณฑ์สามารถนั่งรถประจำทางมาสาย 57 108 80 171 509 หรือสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีบางขุนนนท์จากนั้นนั่งรถสองแถวหรือนั่งรถจักรยนต์รับจ้างเข้ามาลงที่วัดสุทธาวาส
นำชมและเรียบเรียงโดย ธนดล ดีประคอง