Skip to main content

พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน : แหล่งเรียนรู้หน้าที่ของตำรวจไทย “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”

.

พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงหน้าที่ของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งอยู่ในวังปารุสกวัน มุมถนนศรีอยุธยาตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

แต่เดิมนั้นพื้นที่ของวังปารุสกวันมีพระตำหนัก 2 ตำหนักคือ พระตำหนักจิตรลดา เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระตำหนักปารุสกวันเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์และย้ายประทับไปที่พระราชวังดุสิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวมพระตำหนักทั้ง 2 เข้าด้วยกันและเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถจนถึงทิวงคต หลังจากนั้นวังปารุสกวันถูกส่งกลับคืนให้หน่วยงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

.

ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ใช้พื้นที่ของวังปารุสกวันเป็นทำเนียบรัฐบาล ถึงแม้จะมีการย้ายทำเนียบรัฐบาลไปยังบ้านนรสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2485 วังปารุสกวันยังมีสถานะเป็นสถานที่ราชการอยู่ ซึ่งปัจจุบันวังปารุสกวัน เป็นที่ทำการของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและพิพิธภัณฑ์ตำรวจ

กรมตำรวจได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักฐานในการกระทำความผิดและใช้เป็นแหล่งศึกษาคดีอาญา กับข้าราชการตำรวจ ต่อมามีการเปิดให้ประชาชนทั่วเข้าชม โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน” โดยสมเด็จพระเทพรัตรราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

.

พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน มีอาคารให้เข้าชม 2 อาคาร คือ พระตำหนักจิตรลดา และอาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) ดังนี้

พระตำหนักจิตรลดา พระตำหนักศิลปะแบบสติลลิเบอร์ตี้

ในพื้นที่วังปารุสกวันมีพระตำหนักด้วยกัน 2 พระตำหนักคือ พระตำหนักจิตรลดาเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสฯ เจ้าฟ้าวชิราวุธ และพระตำหนักปารุสกวันเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ แต่ทางพิพิธภัณฑ์ตำรวจได้เปิดให้เข้าชมแค่ส่วนของพระตำหนักจิตรลดา โดยตำหนักปารุสกวันปัจจุบันเป็นพื้นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติขึ้นกับสำนักนายก รัฐมนตรีมิได้เปิดให้ประชาชนเข้าชม

ภายในพระตำหนักจิตรลดาเปิดให้เข้าชมทั้งชั้น 1 และชั้น 2 เมื่อเข้ามาชั้น 1 เจ้าหน้าที่จะนำชมวิดีทัศน์ประวัติการก่อสร้างและศิลปกรรมของพระตำหนักจิตรลดาที่จัดแสดง ในห้องทางด้านซ้ายมือ โดยบริเวณกลางห้องมีการจำลองของวังปารุสกวัน เมื่อออกจากห้องสามารถเข้าชมห้องทางด้านขวามือซึ่งเป็นห้องประชุม แต่เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องที่คณะราษฎรใช้เป็นห้องประชุมด้วย

ในห้องด้านหลังชั้น 1 เป็นการจัดนิทรรศการความรู้สึกของตำรวจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งจากป้ายที่แสดงสิ่งของจำพวกสมุดบันทึก ต่างบรรยายถึงความภูมิใจที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแม้กระทั่งบรรยายเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของหน้าที่ตำรวจไทยในการช่วยเหลือขบวนเสรีไทย

ส่วนจัดแสดงชั้น 2 จะมีนิทรรศการตามห้องต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่จะนำชมตามลูกศรที่พื้น โดยแต่ละห้องจัดแสดงพระราชกรณียกิจ เช่น การที่พระราชวงศ์ทรงเยี่ยมชมตำรวจตระเวนชายแดน มี ห้องจำลองสถานการณ์การติดต่อวิทยุในพื้นที่ชายแดน และห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 6

อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารเรือนกระจก)

เป็นอาคารที่อยู่ด้านหลังพระตำหนักจิตรลดา เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นสมัยที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดแสดงวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับกิจการตำรวจ และมีการนำเสนอเรื่องราวประวัติของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 6 ส่วนจัดแสดง

ในส่วนแรกจะอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร นิทรรศการเล่าถึงพัฒนาการของตำรวจไทย โดยมีของจัดแสดงตั้งอยู่กลางห้องเพื่อแบ่ง ส่วนแสดง 2 ฝั่ง ประวัติของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยการปรับปรุงประเทศผ่านป้ายจัดแสดงฝั่งขวามือ ส่วนฝั่งซ้ายมือจะเป็นการจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของตำรวจเช่นกัน รวมถึงมีการจำลองภารกิจของตำรวจไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่เลี้ยวซ้ายมาแล้วนั้นด้านหลังห้องเป็นการจำลองพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและ สวนสนามของตำรวจ

ระหว่างทางเดินจะเห็นป้ายจัดแสดงอยู่ทางด้านขวามือ เป็นการเล่าพัฒนาการของตำรวจไทยหลัง พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบันอีกด้วย

เมื่อผู้ชมเดินลงบันไดมาที่ชั้น 1 จะพบกับส่วนนิทรรศการภารกิจของตำรวจแต่ละหน่วยงาน มีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ซึ่งจำลองจากฉากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจะมีปุ่มกดให้เลือกหน่วยงานตำรวจ แล้วไฟจะปรากฏในตู้ที่จำลองหน่วยงานที่ตำรวจในพื้นที่นั้น

เดินเรื่อยมาจนถึงส่วนที่ 3 เป็นอุโมงค์แสดงภาพคดีที่สำคัญของตำรวจ อาทิ คดีของตี๋ใหญ่ และคดีของไอซ์ หีบเหล็ก เดินพ้นอุโมงค์เรื่อยมาก็จะพบรูปภาพของอดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนที่ 4 เป็นการจำลองบรรยากาศการเกิดเหตุและการรับเรื่องเหตุด่วน สถานที่จำลองเป็นซอยเปลี่ยว ซึ่งหากยกหูโทรศัพท์จะมีเสียงรับเรื่องเหตุด่วนให้ได้ฟัง

ส่วนที่ 5 เป็นการจำลองบรรยากาศภายในสถานีตำรวจ และนำเสนองานภายในของสถานีตำรวจว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงมีการนำของกลางจากการจับกุมมาจัดแสดงอีกด้วย

ส่วนที่ 6 เป็นการจำลองห้องขังให้ผู้ที่เข้ามาชมเข้าไปอยู่ด้านหลังห้องขังและให้ผู้ที่เข้าชมอีกคนมาเยี่ยม และมีมุมเล่นเกมทดสอบทักษะและการจดจำรูปพรรณสัณฐานคนร้าย

.

สิ่งของที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์ตำรวจ

แท่นปืนกลติดตั้งปืนกลอากาศ : จัดแสดงที่พระตำหนักจิตรลดาชั้นที่ 2 เป็นปืนกลที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรไปประดิษฐ์แท่นสำหรับติดตั้งปืนกลอากาศกับเฮลิคอปเตอร์ เมื่อสำเร็จแล้วได้พระราชทานให้แก่หน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดนไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่

แหวนอัศวิน : จัดแสดงที่อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) เป็นแหวนที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นรางวัลแก่นายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น มีชื่อเสียงด้านการปราบปรามและด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อราชการตำรวจ

ชุดตำรวจหัวแดง แข้งดำ สมัยรัชกาลที่ 5 : จัดแสดงที่อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) แต่เดิมชุดตำรวจสมัยรัชการที่ 4 เป็นชุดสีน้ำเงิน เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจ รวมถึงมีการปรับปรุงเครื่องแต่งกายของตำรวจให้เป็นชุดสีกากีรัดกุม หมวกมีจุกแดงเป๋ และมีการพันแข้งด้วยผ้าสีน้ำเงินแก่ ทำให้ราษฎรเรียกตำรวจสมัยนั้นว่า “หัวแดง แข้งดำ”

รถจักรยานยนต์เกียรติยศ : จัดแสดงที่อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) ใน พ.ศ. 2493 ตำรวจสันติบาล ได้นำรถจักรยานยนต์ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันพ่วงข้าง ออกตรวจพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยภารกิจคือการถวายความปลอดภัยและนำ-แซงขบวนเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ไทย รวมถึงผู้นำรัฐต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลอีกด้วย

ค้อนตอกหมุดธงชัยประจำหน่วยตำรวจ : จัดแสดงที่อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) เป็นค้อนที่รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ในพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยประจำหน่วยตำรวจ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยต่าง ๆ ของตำรวจ

.

ภารกิจที่น่าสนใจกับหน้าที่ตำรวจไทย

ภารกิจหลังปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 : หลังการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรมีการประกาศจัดโครงการกรมตำรวจในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจภูธรมาเป็นกรมตำรวจ มีการแบ่งกิจการตำรวจเป็น 4 ส่วน คือ 1) กองบังคับการ 2) ตำรวจนครบาล 3) ตำรวจภูธร 4) ตำรวจสันติบาล

ในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่นั้น ได้เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ญี่ปุ่นขึ้นบกประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และประเทศไทยภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น ได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะตามญี่ปุ่นโดยให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปพม่าและอินเดียที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ พร้อมทั้งประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมถึงส่งข่าวให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร

เวลานั้นกรมตำรวจภายใต้หลวงอดุลเดชจรัส(อธิบดีกรมตำรวจ)เป็นหนึ่งในรองหัวหน้าขบวนเสรีไทยมีรหัสลับว่า “พูเลา” ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนขบวนเสรีไทย รวมถึงปฏิบัติการแบบใต้ดินสอดส่องกิจกรรมของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศไทย หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลของปฏิบัติการเสรีไทยที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ไทยไม่เป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งรักษาเอกราชของไทยไว้ได้

.

“ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” พื้นฐานกิจการตำรวจปัจจุบัน : “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เป็นวลีที่คุ้นหูถ้าหากพูดถึงตำรวจไทย ซึ่งวลีนี้เป็นของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ (พ.ศ. 2494-2500) กล่าวขึ้นเนื่องจากเวลานั้นกิจการตำรวจมีความสามารถเทียบเท่ากิจการของทหาร สังเกตได้จากการที่มีตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, การสืบสวนที่ใช้เทคโนโลยีแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย, มีโรงพยาบาลตำรวจ และมีธงไชยเฉลิมพลเหมือนของกองทัพ

การที่กิจการของตำรวจมีความสามารถเท่ากิจการของทหารเนื่องจากเป็นช่วงที่โลกเข้าสู่สงครามเย็น โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยและโซเวียตเป็นผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาสนับสนุนทั้งกิจการของกองทัพและกิจการของตำรวจไทยเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนที่ว่ารัฐใดเป็นคอมมิวนิสต์แล้วรัฐเคียงข้างก็จะเป็นคอมมิวนิสต์จามไปด้วย ซึ่งหลังเกิดการรัฐประหารวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นับว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และกิจการของตำรวจเองก็มิได้มีสมรรถภาพเท่ากับกองทัพอีกต่อไป

หน้าที่ของตำรวจไทยในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ไทย : หลังเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 กิจการตำรวจได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน ที่มีนโยบายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ กรมตำรวจจึงมีหน้าที่ในการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่น เหตุการณ์วันปืนแตก ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมได้ปฏิบัติหน้าที่ติดตามผู้ผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ จนถูกกองโจรคอมมิวนิสต์ลอบทำร้ายและได้ทำการต่อสู้ สาเหตุที่เรียกว่า “วันปืนแตก” เนื่องจากเป็นวันที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้อาวุธหนักในการตอบโต้กัน ซึ่งแต่เดิมกลุ่มคอมมิวนิสต์ไทยจะเคลื่อนไหวบริเวณชนบทเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะของรัฐบาล ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์วันปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้จัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ท.ป.ท.) ซึ่งเป็นการสู้รบกับรัฐบาลเรื่อยมาส่วนใหญ่จะต่อสู้กันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยอมแพ้ใน พ.ศ. 2525

นอกจากนี้กรมตำรวจไทยได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่เหล่านักศึกษาและผู้คนได้ออกมาชุมนุมเพื่อขับไล่ผู้ปกครองประเทศที่เป็นเผด็จการ 3 ทรราช ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกประพาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร โดยกรมตำรวจมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยบ้านเมือง จึงมีการปราบปรามการก่อจลาจลและควบคุมฝูงชนเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชนทั่วไป และสถานที่ราชการได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ตำรวจยังทำการกล่าวถึงหน้าที่ของตำรวจถ้าเกิดการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย คือ“การให้ประชาชนได้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามขอบเขตที่กำหนดไว้”

.

พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวันนับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เห็นพัฒนาการของหน่วยงานตำรวจได้อย่างชัดเจนและจัดแสดงเรื่องราวได้น่าสนใจ โดยมีสิ่งที่ควรปรับปรุงคือเรื่องของตำหนักจิตรลดาควรจะติดป้ายแสดงส่วนจัดแสดงแต่ละห้อง ให้ชัดเจน และที่สำคัญทั้ง 2 อาคารควรมีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการที่ใช้รถเข็นผู้ป่วยเพราะจะไม่สามารถขึ้นชม อาคารชั้น 2 ได้

สำหรับพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 10.00 น.-16.00 น.

นำชมและเรียบเรียงโดย ธนดล ดีประคอง