อยากไปพิพิธภัณฑ์แต่ไม่รู้ว่าจะไปพิพิธภัณฑ์ไหนดี ไม่ไกลจากศาลอาญา บริเวณถนนรัชดาภิเษก ด้านหน้ามีป้ายพิพิธภัณฑ์ศาลไทยติดอยู่อย่างชัดเจน พิพิธภัณฑ์ศาลไทยตั้งอยู่ชั้น 5 ในอาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ภายในมีวัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจมากมายรวมถึงยังสามารถสืบค้นข้อมูลภายในหอจดหมายได้อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 เมษายน 2545 โดยนายสันติ ทักราล ประธานศาลฎีกาในสมัยนั้น มูลเหตุนั้นเริ่มจากการสำรวจพบว่ามีทรัพย์สินประเภทวัตถุโบราณ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพเขียน เอกสาร และจดหมายเหตุมากมาย เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้นำความขึ้นกราบเรียนประธานศาลฎีกาเพื่อขอความเห็น ชอบจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นพ.ศ. 2545 ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบ 120 ปี
สำนักงานศาลยุติธรรมจึงมีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้น พิพิธภัณฑ์นี้ยังคงดำเนินการรวบรวมและดูแลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการพิจารณาคดีรวมถึงความเป็นมาของศาลตั้งแต่อดีตจากช่วงอาณาจักรสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ภายในอาคารได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็นสองส่วน คือ ส่วนของพิพิธภัณฑ์ศาลไทย และส่วนของหอจดหมายเหตุ ที่จัดตั้งเป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งจะมีงานจัดแสดงชั่วคราวในช่วงวันสำคัญที่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริม เผยแพร่ รวบรวม เก็บรักษาและจัดแสดงศิลปะเช่น ภาพวาดและภาพเขียน และยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณ ไปจนถึงเอกสาร จดหมายเหตุและหนังสือ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้า ความรู้เกี่ยวกับประวัติของศาลไทย
ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนแรกมีการแบ่งพื้นที่จัดแสดงย่อยออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ในส่วนที่ 1 จัดแสดงข้อมูลผ่านการเล่าเรื่องตามแต่ละยุคสมัยตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ ภายในนิทรรศการจัดแสดงเอกเอกสารสำนวนคดีสำหรับใช้พิจารณาคดีต่าง ๆ ภายในพื้นที่จัดแสดงก็มีส่วนของสำนวนคดีที่ใช้ “หยิกเล็บหมายมือ” ปิดผนึกสำนวนคดีนั้นไว้ด้วย โดย “หยิกเล็บหมายมือนั้น” เป็นชื่อของเชือกที่ใช้ผูกเอกสารสำนวนเช่นกันกับการใช้ ครั่ง เป็นดินเหนียวผนึกตรงส่วนเงื่อนที่ผูกไว้ เพื่อป้องกันการเปิดผนึกเอกสารลับหรือเอกสารสำคัญ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีสิ่งของเครื่องใช้ รูปภาพ ภาพถ่ายเนติบัณฑิตสยามในสมัยสภานิติศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่มีคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตฑิตหญิงคนแรกในภาพ รวมถึงภาพอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นความเป็นไปของศาลไทยในอดีต นอกจากสิ่งของและภาพแล้ว นิทรรศการยังให้ความรู้จากป้ายข้อมูล และภาพจำลองต่าง ๆ อีกด้วย
ในส่วนที่ 2 เป็นนิทรรศการจัดแสดงวัตถุที่ได้รวบรวมมาจากศาลทั่วประเทศไทย มีวัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจอยู่หลายชิ้น เช่น
• ฉลากงา: ทำจากงาช้าง เป็นป้ายดัชนี(index)ใช้บอกชื่อพระไอยการแต่ละลักษณะสำหรับกฎหมายตราสามดวง เช่น ฉลากงาลักษณะกฎมณเฑียรบาล จะใช้เสียบไว้ด้านหน้าห่อสมุดไทยที่เป็นหนังสือทำจากกระดาษยาวต่อกันที่ห่อด้วยผ้าเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
• ตรางาช้าง: ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงตราศาลเมืองสายบุรี และศาลเมืองเลยให้ได้รับชม โดยตรางาช้างนั้นเป็นตราที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของตราศาลประจำจังหวัดของทุกจังหวัดในประเทศไทย
• ตราประทับวันที่: จัดแสดงด้ามไม้จากตราประทับ ชิ้นส่วนตัวอักษรและตัวเลขสำหรับเปลี่ยนวันเดือนปี พร้อมกล่องไม้รวมเป็นชุดเดียวกัน ใช้สำหรับงานศาลในการประทับวันที่
ส่วนสุดท้ายในนิทรรศการนี้ก็ได้มีการจำลองคงสภาพไว้ให้ได้ชมและเข้าถึงบรรยากาศภายในศาลจำลองมากขึ้น โดยจัดแสดงห้องพิจารณาคดีสมัยโบราณแบบจำลองจากของจริง โดยยกส่วนที่เคยใช้จริงมาจัดแสดง รวมถึงยังมีส่วนจัดแสดงห้องทำงานของผู้พิพากษาอยู่ด้านหลังห้องพิจารณาคดี
ในส่วนของหอจดหมายเหตุ ได้มีการรวบรวมจัดแสดงตัวอย่างเอกสารสำคัญ สำเนาเอกสาร รวมถึงหนังสือกฎหมาย และสิ่งของที่หาดูได้ยากรวบรวมจากศาลต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้ให้ประชาชนผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสามารถใช้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลได้ตลอด ช่วงเวลาเปิดทำการ เอกสารที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จัก เช่น
• ครุฑไม้แกะสลัก : เดิมทีอยู่ที่ศาลฎีกา ณ เขตพระนคร ซึ่งในปัจจุบันได้ปิดทำการแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ศาลจึงได้นำตราครุฑหมายมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
• จดหมายมังรายศาสตร์: เป็นเอกสารกฎหมายที่พระเจ้ามังรายได้นำมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย จากนั้นถูกนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแคว้นล้านนาไทยเพื่อปกครองบ้านเมือง และใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยคดี
• รัฐธรรมนูญ 2475: เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามฉบับชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศ
ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับชมพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรม ได้ที่ชั้น 5 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก แขวง จอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
สามารถเดินทางได้ด้วยรถประจําทางสาย38, 126, 136, 134ก, 178, 179, 185, 206)
และ MRT ลาดพร้าว โทรศัพท์ 0 2512 8413
นำชมและเรียบเรียงโดย โศจิพร ธีราทรง