Skip to main content

หากกล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรี “ทางรถไฟสายมรณะ” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่หลายคนคงต้องนึกถึงทั้งภาพของธรรมชาติที่สวยงามและเรื่องราว ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้

ทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรีพม่า หรือหลายคนเรียกสั้นๆว่าทางรถไฟสายมรณะ มีจุดเริ่มต้นจากอำเภอหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี มุ่งตรงผ่านไปยังทิศตะวันตกของกาญจนบุรี จนเข้าสู่ชายแดนประเทศเมียนมาที่อำเภอสังขละบุรี รวมระยะทาง 415 กิโลเมตร สาเหตุที่เรียกเส้นทางนี้ว่าทางรถไฟสายมรณะนั้นก็เป็นเพราะ การสร้างทางรถไฟนี้เต็มไปด้วยความยากลำบากต่อการสร้างทางรถไฟ ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมและภาวะสงคราม เช่น พื้นที่ในการสร้างทางรถไฟในบางพื้นที่ เชลยศึกต้องยืนในน้ำเป็นเวลานาน ทั้งยังมีโรคภัยไข้เจ็บ การขาดอาหารในช่วงระหว่างสร้างทางรถไฟ เพราะ เชลยไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีนัก และได้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งแพทย์ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เชลยศึกที่เป็นแรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟได้เสียชีวิตลงในระหว่างการทำงานเป็นจำนวนมาก

ไม่ไกลจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว บริเวณหน้าวัดไชยชุมพลชนะสงครามมีพิพิธภัณฑ์เปิดบริการแก่ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ การสร้างทางรถไฟสายมรณะ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับการใช้รถไฟในขณะนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อเต็มว่า “พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “The JEATH war museum” คำว่า JEATH เป็นคำย่อของคำว่า Japan (J) คือ ญี่ปุ่น ในฐานะกองทัพควบคุมเชลยศึกสงครามสร้างทางรถไฟ England (E) คือ อังกฤษ Australia, America (A) คือ ออสเตรเลียและอเมริกา Thailand (T) คือ ไทย ในฐานะเจ้าของประเทศ และ Holland (H) คือ ประเทศฮอลแลนด์

 

พิพิธภัณฑ์นี้จัดตั้งขึ้นโดยเจ้าคุณพระเทพปัญญาสุธี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม และเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบพิธีเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2520

รูปแบบของพิพิธภัณฑ์จำลองจากค่ายเฉลยศึกสงครามในสมัยสงครามโลก โครงสร้างอาคารทำด้วยไม้ไผ่ และมุงหลังคาด้วยจาก มีจุดประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานอันเกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแคว อุทิศคุณความดีกับเชลยสงคราม คนงาน และคนท้องถิ่นที่ต้องเสียชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และต้องการสื่อสารถึงอนุชนรุ่นหลังให้ได้ประจักษ์ในผลร้ายของสงคราม

เรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างการเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้คือภายในแผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ได้ให้ข้อมูลว่า หลายครั้งมีผู้เข้าชมสอบถามว่าน่าจะสร้าง อาคารถาวรเพื่อจัดแสดงเฉกเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์โดยทั่วไป ถึงอย่างนั้นแล้วทางวัดก็มีสาเหตุที่ไม่จัดสร้างอาคารถาวรด้วยเช่นกันเพราะเหตุว่าต้องการจำลอง ลักษณะของค่ายกักกันเฉลยศึกในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไว้

 

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้

​ส่วนที่หนึ่ง เป็นส่วนจำลองอาคารพักเชลยศึก บอกเล่าประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆด้วยภาพถ่ายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ทางรถไฟสายมรณะ ทางเดินในช่วงแรกเมื่อเข้าไปก็จะได้เห็นลักษณะของ เรือนไม้ไผ่ที่มุงด้วยใบจาก ระหว่างทางก็จะมีรูปของเชลยศึก และรูปเหตุการณ์จัดแสดงทั้งภาพถ่ายและภาพวาดเรียงอยู่ด้วยกันตลอดทาง นอกจากนั้นยังมีบทความรวมถึงข่าวบอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ความเป็นอยู่รวมถึงชีวิตของเชลยในขณะที่สร้างทางรถไฟว่าในตอนนั้นเชลยศึกได้ประสบพบเจอสิ่งใด ณ เหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ภายในสถานที่จัดแสดงมีรูปภาพที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความยากลำบากของชีวิตเชลยศึก รวมถึงภาพการรรักษาพยาบาลการทำงานช่วงพักเวลาทำงาน และภาพหมู่ของกลุ่มเชลยในบริบทต่าง ๆ (เนื่องจากส่วนที่หนึ่งนั้นได้มีการติดป้ายงดถ่ายภาพไว้ด้วยเหตุผลบางประการจึงทำให้ไม่ได้มีภาพประกอบในบริเวณดังกล่าว)

​ก่อนที่จะเดินต่อไปถึงส่วนที่สองแนะนำให้ลองหันไปแล้วเดินไปทางขวาแล้วจะเห็นกับวิวของแม่น้ำแควและอนุสรณ์สันติภาพโลกตั้งอยู่ข้าง ๆ กับ อนุสาวรีย์นายทาเคชิ นากาเสะ อดีตทหารล่ามญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองผู้เป็นประธานมูลนิธิสันติภาพแม่น้ำแคว ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อเข้ามาในพิพิธภัณฑ์นี้

 

​เมื่อเดินต่อไปในส่วนที่สอง ผู้เข้าชมก็จะได้พบกับ ภาพบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ แบบจำลองการสร้างรถไฟสายมรณะ รวมถึงข่าวและบันทึกหนังสือพิมพ์ในช่วงการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงเหตุการณ์ในการสร้างรถไฟเพียงเท่านั้น แต่ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาเดียวกันในขณะที่กำลังสร้างทางรถไฟอยู่ด้วย และมีภาพถ่ายที่ถ่ายไว้โดย คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์และเชลยศึกในสมัยนั้น ไปจนถึงภาพวาดที่แสดงความเป็นอยู่ของเชลยศึกที่ถูกเขียนขึ้นใหม่โดยอาศัยเค้าโครงจากเหตุการณ์จริง

ภายในส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวของการสร้างทางรถไฟและพิพิธภัณฑ์ต่อเนื่องมาจากห้องแรก สิ่งที่ต่างกันคือภายในห้องที่สองนั้นจะเน้นไปในส่วนของเอกสารและข่าว ซึ่งจะมีความแตกต่างจากห้องแรกที่เน้นการใช้ภาพถ่ายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มาเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

​ต่อมาในส่วนที่สามเมื่อเดินหันหลังกลับไปเราจะเห็นกับอาคารจัดแสดง เครื่องใช้สอยของเชลยศึก มีทั้งเครื่องแต่งกาย เช่นหมวกรองเท้าเสื้อผ้าและของใช้อย่างช้อนส้อม มีดประเภทต่าง ๆ เช่น มีด มีดพร้า เคียว เครื่องมือสื่อสาร และอื่น ๆ จัดวางเรียงกันอยู่ในตู้ตลอดรอบห้องรวมถึง อาวุธปืน ระเบิด และกระสุน วางให้ได้รับชมอีกด้วย โดยภายในห้องมีสิ่งของที่สะดุดตาคือลูกระเบิดลูกใหญ่ที่สุดในห้องจัดแสดงวางอยู่ด้วย

 

พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึกแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000 เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08:00-17:30 น. โดยมีอัตราค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

 

 

นำชมและเรียบเรียงโดย โศจิพร ธีราทรง