Skip to main content

ย้อนกลับไปสัมผัสกลิ่นอายบรรยากาศการปฏิวัติสยาม

วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีอาจเป็นวันธรรมดาเหมือนทุกวัน หากแต่เมื่อย้อนกลับไป เมื่อย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในประเทศสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทย) บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นวันสำคัญทางการเมืองของประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีคนกลุ่มหนึ่งนามว่า “คณะราษฎร” จำนวน 115 คน ได้ร่วมปฏิวัติประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และถัดมาวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีธรรมนูญการปกครองสยามแต่ลงท้ายว่าชั่วคราวในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 7 นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ สำหรับการลงท้ายชั่วคราวลงในธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 นั้นเป็นการแสดงถึงสัญญะการต่อรองอำนาจทางการเมือง อาจเป็นเพราะธรรมนูญฉบับนี้เมื่อพระองค์ทรงอ่านแล้วกลับพบว่าไม่เป็นที่น่าพอพระทัย ทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีตัวแทนจากระบอบเก่าและระบอบใหม่ได้ร่วมกันร่าง เมื่อพระองค์ทรงอ่านแล้วพอพระทัยจึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.  2475         

24 มิถุนายน จากวันชาติ สู่ วันธรรมดาในความรับรู้ของประชาชน

ความคิดเรื่องวันสำคัญในประเทศไทยนั้นปรากฏมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากได้รับอิทธิพลตะวันตก โดยแนวคิดเรื่องวันสำคัญนั้นยึดโยงกับความหมายและพิธีกรรม วันสำคัญในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงถูกให้ความหมายที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งภายหลังจากการปฏิวัติสยาม คณะราษฎรได้พยายามสร้างวันสำคัญขึ้นมาเพื่อให้ราษฎรมีความสำนึกและมีส่วนร่วมกับวันสำคัญนั้นอย่างกรณีงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ที่เป็นงานแรกที่คณะราษฎรได้สถาปนาให้เป็นวันสำคัญของชาติ พร้อมกันในงานก็มีทั้งมหรสพ ร้านค้า เพื่อให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมภายในงาน แต่แล้วเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติ โดยวันชาติที่ 24 มิถุนายน ได้มีการจัดแบบเฉลิมฉลองเพื่อให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการสร้างขบวนรถแห่ การออกบูธของหน่วยงานต่าง ๆ  รวมถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญจึงมักจะยึดให้วันนี้เป็นวันสำคัญในการเปิดอาคารต่าง ๆ อาทิ การเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ศ. 2483 เปิดอนุสาวรีย์ขัยสมรภูมิและเปิดวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พ.ศ. 2485 ทว่าภายหลังจากจัดงานวันชาติเมื่อ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา งานวันชาติกลับไม่ใหญ่โตดังเดิม เนื่องจากปลายปีนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้วญี่ปุ่นได้บุกขึ้นฝั่งไทย แต่งานก็ยังคงดำรงต่อไปถึง 21 ปี จนถึง พ.ศ. 2503 หลังจากเกิดการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9 ทำให้วันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็นวันที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับชาติอีกต่อไป

เปิดกรุของสะสมสมัยคณะราษฎรที่มติชน อคาเดมี่

ในวาระครบรอบ 91 ปี การปฏิวัติสยาม ปีพ.ศ. 2566 ทางสำนักพิมพ์มติชนได้ถือฤกษ์นำของสะสมจากผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามมาจัดแสดงที่อาคาร มติชน อคาเดมี่ ซึ่งของสะสมส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญที่ระลึกเหตุการณ์ต่าง ๆ สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือ ภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญในสมัยนั้น ของสะสมดังกล่าวเป็นของ ผศ.ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และอัครชัย อังศุโภไคย
ในครั้งนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับเกียรติจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามและมีของสะสมมาร่วมจัดแสดงในงาน นำชมและบรรยายของสะสมในแต่ละส่วนจัดแสดง โดยมีของสะสมที่น่าสนใจในงาน ดังนี้

รูปหล่อครึ่งตัวพระยาพหลพลพยุหเสนา: พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรก่อนที่จะมีการปฏิวัติสยาม ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุด และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย โดยรูปหล่อครึ่งตัวชิ้นนี้ทำจากปูนปลาสเตอร์ ซึ่งทำในวาระหลังการอสัญกรรม ใน พ.ศ. 2490
หมุดคณะราษฎรจำลอง : หมุดคณะราษฎรจำลองนี้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับหมุดคณะราษฎรของจริง ที่ประดิษฐานบริเวณใกล้กับอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยหมุดคณะราษฎรของจริงได้ประดิษฐานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479

จานเนสท์เล่รัฐธรรมนูญ: จานเนสท์เล่เซรามิกที่จัดแสดงนี้มีลักษณะที่ต่างออกไปจากจานเนสท์เล่อื่น เนื่องจากมีการปรากฏถึงรัฐธรรมนูญในจาน ทำให้เห็นถึงความสำคัญที่แม้แต่บริษัทมีการปรับตัวตามกระแสของสังคมในขณะนั้น

ชุดหนังสือปาฐกถาจอมพล ป. พิบูลสงคราม: จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งในผู้ก่อการปฏิวัติสยาม และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงครามได้ทำการปาฐกถาที่งานวันชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2482 สำหรับชุดหนังสือปาฐกถาของจอมพล ป. พิบูลสงครามนี้มี พ.ศ. 2482, 2483 และ 2485 ซึ่งขาดหนังสือปี พ.ศ. 2484 ไปหนึ่งฉบับ

รูปหล่อครึ่งตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม: รูปหล่อครึ่งตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นริศให้ความเห็นว่า เป็นรูปหล่อที่หล่อขึ้นในช่วงที่จอมพล ป. รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2481 เนื่องจากมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับรูปถ่ายในเวลานั้น ซึ่งข้างหลังรูปหล่อได้มีการปรากฏถึงคำว่า ‘ห้องหุ่น 158’ ซึ่งห้องหุ่นที่ว่านี้หมายถึงร้านหล่อรูปปั้นโดยนริศกล่าวว่า ร้านนี้ “อยู่แถวเฉลิมกรุง แต่หาไม่เจอ”

ใบปลิวหาเสียงการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกของประเทศไทย: การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในลักษณะส่งผู้แทนตำบลไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกที ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของประเทศและที่สำคัญเป็นการเลือกตั้งทางตรงของประเทศ สำหรับใบปลิวหาเสียงแผ่นนี้เป็นของ ส.ส. จังหวัดราชบุรี ซึ่งแตกต่างจากใบปลิวหาเสียงในรุ่นเดียวกันตรงที่ว่า มีภาพบอกวิธีการลงคะแนนในคูหาอย่างครบกระบวนการ

หนังสือหลอมนิกาย: เป็นหนังสือว่าด้วยการหลอมนิกายพระพุทธศาสนา 2 นิกาย คือ มหานิกายและธรรยุติกนิกาย แต่เดิมทั้ง 2 นิกายมีแนวทางศาสนาที่แยกจากัน แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยของคณะราษฎรที่เห็นความสำคัญทางด้านพระพุทธศาสนาและตั้งใจให้ทั้ง 2 นิกายอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงทำพิธีหลอมนิกายที่วัดประชาธิปไตย (ชื่อเก่าของวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) โดยมีพระยาพหลฯ อุปสมบทเพื่อทำการหลอมนิกาย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 แล้วไปจำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตรเนื่องจากวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ยังสร้างไม่เสร็จดี

พจนานุกรมตัวสะกดแบบใหม่:  เป็นพจนานุกรมภาษาไทยในสมัยจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้งานใน พ.ศ. 2485-2487 ซึ่งเป็นการเทียบตัวอักษรของภาษาไทยแบบเดิมให้ตรงกับการใช้แบบใหม่ โดยงดใช้พยัญชนะไป 13 พยัญชนะและสระ 5 ตัว รวมถึงให้ใช้เลขสากลแทนเลขไทย สาเหตุที่มีการงดใช้พยัญชนะและสระบางส่วนเพื่อให้ลดการใช้พยัญชนะที่ผิด ๆ ถูก ๆ รวมถึงให้ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สับสนเรื่องการใช้พยัญชนะและสระ

หนังสือวันแม่ (คู่มือสมรส): หนังสือวันแม่เล่มนี้ได้ถูกเผยแพร่เมื่อ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ในวาระงานวันแม่ครั้งแรกของประเทศไทย ภายในเนื้อหาเป็นการพูดถึงความเป็นแม่ที่ดีควรเป็นอย่างไร ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากต้องการสร้างพลเมืองที่ดีในประเทศจึงมีแนวคิดว่าควรเริ่มจากความเป็นแม่ที่ดีก่อน

ภาพถ่ายเปิดงานสมาคมพาณิชย์จีนสยามที่โรงละครบริเวณถนนสาทร: เป็นภาพถ่ายของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามมายาวนานแล้วได้รวมตัวกันเป็นสมาคมพาณิชย์จีนสยาม โดยชาวจีนเหล่านี้เป็นนายทุนที่สำคัญมากในการสนับสนุนรัฐบาคณะราษฎร ซึ่งในงานเปิดโรงละครสมาคมพาณิชย์จีนสยามครั้งนั้นพระยาพหลฯ ได้รับเกียรติมาเป็นผู้เปิดงาน

ภาพถ่ายบรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญ: เป็นภาพถ่ายบรรยากาศของราษฎรที่ได้เข้ามาร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญบริเวณสวนอัมพร เขาดินวนา สนามเสือป่า ที่เป็นบรรยากาศราษฎรเข้าร่วมงานอย่างสนุกสนาน เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั้งการออกร้านและขบวนแห่ของหน่วยงานต่าง ๆ

สิ่งของอดีตเหล่านี้บอกอะไรในปัจจุบัน

จากการที่นริศได้พาเดินชมและอธิบายสิ่งของที่จัดแสดงในวันนี้ทำให้เห็นมิติทางการเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในบรรยากาศของคณะราษฎรเป็นผู้นำได้เป็นอย่างดี ยุคสมัยหนึ่งยังมีกลุ่มคนที่ตระหนักและเห็นคุณค่ากับรัฐธรรมนูญและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมบริหารประเทศของราษฎร เห็นได้จากสิ่งของที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ ถึงกระนั้นรัฐบาลตั้งแต่เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบัน กลับไม่ได้ให้ความสำคัญที่ราษฎรเป็นส่วนสำคัญในการบริหารมากนัก การจัดงานเพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าทางประชาธิปไตยหรือราษฎรน้อยลง หรือในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีความพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามเช่นกัน เหตุนี้เราในฐานะราษฎรที่อาศัยอยู่ในประเทศจึงควรรักษาประชาธิปไตยและรวมถึงปกป้องมรดกของคณะราษฎร

เรื่องโดย ธนดล ดีประคอง
ภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์