Skip to main content

24 มิถุนายน 2566 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ชมรมโดมรวมใจ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดกิจกรรมเสวนาใน หัวข้อ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” เนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 91 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยในระบอบประชาธิปไตย ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

วงเสวนานี้มีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, อดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย, รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกล, และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักวิชาการอิสระและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม มีสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนการเสวนา ทางผู้จัดเชิญชาญวิทย์ เกษตรศิริ ขึ้นกล่าวเปิดงานซึ่งสรุปได้ว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อรำลึกถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่ถือเป็นวันแห่งความหวังและจุดเปลี่ยนระบอบการปกครองครั้งสำคัญของสยามประเทศ  จากนั้นทางผู้จัดฉายภาพยนตร์สั้น “ความทรงจำของสามัญชน”(Memorial of the commoner) ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มนักเรียนจากอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 

เมื่อเข้าสู่ช่วงวงเสวนา สมฤทธิ์ในฐานะผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นว่า วันที่ 24 มิถุนายน 66 นับว่าเป็นปีที่ผู้คนตื่นตัวและฉลองวันชาติกันอย่างคึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการจัดกิจกรรมหลายเวทีทั่วประเทศ พร้อมเกริ่นประเด็นเรื่องการกำหนดวันชาติ โดยยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่กำหนดให้วันเกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นวันชาติก่อนจะเปรียบเทียบกับบริบทของประเทศไทยที่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันชาติอย่างเป็นทางการ 

สมฤทธิ์ระบุด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้รัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองมากที่สุดซึ่งนำไปสู่หัวข้ออภิปรายเรื่อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดวางและกำหนดปฏิสัมพันธ์ของทั้งสามเสาหลักในบริบทการเมืองและสังคมไทย และความฝันที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

อดิศร:  91 ปี กับประชาธิปไตยที่ไม่เป็นไปดังหวัง

วัฒนธรรมการทำให้ลืม

อดิศรบอกเล่าความรู้สึกผิดหวัง และเสียดายที่ผ่านมา 91 ปีแล้ว ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้นถดถอยกว่าในอดีตที่คณะราษฏรเคยปูทางมาตั้งแต่ปี 2475 จากการที่ระบบเลือกตั้งปี 2566 ในปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นระบบ “ลากตั้ง” โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มิได้มาจากเลือกตั้งคอยขัดขวาง ซึ่งเมื่อย้อนศึกษาอดีตก็พบว่าประชาธิปไตยไทยมักจะมีอายุสั้น ดังเช่นกรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะจนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และกรณีฉบับปี 2540 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่างถูกประกาศยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร หลังจากที่บังคับใช้ได้เพียงแค่สองถึงสามปีเท่านั้น จนกระทั่งยุครัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยกลายเป็นของรัฐสภา แทนที่จะเป็นของประชาชน  อีกทั้งยังนำไปสู่การตกอยู่ในสภาวะที่การรัฐประหารอาจพร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
อดิศรกล่าวต่อไปว่า นอกจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังมีความพยายามปราบโค่นสัญลักษณ์ หรือหมุดหมายสำคัญต่างๆที่สื่อถึงคณะราษฎร เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หมุดคณะราษฎรที่ปัจจุบันได้หายไป และคาดว่าต่อไปทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับความทรงจำของคณะราษฎรก็อาจถูกทำให้จางหายไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกมองโดยรัฐผ่านสายตารังเกียจ 

ทั้งนี้ อดิศรเสนอมุมมองว่าวันรัฐธรรมนูญไทยควรจะกำหนดให้เป็นวันที่ 27 มิถุนายนมากกว่าวันที่ 10 ธันวาคม เพราะเป็นวันที่รัชกาลที่ 7 ทรงยินยอมที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และต้องการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ ซึ่งผ่านมา 91 ปี เขามองว่าประชาธิปไตยไทยที่คณะราษฎรเสียสละต่อสู้มาด้วยความกล้าหาญนั้นควรจะได้รับการอนุรักษ์ และรุ่งโรจน์พุ่งทยานมากกว่านี้เหมือนเช่นประเทศญี่ปุ่น

ความเป็นไทยที่หลากหลายและการปรับตัวตามยุคสมัย

สำหรับความเป็นไทยที่เชื่อมโยงไปยังประเด็นเรื่องชาติ อดิศรเห็นว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยความหลากหลาย ความเป็นคนไทยไม่จำเป็นที่จะต้องยึดโยงกับภาษาไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะพูดภาษาไทย จีน ลาว สุพรรณ หรือแหลงใต้ก็ล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน และอ้างอิงถึงสังคมไทยในสมัยอดีตที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความหลากหลายของเชื้อชาติ จนกระทั่งมีความพยายามที่จะรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ส่งผลให้ความเป็นไทยมีลักษณะตายตัว และทิ้งท้ายเตือนว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ความหลากหลายในสังคมไทยกับยุคสมัยที่สื่อเข้ามามีอิทธิพล อดิศรมองว่าความคิดเห็นที่หลากหลายย่อมเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ในฐานะที่ตนเป็นมนุษย์ก็อาจมีความคิดเห็นผิดหรือถูกบ้าง หากมีสิ่งใดที่ตนผิดก็ต้องขอโทษ และขอร้องกับประชาชนว่าอย่า “ทัวร์ลง” มาก เพราะสิ่งที่ตนเคยกล่าวไว้ในอดีตนั้นเป็นเจตนาที่สุจริต มิได้มีอคติใดๆ ความเป็นประชาธิปไตยควรหมั่นประชุมกันอย่างเป็นเนืองนิจ  และอยากให้ยึดหลักเหตุผลหรือวิภาษวิธี เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ต้องจับมือพูดคุยกันเปรียบดั่งปาท่องโก๋ ทั้งนี้ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สิ่งต่างๆหรือสถาบันทางสังคมใดก็ตามต้องรู้จักปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดสอดคล้องกับบริบทสังคมที่มีความเป็นพลวัต

ธำรงค์ศักดิ์: ประชาชน เจ้าของประเทศผู้ทรงอำนาจ

รัฐธรรมนูญ มรดก และความทรงจำที่ไม่อาจลบเลือน

ธำรงค์ศักดิ์เห็นด้วยกับคำกล่าวว่ารัฐรรมนูญฉบับ 60 เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์  เพราะเนื้อหาตัวบทที่บัญญัติขึ้น
สะท้อนให้เห็นว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้หล่นหายไป ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ฉบับ2475มีเนื้อหาที่สั้น กระชับ อ่านจบภายในหนึ่งชั่วโมงก็สามารถรับรู้ได้ว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศและศูนย์กลางอำนาจหลักที่ส่งไปยังแกนอำนาจอื่นอีกสี่สถาบันหลัก ได้แก่  สถาบันกษัตริย์ สถาบันสภาผู้แทนราษฎร สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันศาล  โดยมีพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์รับรอง แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นราวกับว่าประชาชนคือผู้ถูกกระทำจากอำนาจส่วนต่างๆ 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามทำให้ลืม แต่การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรก็มิได้หายไปจากสังคมไทย ร่องรอยการเปลี่ยนแปลงยังคงส่งผลฝังรากลึกในจิตใจของผู้คน ด้วยพลังของมวลชนมหาศาลที่ช่วยกันพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยครั้งสำคัญสามครั้ง ได้แก่ การปฏิวัติ2475, เหตุการณ์ 14 ตุลา  และการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาเป็นยุคที่ประชาชนตระหนักถึงอำนาจของตนผ่านบัตรเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นแนวหน้า ชี้ให้เห็นว่าความทรงจำของคณะราษฎรมิได้หายไป หรืออย่างน้อยก็มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในมรดกของคณะราษฎรเหลืออยู่

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

ธำรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงประวัติและความหมายของเนื้อเพลงชาติไทย “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” สื่อความว่า สมัยนั้น คณะราษฎรยอมรับว่าคนไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และภาษามาก อยู่รวมเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดวิธีการสร้างชาติบนพื้นฐานของการโอบรับ และหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ ความเจริญไปทั่วประเทศ 
แต่ทว่าความหมายนี้ได้ถูกบ่อนทำลายไปโดยฝืมือการทำรัฐประหารของทหารที่อ้างตนว่ารักชาติ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยก และสร้างความเป็นอื่นในสังคม ดังนั้นในการรำลึกถึงคณะราษฎร ธำรงค์ศักดิ์ได้แนะนำเอกสารสำคัญสองชิ้นให้อ่าน 1.ประกาศคณะราษฎร และ 2.รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ดีที่สุด เพื่อศึกษาแนวทางเจตนาการสร้างชาติของคณะราษฎร และประชาธิปไตย

รังสิมันต์ โรม: สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มิอาจต้านทาน

หนทางสู่ประชาธิปไตยอันล้ำค่า

รังสิมันต์ โรมระบุว่าแม้วันที่ 24 มิถุนายน จะไม่ได้เป็นวันชาติ และความยากลำบากในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยทำให้เราระลึกถึงความสำคัญของประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยสถานการณ์ความผิดปกติของระบบการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีความพยายามเตะตัดขาพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายหลายครั้ง เช่น การรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต. ที่ใช้เวลาเนิ่นนาน หรือการมีกระบวนการที่ให้ สว. เข้ามามีบทบาทโหวตยอมรับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ถึงกระนั้น รังสิมันต์ก็เชื่อมั่นว่า สว.จะโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี หากสว. ยึดมั่นในหลักการที่เคารพเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักแบบเดียวกับสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์  และเชื่อว่าสังคมจะต้องสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างถูกต้อง เพราะทุกครั้งที่ยิ่งมีความพยายามหยุดรั้งสังคม ยิ่งส่งผลลัพธ์ให้กระแสนิยมประชาธิปไตย
ทวีคูณมากขึ้น รังสิมันต์ กล่าวว่า 
“คุณไม่สามารถทำลายอำนาจของประชาชน ด้วยการทำลายตัวแทนของประชาชนได้ โดยเฉพาะวิธีการที่ไม่เป็นธรรม”

ความหวังในการหลุดพ้นจากวังวนรัฐประหาร

ในฐานะว่าที่รัฐบาล รังสิมันต์กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอขั้นพื้นฐานของพรรคก้าวไกลที่ปรารถนา “ความเป็นปกติ” ให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปข้างหน้า และสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หลุดพ้นจากระบอบเผด็จการ และรัฐประหาร ด้วยการออกกฏหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 ที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง มากกว่าการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น จะต้องปฏิรูปกองทัพ และสร้างความมั่นใจว่าสถาบันกองทัพจะไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง รวมไปถึงป้องกันกระบวนการรับรองรัฐประหาร เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้คนกลุ่มใดหรือสถาบันทางสังคมใดใช้สถาบันกองทัพเป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร ยึดอำนาจประชาชน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และเถลิงอำนาจในนามของ “รัฐาธิปัตย์” อีก ซึ่งหากแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ ประเทศจึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ดังใจหวังและร่วมกันเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 24
มิถุนายนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ทั้งนี้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่รัฐบาลก้าวไกลวางแนวทางไว้จะต้องทำประชามติอีกครั้งตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งรังสิมันต์กล่าวว่าเป็นวิธีการที่พรรคก้าวไกลจะถอยได้มากที่สุดแล้ว เพราะในความจริงตามกติกาคือไม่ต้องผ่านประชามติอีกก็ได้ หากรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ขัดขวางการทำประชามติของประชาชนอีก และฝากให้ประชาชนติดตามดูการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏรในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ด้วย

พริษฐ์: ลูกศรธนูแห่งอนาคตจะไปได้ไกลแค่ไหน ต้องมองสายธนูย้อนดูอดีตให้ไกลกว่า

สำรวจที่มาของคำขวัญ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

พริษฐ์กล่าวถึงสภาพสังคมไทยที่เผชิญกับความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางความคิดโดยพาย้อนดูประวัติศาสตร์ที่มาของคำขวัญ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักของรัฐ (State Ideology) ที่ถูกนำมาใช้เป็นความเชื่อแกนหลักของรัฐไทย ถูกใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 พริษฐ์เล่าย้อนไปถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงของรูปแบบการใช้คำขวัญสามท่อน (Triangle motto) สมัยกรีกโรมัน เดิมเคยใช้เป็นคำขวัญประจำตัวเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ ขุนนาง หรือราชวงศ์เท่านั้น  แต่สำหรับการนำมาใช้ในทางการเมืองในลักษณะของคำขวัญประจำชาตินั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส 
โดยนักคิดชาวฝรั่งเศสนามว่า Camile Desmoulins ผู้ให้ต้นกำเนิดหลักปฏิญาณหรือคำขวัญสำหรับประชาชนที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติโดยคำนึงถึงสามหลักว่าด้วย “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” โดยมีผู้สานต่อความคิดอย่าง Maximilien Robespierre การสร้างข้อความเหล่านี้เป็นวิธีการสร้างชาติและกลายเป็นคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศสที่มุ่งหมายให้ประชาชนท่องกันเป็นประเทศแรกของโลก และแพร่หลายอย่างมากในยุโรปช่วงสมัยจักรพรรดิ์นโปเลียน โบนาปาด ในศตวรรษที่ 19 ผู้สร้างมาตรฐานใหม่ของโลกด้วยระบบรัฐสมัยใหม่ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

แม้กระทั่งประเทศรัสเซียที่ทำสงครามเอาชนะฝรั่งเศส ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดฝรั่งเศสมาด้วยในสมัยพระเจ้าซาร์ นิโคลัสแห่งรัสเซียที่มีประชาชนพยายามลุกขึ้นมาปฏิวัติเมื่อเดือนธันวาคม 1832 จนนำมาสู่แนวคิดของ Sergei Uvarov ในการจัดตั้งโรงเรียนที่บังคับให้นักเรียนท่องคำขวัญชาติรัสเซียที่แปลในภาษาอังกฤษว่า Orthodoxy, Autocracy, Nationality เพื่อสกัดกั้นแนวคิดที่ว่าประเทศเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นต้นแบบคำขวัญชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ประเทศไทยยืมมาใช้ตาม

ชาติ หมายถึงประชาชน

พริษฐ์เล่าต่อไปว่าความหมายของคำว่า “ชาติ” เป็นคำใหม่ที่ไม่มีในภาษาไทยดั้งเดิม แต่เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีแปลว่า “กำเนิด” โดยในรัชกาลที่ 6  ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์นั้นได้มีการกำหนดให้เราทุกคนต้องรักชาติ ในความหมายที่ชาติคือ “คนไทยที่รักพระมหากษัตริย์” จนเกิดถกเถียงในสังคม  และมีการย้อนดูถึงต้นกำเนิดของคำว่าชาติ ในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ให้ความหมาย  “ประเทศชาติ (Country หรือ Nation) ว่าเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คน มิใช่สมบัติส่วนตัวของพระมหากษัตริย์” 

ก่อนจบเสวนา พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า “ชาติ” คือประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน และระบอบประชาธิปไตยก็เป็นของทุกคนรวมถึงคนที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย เพราะประเทศชาติเป็นของทุกคน มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยต้องไม่มีการขับไล่ใครออกนอกประเทศ โดยทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามสิทธิ เสรีภาพ ภายใต้การยอมรับหรือเคารพในกรอบกติกาที่ไม่กลั่นแกล้งกัน  และหวังว่าทุกคนผู้มีใจรักประชาธิปไตยจะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมต่อไป 

พริษฐ์หวังอยากเห็นการฟื้นฟูคณะราษฎรอย่างสมเกียรติ ในฐานะบิดาผู้สร้างรัฐไทยสมัยใหม่ ประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน

สำหรับภาพรวมของเสวนาในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ”  ในแง่ของความหมายผ่านประวัติศาสตร์ และทิศทางในอนาคตอันเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญอย่างคณะราษฎร ผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทยในแง่ของการนำระบอบ “ประชาธิปไตย”เข้ามาและทำให้คนไทยทุกคนตระหนักรู้ถึงอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเนื่องในวันครอบรอบ 91 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางผู้จัดจึงปรารถนาให้ประเทศไทยร่วมกันฟื้นฟู อนุรักษ์คณะราษฏร เพื่อเป็นการจดจำ ระลึกถึงพวกเขามิให้เลือนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ ตลอดจนร่วมเฉลิมฉลองอย่างภาคภูมิใจโดยเฉพาะในวันสำคัญที่ 24 มิถุนายนของทุกปี

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์