Skip to main content

พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย: พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาภายในประเทศ

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่ในสังคมไทยมาช้านาน มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น หากกล่าวถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาก็พลาดไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยถึงกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้แก่ประชาชนพลเมืองไทย แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าภายในกระทรวงศึกษาธิการนั้นมี “พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย” อยู่ภายในกระทรวงด้วย

แรกเริ่มเดิมทีนั้น พื้นที่เดิมของพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย นั้นถูกใช้เป็นห้องทำงานของผู้บริหารงานกลาง ภายในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในกาลต่อมา พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้เสนอแนวคิดปรับปรุง อาคารราชวัลลภภายในกระทรวงขึ้น โดยในการประชุมครั้งนั้น บรรดาผู้บริหารมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงอาคารให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศนาการบอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของการศึกษาภายในประเทศไทย

เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วจะพบกับห้องโถงใหญ่ มีที่นั่งจัดตามบริเวณนั้นเพื่อให้ได้พักทอดอารมณ์ไปกับบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะเดินเข้าไปรับชมนิทรรศการ โดยเริ่มจากในส่วนทางด้วยซ้ายก่อนถึงห้องจัดแสดงตามไทม์ไลน์

ภายในพื้นที่จัดแสดงมีตัวอย่างแบบเรียนที่น่าสนใจสำหรับการเรียนรู้เบื้องต้นในช่วงประถมศึกษาเช่น มูลบทบรรพกิจ หนังสือแบบเรียนภาษาไทยขั้นพื้นฐาน โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นผู้เรียบเรียงแบบเรียนหลวงขึ้น อยู่ในชุด “แบบสอนหนังสือไทย” , หนังสือเลขคณิต โดยกระทรวงศึกษาธิการ ออกแบบสำหรับสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ , ดรุณศึกษา เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญได้แต่งและเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และยังมีเนื้อหาและกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ อย่าง สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ วางอยู่ด้วย

หากมาถึงพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนที่พลาดไม่ได้คือห้องสมุดลับเป็น “ห้องสมุดเฉพาะ” ที่เก็บรวบรวมหนังสือเรียน และหนังสือเกี่ยวกับการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ เช่น หนังสือแบบเรียน “มานะ มานี” แบบเรียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ผู้ชมสามารถเข้ามาผ่อนคลาย อ่านหนังสือภายในห้องสมุด และดื่มด่ำกับบรรยากาศภายในห้องสมุดได้อย่างเต็มที่

ภายในนิทรรศการส่วนถัดมา ในห้องนิทรรศการจะเรียงลำดับการจัดแสดงตามช่วงเวลาพัฒนาการของการศึกษา โดยแบบจำลองศิลาจารึกหลักที่ ๑ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่เป็นอันดับแรก มีการเล่าถึงความเป็นมาของการศึกษาตั้งแต่การบันทึกและประดิษฐ์อักษรที่เรียกว่า “ลายสือไทย” เป็นอักษรที่ใช้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยการปกครองของ “พ่อขุนรามคำแหง” ภายในงานมีตัวปั๊มลายสือไทยให้ได้ร่วมสนุกไปกับการศึกษาอักษรและทดลองการใช้ตัวลายสือไทยด้วย (ต้องบอกก่อนเลยว่าตัวอักษรต้องพิมพ์บรรทัดเดียวกันนะ)

ไม่ไกลนักจากนิทรรศการจัดแสดงความเป็นมาจองการศึกษายุคสุโขทัย จะเล่าถึงการศึกษาในสมัยอยุธยา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงนี้เองวิทยาการความรู้จากชาติต่าง ๆ เข้ามาภายในอาณาจักร มีการถ่ายทอดความรู้และสอนหนังสือกันภายในสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ภายในงานก็มีกระดานชนวนและดินสอสำหรับเขียนด้วย

กระดานชนวนซึ่งเป็นสิ่งของจัดแสดงสำคัญที่ดึงดูดผู้ชมนั้น แต่เดิมทำจากหินชนวน ลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ซ้อนกันเนื้อแน่นละเอียด แม้ต่อมาจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้กระดานชนวนมาเขียนหนังสือด้วยไม้แต่ก็ยังคงเรียกกระดานชนวนอยู่ ซึ่งจะขาดดินสอไปไม่ได้เลย โดยดินสอถ้าแปลตรงตัวก็คือดินขาว “สอ” เป็นคำวิเศษแปลว่าขาว เดิมทีดินสอนั้นสร้างจากดินและเมื่อเขียนก็เป็นสีขาวจึงเรียกว่าดินสอ ใช้เขียนบนกระดาษดำและกระดานชนวน ต่อมาก็มีดินสอที่มีส่วนผสมหลักจากหินเกิดขึ้นใช้ควบคู่กับกระดานชนวนด้วย เรียกว่าดินสอหิน เขียนได้ลบง่ายใช้มือลบได้เลย นอกจากนั้นในพื้นที่จัดแสดงเดียวกันก็ยังเล่าเรื่องราวไปจนถึงช่วงในช่วงสมัยธนบุรี

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในช่วงยุครัตนโกสินทร์(รัชกาลที่ ๕ ถึง ๗) แรกเริ่มที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับคนฝึกข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๑๔ และสร้างโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นใน พ.ศ.๒๔๒๗

บรรยากาศห้องจัดแสดงโดยรอบเริ่มเปลี่ยนเป็นบรรยากาศของห้องเรียน กระดานดำแผ่นใหญ่ โต๊ะและเก้าอี้จัดแสดงหนังสือ สมุด ดินสอ ที่ใช้ประกอบกับการเรียน จำลองแบบโรงเรียนหลวงในช่วงรัตนโกสินทร์ แสงไฟสลัว ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมนิทรรศการให้ได้รู้สึกหวนนึกถึงบรรยากาศ และเมื่อหันหน้าไปยังด้านหลังเก้าอี้และโต๊ะเรียนภายในห้องก็จะเห็นป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับห้องเรียนและการศึกษาเพิ่มเติมให้ได้อ่านตลอดทาง

เมื่อเดินต่อไปทางด้านใน จะพบกับห้องที่บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๘ และ ๙ ภายในจะเน้นเรื่องราวความเป็นมาและวิวัฒนาการของการศึกษาในช่วงรัชกาลที่ ๙ เป็นส่วนใหญ่ รายละเอียดของงานนั้นเน้นอธิบายเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการศึกษา พระราชกรณียกิจ พร้อมยกตัวอย่างวัตถุจัดแสดงอย่าง เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนพระราชทาน ที่จัดแสดงให้เห็นอยู่ภายในงาน

นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงอีกส่วนหนึ่งซึ่ง ภายในกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกระทรวงศึกษาธิการและลำดับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงยังมีสิ่งของจัดแสดงหลายชิ้นที่น่าสนใจจัดแสดงอยู่ตลอดทางจนถึงทางกลับไปยังห้องโถง

ใหญ่ห้องแรก บรรยากาศโดยรอบมีของจัดแสดงหลากหลายชั้น อาทิ แผนการศึกษา หนังสือเรียน และภาพสื่อการเรียนการสอนใหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๔๒๑ เป็นสื่อการสอนประเภทสื่อวัสดุเป็นสิ่งพิมพ์ขนาด A4 ให้ความรู้ตามแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อย่างเช่น ภาพหัดจำ ก-ฮ A-Z องค์ประกอบของใบไม้ เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนชั้นประถม

หากสนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยสามารถเข้าชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันและเวลาราชการ (วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-17.00 น.)

ที่ 319 อาคารราชวัลลภ (กระทรวงศึกษาธิการ) วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

เรียบเรียงโดย : โศจิพร ธีราทรง