พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในกรมประชาสัมพันธ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งอยู่บนชั้นสอง ของอาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์
จากโคสนาระบอบใหม่ถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ย้อนดูวิวัฒนาการภารกิจกรมประชาสัมพันธ์
หลังการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลคณะราษฎรเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับ "ระบอบใหม่" จึงจัดตั้งกองการโฆษณาขึ้นในปี 2476 เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการปกครองแบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ในช่วงแรกการประชาสัมพันธ์จะเป็นการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์และส่งคนของรัฐบาลเข้าไปในชุมชนเพื่ออบรบความรู้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองระบอบใหม่ กองการโฆษณาได้รับการยกระดับหน่วยงานขึ้นตามลำดับ เป็น สำนักงานโฆษณาการ ในเดือนธันวาคมปี 2476 ก่อนจะเป็นกรมโฆษณาการ (โคสนาการ - ตามภาษาในยุครัฐนิยมของจอมพล ป.) ในปี 2483 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปี 2495 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้มีความน่าสนใจว่าหากพิจารณาจากเนื้อหาของสื่อที่ผลิตโดยกรมประชาสัมพันธ์จะพบว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างสื่อที่ผลิตในยุครัฐบาลคณะราษฎรที่เน้นการเผยแพร่การปกครองระบอบใหม่ หลักหกประการของคณะราษฎร แและรัฐธรรมนูญ ขณะที่สื่อที่ผลิตในยุคที่รัฐบาลคณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้วจะเน้นไปที่เนื้อหาการต่อต้านคอมมิวนิสต์
การย้ายที่ตั้งของกรมประชาสัมพันธ์
ในช่วงปี 2478 - 2504 กรมประชาสัมพันธ์เคยตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินในอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ห้า ต่อมามีการรื้ออาคารเดิมลงเพื่อสร้างอาคารใหม่เนื่องจากอาคารชำรุดเพราะเคยถูกทิ้งระเบิดใส่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังคับแคบไม่สามารถรองรับอุปกรณ์และจำนวนบุคลากรที่ขยายตัวขึ้นตามลำดับ กรมประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่ในอาคารที่สร้างใหม่ตั้งแต่ปี 2506 จนถึงปี 2535 ก็ต้องย้ายสถานที่อีกครั้งเนื่องจากอาคารถูกเผาจนเสียหายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งสาเหตุที่มีการเผาน่าจะเกิดจากความไม่พอใจต่อบทบาทการทำงานและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของกรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังอาคารถูกเผากรมประชาสัมพันธ์ต้องไปเช่าสถานที่ทำงานชั่วคราวจนย้ายมาตั้งอยู่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน
การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุของกรมประชาสัมพันธ์ก่อตั้งเมื่อปี 2543 เนื่องจากผู้อำนวยการในเวลานั้นที่เห็นความสำคัญของอนุรักษ์และจัดเก็บอุปกรณ์และสื่อต่างๆที่เป็นทรัพย์สินของกรมเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัตศาสตร์การกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ในประเทศ
หลังใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการรวบรวมและจัดระเบียบเครื่องมือและทรัพย์สินที่จะใช้จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ฯ ก็เริ่มเปิดให้บริการกับประชาชนในปี 2548 ในชื่อพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง ตั้งอยู่ในอาคารที่แยกออกมาเป็นเอกเทศ แต่อยู่ภายในกรมประชาสัมพันธ์
ต่อมาอาคารชำรุดทำให้ต้องย้ายเครื่องมือเครื่องใช้บางส่วนมาจัดแสดงที่บริเวณชั้นสองของอาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์
ในปี 2565 ทางพิพิธภัณฑ์ยังเปิดให้บริการห้องสุมดแผ่นเสียงเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ให้ข้อมูลว่าทางพิพิธภัณฑ์สามารถรวบรวมแผ่นเสียงทั้งไทยและต่างประเทศมาได้ราว 105,000 แผ่น แต่สามารถนำออกให้บริการจริงได้เพียง 40,000 เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่
ของสะสมที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
ของสะสมที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดหลายการและการกระจายเสียง เช่น ไมโครโฟน เครื่องควบคุมสัญญาณ รวมถึงกล้องวิดีโอแบบต่างๆ นอกจากนั้นก็มีตัวอย่างสิ่งพิมพ์ที่ทางกรมเป็นผู้จัดทำในยุคต่างๆ เช่น วารสารข่าวโฆษณาการ คู่มือพลเมือง และประมวลวัฒนธรรมและรัฐนิยมแห่งชาติ ฉะบับที่สอง เป็นต้น
ในส่วนของห้องสมุดแผ่นเสียง นอกจากจะมีแผ่นเสียงของศิลปินทั้งไทยและเทศหลากหลายแนวเพลงแล้ว ยังมีแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยวงดนตรีของทางกรมด้วยซึ่งมีทั้งที่บรรเลงเพลงทั่วไป และเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจ สื่อสารแนวคิดชาตินิยม รวมถึงเพลงที่มีเนื้อหาเชิญชวนให้คนออกไปเลือกตั้งแต่ในขณะเดียวกันก็แฝงเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือนำเสนอคุณลักษณะของ "ผู้แทน" ที่ดีด้วย สำหรับสิ่งของจัดแสดงที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ได้แก่
ป้ายกรมประชาสัมพันธ์ มีด้วยกัน 3 ป้าย เป็นป้ายขนาดใหญ่ 1 ป้าย และป้ายโลหะเล็ก 2 ป้าย
ป้าย กรมประชาสัมพันธ์ ขนาดใหญ่ จัดแสดงอยู่บริเวณชั้นพักบันใดระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสองของอาคารหอประชุมซึ่งเป็นทางขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์ เดิมป้ายนี้เคยติดอยู่ที่อาคารกรมประชาสัมพันธ์ที่ถนนราชดำเนิน หลังอาคารกรมประชาสัมพันธ์เดิมถูกเผาระหว่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ได้มีผู้เก็บป้ายกรมประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการเสียหายไปติดไว้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ต่อมามีข้าราชการของท่างกรมซึ่งปัจจุบันเกษียณไปแล้วไปพบเห็นจึงได้ทำการเจรจาจนสุดท้ายสามารถนำป้ายกลับมาติดตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ป้ายชื่อกรมประชาสัมพันธ์ ขนาดเล็ก ทำด้วยโลหะ จัดแสดงอยู่บริเวณตอนท้ายของนิทรรศการใกล้โมเดลรถเครื่องเสียงของกรมโคสนาการ ป้ายโลหะทั้งสองชิ้นเคยติดตั้งอยู่อาคารกรมประชาสัมพันธ์ที่ถนนราชดำเนิน แต่เนื่องจากป้ายทั้งสองมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ในภายหลังจึงงมีการทำแผ่นป้ายกรมประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ขึ้นมาติดตั้งอยู่ด้านนอกอาคาร
แบบจำลองอาคารดั้งเดิมของกรมโฆษณาการ จัดแสดงอยู่ตรงข้ามห้องสมุดแผ่นเสียง อาคารเก่าของกรมโฆษณาการเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถูกสร้างขึ้นหลังการก่อสร้างถนนราชดำเนินแล้วเสร็จ เดิมอาคารของกรมฯเป็นอาคารห้างแบดแมนแอนด์คัมปนีที่มีเจ้าของเป็นชาวอังกฤษ กรมโฆษณาการที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ใช้อาคารนี้เป็นที่ทำการตั้งแต่ปี 2478-2504 จึงมีการรื้อถอนเพราะอาการได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
สิ่งพิมพ์ของกรมประชาสัมพันธ์ จัดแสดงอยู่ในตู้ใกล้กับแบบจำลองอาคารดั้งเดิมของกรมโฆษณากร ในตู้จัดแสดงมีสื่อสิ่งพิมพ์ของกรมประชาสัมพันธ์ตั้งแต่สมัยหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีเนื้อหาโฆษณาถึงคุณค่าของ "ระบอบใหม่" นอกจากนั้นก็มีเอกสารที่ใช้ปลุกใจให้คนรักชาติและเชื่อมั่นในผู้นำ ซึ่งน่าจะเป็นเอกสารจากยุคที่จอมพล.ป.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก เช่น เอกสารไทยในสมัยสร้างชาติ คู่มือพลเมือง ประมวลรัฐนิยมและระเบียบวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมถึงประมวลคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้น
ไวโอลินของครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูเอื้อเป็นหัวหน้าวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ แต่ตัวเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ สำหรับไวโอลินที่จัดแสดงในห้องครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นไวโอลินของกรมประชาสัมพันธ์ที่ครูเอื้อเคยใช้งานเมื่อร่วมแสดงกับวงดนตรีของกรมฯ นอกจากไวโอลินแล้วในห้องครูเอื้อยังมีภาพถ่ายและภาพวิดีทัศน์ของครูเอื้อจัดแสดงและมีที่นั่งให้รับชมวิดิทัศน์ด้วย
ไมโครโฟนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดแสดงอยู่ส่วนท้ายของนิทรรศการ ใกล้โมเดลจำลองรถขยายเสียงกรมโฆษณา ไมค์ทรงสูงตัวนี้เคยผ่านการใช้งานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่เก้า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ระหว่างรัชกาลที่เก้าเสด็จพระราชดำเนินออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ เบื้องต้นไมค์สีทองทรงสูงตัวนี้ไม่มีสัญลักษณ์ครุฑประดับ ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ให้อาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้ปั้นและหล่อครุฑ เพื่อนำมาสวมที่ก้านไมโครโฟน
แบบจำลองรถกระจายเสียง ในยุคแรกตั้งกรมโฆษณาการหรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้า เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐไปถึงพื้นที่ห่างไกลรัฐจำเป็นจะต้องใช้รถยนต์ติดลำโพงขับเข้าไปกระจายข่าวในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะในพื้นที่ธุรกันดาร เนื่องจากรถที่เคยถูกใช้งานจริงผุพังไปตามกาลเวลาก่อนที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทำให้ไม่สามารถอนุรักษ์และนำมาจัดแสดงได้ทัน จึงได้แต่ทำแบบจำลองจากภาพถ่ายขึ้นมาแสดง
ตู้เล่นแผ่นซีดีจำลอง เป็นตัวอย่างตู้เพลงเล่นแผ่นซีดีที่เคยเป็นที่นิยมตามร้านอาหารในอดีต ภายในตู้บรรจุแผ่นซีดีที่บันทึกไฟล์เสียงที่แปลงมาจากแผ่นครั่ง (แผ่นเสียงยุคบุกเบิกก่อนยุคแผ่นพลาสติกหรือไวนิล) ที่ทางห้องสมุดแผ่นเสียงเก็บรักษาไว้ ผู้เข้าชมสามารถนำเหรียญห้าบาทที่ทางพิพิธภัณฑ์วางบริการไว้ข้างๆตู้เพลงมาหยอดแล้วเลือกฟังเพลง รวมถึงคลิปเสียงบุคคลสำคัญ ซึ่งมีคลิปเสียงการปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2503 ความยาวประมาณ 2 นาที ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
"เพื่อนทหารที่รักและเพื่อนตำรวจทั้งหลาย เนื่องด้วยรัฐบาลได้ทราบว่า มีคณะบุคคลบางส่วน ด้วยการส่งเสริมของชาวต่างชาติ กำลังจะก่อกวนและดำเนินการร้าย ภายในประเทศ เพื่อให้มีความไม่สงบเกิดขึ้น แล้วจึงจะฉวยโอกาสเข้าครอบครองประเทศไทยในที่สุด รัฐบาลเห็นจำเป็นที่จะต้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายนี้โดยเด็ดขาด..."
รวมอยู่ด้วย
ห้องสมุดแผ่นเสียง แหล่งแฮงค์เอาท์ใหม่ของคนที่ถวิลหาความบันเทิงยุคอนาล็อค
แผ่นเสียงที่สะสมในห้องสมุดแผ่นเสียงของกรมประชาสัมพันธ์มีอยู่สองประเภท
ประเภทแรกคือแผ่นครั่งซึ่งถือเป็นแผ่นเสียงยุคบุกเบิกที่ใช้ยางจากแมลงครั่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต สำหรับปกที่ใช้เก็บแผ่นเสียงประเภทนี้จะเน้นขายห้างร้านหรือบริษัทที่เป็นผู้ผลิต แต่มักไม่ปรากฎภาพหรือชื่อศิลปินบนปก สำหรับแผ่นครั่งผู้ใช้ห้องสุมดจะต้องฟังจากไฟล์ที่มีการแปลงใส่เครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ ไม่สามารถฟังจากเครื่องโดยตรงได้
ประเภทที่สองคือแผ่นเสียงพลาสติกหรือแผ่นไวนิล เป็นแผ่นเสียงที่ผู้เข้าชมสามารถเลือกหาเพลงมาฟังจากแผ่นได้โดยตรง สำหรับคอลเลคชันแผ่นเสียงจะมีทั้งส่วนที่เป็นแผ่นที่ทางกรมประชาสัมพันธ์ผลิตเอง แผ่นที่ทางบริษัทหรือศิลปินส่งมาให้เพื่อเปิดตามสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งให้ข้อมูลแผ่นเสียงขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า "แผ่นตัด" ที่ส่งมาให้เปิดทางสถานีวิทยุมักจะเป็นแผ่นที่มีคุณภาพเสียงดีกว่าแผ่นที่กระจายตามท้องตลาด นอกจากนั้นก็มีแผ่นที่บุคคลทั่วไปบริจาคให้ สำหรับแผ่นเสียงที่มีให้บริการมีทั้งเพลงไทยลูกกรุง เพลงสติง เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต นอกจากนั้นก็มีแผ่นเพลงสากลอีกหลายแนวให้บริการด้วย ที่น่าสนใจคือบริเวณตู้ไม้ที่ใช้เก็บแผ่นเสียงเพลงสากลจะมีคนมีเขียนชื่อศิลปินที่เขาอยากให้ทางห้องสมุดจัดหาแผ่นเสียงมาให้บริการบนโพสต์อิทมาปะไว้ด้วย
Recommended Song ฟังเพลงเชิญชวนเลือกตั้งในกลิ่นอายสงครามเย็น
ในบรรดาแผ่นเสียงที่ทางห้องสมุดนำมาให้บริการ มีแผ่นเพลงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพลงที่บรรเลงโดยวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์รวมอยู่ด้วย โดยในที่นี้จะนำมาแนะนำไว้สองเพลง โดยทั้งสองเพลงเป็นเพลงที่ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งปี 2518 และ 2519 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองคุกรุ่นไปด้วยความตึงเครียดของสงครามเย็น
เพลง เชิญชวนเลือกผู้แทน ขับร้องโดย มาริษา อมาตยกุล วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ อยู่ในอัลบัม "เพลงเชิญชวนเลือกตั้งผู้แทนราษฎร" อัลบัมนี้ถูกจัดทำเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 เพลง "เชิญชวนเลือกผู้แทน" เริ่มโดยกล่าวถึงบุญคุณของบรรพบุรุษที่ได้ปกป้องแผ่นดินของประเทศไทย ทำให้ให้ลูกหลานมีแผ่นดินอยู่อาศัย ต่อมาจึงพูดถึงการได้ปกครองระบอบประชาธิปไตย การมีรัฐธรรมนูญ เนื้อเพลงยังระบุด้วยว่าหากไม่ไปเลือกตั้งจะได้คนไม่ดีมาปกครองประเทศ (26 มกราแม้ว่านอนหลับ คนชั่วจะกลับพาไทยอับเฉา) ทุกคนที่มีสิทธิจึงต้องไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่เป็นคนดีและซี่อสัตย์ (เลือกคนที่มีไว้ใจ ใช่คนละเมอเพ้อพร่ำ เลือกคนที่ทำความดีแทนเรา)
เพลงผู้แทนทีดี ขับร้องโดย วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ อยู่ในอัลบัม "เพลงเชิญชวนเลือกตั้งผู้แทนราษฎร วันที่ 5 เมษายน 2519 เนื้อเพลงเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 โดยเนื้อเพลงสื่อสารให้ประชาชนเลือกผู้แทนที่ดีซึ่งนิยามของผู้แทนที่ดีคือเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน เป็นผู้แทนที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์และยุติธรรม ที่สำคัญเป็นห้ามเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์เพราะจะทำให้ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ถูกทำลาย
สำหรับคนที่เคยได้ยินเพลงปลุกใจ ปลุกอุดมการณ์ "ชาตินิยม" เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด ที่ขับร้องโดย สันติ ลุนเผ่ หรือเพลง บ้านเกิดเมืองนอนที่บรรเลงโดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ หากได้ลองมาฟังในเวอร์ชันที่เล่นจากแผ่นเสียงก็อาจให้อารมณ์ไปอีกแบบ และเพื่อให้ครบอรรถรส เราก็อยากแนะนำให้ลองฟังเพลงชาติเวอร์ชัน 24 มิถุนา ไปด้วย เท่านี้ท่วงทำนองที่เกิดจากการที่หัวเข็มเสียดสีไปตามร่องแผ่นเสียงก็จะพาผู้ชมลัดเลาะข้ามกาลเวลาไปท่องประวัติศาสตร์ทั้งยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร และยุคที่ประเทศถูกปกคลุมด้วยกระแสความเกลียดกลัวต่อ 'ภัยคุกคาม' คอมมิวนิสต์
ชุมชนคนรักแผ่นเสียง
ก่อนหน้าที่ห้องสมุดแผ่นเสียงจะเปิดให้บริการในปี 2565 ผู้ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์มักจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนที่อาจารย์พามาชมพัฒนาการทำสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้นก็มีผู้ผลิตสื่อหรือภาพยนต์บางส่วนที่มาขอใช้สถานที่เพื่อถ่ายทำรายการ แต่เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดหอจดหมายเหตุแผ่นเสียงในปี 2565 พิพิธภัณฑ์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น มีกลุ่มคนที่ผู้รักแผ่นเสียงแวะเวียนมาใช้บริการ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ให้ข้อมูลตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ที่ให้ความสนใจมาฟังแผ่นเสียงส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนที่มีอายุไม่มากนัก และบางส่วนก็เห็นพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกจากสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Tiktok แล้วจึงติดตามมาดู และในบางโอกาสเมื่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงถูกใช้บริการเต็ม คนที่ไม่มีเครื่องใช้ก็มักมายืนฟังเพลงกับคนที่ฟังอยู่ก่อน ซึ่งหลายๆครั้งก็นำไปสู่การสร้างบทสนทนาซึ่งถือเป็นการสร้างชุมนุมของกลุ่มคนที่มีความรักในแผ่นเสียงขึ้นมาด้วย
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เปิดและปิดตามเวลาราชการ ปิดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดราชการ สำหรับการชมพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจะเปิดให้ใช้บริการทั้งหมด 4 รอบรอบที่ 1 10.00 น. รอบที่ 2 11.00 น. รอบที่ 3 13.30 น.รอบที่ 4 14.30 น.
ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงควรจองการใช้งานผ่านทางแฟนเพจ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนการเข้าชมหากได้ไม่จองเครื่องเมื่อไปถึงเครื่องอาจถูกใช้งานเต็มจะต้องรอให้ผู้ที่จองเข้ามาใช้เสร็จก่อนจึงจะใช้ได้
วิธีการเดินทางมาพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ด้วยรถสาธารณะ สามารถขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงที่สถานีอารีย์ทางออกที่ 3 แล้วต่อมอเตอร์ไซต์รับจ้างเข้ามาที่กรมประชาสัมพันธ์
เรื่องโดย ธนดล ดีประคอง
ภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์