Skip to main content

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกของไทย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตย ตั้งอยู่ที่บริเวณ ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ใกล้กับแยกเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรัชกาลที่ 7 ได้แก่ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ การสืบราชสันตติวงศ์ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เครื่องราชภัณฑ์ ฯลฯ  รวมถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำหรับการอธิบายและนำชม

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งขึ้นและเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2523 เดิมเคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจัดแสดง   ต่อมาเมื่อ 26 เมษายน 2544 การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ได้ถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของสถาบันพระปกเกล้า และได้รับความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการให้ใช้อาคารอนุรักษ์สามชั้น เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ดำเนินการปรับปรุง ตกแต่งอาคารให้แล้วเสร็จในช่วงปลายพฤศจิกายน 2545  โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2545 

สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันวิชาการที่มีพันธกิจในการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ธรรมาภิบาล และสันติวิธี โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย

ซึ่งพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหนึ่งในหน่วยงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มี หน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนในด้านพระปกเกล้าศึกษา และองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่รากฐานประชาธิปไตยและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยในแต่ละยุคสมัย เพื่อสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองที่ดีตามวิถีประชาธิปไตย


พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะแบ่งอาคารจัดแสดงเป็นสองอาคาร ได้แก่  

อาคารแรก คือ อาคารอนุรักษ์ หรือพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่สูงสามชั้นที่ถูกออกแบบในสไตล์นีโอคลาสสิค (Neo-Classic) สีเขียวโทนอ่อน มีลวดลายปูนปั้นที่จั่ว ซุ้มประตู และหน้าต่าง ตัวอาคารถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2449 - 2455) เดิมเคยเป็นห้างตัดเสื้อสูทสัญชาติอังกฤษ John Sampson &Son Limited  ของนายเฟรดเดอริก แซมป์สัน (Mr. Frederick Sampson) เจ้าของห้างฯ ด้วยสัญญาเช่ากับกรมพระคลังข้างที่ระยะเวลา 15 ปี แต่ทว่าเมื่อเข้าสู่สัญญาปีที่ 14 ห้างประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจ้านาย และต้องยกเลิกสัญญาไปเมื่อตุลาคม 2469  

ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นห้างไทยชื่อว่า ห้างสุธาดิลก (เมื่อช่วงปี 2469-2475) จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์สมัยใหม่ เมื่อสัญญาเช่าหมดลง กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยจึงขอเช่าเป็นที่ทำการตั้งแต่ปี 2478 จนถึงปี 2541 จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดให้ที่ดินและอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถานเมื่อปี 2538 ก่อนที่กรมโยธาธิการจะมอบสิทธิ์การเช่าให้กับสถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 และดำเนินการบูรณะอาคารจนแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน

ด้านในอาคารพิพิธภัณฑ์ จะมีลิฟต์สำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ มีการจัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องใช้ เครื่องทรงส่วนพระองค์ที่บรรจุไว้อยู่ภายในตู้กระจก  รวมถึงภาพถ่ายและเอกสารต่างๆในช่วงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย จากระบอบสมบูรณาญาธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พร้อมป้ายคำอธิบาย และจอแสดงสื่อวิดีทัศน์ในรูปแบบจอสัมผัสทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีมุมผ่อนคลาย โต๊ะระบายสี หรือมุมเล่นเกมตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้ที่ได้หลังจากชมนิทรรศการ

เนื้อหานิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  จะแบ่งโซนจัดแสดงออกเป็นสองส่วน  

ส่วนแรก คือ นิทรรศการถาวร จัดแสดงเนื้อหาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

ส่วนที่สอง คือ นิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงเนื้อหาซึ่งขยายความต่อจากนิทรรศการถาวร หรือนำประเด็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลามาเชื่อมโยงกับสิ่งจัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหัวข้อของนิทรรศการหมุนเวียนจะเปลี่ยนทุกหกเดือน 

ดังเช่น “ นิทรรศการจากสยามสู่แคนาดา 1931” บอกเล่าเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จฯยังสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงรับการผ่าตัดต้อกระจกและทรงพักฟื้น จากนั้นจึงเสด็จฯ เยือนที่แคนาดาราวสองเดือน  (สมัยที่แคนาดาเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ) กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์และทรงพักผ่อนหลังการผ่าตัด  ตลอดจนทรงศึกษาระบอบการปกครองประชาธิปไตยของต่างประเทศและสร้างสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2474 ก่อนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยในปี พ.ศ. 2475 โดยได้รับความร่วมมือด้านแหล่งข้อมูล ฟิลม์บันทึกภาพ รวมถึงภาพถ่ายจากสถานทูตแคนาดาและหอจดหมายเหตุในต่างประเทศ

ห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ ประกอบไปด้วยสามชั้น โดยแต่ละชั้นจะจัดแสดงเนื้อหา ดังนี้ 

ชั้นแรก ว่าด้วยนิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 7  ที่อยู่เคียงข้างรัชกาลที่7 มาโดยตลอด นิทรรศการนี้ชวนให้ผู้ชมศึกษาพระราชประวัติชีวิตที่มีความพลิกผันจากเจ้าหญิงกลายเป็นพระราชินีโดยมองพระองค์ในฐานะคนธรรมดาสามัญ   ตั้งแต่พระราชสมภพ อภิเษกสมรส และพระราชกรณียกิจต่างๆ  รวมไปถึง พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดตั้งอยู่บริเวณอีกฝั่งของชั้นแรก

ชั้นที่สอง ว่าด้วยพระราชประวัติก่อนขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่พระราชสมภพ ทรงศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงผนวช ทรงอภิเษกสมรส ตลอดจนพระราชจริยวัตร และพระราชนิยมด้านดนตรี กีฬา ภาพยนตร์  ทั้งยังมีจำลองโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงที่ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี ซึ่งจัดแสดงอยู่บริเวณอีกฝั่งของชั้นที่สอง โดยทางพิพิธภัณฑ์จะจัดฉายภาพยนตร์ทรงถ่าย ภาพยนตร์เก่าร่วมรัชสมัย และภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันทรงคุณค่าและหาชมได้ยาก ซึ่งจัดฉายวันละสองรอบ คือ รอบเวลา 10.30 น.และรอบ 14.30 น. รวมทั้งพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ กระทั่งเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ และปิดท้ายด้วยประวัติอาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชั้นที่สาม ว่าด้วยพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ ทั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ผ่านวัตถุจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลา และฉลองพระบาท   นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงแบบจำลองสะพานพระพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ก่อสร้างขึ้นในปี 2475 หนึ่งในไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์  รวมถึงสิ่งของที่ระลึกต่างๆที่จัดทำขึ้นเนื่องในพระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี สะพานดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาก เคยสามารถยกเปิดแบ่งครึ่งสะพานได้  และยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่สามารถแพร่ความเจริญจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรีในสมัยนั้น  ไปจนถึงภาพถ่ายของบุคคลและเอกสารสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริ  และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรพุทธศักราช 2475 ที่จัดแสดงในรูปแบบโฮโลแกรม  

สำหรับการเดินชมนิทรรศการ จะแนะนำให้ผู้ชมเดินชมเนื้อหาเรียงลำดับตามทิศทางของลูกศรที่ชี้ทางเริ่มต้นจากชั้นที่สอง  ไปยังชั้นที่สาม เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาและสาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 7 เรื่อยมาผ่านเส้นทางพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในช่วงระยะเวลาเก้าปีแห่งการปกครองในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงเจ็ดปีแรก และในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยไทยในช่วงสองปีหลังที่เป็นประเด็นหลักของพิพิธภัณฑ์  ทั้งนี้ ผู้ชมจะต้องนำสิ่งของ หรือกระเป๋าสัมภาระวางไว้ในตู้ล็อกเกอร์ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดเตรียมไว้ให้ก่อนเข้าชมนิทรรศการอย่างสุภาพเรียบร้อย

ยกตัวอย่างวัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจและพลาดไม่ได้  เมื่อเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ เช่น

สำเนาประกาศคณะราษฎร - เอกสารความยาวสองหน้ากระดาษของ “คณะราษฏร” ที่ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ที่ทำการประกาศยึดอำนาจ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ลานพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต 

โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ประกอบกับมีการจับกุมพระบรมวงศ์และข้าราชการตำแหน่งสำคัญไว้เป็นตัวประกัน เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  จากนั้นคณะราษฎรจึงส่งหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่ สวนไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระนครเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นผลให้คณะราษฎร สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จโดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายรัฐบาล 

จดหมายสละราชบัลลังก์ - ลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงประกาศสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 แสดงให้เห็นถึงความในพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในการปกครองประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทยและแสดงให้เห็นถึงบริบททางการเมืองในสมัยนั้น  เนื่องจากจดหมายดังกล่าวเป็นผลลัพธ์ที่มาจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทรงขัดข้องพระราชหฤทัยหลายประการ

เช่น เหตุการณ์ความขัดแย้งถึงขั้นใช้ความรุนแรงระหว่าง “กบฎบวรเดช” กับกลุ่มรัฐบาล  เหตุการณ์เรื่องการตั้งศาลพิจารณาคดีโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วตัดสินลงโทษจำเลยจำนวน 321 คน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เกาะตะรุเตา การไม่ยอมผ่อนของรัฐบาลทำให้กระทบกระเทือนพระราชหฤทัย เนื่องจากไม่ทรงปกป้องรักษาผู้ใดได้ และเรื่องต่อมาคือ การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในข้อที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 (ปัจจุบันคือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.) ที่มิได้มีคุณวุฒิหรือความสามารถมาเป็นเกณฑ์ ส่งผลให้รัฐบาล กับกลุ่มตรวจสอบรัฐบาลเป็นกลุ่มที่มาจากพวกเดียวกัน ซึ่งพระองค์ทรงไม่เห็นด้วย เพราะผิดหลักการประชาธิปไตย 

แหวนอภิเษกสมรส -  ของชำร่วยจำลอง แหวนเพชร ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมโต๊ะเสวยในพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชากับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางประอิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม  2461 นับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการกล่าวคำมั่นสัญญาระหว่างคู่สมรสตามธรรมเนียมตะวันตกมาเป็นองค์ประกอบในพิธี  และ มีการจด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ (ทะเบียนสมรส) หลังจากนั้น พระคู่ขวัญเสด็จประทับที่วังศุโขทัย เรือนหอพระราชทาน  โดยแหวนเพชรที่จัดแสดงอยู่ภายในตู้กระจกเป็นแหวนจำลองที่มีขนาดใหญ่กว่าแหวนจริงซึ่งถูกออกแบบสำหรับสวมใส่นิ้วก้อย

ฉลองพระองค์ครุยจุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวมใส่ในวันที่เสด็จฯในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก วันที่ 25 ตุลาคม 2473 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2475  ทั้งนี้ พระองค์ยังเป็นผู้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ยกระดับมาตรฐานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ระดับปริญญาตรีได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ การประสาทปริญญาบัตรเวชชบัณฑิตชั้นตรี (แพทยศาสตร์บัณฑิต) 

กล้องถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ยี่ห้อ Film 70 (16 มม.) - กล้องถ่ายภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 7 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในด้านภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายและพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์ของพระองค์ท่านเองคือเรื่อง “แหวนวิเศษ”เป็นภาพยนตร์เงียบความยาว 3 ม้วน มีคำบรรยายเป็นตัวอักษร และใช้เพลงไทยเดิมบรรเลงประกอบตลอดเรื่อง เนื้อหาว่าด้วยการสอนให้เด็กรู้จักผลของการทำความดีและความชั่ว

จดหมายพระราชกระแสของรัชกาลที่ 7 ต่อความเห็นของนายมุโสลินีเรื่องการศึกษาของอิตาลี  - สืบเนื่องจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงได้อ่านหนังสือเรื่อง  “The Year Book Of Education 1932” ซึ่งนายมุโสลินีได้แสดงนโยบายและอุปสรรคแห่งการศึกษาของประเทศอิตาลีไว้ ซึ่งมีข้อความที่คล้ายคลึงกับบันทึกโครงการศึกษาที่ได้ทูลเกล้าฯถวายไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2475  ดังนั้นจึงทรงคัดสำเนาส่งมาให้เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2475 เพื่อกราบบังคมทูลฯ  และหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว จึงมีพระราชกระแสบันทึกลงในวันรุ่งขึ้น 27 พฤษภาคม 2547 ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยามหิธรส่งสำเนาพระราชกระแสนี้กราบทูลสมาชิกอภิรัฐมนตรี (ที่ปรึกษาชั้นสูงของพระเจ้าแผ่นดิน) ทุกๆพระองค์ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นพระราชประสงค์ที่จะให้สมาชิกอภิรัฐมนตรีทราบถึงพระบรมราโชบาย

อาคารถัดมา คือ ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย หรืออาคารรำไพพรรณี สูง 6 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดินเข้าทางด้านหน้าของตัวอาคารศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยจะพบกับลานนิทรรศการกลางแจ้งที่มีป้ายไทม์ไลน์บอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญซึ่งติดอยู่บริเวณกำแพงของบันไดทางขึ้น 

อาคารศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย จัดแสดงวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองปกครองไทย ช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกทั้งเป็นพื้นที่รวบรวมหนังสือ วารสาร เอกสารชั้นต้น ภาพยนตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือทั่วไป เพื่อให้บริการแก่สาธารณชน โดยในส่วนของนิทรรศการ จัดทำขึ้นด้วยบรรยากาศแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงปฏิสัมพันธ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองเชิงบวกต่อการเมืองการปกครองไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อธิบายด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น เครื่องโปรเจคเตอร์ฉายวิดีทัศน์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมือง  แท่นหน้าจอสัมผัส  โดยผู้ชมสามารถเลือกรับชมเนื้อหาจากโซนต่างๆได้ตามอัธยาศัยทั้งแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้งยัง มีป้ายคำอธิบายภาษาเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา 

สำหรับเนื้อหานิทรรศการ อาคารศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย จะแบ่งโซนจัดแสดงออกเป็นสองส่วน รวมทั้งหมดสามนิทรรศการ ดังนี้

ส่วนแรก คือ นิทรรศการถาวร ซึ่งมีการจัดแสดงสองนิทรรศการ ได้แก่  

นิทรรศการการเมืองการปกครองไทย  บริเวณชั้นที่ 2 บอกเล่าเหตุการณ์การเมืองการปกครองไทยตั้งแต่ ช่วงรัชกาลที่ 4-7 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่มีส่วนผลักดันให้สยามเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตามมาด้วยเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในไทย อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองเป็นอย่างมาก ผู้ชมจะได้เห็นถึงพลวัตของประชาธิปไตยไทยในแต่ละยุคสมัยเรื่อยมาจนถึงการเมืองในยุคปัจจุบัน ประกอบกับวัตถุจัดแสดงที่หาชมได้ยาก เช่น  ‘ศิริพจนภาค’ วรรณกรรมที่เขียนโดยเทียนวรรณ (เทียน วัณณาโก) ทนายความและนักคิดนักเขียนคนสำคัญที่เขียนวิจารณ์รัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสื่อสิ่งพิมพ์อีกมากมายที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค 2451-2475  และเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารของประชาชนในแต่ละยุคสมัย เป็นต้น โดยในโซนสุดท้ายของนิทรรศการจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของประชาธิปไตยในอนาคตได้อย่างเสรี

นิทรรศการรากฐานประชาธิปไตย บริเวณชั้นที่ 3 ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมกันค้นหาความหมายของประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย รวมไปถึงเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของเราในฐานะพลเมือง อำนาจอธิปไตย การเมืองในชีวิตประจำวัน ความหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย และปิดท้ายด้วยการทำความรู้จักกับประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆผ่านสามประเทศต้นแบบประชาธิป ไตย ทั้งในแง่ของความเป็นมาและระบบรัฐสภาที่ใช้การบริหารปกครองประเทศ  

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรับชมภาพยนตร์ 4 มิติ “ประชาธิปไตยของไทย” จำลองประสบการณ์เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ทั้งสามเรื่อง ได้แก่ เรื่องประชาธิปไตยของเรา, ผู้นำที่ดีต้องเป็นอย่างไร และสิทธิเขา หน้าที่ของใคร พร้อมกับมี เกมเลือกตั้งประเทศไทย กิจกรรมจำลองการเลือกตั้งที่ให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนของทุกคนมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือข้างน้อย

ส่วนที่สอง คือ นิทรรศการหมุนเวียน  บริเวณชั้นที่ 4 จัดแสดงเนื้อหาเหตุการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน และข้อมูลในแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย พัฒนาการการเมืองไทย ด้วยจุดประสงค์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ขยายข้อมูลความรู้เดิมในประเด็นข้อค้นพบใหม่ หรือประเด็นที่เข้าถึงง่าย  ซึ่งเนื้อหาในปี 2564 จัดแสดง 3 ประเด็นด้วยกัน  ได้แก่ การ์ตูนล้อกับการเมืองไทย การเมืองไทยในบทเพลง และป้ายหาเสียงกับการเมืองไทย ซึ่งเป็นเนื้อหาสุดท้ายก่อนสิ้นสุดนิทรรศการ

สำหรับความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน หลังจากชมนิทรรศการครบทั้งสองอาคารพบว่า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวิธีการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวัตถุจัดแสดงที่เป็นหลักฐานชั้นต้นได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้เขียนรู้สึกสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า หรือเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยนอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดความรู้สึกถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมด้วยทัศนคติที่เคารพ และเข้าใจ ในความแตกต่างหลากหลายของสังคม


เรียบเรียงและภาพประกอบ: อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้อมูลจากวิทยากรผู้นำชม