Skip to main content

ท่ามกลางเสียงหวีดนับไม่ถ้วน ที่โหยหวนก้องไปทั่วอดีตทุ่งสังหาร ณ บ้านสาพือ เราไม่รู้เลยว่าท่ามกลางผู้ร่วมงานจะมีวิญญาณเหล่าผีบุญ ผู้เคยอาศัยอยู่ที่นั่นปะปนร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ และเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เสียง ณ ที่ตรงนั้นมีเพียงเสียงจากเหล่าศิลปินร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมาเพียงอย่างเดียว

งานศิลปะจำนวนไม่น้อยถูกจัดวางราวกับกระทง 9 ห้อง เสมือนเครื่องเซ่นถึงผู้ล่วงลับ เสียงกลองลั่นขึ้นเชื้อเชิญเหล่าผู้คน และวิญญาณผีบุญทั้งหลายเข้ามาหุ้มล้อม ร่วมฉลองให้กับบุญใหญ่ครั้งนี้

ณ บ้านสาพือ (ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี) พื้นที่หนึ่งของลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงราว ปี พ.ศ. 2444 ในยุคที่สยามเปลี่ยนการปกครองเข้าสู่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และมีการจัดเก็บภาษีจนกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่ กลุ่มคนชาติพันธ์ลาวดั้งเดิมที่บ้านสาพือและพื้นที่ใกล้เคียงส่วนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจกับความเปลี่ยนแปลงเพราะรู้สึกถึงความอยุติธรรมได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจของสยามจนถูกตีตราว่าเป็นกบฎ

การลุกขึ้นสู้ของคนในพื้นที่ถูกมองว่าเป็นการจลาจลและการก่อกบฎในสายตาสยามซึ่งจำเป็นต้องจัดการอย่างเด็ดขาด สยามจึงเข้ายึดพื้นที่และโจมตี "ผู้ต่อต้าน" ซึ่งมีเพียงอาวุธซึ่งส่วนหนึ่งเป็นข้าวของที่ใช้ทำมาหากิน เช่น ดาบหรือพร้า

"อาวุธ" ในมือ "ผู้ต่อต้าน" ไม่อาจทัดทานกองทัพสยามที่เพรียบพร้อมด้วยอาวุธทันสมัยน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปืนไฟ, ปืนใหญ่ กองทัพสยามสามารถรุกคืบเข้ามายังพื้นที่บ้านสาพือ และสังหารผู้ต่อต้านซึ่งถูกตีตราว่าเป็น "กบฎ" ร่วม 300 ชีวิต ร่างไร้วิญญาณของพวกเขาถูกฝังกลบในบริเวณโนนโพธิ์เป็นเสมือนทุ่งสังหาร

ผู้ร่วมต่อสู้ที่รอดชีวิตจากการปราบปรามถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ ไม่ทราบแน่ชัดว่าหลังการจับกุมพวกเขาเหล่านั้นถูกนำไปทรมานหรือประจานเช่นใดบ้าง

ในฐานะหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดแผล เรื่องราวของผู้ต่อต้านที่ถูกตีตราว่าเป็นกบฎถูกเล่าอย่างจำกัดในหมู่เครือญาติของคนในท้องที่แบบเงียบๆ จนกระทั่งเริ่มเกิดกระแสการลุกขึ้นสู้ต่ออำนาจรัฐรวมศูนย์ในปัจจุบันสมัย นักคิดนักเขียน รวมถึงนักวิชาการได้เริ่มกลับไปรื้อฟื้นเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งเคยถูกหลงลืมและไม่ถูกบันทึกในฐานะหน้าของของประวัติศาสตร์

มีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆเกี่ยวกับการสังหารที่เนินโพธิ์ทั้งอาวุธโบราณ, หัวกระโหลกที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ”ผีหัวหล่อน” รวมถึงโครงกระดูกซึ่งรอการพิสูจน์ทราบถึงช่วงเวลาการเสียชีวิต

ในท่ามกลางกระแสการทบทวนประวัติศาสตร์บาดแผล เรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ที่เล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเรื่องเล่าของผู้มีบุญที่เป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำการต่อสู้ เริ่มถูกนำมาเล่าในที่แจ้ง เรื่องเล่าเหล่านี้แม้เป็นเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่าก็เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่พอจะทำให้เรื่องราวที่พร่าเรือนแจ่มชัดขึ้นมาบ้าง

นอกจากนั้น กลุ่มนักคิดนักเขียนในอุบลราชธานียังร่วมกับนักปฏิบัติการทางศิลปะ นำการทำงานทางศิลปะเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการคืนชีวิตให้เรื่องราวที่ครั้งหนึ่งเคยเลือนหายได้ถูกกลับมาเป็นที่รับรู้ในวงที่กว้างออกไปจากที่เคยเป็นเพียงตำนานและเรื่องเล่าในพื้นที่ และทำให้เรื่องราวจากเนินโพธิ์ได้กลายเป็นหนึ่งในกระแสธารของการตั้งคำถามต่อการปกครองแบบรัฐรวมสูญและเป็นส่วนหนึ่งที่สอดประสานต่อข้อเรียกร้องว่าด้วยการกระจายอำนาจที่กำลังค่อยๆดังขึ้นมา

กลุ่ม Ubon Agenda ได้สืบต่ออุดมการณ์จาก ดร. ถนอม ชาภักดี หนึ่งในผู้ร่วมเปิดหน้าประวัติศาสตร์กบฏผู้มีบุญ ในพื้นที่บ้านสะพือ จ.อุบลฯ โดยกลุ่ม Ubon Agenda ได้ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่เพิ่อสร้างบ้านสะพือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์รวมถึงจัดกิจกรรมทางประเพณีและการทำบุญเพื่อสร้างความรู้และระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

Ubon Agenda 2.444 (Memory of Sapue) งานรำลึกเพื่อทำบุญถึงผู้ล่วงลับจากโศกอนาฏกรรมศึกโนนโพธิ์ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 3 - 4 เมษายน 2566 รวบรวมศิลปินราว 20 กว่าชีวิต เข้าปฏิบัติการทางศิลปะ โดยความร่วมมือกับคนในพื้นที่บ้านสะพือ แปลงโนนโพธิ์ให้เป็นพื้นที่ทำบุญระลึกถึงผู้ล่วงลับ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมปฏิบัติการทางศิลปะในหลายแขนงอาทิ

ภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของโนนโพธิ์ในปัจจุบันรวมถึงภาพเสมือนภาพความทรงจำจากอดีตถูกติดตั้งเรียงรายไปทั่วบริเวณโนนโพธิ์ นอกจากนั้นก็มีงาน Sculpture พระหูเติ่ง เศียรพระขนาดใหญ่ที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานกันไปมา นอกจากนั้นก็มีการติดตั้ง "ขลุ่ยเรียกวิญญาณ" ขลุ่ยที่นำมาห้อยรอบพื้นที่ที่เมื่อมีลมพัดผ่านจะทำให้เกิดเสียงดังเสียงโหยหวนคล้ายเสียงของความตาย นอกจากการแสดงผลงานศิลปะแล้ว ในงาน Ubon Agenda 2.444 ยังมีการแสดงของคณะนักแสดงและศิลปินที่ใช้เสียงและการเคลื่อนไหวมาช่วยทำให้ผลงานศิลปะที่ติดตั้งไว้ทั่วพื้นที่สื่อสารกับผู้ชมงานได้อย่างมีพลังมากขึ้น

จากความร่วมมือร่วมแรงระหว่างคนบ้านสะพือ และศิลปินที่เข้าทำงานในพื้นที่ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนับว่า Ubon Agenda 2.444 เป็นปรากฏการณ์ที่มาจากสำนึกร่วมทั้งของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ที่จะบอกเล่า และร่วมรำลึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น


เรื่อง : กฤษฎา ผลไชย
ภาพ : บุรินทร์ฑร ตันตระกูลและกฤษฎา ผลไชย