Skip to main content

The Voters คือ สื่อออนไลน์ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยการรณรงค์ผลักดันนโยบายที่เกิดจากพลังของกลุ่มประชาชน 

จุดเริ่มต้น We all voters: เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง

สันติสุข กาญจนประกร หรือ โอ๊ค บรรณาธิการผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ The Voters ซึ่งปัจจุบัน (มีนาคม 2566) อายุ 45 ปี เป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงสื่อมวลชนมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนจบวารสารศาสตร์ ม. กรุงเทพ และเคยเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร WAY มาก่อน โอ๊คเล่าว่าช่วงเดือนเมษายน 2565 ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ที่เป็นไปอย่างคึกคัก เขาในฐานะคนกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ต่อมาย้ายถิ่นมาอยู่จังหวัดนนทบุรี ตั้งคำถามว่า ทำไมคนต่างจังหวัดจึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนอย่างคนกรุงเทพ ทั้งๆ ที่ก็เสียภาษีเหมือนกัน

แรงบันดาลใจจากกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทำให้ โอ๊ค เริ่มจัดแคมเปญ “We’re all Voters เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง” ผ่านทาง Change.org  เชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันโหวต เพื่อผลักดันให้มีการจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯในต่างจังหวัด 

แม้ก่อนหน้านี้ จะเคยมีการเสนอประเด็นเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง และการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้ว แต่ทว่าเป็นวาระที่ค้างอยู่นานมาก  การจัดแคมเปญจึงเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันให้วาระนี้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาได้เร็วยิ่งขึ้น โดยโอ๊คเป็นตัวแทนผู้นำรายชื่อยื่นให้กับประธานกรรมาธิการกระจายอำนาจ ซูการ์โน มะทา

แม้แคมเปญดังกล่าวจะมีประชาชนเห็นด้วยกว่า 2 หมื่นคน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้การแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้บรรลุตามเป้าหมายได้  เนื่องจากจำนวนรายชื่อดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า มีผู้คน “สนใจ”กับประเด็นนี้เท่านั้น หากประสงค์จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฏหมายอย่างจริงจัง จำเป็นที่จะต้องแจ้งข้อมูล เลขที่บัตร ปชช.และมีลายเซ็นของผู้เห็นชอบ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตัวตนพลเมืองก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขกฏหมาย ซึ่ง Change.org ไม่สามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ แต่การจัดทำเว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูลได้ โอ๊คจึงคิดจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อผลักดันเป้าหมายหลักในการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วย พร้อมๆกับผลิตเนื้อหาเรื่องการกระจายอำนาจ จนเกิดเป็นเว็บไซต์ที่ชื่อว่า The Voters ในเวลาต่อมา 

The Voters มีทีมเบื้องหลังเป็น นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง เช่น ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน  ชัชฎา กำลังแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกระจายอำนาจในญี่ปุ่น  

ภัควดี วีระภาสพงศ์ นักเขียน นักแปล ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการ  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ธเนศวร์  เจริญเมือง ผู้รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่ามาอย่างยาวนาน บรรณ แก้วฉ่ำ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาในองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คอยช่วยให้คำปรึกษา ตรวจสอบด้านข้อกฏหมาย และด้านการใช้คำในการเขียนบทความของโอ๊คก่อนเผยแพร่ 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงทีมงานเบื้องหลังที่เป็นนักสัมภาษณ์-นักเขียนมืออาชีพ และอาจารย์ ที่เข้ามามีส่วนร่วมผลิตเนื้อหาบทความต่างๆบนเว็บไซต์อีกด้วย

คุณภาพชีวิตที่เลือกไม่ได้

โอ๊คเล่าต่อไปว่าการบริหารจัดการสาธารณะ ควรเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบได้มากกว่านี้  เพราะที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคุณภาพชีวิตระหว่างคนต่างจังหวัดและคนกรุงเทพฯ นั้นมีสภาพที่แตกต่างกันอย่างเป็นขั้วตรงข้าม ความเจริญที่กระจุกอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ  เมื่อเทียบกับในชนบทหรือต่างจังหวัดที่ผู้คนต้องทนอยู่กับคุณภาพชีวิตที่จำกัดจำเขี่ย เช่น น้ำประปาขุ่นๆ ขนส่งสาธารณะที่ไร้คุณภาพ คนต่างจังหวัดไร้งานทำต้องเร่ร่อนเข้าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ 

ยิ่งไปกว่านั้น การตรวจสอบงบประมาณในการบริหารจัดการก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลตรวจสอบการใช้งบได้อย่างโปร่งใส หากแต่ต้องคอยติดตามด้วยตนเอง  ยกตัวอย่างเช่น เสาไฟฟ้ากินรีที่พบว่าราคาต้นละ 9.4 หมื่นบาท เครื่องเล่นเด็กในสวนสาธารณะที่มีราคาสูงถึง 1.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ราคาแพงผิดปกติจนกลายเป็นข่าวโด่งดังออกสื่อทุกวันนี้ ก็เป็นพราะประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ภายหลังจากที่ราชการได้ดำเนินการแล้ว

ขณะเดียวกัน งบที่ใช้ไปกับอุปกรณ์สู้รบ เช่น เรือดำน้ำ เครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ประชาชนยิ่งไม่สามารถตรวจสอบหรือจับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ระบบราชการส่วนกลางที่เป็นระบบทหาร 

โอ๊คอธิบายสาเหตุในเบื้องต้นว่าโครงสร้างการปกครองประเทศแบ่งเป็นสามส่วน ได้แก่ 1.การปกครองส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น 

ซึ่งปัญหาคือราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีขอบเขตอำนาจที่จำกัดมาก เพราะ อบจ. ต้องรอการอนุมัติจากราชการส่วนภูมิภาคก่อนจึงจะสามารถดำเนินกิจการพัฒนาบริการสาธารณะในจังหวัดของตนเองได้ เช่น หาก อบจ.ต้องการติดตั้งไฟจราจร-สะพานลอย ตามที่ประชาชนประสงค์ เพื่อแก้ปัญหารถชนกัน อบจ.จะไม่สามารถทำการติดตั้งให้ได้ทันที เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากราชการส่วนภูมิภาค 

ด้วยระบบราชการที่มีหน้าที่ที่ทับซ้อนกัน เมื่อ อบจ.ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการในฐานะตัวแทนประชาชน ทำให้ปัญหาดังกล่าวในต่างจังหวัดไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข หรือมีดำเนินงานล่าช้าเกินไป จนอาจจะถูกละเลย มองข้าม ส่งผลให้ทุกวันนี้ประชาชนไม่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ มีสิทธิ์ มีเสียง หรือมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ตรวจสอบการบริหารจัดการ ทั้งๆที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา

ดูหน้าตา “ร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ”

เพื่อให้จัดหวัดสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ  ของ The Voters เสนอให้มีการปฏิรูปการปกครอง โดยกำหนดให้ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้มีสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี 

หลังจากที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ครบสองปี ให้รัฐมนตรีจัดทำแผนศึกษาการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยยุบรวม หรือย้ายมาเข้ากับราชการส่วนท้องถิ่นแทน ส่งผลให้โครงสร้างการปกครองเหลือเพียงสองส่วน ได้แก่ 1.ราชการส่วนกลาง และ 2.ราชการส่วนท้องถิ่น 

นอกจากนั้น ในร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศของ The Voters ยังระบุให้มีการจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่น ซึ่งโอ๊คกล่าวว่าเป็นระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรูปแบบหนึ่ง โดยหลักการคือให้สมาชิกจิตอาสาที่มาจากภาคประชาชนในแต่ละชุมชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมจากหน่วยงานราชการ สภาพลเมืองรูปแบบนี้จะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันภายในภาคประชาชนทุกปี เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ว่าฯ และเพื่อมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายอย่างจริงจัง โดยกิจการใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมีผลกระทบกับความเป็นอยู่นั้น จะต้องผ่านการทำประชามติก่อนได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำ (เป็นการสอบถามประชาชนในท้องถิ่นก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับโครงการสาธารณะรูปแบบต่างๆ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้งบประมาณตามอำเภอใจ 

เมื่อประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงอำนาจทางการเมืองของตน พวกเขาก็จะยิ่งมีความรู้สึกอยากเสนอ ชี้แนะ หรือมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ระดมความคิด พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและส่วนรวมให้ดียิ่งขึ้น หากมีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้เข้ามาในส่วนท้องถิ่น พวกเขาจะสามารถช่วยกันจับตามองได้อย่างกระตือรือร้น

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ยังเสนอให้จัดสรรงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นใหม่ด้วย จากเดิมที่จัดสรรให้ส่วนกลางร้อยละ 70 ส่วนท้องถิ่นร้อยละ30 เปลี่ยนเป็นให้ส่วนกลางร้อยละ 30 ส่วนท้องถิ่นร้อยละ 70 โดยโอ๊คกล่าวเสริมให้ลองจินตนาการดูว่าความเจริญและคุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดจะดีขึ้นเพียงใด  หากมีการกระจายงบประมาณเข้าไปสนับสนุนอย่างทั่วถึงทั้งในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงชุมชนที่แยกย่อย

หากจะกล่าวสรุปในแง่ของตัวบท ร่างแก้ไขเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ มีสาระสำคัญคือ การยกเลิกหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และความในมาตรา 249 ไปจนถึงมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญ 60 อันเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ 
อ่านรายละเอียดร่างฉบับเต็มได้ที่ https://thevotersthai.com/wewantyourvote/  

เพื่อให้การกระจายอำนาจดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สามารถร่วมลงชื่อผลักดันร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศได้ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/

นิยาม “จังหวัดจัดการตนเอง”

ในส่วนของ “จังหวัดจัดการตนเอง” โอ๊คให้นิยามว่าหมายถึงความสามารถหรือศักยภาพของคนท้องถิ่นในการสร้างสรรค์กิจการต่างๆได้อย่างอิสระโดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน จังหวัดใดเด่นด้านใดก็สนับสนุนด้านนั้น เช่น จังหวัดระยอง เด่นเรื่องทุเรียน รัฐก็นำเงินไปสนับสนุนพัฒนาด้านการผลิตทุเรียนและผลักดันให้เกิดความเชี่ยวชาญ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โอ๊คยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ที่มี “คุมะมง” ตัวละครมาสคอตที่ใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวประจำจังหวัดคุมะโมโตะ (Kumamoto) ซึ่งเกิดจากผู้ว่าฯ ของประชาชนในท้องถิ่นที่ช่วยกันคิด ทำให้ตัวละครนี้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการการกระจายอำนาจ และงบประมาณอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ทุกจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญ 

เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นผู้มีความรู้ ความเข้าใจในท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดีได้เข้ามามีบทบาทแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรและบริการสาธารณะต่างๆภายในท้องถิ่นของตน ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นการกระตุ้นให้ท้องถิ่นเกิดการแข่งขันกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนอีกด้วย   

มายาคติเรื่องการแบ่งแยกดินแดน

โอ๊คเล่าต่อไปว่าผู้คนบางส่วนอาจยังเข้าใจผิดว่าร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งถ้าย้อนไปศึกษาตัวบทรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 1 ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ฉะนั้น การแบ่งแยกดินแดนจึงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน

ในทางกลับกัน หากประชาชนทั่วประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนอยู่ดี กินดี ใครจะอยากแบ่งแยกดินแดน  ถ้าการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง แต่ละจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้  โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกวันนี้รัฐทิ้งขว้างพวกเขามานาน ซึ่งหากพวกเขาได้รับการปฏิบัติดูแลเป็นอย่างดี ประชาชนจะยิ่งอยากอยู่ และชื่นชอบรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

มายาคติที่ว่าด้วย การเลือกตั้งกับนักการเมืองโกง 

สิริกัญญา กาญจนประกร หรือ นิว ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยบรรณาธิการสื่อออนไลน์ The Voters และเป็นภรรยาของโอ๊ค เล่าว่าส่วนใหญ่เธอจะเป็นผู้ที่คอยไล่อ่านคอมเม้นท์ที่มีคนเขียนไว้บนเพจหรือส่งมาทางอินบ็อกซ์ของเพจซึ่งความเห็นส่วนหนึ่งสะท้อนว่ามีมายาคติบางอย่างที่ทำให้คนไม่ค่อยเข้าใจหรือเข้าใจการกระจายอำนาจแบบผิดเพี้ยนไป   

นิว เล่าว่าคนบางส่วนยังมีมายาคติเกี่ยวกับ การเลือกตั้งที่ผูกโยงกับนักการเมือง โดยมองว่า การเลือกตั้งคือปัญหาที่เปิดช่องทางให้นักการเมืองโกง และดูเหมือนจะเห็นชอบกับการคัดเลือกตัวแทนที่ได้มาจากการสอบผ่านระบบราชการมากกว่า เพราะมองการสอบในระบบราชการเป็นการวัดระดับความฉลาดของตัวแทนผู้สมัครที่จะเข้ามาบริหาร เช่น คอมเม้นท์ที่ว่า“จะไม่เหลือให้คนที่ฉลาดเข้ามาทำเลยหรือไง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดยังมีความเข้าใจแบบที่ยึดติดกับกรอบมายาคติบางอย่างที่ขณะเดียวกันก็ไปกระทบหรือ ลดทอนบทบาทสิทธิ์ของพวกเขาเองในฐานะเป็นประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตามระบอบประชาธิปไตย

นิว อธิบายต่อไปว่า เธอเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำอาชีพเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่ห่างจากตัวเมือง เรียกว่า “โรงเรียนขยายโอกาส”  ครูหนึ่งคนจะสอนหลายวิชา เนื่องจากสมัยนั้นมีครูจำนวนจำกัด โดยเธอเล่าว่าด้วยสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลความเจริญ หรือที่เรียกว่า “บ้านนอก” คุณภาพชีวิตของผู้คนต่างจังหวัดก็จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับเมืองหลวง

แต่เนื่องจากเธอเป็นลูกข้าราชการ ทำให้เธอมีสวัสดิการต่างๆรองรับคุณภาพชีวิตของเธอให้ดีขึ้นมาจากคนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด การเป็นลูกข้าราชการทำให้เธอได้รับโอกาสในการเบิกเงินค่าเล่าเรียนต่างๆได้ฟรี จนกระทั่งเธอเรียนจบ แต่ก็เป็นสิทธิ์ที่กระจายให้ประชาชนอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เธอตั้งคำถามและรู้สึกเห็นใจเพื่อน หรือประชาชนคนอื่นๆที่ไม่ได้รับโอกาสแบบเดียวกันกับที่เธอได้รับ 

นิวเล่าต่อไปว่าเธอมีโอกาสกลับไปอำเภอที่พ่อของเธอเคยสอน ซึ่งแม้จะผ่านไป 30 ปีแล้ว แต่สภาพจังหวัดอุตรดิตถ์บ้านเกิดที่เธอจากมา ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยน ภาพความทรงจำของชนบท ถนนดินลูกรัง รถขนส่งสาธารณะที่วิ่งสัญจรรับส่งนักเรียนจากต่างอำเภอด้วยสภาพชำรุดทรุดโทรมทั้งรถเมล์ร้อนสีเขียวหรือรถสองแถวก็ยังคงวิ่งอยู่ ราวกับเป็นภาพย้อนยุคที่ถูกแช่แข็งไว้เมื่อหายตกใจจากภาพที่เห็น นิวตั้งคำถามถึงต้นตอความด้อยพัฒนาในต่างจังหวัด ซึ่งพบว่าน่าจะเป็นที่ตัวระบบโครงสร้างที่ไม่กระจายอำนาจ และงบประมาณที่จัดสรรไม่ทั่วถึงมากกว่า มิใช่ผลจากนักการเมือง หรือประชาชนในท้องถิ่น 

The Voters สื่อเพื่อการกระจายอำนาจ

ด้วยสภาพแวดล้อมอันด้อยพัฒนาในต่างจังหวัดที่นิวเติบโตมา ประกอบกับการเชิญชวนของเพื่อนร่วมงานด้านสื่อมวลชน เธอจึงเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยสนับสนุนการทำแคมเปญ และเว็บไซต์ The Voters ร่วมกับโอ๊ค ในฐานะประชาชนสองคนที่ต้องการเห็นการกระจายอำนาจและการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยต้นทุนที่ใช้ทำสื่อและรณรงค์คือเงินส่วนตัวของโอ๊คและนิวกับรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายไอศกรีม No sugar ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวเล็กๆของทั้งสอง โดยก่อนหน้านี้เคยมีผู้ใหญ่ใจดีที่ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคเงินสมทบทุนในการสร้างเว็บไซต์และผลิตคอนเท้นต์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในระยะยาว 

เพื่อให้การขับเคลื่อนประเด็นการกระจายอำนาจและผลักดันประเด็นทางสังคมอื่นๆเป็นไปได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนเว็บไซต์ The Voters จึงมีหน้าต่างข้อความขึ้นมาเชิญชวนผู้คนร่วมบริจาคเงินสมทบทุน ด้วยชื่อบัญชีธนาคารที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย “สำนักพิมพ์เดอะโหวตเตอร์ส์ โดยนายสันติสุข กาญจนประกร” 

อย่างไรก็ตาม การบริจาคเงินไม่มีขั้นต่ำ แม้จะให้เพียง 1 บาท เธอก็รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากแล้ว เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อย ก็มีคนที่เห็นถึงความสำคัญของคนที่ต้องการจะทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม

ปลูกต้นประชาธิปไตยให้คนรุ่นหลัง

นิวและโอ๊ค มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงประเด็นที่ผู้คนบางส่วนเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศที่จัดทำขึ้นอาจถูกปัดตก หรือถูกปฏิเสธโดยรัฐสภา แต่ทั้งสองก็ยังคงยืนหยัดที่จะทำต่อไป เพราะทั้งสองรู้สึกว่าอย่างน้อย ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ทั้งนี้ นิวระบุด้วยว่า จากที่ได้ลองยื่นร่างผู้ว่าฯให้รัฐสภาไปตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่าไม่ขัดต่อกฏหมาย ซึ่งหมายความว่าหากล่ารายชื่อได้เกินห้าหมื่นคนเมื่อไหร่ ก็สามารถยื่นร่างนี้ให้พิจารณาได้เลย  
 
นิวระบุว่า เหตุผลที่ขณะนี้ยังรวบรวมรายชื่อได้น้อย คาดว่าเป็นเพราะสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพที่แฝงอยู่มากมาย หลายคนอาจรู้สึกไม่กล้าคลิกลิงก์เพื่อกรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน ซึ่งเธอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า The Voters มิใช่มิจฉาชีพ เป็นเพียงเว็บไซต์เบราว์เซอร์โปรโตคอล http ที่มีเจตนาต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ไม่ได้มีเจตนาล่อลวงหรือแอบแฝงใดๆ  หากประชาชนต้องการตรวจสอบเธอก็พร้อมยินดีให้ตรวจสอบได้ 

ด้วยวิสัยทัศน์ของทั้งนิวและโอ๊คที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศ นิวจึงอยากฝากไปถึงผู้อ่านทุกท่านว่า ใครที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ให้ลุกขึ้นมาลงมือทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ เพราะโดยส่วนตัว เธอเองมองว่าหากร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศถูกปัดตกจริงๆ ถือว่าเธอได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง มิได้อยู่นิ่งเฉย อย่างน้อยเชื่อว่าความพยายามที่ทำมามิได้สูญเปล่าแน่นอน แต่จะเป็นแรงบันดาลใจและความหวังให้คนรุ่นถัดไปมาสานต่อ 

โอ๊คและนิว ระบุอีกว่าพวกเขาทั้งสองไม่อยากส่งต่อประเทศแย่ๆให้คนรุ่นหลังแบบที่ผ่านมา หากมีอะไรที่จะช่วยพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ พวกเขาก็อยากจะลงมือทำอย่างเต็มที่ตามความสามารถ  พวกเขาทั้งสองไม่อยากถูกคนรุ่นหลัง ตำหนิหรือก่นด่าว่าเป็นบรรพบุรุษที่ส่งต่อ หรือปล่อยให้ประเทศชาติพังย่ำแย่แบบทุกวันนี้  แม้ทั้งสองจะเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรก็ตาม 

 โอ๊คระบุเสริมด้วยว่า หากพูดถึงความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เมื่อเทียบระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าถือว่าต่างกันมาก เขาในฐานะคนรุ่นเก่ารู้สึกนับถือเด็กๆรุ่นใหม่ที่กล้าออกมาเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง บางคนยอมถอนประกันตัว หรือแม้กระทั่งประท้วงด้วยการอดข้าวอดน้ำ ความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนเชื้อไฟที่เติมเต็มให้โอ๊คและนิวรู้สึกอยากร่วมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อส่งต่อประเทศที่ดีกว่าสู่คนรุ่นถัดไป

ความหมายและสัญลักษณ์เสื้อ

สำหรับความหมายสัญลักษณ์บนเสื้อ คืนอำนาจให้ราษฏร เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ผลงานการออกแบบของศิลปินไทย Juli Baker and Summer ด้วยลวดลายหลากหลายสีสันสดใสอันสื่อให้เห็นถึงความสวยงามของประชาธิปไตย โดยโอ๊คระบุว่า ข้อความ “คืนอำนาจให้ราษฎร” เป็นการสื่อความหมายตรงตามตัวอักษรว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และถึงเวลาแล้วที่ควรจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ทั้งนี้ ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ว่า ถ้าทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของอำนาจ การขับเคลื่อนสิ่งต่างๆจะยิ่งง่ายมากขึ้น

ก่อนจบการสนทนาครั้งนี้โอ๊คกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เพราะการกระจายอำนาจ งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล คือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีสู่คนทั้งประเทศ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ The Voters จะใช้เพื่อขับเคลื่อนต่อไป

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์