Skip to main content

นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาสในปี 2547 เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นเป็นระยะ โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่ยังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ทั้งเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะในเดือนเมษายน 2547 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบที่จบลงด้วยโศกนาฎกรรมเพราะการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในสภาพที่ผู้ถูกควบคุมตัวถูกจัดให้นอนทับกันบนรถบรรทุกนานกว่า 6 ชั่วโมงในเดือนตุลาคม 2547 

เหตุการณ์ความสูญเสียทั้งที่มัสยิดกรือเซะและเหตุการณ์ตากใบ การประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา รวมถึงการใช้มาตรการปราบปรามผู้ที่รัฐเห็นว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้วยกำลังรุนแรงของรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามจากหลายฝ่าย

ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายพิเศษและการใช้มาตรการรุนแรง ในอีกทางหนึ่งรัฐบาลของทักษิณก็พยายามสื่อสารคนในพื้นที่รวมถึงคนทั้งประเทศด้วยว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะให้กำลังหรือความรุนแรงต่อประชาชนทั่วไป การเชิญชวนคนทั่วประเทศพับนกถึงคนในสามจังหวัดและการก่อสร้างอนุสวารีย์นกกระดาษไว้ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าว

ทักษิณซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางยุติความรุนแรงด้วยการเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ‘พับนกกระดาษ’ ประมาณ 62 ล้านตัวเพื่อนำไปโปรยจากเครื่องบินสู่พื้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการรวมพลังของคนทั้งประเทศที่จะส่งแรงใจให้กับคนในพื้นที่โดยกระบวนการสันติวิธี แนวคิดของทักษิณได้รับการตอบรับจากหลายภาคส่วน หน่วยราชการ เช่น ที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็เคยออกหนังสือเชิญชวนให้ข้าราชการในสังกัดร่วมพับนกด้วย จากการรวบรวมนกกระดาษจากทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 19 พฤษจิกายน พ.ศ 2547 จนถึงก่อนวันโปรยนกทางอากาศสามารถรวบรวมได้ทั้งสิ้นราว 120 ล้านตัว  

นกกระดาษถูกนำขึ้นเครื่องบิน C130 ไปโปรยในวันที่ 5 ธันวาคม 2547 ซึ่งในเวลาต่อมาทางจังหวัดนราธิวาสนำ โดยเทศบาลเมืองนราธิวาส ร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ดำเนินการในการก่อสร้างนกสันติภาพเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียและรำลึกถึงความห่วงใยของคนไทยทั่วประเทศที่ร่วมกันพับนกกระดาษด้วยความมุ่งหวังให้สันติภาพในพื้นที่

ตัวของอนุสาวรีย์เป็นนกกระดาษที่นำมาเคี่ยวจนเป็นเนื้อเดียวกันและนำไปผสมกับปูนที่ใช้ในการก่อสร้างก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นอนุสาวรีย์ ตัวอนุสาวรีย์มีขนาดกว้าง 2 คูณ 4 เมตร สูง 2.5 เมตร น้ำหนัก 2 ตัน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 เดือน อนุสาวรีย์นกกระดาษถูกนำไปติดตั้งที่วงเวียนข้างสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาสและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548

ทว่าเกือบสองทศวรรษที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่ในจังหวัดนราธิวาส สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ ขณะเดียวกันการใช้ “กฎหมายพิเศษ” สามฉบับทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ก็ยังดำเนินเรื่อยมา จนมีคำถามว่าแท้จริงแล้วการพับนกและการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการให้คำมั่นสัญญาจากรัฐถึงความสงบและสันติภาพในพื้นที่จริงหรือไม่? 

“เท่าที่จำได้ตอนที่มีการเผาโรงเรียนผมกำลังดูช่องโมเดิร์นนายเพื่อดูการ์ตูนช่วงเช้า แล้วอยู่ๆ ภาพก็ตัดเป็นภาพเผาโรงเรียน ซึ่งไกลจากบ้านผมไม่ถึง 10 กิโลเท่า ตอนนั้นผมก็ไม่ประสาเพราะยังเด็กจำได้ลางๆ แต่พอหลังกรือเซะคนก็เริ่มไปดูร่องรอยกระสุนของมัสยิด ครอบครัวผมก็พาไปดู พอเหตุการณ์ตากใบผมก็มารู้ภายหลังว่าคนถูกจับเป็นคนในละแวกล้อมหมู่บ้านผมนี่เอง มันรุนแรงและติดอยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่ตอนนั้น”

ฮาฟิส ยะโกะ หนึ่งในคนทำงานเคลื่อนไหว กลุ่ม Patani Baru กลุ่มการเมืองใหม่หวังนำเจตนารมณ์ ประชาชนสร้างสันติภาพชายแดนใต้ตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ความรุนแรงในพื้นที่บ้านเกิดที่มีมาตั้งแต่วัยเด็กรวมถึงความหมายของอนุสาวรีย์นกกระดาษที่สร้างขึ้นหลังสองเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญ

“ ถ้าย้อนไป 5 ธันวาปี 47 มันเป็นช่วงวันพ่อพอดี ตอนนั้นทั่วประเทศเค้ามีแคมแปญที่จะพับนกกระดาษให้ชาวใต้แล้วมีการโปรยผ่านเครื่องบินของทหาร นกกระดาษเป็นหมื่นแสนถูกโปรยลงมาทั่ว 3 จังหวัด ผมตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้วิ่งเข้าไปเก็บด้วย แต่ตอนนี้ถ้าให้พูดตรงๆ คือ คนในพื้นที่ไม่ได้มีความอินกับอนุสาวรีย์นะ เมื่อก่อนคนก็ไปถ่ายมาบ้างเพราะคิดว่ามันแปลกใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีความทรงจำที่ดีต่ออนุสาวรีย์หรอกรู้สึกว่าเป็นวงเวียนธรรมดา มันดูเป็นความย้อนแย้งในเชิงความหมายด้วยซ้ำนะ การสร้างอนุสาวรีย์ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ”

“ ในตอนเกิดเหตุการณ์ปี 2547 ผมเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาวอลเลย์บอลของจังหวัดก็ไปอบรมผู้ฝึกสอนระดับชาติ ตอนนั้นเหตุการณ์ยังไม่ได้ส่อเค้าเลยไม่ได้คิดอะไร พอเปิดทีวีมีเพื่อนคนอีสานทักท้วงผมว่าบ้านผมเนี่ยมีข่าวยิงกันแบบหนังคาวบอยเลย ”

รักชาติ สุวรรณ์ ที่ปรึกษา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เล่าถึงภาพจำของผู้คนเรื่องความรุนแรงในพื้นที่บ้านเกิดและนำนึกของคนพุทธในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง

“ คนไทยพุทธเกี่ยวกับเรื่องตากใบหรือกรือเซะตอนนั้นเราต่างคิดกันว่าคนก่อเหตุคือโจรเพราะเราดูจากสื่อกระแสหลัก ตอนที่เราอยู่กันแบบสงบก็มองว่าตำรวจทหารคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คือรั้วของชาติ เพราะถ้ามีการปฏิบัติการอะไรก็คือทำกับโจรหรือผู้ก่อการร้าย แต่ในปัจจุบันคววามคิดมันเปลี่ยนนะมันมีการตั้งข้อสังเกตว่าจริงหรือไม่ที่จะมีการปลุกระดมผู้คนออกมาเป็นร้อยเพื่อชุมนุมแล้วมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก? หรือจะเป็นกระบวนการที่ทำเพื่อการแบ่งแยกดินแดน? พอผมได้มาทำการด้านกระบวนการสันติภาพกว่า 10 ปี มันทำให้เราคิดย้อนไปว่าคนที่ออกมาแบบนั้นพวกเค้าต้องเกิดความเชื่ออะไรบางอย่าง ที่ถูกภาครัฐกดทับมันจึงทำให้เกิดการลุกฮือเพื่อเรียกร้องสิทธิ ”

การโปรยนกกระดาษกว่าล้านตัวทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ ความทรงจำใหม่และสัญญะแทนสันติภาพที่เป็นเพียงแค่คำบอกเล่า

“ โดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นวิ่งออกมาจากบ้านรอรับนกที่ถูกโปรยลงมาเพราะในนกบางตัวจะมีเงินถูกพับแนบมาด้วย ตกหลังคาบ้านใครก็ไปแกะดู ในส่วนของคนพุทธตอนนั้นการพับนกมาโปรยก็มองว่าเป็นกระบวนการของสันติภาพอย่างนึงนะเป็นเหมือนสัญญาว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์อีก แต่ในอีกมุมนึงของพี่น้องมุสลิมก็มองว่าการพับนกมาให้แบบนี้เป็นการไม่ให้เกียรติ  ซึ่งผมมองว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่และการแสดงออกสัญญาลักษณ์ในปัจจุบัน เหมือนนี้ตอนนี้ก็ไม่มีใครสนใจอนุสาวรีย์นกสักเท่าไหร่ ”

บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจผู้คนในเวลานั้นจนถึงตอนนี้ ถูกทิ้งไว้กับคำถามที่ล่องลอยไปกับสายลมไร้ซึ่งคำตอบ มีเพียงอนุสาวรีย์นกกระดาษกับคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ที่วนเวียนมาทุกปีในช่วงเดือนถือศีลอด ความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยได้โหมกระหน่ำสู่หัวใจของผู้รักความยุติธรรมและคนรุ่นหลังที่นำมาซึ่งคำถามที่ว่า ความหมายของอนุสาวรีย์นั้นคงอยู่ในรูปแบบและความหมายใดเมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อใดที่สันติภาพอันแท้จริงจะเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย กชกร บัวล้ำล้ำ
Edit โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพถ่ายโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์