Skip to main content

จุดเริ่มต้นจากความบังเอิญ

จุดกำเนิดของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” (แนวร่วมฯ) ในฐานะองค์กรเคลื่อนไหวอาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุบังเอิญ ก่อนที่จะมีการจัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เคยถูกนำมาใช้แล้วในการชุมนุมครั้งก่อนๆในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อล้อกับคำว่าธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นชื่อเดิมของทางมหาวิทยาลัย ดังเช่นในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็เคยมีการขึ้นป้ายผ้าเขียนข้อความ #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่บริเวณหลังเวทีมาก่อนแล้ว

เบื้องต้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ทางกลุ่มผู้จัดการชุมนุมก็ตั้งใจจะจัดกิจกรรมเป็นเพียงอีเวนท์หนึ่งอีเวนท์ โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการอ่านและโปรยประกาศสิบข้อข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ สำหรับแนวคิดเรื่องการโปรยแถลงการณ์ มีที่มาจากการที่ทางผู้จัดการชุมนุมอยากให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้นำแถลงการณ์กลับไปเพื่อเป็นสิ่งที่เตือนความทรงจำรวมทั้งเพื่อให้เกิดภาพที่น่าจดจำ

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมที่ร่วมจัดการชุมนุมต่างรู้ว่าข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตรย์เป็นข้อเรียกร้องใหญ่ ที่ต้องอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่จะสามารถได้มาด้วยการจัดการชุมนุมเพียงหนึ่งหรือสองครั้งได้ นักกิจกรรมที่ร่วมกันจัดการชุมนุมครั้งนั้นส่วนหนึ่งตัดสินใจตั้ง “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ขึ้นเป็นองค์กรที่มีลักษณะเป็นทางการและมีโครงสร้างในการทำงานเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้บรรลุผล 

แม้สมาชิกหลักของแนวร่วมฯจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ทางกลุ่มก็ไม่ได้ต้องการให้แนวร่วมฯจำกัดอยู่แค่การเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่ต้องการให้เป็นกลุ่มที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่เชื่อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และต้องการผลักดันข้อเรียกร้องสิบข้อ ทางกลุ่มจึงเลือกใช้คำว่า “แนวร่วม” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเปิดกว้างขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่เข้ามาเป็นสมาชิกของแนวร่วมฯ นอกจากนั้นทางกลุ่มก็ไม่ได้จำกัดว่าสมาชิกกลุ่มจะต้องเป็นนักศึกษา สมาชิกที่เรียนจบแล้วหากประสงค์จะทำงานเคลื่อนไหวต่อก็ยังเป็นสมาชิกของแนวร่วมฯต่อไปได้
สำหรับสัญลักษณ์ของแนวร่วมฯ ออกแบบโดยสององค์ประกอบหลักคือรูปโดมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสัญลักษณ์สามนิ้วที่สื่อถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games และในเวลาต่อมาสัญลักษณ์สามนิ้วยังไปสอดคล้องกับสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมราษฎรด้วย

เนื่องจากในขณะที่ก่อตั้งกลุ่มครั้งแรกไม่มีสมาชิกแนวร่วมฯคนไหนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ทางกลุ่มจึงได้รับความช่วยเหลือจากนิสิตจุฬาคนหนึ่งเป็นคนออกแบบให้โดยนิสิตคนดังกล่าวเป็นเพื่อนของเบนจา อะปัญ สมาชิกคนหนึ่งของแนวร่วมฯในขณะนั้น

ปรากฎการณ์รื้อเพดาน

การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนที่ลานพญานาคเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นับเป็นความพยายามที่จะต่อยอดการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภาในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยหลังจากทนายอานนท์ริเริ่มการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่การชุมนุม ทางแนวร่วมฯก็ได้เสนอข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมสิบประการที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างามและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

แม้การชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีการอ่านข้อเรียกร้องสิบข้อที่ยังคงถูกพูดถึงเรื่อยมา แต่การชุมนุมครั้งนั้นก็ยังเป็นเพียงการชุมนุมในมหาวิทยาลัยศูนย์รังสิตซึ่งประชาชนหลายภาคส่วนอาจไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมชุมนุม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงตัดสินใจจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แต่เนื่องจากเมื่อถึงวันดังกล่าวมีคนมาเข้าร่วมชุมนุมมากประกอบกับทางมหาวิทยาลัยปิดประตูรั้วไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปรวมตัวในมหาวิทยาลัย สุดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมจึงรื้อรั้วสนามหลวงและเข้าไปชุมนุมในสนามหลวง 

การชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร มีความแตกต่างจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ตรงที่การชุมนุมในเดือนกันยายน ผู้ปราศรัยเกือบทุกคนปราศรัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นในช่วงท้ายของการชุมนุมเท่านั้น

ปรับรูปแบบหลังถูกกดปราบ

ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 สมาชิกคนสำคัญของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้แก่พริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และณัฐชนน ไพโรจน์ถูกจับและถูกคุมขังในเรือนจำ จากนั้นในช่วงต้นปี 2564 ทั้งพริษฐ์และปนัสยาต่างถูกคุมขังเป็นเวลายาวนานและสมาชิกกลุ่มที่เป็นคนออกหน้าเคลื่อนไหวต่างทยอยถูกดำเนินคดีสมาชิกบางส่วนแม้ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีแต่ก็จะถูกศาลตั้งเงื่อนไข ทางแนวร่วมฯในฐานะองค์กรจึงจำเป็นต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ในทางหนึ่งทางแนวร่วมเริ่มมีการปรับโครงสร้างมีสมาชิกหน้าใหม่ที่ขึ้นมาทำงานออกหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ทางกลุ่มจัดในปี 2564 ก็มีลักษณะเป็นการให้กำลังใจหรือสนับสนุนสมาชิกกลุ่มรวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆที่ถูกดำเนินคดีด้วย เช่น การจัดการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวที่หน้าศาลอาญาที่ส่งให้สมาชิกกลุ่มในขณะนั้นเช่น เบญจา อะปันและณัฐชนน ไพโรจน์ ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  นอกจากนั้นในช่วงเดือนเมษายน 2564 ทางกลุ่มยังจัดกิจกรรม #อยู่หยุดขัง กิจกรรมกางเต็นท์พักค้างคืนบนทางเท้าหน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันให้กับสมาชิกกลุ่มและจำเลยคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้นด้วย

สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมคนหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในปี 2565 ว่า ในช่วงที่กลุ่มถูกก่อตั้งขึ้นนักกิจกรรมในกลุ่มยังไม่ค่อยมีประสบการณ์แต่มีการแสทำให้สามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆไปได้ไกล ขณะที่สถานการณ์ในขณะนี้ดูจะเป็นไปในทางตรงข้ามคือพวกเขามีประสบการณ์มากขึ้นแต่กระแสการเมืองบนท้องถนนก็อยู่ในสภาวะตกต่ำ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติที่กระแสจะมีขึ้นมีลง แต่แนวร่วมฯก็จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไปอย่างหนักแน่นโดยมีสามข้อเรียกร้องของราษฎรและข้อเรียกร้องสิบข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันฯเป็นธงนำต่อไป

ผู้ให้ข้อมูลคนเดียวกันระบุด้วยว่าในฐานะองค์กรเคลื่อนไหวของนักศึกษา แนวร่วมฯมีข้อจำกัดคล้ายๆกับกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอื่นๆคือสมาชิกแต่ละคนจำเป็นจะต้องโฟกัสเรื่องเรียนของตัวเองด้วยโดยเฉพาะช่วงสอบทำให้มีบางช่วงที่ทางกลุ่มอาจไม่สามารถร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนใหญ่ได้อย่างเต็มที่ 
แม้ในปี 2565 บทบาทของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในฐานะองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนจะไม่เด่นชัดเท่าปี 2563 และ 2564 แต่ก็พบว่าทางกลุ่มยังคงทำงานในพื้นที่ออนไลน์อย่างต่อเนื่องโดยเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กติดตามมากกว่า 540,000 บัญชียังคงผลิตเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและติดตามเรื่องการคุกคามจับกุมดำเนินคดีผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง  

หมายเหตุ ภาพถ่ายจาก iLaw และเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม