Skip to main content

กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน คือ กลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในจังหวัดลำปาง สมาชิกแรกตั้งของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กลุ่มพิราบขาวถูกตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดการเคลื่อนไหวจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่พื้นที่สาธารณะในจังหวัดลำปาง

จุดเริ่มต้นกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน

พินิจ ทองคำ หรือ จอร์จ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มเล่าว่า สมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชุนรุ่นก่อตั้งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นสมาชิกสภานักศึกษาซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรควีร์และเคยร่วมกันเคลื่อนไหวในประเด็นภายในมหาวิทยาลัยและสิทธินักศึกษา เช่น เรื่องค่าเทอม หนี้กยศ. และประเด็นปัญหาเรื่องสวัสดิการนักศึกษาอื่น ๆ ในช่วงปลายปี 2562 แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในกลไกสภานักศึกษาติดขัดปัญหาบางประการโดยเฉพาะปัญหาจากกลไกของมหาวิทยาลัย พินิจกับเพื่อนเลยตั้งกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ขึ้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น

พินิจเล่าต่อว่าในช่วงต้นปี 2563 เกิดกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการชุมนุมในรูปแบบแฟลชม็อบทั่วประเทศ ทางกลุ่มพิราบขาวจึงเริ่มออกมาจัดการชุมนุมในประเด็นการเมืองโครงสร้างเป็นครั้งแรกเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรคที่เกิดขึ้น 

การเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองครั้งแรกของทางกลุ่มยังเป็นการเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัย ครั้งนั้นสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ชักชวนเครือข่ายนักศึกษาที่เป็นสมาชิกให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนที่เป็นเครือข่ายของ สนท.อยู่แล้วได้ออกมาร่วมจัดชุมนุมด้วย โดยมีคนมาร่วมชุมนุมนับเป็นหลักร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ในช่วงที่ทางกลุ่มจัดการชุมนุมครั้งแรก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีความกังวลจึงตั้งคำถามกับพินิจในฐานะที่เป็นคนจัดงานว่าหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นจะรับมืออย่างไร ซึ่งทางกลุ่มก็ยืนยันจุดยืนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนกับทางมหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งเมื่อถึงวันนัดหมายก็มีประชาชนภายนอกเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย

ทำไมต้องพิราบขาว?

พินิจเล่าว่าผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคนหนึ่งชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตและชื่นชอบเพลงเพื่อมวลชนเป็นพิเศษ และเพื่อนคนนั้นเชื่อว่า “พิราบขาว” เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายถึงเสรีภาพ เขาจึงเสนอให้กลุ่มใช้ชื่อพิราบขาวเพื่อมวลชน เพื่อสื่อความหมายถึงเสรีภาพและสร้างความยึดโยงกับประชาชนโดยเฉพาะกับชาวลำปางซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของทางกลุ่ม

สำหรับเงินทุนที่นำมาใช้ในการทำกิจกรรม พินิจระบุว่าทางกลุ่มเข้าใจดีว่าประชาชนในพื้นที่ต่างก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้ว ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทางกลุ่มจึงเลือกที่จะไม่ตั้งกล่องหรือเปิดบัญชีรับบริจาคแต่ใช้วิธีเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงกำไรแทน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญ

เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2563 กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนยกระดับการเคลื่อนไหวมาจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะนอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ใช้ชื่องานว่า “ลำปางรวมการเฉพาะกิจ รวมพลคนไม่ทนในลำปาง”  ที่บริเวณห้าแยกหอนาฬิกาข่วงนครในตัวเมืองลำปาง ครั้งนั้นทางกลุ่มยังชวนแกนนำผู้ชุมนุมจากกรุงเทพทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ทนายอานนท์ นำภา มาร่วมปราศรัยด้วย และตัวพินิจในฐานะตัวแทนกลุ่น ร่วมขึ้นปราศรัยแถลงการณณ์ข้อเรียกร้องของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนด้วย การชุมนุมครั้งนั้นชูสามข้อเรียกร้องหลักที่สอดคล้องไปกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม และ 3. ให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน การชุมนุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมโดยประมาณเกือบร้อยคนซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับจังหวัดที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอย่างจังหวัดลำปาง

พินิจเล่าว่าการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เกิดขึ้นหลังจากที่การเคลื่อนไหวในจังหวัดลำปางเว้นช่วงไปนาน โดยครั้งสุดท้ายที่น่าจะมีการเคลื่อนไหวในลำปางคือช่วงที่มีคนชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อปี 2557 หลังการชุมนุมครั้งแรกผ่านไปด้วยดีทางกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนก็จัดการชุมนุมในพื้นที่อีกเป็นระยะ ทางกลุ่มเคยทำโพลสอบถามความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรมที่คนลำปางอยากเข้าร่วมซึ่งปรากฎว่าคนที่ตอบคำถามส่วนใหญ่ซึ่งอาจมีทั้งคนที่อยู่ลำปางและที่อื่นต้องการให้มีกิจกรรมที่สามารถเปิดพื้นที่ให้พวกเขาระบายอารมณ์ความรู้สึก จากปัญหาที่พวกเขาพบเจอ เช่น ปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล และผลกระทบทางศรษฐกิจ


ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลา 18.00 น. กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนนัดหมายให้ประชาชนที่สนใจมารวมตัวกันที่ห้าแยกหอนาฬิกาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังจากที่ทราบข่าวการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรงด้วยการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งครั้งนั้นมีคนมาร่วมชุมนุมมากถึง 500  คน ส่งผลให้กลุ่มพิราบขาวกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยเฉพาะในจังหวัดลำปาง

ช่วงปี 2564 กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนเคยเป็นเจ้าภาพจัดการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบในจังหวัดลำปางมาสองครั้งในช่วงที่มีกระแสคาร์ม็อบซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนสุดท้ายตัวของพินิจและสมาชิกกลุ่มบางส่วนก็ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
ในเดือนกรกฎาคมปี 2565 ช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 จะหมดวาระ กลุ่มพิราบขาวได้ร่วมกิจกรรมประชาชนลงมติไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ที่จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยทางกลุ่มได้ร่วมตั้งจุดรับบัตรลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ที่….. ในตัวเมืองลำปาง ปรากฎว่ามีประชาชนมาร่วมหย่อนบัตรลงมติเกือบห้าร้อยคน คนที่มาร่วมลงมติซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายได้สะท้อนให้ทางกลุ่มฟังว่า หลายครั้งความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชนมักไม่ถูกรับฟังโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงเสียงสะท้อนเรื่องผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ


ก้าวต่อไปของพิราบขาวเพื่อมวลชน 

สำหรับทิศทางข้างหน้าของกลุ่มพิราบขาว พินิจระบุว่าขณะนี้ (กันยายน 2565) ทางกลุ่มกำลังมุ่งเน้นการทำงานไปที่ด้านการศึกษา การให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น การจัดอบรมความรู้สิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างอำเภอ เนื่องจากที่ผ่านมาทางกลุ่มมักจะทำงานในอำเภอเมืองลำปางเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความพยายามออกไปทำงานบริเวณพื้นที่รอบนอกมากขึ้น เพื่อค้นหาประชาชนที่ต้องการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองให้มากขึ้น 

จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมาทำให้พินิจได้พบเจอกับผู้คนจำนวนมากที่มีทัศนคติที่คล้ายกันกับทางกลุ่ม ซึ่งในอนาคต ทางกลุ่มวางแผนว่าจะจัดกิจกรรมให้คนที่คาดว่าจะมาร่วมงานกับทางกลุ่มได้ มาพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน 

นอกจากนั้นกิจกรรมหลักของกลุ่มอีกประการหนึ่งคือการติดตามคดีทางการเมืองโดยเฉพาะในจังหวัดลำปาง และเฝ้าดูทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาพใหญ่ร่วมกับราษฎรทั่วประเทศ และในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566 ทางกลุ่มก็อาจจะจัดเวทีดีเบทในหมู่ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดลำปางด้วย

สร้อยข้อมือพิราบขาวเพื่อมวลชน

เกี่ยวกับของที่ระลึกของทางกลุ่ม พินิจระบุเพื่อนสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งมีความสามารถในการร้อยสร้อยข้อมือ จึงเสนอความคิดเห็นช่วงที่มีการประชุมของกลุ่มว่าอยากจะทำสร้อยข้อมือเอาไว้ อย่างน้อยก็เก็บเป็นที่ระลึก สมาชิกกลุ่มจึงช่วยกันร้อย และเริ่มเปิดจำหน่ายผ่านทางเพจ ราคาเส้นละ 49 บาทเพื่อระดมทุนสำหรับทำกิจกรรมด้วย ปรากฎว่าสร้อยข้อมือที่ทำได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีต้องรอคิวนานกว่าจะได้ เพราะ สร้อยข้อมือทุกชิ้นเป็นงานทำมือจากสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน 

สำหรับสาเหตุที่ทางกลุ่มไม่ทำเสื้อรณรงค์ของกลุ่มขายเป็นเพราะในช่วงปี 2563 มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายๆกลุ่มระดมทุนผ่านการจำหน่ายเสื้อ ทางกลุ่มจึงมีความเห็นว่าจะไม่ทำเสื้อ แต่จะทำสิ่งของอย่างอื่นที่สามารถใช้ได้ทุกวันหรือหากจะเก็บสะสมก็เก็บไว้ได้นานๆ จึงเป็นที่มาของการเลือกทำสร้อยข้อมือพิราบชาวเพื่อมวลชน



สัมภาษณ์โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ขอขอบคุณภาพถ่ายทั้งหมดจากเพจ พิราบขาวเพื่อมวลชน