Skip to main content

The Ordinary Bar เป็นบาร์เล็กๆหาทางเข้ายากแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หลังป้อมพระสุเมรุ สิ่งที่ทำให้ที่นี่แตกต่างจากผับบาร์หรือร้านเหล้าทั่วไปคือนอกเหนือจากลูกค้าทั่วไปแล้ว ลูกค้ากลุ่มสำคัญของ The Ordinary Bar คือกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง และตัวเจ้าของร้านก็เป็นนักกิจกรรมที่นอกจากจะพบเจอได้ที่ร้านแล้วบางครั้งก็อาจจะพบเจอเขาอยู่ตามม็อบ
ในช่วงต้นปี 2565 ที่กรุงเทพกำลังอยู่ในบรรยากาศของการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการในรอบ 9 ปี The Ordinary Bar ได้ทำเสื้อยืดล้อเลียนแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน  ทำงาน” ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต่อมาได้เป็นผู้ว่ากทม. โดยปรับข้อความจาก “ทำงาน” เป็น “กินเหล้า” เพื่อให้เข้ากับคอนเซปของร้านที่เป็นร้านเหล้า ขณะเดียวก็คงคอนเซปความเป็นเสื้อที่ระลึกของร้านเหล้านักกิจกรรมด้วยการแอบใส่คำว่าทีม “ชังชาติ” คำที่นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมราษฎรเคยถูกเรียกขานจากผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองในทางตรงกันข้าม เข้าไปด้วย

ก่อนจะเป็นเสื้อ “กินเหล้า กินเหล้า กินเหล้า”

หนุ่ยเจ้าหนึ่งใน the Ordinary Bar เล่าว่า the Ordinary Bar น่าจะเป็นเจ้าแรกๆที่ทำเสื้อล้อเลียนแคมเปญของชัชชาติ โดยเขาเกิดไอเดียในการทำเสื้อระหว่างที่นั่งดื่มกับเพื่อนๆที่ร้านว่าอยากล้อเลียนกระแสแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ของชัชชาติ ด้วยความที่ร้านของเขาเป็นร้านเหล้าจึงต้องเปลี่ยนคำว่า”ทำงาน” เป็น “กินเหล้าแทน”
หนุ่ยระบุว่าที่เลือกใช้คำว่า “กินเหล้า” เขาไม่ได้ตั้งใจจะเกาะกระแสของชัชชาติเพียงอย่างเดียวหากแต่ต้องการเสียดสีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เคยทำโฆษณาทำนองว่า คนกินเหล้าเป็นคนเลวร้าย ไม่ทำงาน ขี้เกียจ วันๆกินแต่เหล้า โดยใช้วาทะกรรม “จน เครียด กินเหล้า” 

ถึงตรงนี้หนุ่ยขยายความด้วยว่า การดื่มทุกครั้งไม่ได้หมายความว่าต้องกินกันจนเมามายและบางครั้งการดื่มก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง อย่างตัวเขาสมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาก็เคยใช้วงเหล้าเป็นเครื่องมือในการทำงานจัดตั้ง และเชื่อมประสานกับน้องๆ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการเยียวยากันด้วย 

ในความเห็นของหนุ่ยที่ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรง วงหล้าทำให้รุ่นน้องกล้าเปิดใจมากกว่าการนั่งในวงประชุมแล้วถามว่า “เฮ้ย มึงเครียดอะไรวะ” ซึ่งน้องๆมักจะไม่ยอมบอก แต่พอใช้เหล้าเป็นเครื่องมือระหว่างการสนทนาก็สามารถคุยกันเข้าใจได้มากขึ้นเหมือนเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา

หนุ่ยยอมรับว่าการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือที่นักกิจกรรมมักใช้คำเรียกว่า “วงธรรมชาติ” ก็ยังคงถูกตั้งคำถามเพราะบ่อยครั้งมักมีกรณีที่นักกิจกรรมนั่งวงธรรมชาติกันจนเกือบเช้าแล้วลุกมาเข้ากระบวนการอบรมหรือกิจกรรมอื่นๆล่าช้าหรือทำกิจกรรมในลักษณะ “เมาค้าง” แต่หนุ่ยก็เห็นว่าการดื่มสามารถควบคู่ไปกับการทำงานได้ เพียงแต่ตัวผู้ดื่มต้องเรียกร้องตัวเองให้มีวินัย ตื่มมาทำงานหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนด ซึ่งก็คงไม่ต่างจากคนประกอบอาชีพทั่วไปที่การดื่มเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่เมื่อถึงเวลาทำงานก็ต้องมาตรงเวลาและทำงานเต็มที่โดยไม่หยิบยกอาการ “เมาค้าง” มาเป็นข้ออ้าง 

ในส่วนของคำว่า “ทีมชังชาติ” ที่ปรากฎอยู่บนเสื้อ หนุ่ยระบุว่าคำว่า “ชังชาติ” มันบังเอิญพ้องเสียงกับชื่อของ “ชัชชาติ” พอดี แล้วคำว่าชังชาติก็เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อด้อยค่านักกิจกรรมกลุ่มราษฎรแต่ตัวหนุ่ยเองรู้สึกเฉยๆกับคำๆนี้

สำหรับกระแสตอบรับของเสื้อ หนุ่ยระบุว่าทางร้านทำเสื้อนี้มาตั้งแต่ช่วงแรกๆของการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งก็ได้รับความสนใจอยู่ในวงแคบๆอย่างคนที่ติดตามเพจหรือมากินเหล้าที่ร้าน มียอดทักมาสั่งจองพอสมควร แต่พอชัชชาติชนะการเลือกตั้งจนกลายเป็นกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” ก็มีคนสั่งจองเสื้อเข้ามามากขึ้น จนหลังๆก็มีคนเอาข้อความอื่นๆมาดีไซน์เลียนแบบเสื้อทำงานของชัชชาติ รวมถึงข้อความ “กินเหล้า กินเหล้า กินเหล้า” ที่ทางร้านเคยทำมาก่อนด้วยแต่หนุ่ยก็ไม่ติดใจที่มีคนเอาข้อความเดียวไปทำเสื้อเพราะเห็นว่าแต่ละคนก็มีฐานลูกค้าของตัวเองและทางร้านเองก็เริ่มต้นจากการทำเสื้อล้อมาจากต้นฉบับของชัชชาติ จึงมองว่าเหมือนเป็นการเอาไปทำต่อยอดกัน

ไอ้พวกนักกิจกรรมริทำร้านเหล้า

บทสนทนาระหว่างหนุ่ยกับทางพิพิธภัณฑ์เริ่มออกรสขึ้นเป็นลำดับตามปริมาณขวดเบียร์ที่วางอยู่บนโต๊ะ หลังคุยเรื่องแนวคิดเบื้องหลังเสื้อ “กินเหล้า” กันพักใหญ่ บทสนทนาเริ่มวกเข้ามาสู่แก่นของเรื่องคือที่มาที่ไปของร้าน

หนุ่ยทบทวนความหลังก่อนเริ่มเล่าว่าจริงๆแล้วมีนักกิจกรรมหลายคนที่อยากเปิดร้าน ตัวหนุ่ยเองอยากเปิดร้านด้วยเหตุผลหลักๆสองข้อ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการสร้างพื้นที่ หนุ่ยเท้าความว่าสมัยเป็นนักศึกษาเขาสามารถทุ่มให้กับการทำกิจกรรมได้ 100% ขอแค่พอมีเงินกินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนบ้างตามโอกาสก็ถือว่าชีวิตก็โอเคแล้ว แต่พออายุมากขึ้นเขาก็ต้องเริ่มคิดถึงอนาคต คิดถึงการสร้างครอบครัว ทำให้เริ่มมีความกังวลด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งหนุ่ยเชื่อว่านักกิจกรรมหลายๆคนพออายุมากขึ้นก็น่าจะตกอยู่ในสภาวะเดียวกับเขา
การสร้างฐานทางเศรษฐกิจในหมู่นักกิจกรรมเป็นประเด็นที่หนุ่ยพอจะรู้ว่าจะรู้ว่ามีการพูดคุยกันเป็นระยะในหมู่นักกิจกรรม เพราะหลายคนพอเรียนจบมาก็ต้องเข้าสู่ระบบการทำงานเป็นพนักงานประจำ ทำให้ไม่สามารถมาขับเคลื่อนหรือทำกิจกรรมได้ ตัวหนุ่ยเองไม่อยากเข้าสู่ระบบการทำงานประจำและยังอยากทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมเลยตัดสินใจลองทำร้านดูโดยหวังว่าหากกิจการไปได้ดีก็อาจขยายไปเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในขบวนด้วย

ที่ผ่านมาทางร้านเคยซื้อข้าวจากแม่ของทนายอานนท์มาใช้ทำอาหารในร้าน และเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมที่ขอนแก่นผลิตคราฟต์เบียร์ “ดาวดิน” ออกขาย ทางร้านก็รับมาขายให้คนกรุงเทพได้ชิมกันด้วย ในอนาคตทางร้านก็อาจติดต่อซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตของคนในเครือข่ายมาใช้ เช่น อาหารทะเล จากเครือข่ายที่จะนะซึ่งตัวหนุ่ยเคยไปร่วมเคลื่อนไหว โมเดลนี้นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ภายในเครือข่ายแล้วทางร้านก็ยังมั่นใจเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบได้ด้วย

ในส่วนของการสร้างพื้นที่หนุ่ยหวังว่าร้าน The Ordinary Bar จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่นักกิจกรรมจะสามารถมานั่งคุยเรื่องการเมืองที่ร้านได้โดยไม่ต้องหวาดระแวง รวมถึงเป็นพื้นที่เยียวยาคนที่เครียดจากการทำงานหรือสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่มีนักกิจกรรมถูกจับจากการทำกิจกรรมทางการเมือง ก็สามารถมาใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยความเครียดได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2565 ที่นักกิจกรรมหลายคนอยู่ในสภาวะเครียดสะสมจากการเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงในช่วงปี 63 - 64 ที่มักมีแต่คนชวนกันเคลื่อนไหวตะลุยไปข้างหน้าแต่ไม่ค่อยมีใครที่รับฟังหรือเยียวยากัน 

ความเหมือนที่แตกต่าง

หากมองโดยผิวเผินร้าน the Ordinary Bar ก็ไม่ได้ดูจะแตกต่างจากร้านเหล้าอื่นๆที่เปิดอยู่ในย่านตรอกข้าวสารหรือถนนพระอาทิตย์ แต่เพราะผู้ที่ร่วมลงขันเป็นหุ้นส่วนร้านทั้งตัวของหนุ่ย “แก้วใส” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวงสามัญชน และ “น้าสัญ” ต่างอยู่ในแวดวงนักกิจกรรม พวกเขาจึงพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างให้กับร้านเริ่มจากชื่อร้านที่หนุ่ยระบุว่าครั้งแรกเขาอยากใช้คำว่า “สามัญชน” แต่ดูเหมือนว่าคำว่าสามัญชนดูจะแข็งและไม่เป็นมิตร เลยพยายามหาคำอื่นที่มีความหมายในทางเดียวกัน จนกระทั่งมาได้คำว่า The Ordinary ซึ่งแปลว่าคนธรรมดาสามัญ 

หลังได้ชื่อร้านหนุ่ยกับหุ้นส่วนก็คิดเรื่องโลโกของร้านที่พวกเขาอยากให้สื่อสารถึงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย สุดท้ายก็เลยเลือกใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร A ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนาธิปไตย (Anarchist) ซึ่งเพื่อนนักกิจกรรมหลายคนก็สมาทานแนวคิดนี้และร้าน The Ordinary เองก็มีตัว A อยู่ในร้านเลยสามารถนำสัญลักษณ์ตัว A ของกลุ่มอนาธิปไตยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านได้อย่างไม่เคอะเขิน ขณะเดียวกันตัวของหนุ่ยรวมถึงหุ้นส่วนคนอื่นๆของร้านเองก็สมาทานหรือเห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มอนาธิปไตยอยู่ในระดับหนึ่ง คือปฏิเสธรัฐรวมศูนย์ ปฏิเสธอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม และเชื่อมั่นในการกระจายอำนาจ

ในฐานะร้านที่เป็นร้านเหล้า the Ordinary Bar ก็ต้องจัดหาดนตรีสดมาให้บริการลูกค้าของร้าน ดนตรีสดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ the Ordinary Bar แตกต่างจากที่อื่นๆเพราะนักดนตรีหลายคนที่มาเล่นที่ร้านต่างเคยเล่นดนตรีบนเวทีการชุมชุมมาแล้ว รวมถึงมือกีตาร์วงไฟเย็นอย่าง พอร์ท ไฟเย็น ซึ่งเจ้าตัวถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก็เคยได้รับเชิญมาแสดงที่ the Ordinary เช่นกัน  และบ่อยครั้งการจัดงานดนตรีที่ร้านก็เป็นไปเพื่อหาเงินมาสนับสนุนการเคลื่อนไหว เช่น การแสดงดนตรีเพื่อระดมทุนให้กองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งเป็นกองทุนที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัวกับคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง

โลกของความเป็นจริง

แม้ตัวหนุ่ยและหุ้นส่วนจะเชื่อในการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยถูกผูกขาดโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย แต่หนุ่ยกับหุ้นส่วนก็ยอมรับว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธเบียร์อุตสาหกรรมของบรรษัททุนใหญ่ ที่ผ่านมาเคยมีร้านร้านเหล้าของนักกิจกรรมอย่าง A Bar with No name ที่เคยพยายามปฏิเสธเบียร์อุตสาหกรรมขายแต่เบียร์คราฟต์ แต่สุดท้ายโมเดลธุรกิจแบบนั้นก็ทำให้ลูกค้ารวมถึงเพื่อนๆมากินได้ไม่บ่อยเพราะเบียร์คราฟต์ราคาค่อนข้างสูง จนสุดท้ายร้านก็ต้องปิดไป 

ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ทำให้ตลาดเหล้าเบียร์ยังไม่เปิดกว้างหนุ่ยยอมรับว่าทางร้านก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาเบียร์อุตสาหกรรมในฐานะสินค้า แต่เขาก็ยังมีความหวังว่าหากในอนาคตมีการแก้กฎหมายที่ควบคุมการผลิตเหล้าเบียร์ให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถกระโดดเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนถูกลงทางร้านก็พร้อมที่จะนำผลิตภัณฑ์ของเพื่อนมิตรมาวางจำหน่ายอีกทางหนึ่ง

ซอยจุ๊ เมนู “ต้อง ห้าม พลาด”

สำหรับเมนูแนะนำของทางร้าน หนุ่ยระบุว่าคงหนีไม่พ้น “ซอยจุ๊” ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมในหมู่นักกิจกรรมที่ถูกจุดกระแสโดยทนายอานนท์ นำภา หนุ่ยเล่าว่ามีการพูดคุยกันระหว่างเขากับหุ้นส่วนตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากขายซอยจุ๊ เพราร้านเหล้าอื่นๆไม่ค่อยขายกันและในฐานะร้านเหล้าของนักกิจกรรมเขาก็อยากส่งต่อวัฒนธรรมการกินนี้ไปถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆด้วย

ถอดความและเรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์

ภาพบรรยากาศที่ร้านบางส่วนจากเพจ The ordinary bar-ดิ ออดินารี บาร์