Skip to main content

กลุ่มฮักบ้านเกิดคือการรวมตัวของประชาชนส่วนหนึ่งในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ เพราะพวกเขากังวลว่าการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนของพวกเขาและอาจทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไป 

จริงๆแล้วก่อนที่จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลเมืองเพียก็เคยมีโรงงานผลิตพรมเข้ามาตั้งจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นและมลพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเสีย แม้ว่าโรงงานผลิตพรมจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่ได้ร้ายแรงจนเกินจะรับได้ แต่ประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการมีโรงงานอุตสาหกรรมก็ทำให้คนในชุมชนส่วนหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนและวิถีชีวิตของพวกเขา

เค้าลางแห่งพายุ

ช่วงปี 2561 เริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามากว้านซื้อที่ดินในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยแจ้งวัตถุประสงค์กับคนในพื้นที่ว่าต้องการนำที่ดินไปใช้ทำการปลูกพืชเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ในช่วงแรกคนในพื้นที่บางส่วนเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบและยังก่อให้เกิดประโยชน์ในการขยายพันธุ์พืชไปปลูกในพื้นที่อื่นได้ ประกอบกับราคาที่ดินที่ผู้ซื้อเสนอให้สูงกว่าราคาปกติ เจ้าของที่ดินบางส่วนจึงตัดสินใจขายที่ดินให้ แต่ต่อมามีการกว้านซื้อที่ดินรวมกว่า 1000 ไร คนในพื้นที่จึงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าทางผู้ซื้อน่าจะไม่ได้นำที่ดินไปทำโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตามที่บอกประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 กลุ่มดาวดินแหละศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มาทำการศึกษาชุมชนบ้านเมืองเพียพอดี  จึงมีการศึกษา ค้นคว้า  และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มชาวบ้านที่ตั้งข้อสงสัยกับการซื้อที่ดิน จนทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วนั้นคือโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ในส่วนของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน เมื่อสามารถจัดซื้อที่ดินได้มากเพียงพอ ก็เริ่มดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พวกเขาเลือกใช้วิธีสื่อสารกับผู้นำชุมชนให้ไปบอกต่อกับคนในพื้นที่ ว่าหากมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมคนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากนั้นก็มีการเปิดเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าซึ่งการดำเนินการขั้นตอนนี้มีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ทั้งภาครัฐและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมจะให้ข้อมูลกับคนในชุมชนทำนองว่าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในพื้นที่ คนในชุมชนโดยเฉพาะคนในวัยแรงงานจะไม่ต้องจากบ้านไปทำงานไกลๆ แต่ผู้ให้ข้อมูลมักละเลยการให้ข้อมูลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนและวิถีชีวิตที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนในพื้นที่ไม่อาจชั่งน้ำหนักและตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน 

สำหรับข้อห่วงกังวลที่สำคัญข้อหนึ่งที่คนในชุมชนมีต่อการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่นอกจากเรื่องมลพิษทั้งฝุ่น ควัน เสียงและมลพิษทางน้ำแล้ว คนในชุมชนยังกังวลเรื่องผลกระทบที่อาจมีต่อ “แก่งละว้า” แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ด้วยซึ่งรับน้ำมาจากการเอ่อล้นของแม่น้ำชี เนื่องจากทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลจะต้องใช้น้ำในประมาณมหาศาล ทางโรงงานจึงจะทำการขุดแก้มลิงเพื่อผันน้ำชีให้ลงไปยังแหล่งน้ำของโรงงานเพื่อสูบไปใช้ในโรงงานซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำและระบบนิเวศน์ของแก่งละว้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประสานพลังชุมชน - นักศึกษา: การก่อตัวของกลุ่ม “ฮักบ้านเกิด” 

นักศึกษากลุ่มดาวดินซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำงานจับตาประเด็นปัญหาด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากรในภาคอีสานทราบเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จึงได้เข้าไปทำงานร่วมกับคนในชุมชนในช่วงปลายปี 2561 โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะกินพื้นที่ทั้งตำบลเมืองเพียในอำเภอบ้านไผ่และพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอโนนศิลาและอำเภอชนบท 

กลุ่มดาวดินและคนในพื้นที่ได้จัดกลุ่มศึกษาแลกข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนักศึกษากลุ่มดาวดินได้ให้ข้อมูลกับคนในชุมชนว่าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ตำบลเมืองเพียไม่ใช่โครงการที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวแต่เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระจายไปทั่วภาคอีสาน โดยโครงการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารปี 2557 ในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

ในปี 2558 มีการตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนผสมทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หนึ่งในนโยบายที่เกิดจากการผลักดันของคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แก่การกำหนดให้ภาคอีสานเป็นพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ มีอำเภอบ้านไผ่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมวัตถุดิบจากทั่วภาคอีสาน
 
การประชุมและพูดคุยคนระหว่างนักศึกษากลุ่มดาวดินกับคนในตำบลเมืองเมืองเพียนำไปสู่การตกผลึกร่วมกันว่าการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโรงการขนาดใหญ่จำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาให้เป็นกิจจะลักษณะเพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นเอกภาพและมีพลัง ในวันที่ 2 มกราคม 2562 จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม “ฮักบ้านเกิด” ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ นอกจากสมาชิกกลุ่มที่เป็นคนทำงานหลักประมาณ 50 คนแล้วก็มีคนในพื้นที่อีกประมาณร้อยกว่าคนที่เป็นกำลังสนับสนุน โดยสมาชิกกลุ่มก็มีความหลากในแง่ของสาขาอาชีพที่มีทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการ ไปจนถึงพระสงฆ์

เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการ ทางกลุ่มก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาเงินกองกลางเพื่อมาใช้ในการทำกิจกรรม เนื่องจากทางกลุ่มไม่ประสงค์จะใช้วิธีเก็บเงินค่าสมาชิกจึงต้องใช้วิธีอื่นๆ เช่น การผลิตสินค้าขายในนามกลุ่ม หรือการจัดระดมทุนในลักษณะผ้าป่าสามัคคีซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนที่คนในพื้นที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว 

“ฮักบ้านเกิด” ไม่ใช่แค่ต่อต้าน แต่นำเสนอทางเลือก

หลังมีการจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ กลุ่มฮักบ้านเกิดก็เริ่มทำการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในหลายวิธีการ ทั้งการขึ้นป้ายประท้วงในพื้นที่ จัดการชุมนุมคัดค้านเมื่อเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาให้ข้อมูล นอกจากนั้นยังมีการทำการสำรวจข้อกังวลจากคนในพื้นที่เกี่ยวกับการข้อห่วงกังวลต่อการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงการรวบรวมสมาชิกและคนในพื้นที่เดินทางไปขอคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่นด้วย

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มฮักบ้านเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ครั้งนั้นคนในชุมชนมากกว่า 100 คน รวมตัวกันไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยมีข้อเรียกร้องคือให้จัดตั้งกรรมการระดับจังหวัดเพื่อศึกษาศักยภาพพื้นที่อำเภอบ้านไผ่  อำเภอชนบท  และอำเภอโนนศิลาว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาไปในทิศทางใดบ้าง เพราะกลุ่มฮักบ้านเกิดเชื่อว่าพื้นที่ของพวกเขามีศักยภาพที่จะพัฒนาในด้านการเกษตรและด้านวัฒนธรรม ซึ่งหากมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยไม่ทำการศึกษาอย่างรอบด้านอาจจะทำให้เกิดผลเสียไม่คุ้มกับประโยชน์ที่อาจได้รับจากการก่อสร้างโรงงาน แม้ว่าเบื้องต้นทางราชการจะรับปากกับกลุ่มฮักบ้านเกิดว่าจะไปดำเนินการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาแต่สุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

นอกจากการเคลื่อนไหวในลักษณะของการคัดค้านแล้ว ทางกลุ่มฮักบ้านเกิดยังเคลื่อนไหวเชิงรุกด้วยการนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาด้วยเพราะทางกลุ่มเห็นว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะคัดค้านโดยไม่เสนอทางเลือกท้ายที่สุดอาจถูกตั้งคำถามจากสังคม สมาชิกกลุ่มจึงมีการจัดวงพูดคุยร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนแทนการก่อสร้างโรงงาน มีการจัดตั้งกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยได้รับความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆทั้งการจัดอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์รวมถึงการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต่อมาทางกลุ่มได้จดทะเบียนการทำเกษตรอินทรีย์เป็นวิสาหกิจชุมชนด้วย นอกจากนั้น นอกจากนั้นก็มีการสำรวจและทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งโบราณสถานและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่แก่งละว้าซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ด้วย 

ทางวิบากที่ต้องฝ่าไป

หากมองโดยผิวเผินการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิชุมชนและทรัพยากรน่าจะไม่ใช่ประเด็นที่แหลมคมเหมือนการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองโครงสร้าง แต่ในความเป็นจริงการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮักบ้านเกิดก็ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและที่สำคัญคนในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงาน 

ในช่วงที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ก็มักจะมีกลุ่มคนที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้ามาเก็บข้อมูลในชุมชนว่ามีใครที่อยู่ในกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงงานบ้าง ขณะเดียวเมื่อสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดประสงค์จะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นก็มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของทางโรงงานกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวที 

ผู้นำชุมชนก็มีส่วนสำคัญในการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ ด้วยการโน้มน้าวให้คนในพื้นที่สนับสนุนการก่อสร้างโรงงานบางครั้งอาจมีการขู่ว่าถ้าไม่สนับสนุนการสร้างโรงงานก็จะเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆจากทางภาครัฐ 

นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ให้ข้อมูลเท็จกับคนในชุมชนด้วยเช่นบอกว่าหากมีการก่อสร้างโรงงานคนในพื้นที่ก็จะได้ใช้น้ำมันในราคาถูก ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แม้ว่าสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดจะเคยไปยื่นเรื่องกับทั้งที่อำเภอ อุตสาหกรรมรวมถึงกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยบอกว่าไม่มีข้อมูลซึ่งทางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ทางภาครัฐจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้

นอกเหนือจากการถูกขัดขวางหรือทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวโดยภาครัฐแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ยังมีพฤติการณ์คุกคามสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดด้วย มีสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งถูกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขับรถตามเพื่อขอชื่อและข้อมูลติดต่อ ทางกลุ่มทุนอุตสาหกรรมยังใช้วิธี “ซื้อใจ” คนในพื้นที่บางส่วนด้วย มีการจัดกิจกรรมแจกน้ำตาลฟรี รวมถึงยังประชาสัมพันธ์ด้านเดียวว่าการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไรบ้าง 

ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกลุ่มฮักบ้านเกิดคงหนีไม่พ้นการทำงานทางความคิดกับคนในชุมชน เนื่องจากมีคนในพื้นที่บางส่วนที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพราะเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน คนในพื้นที่บางส่วนก็มองว่ากลุ่มฮักบ้านเกิดเป็นพวกขัดขวางความเจริญซึ่งจุดนี้เป็นโจทย์ที่ทางกลุ่มต้องตีให้แตกว่าจะเคลื่อนไหวรณรงค์ไปพร้อมๆกับการบริหารความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ที่มีความคิดเห็นต่างกันอย่างไร

ภาวะพักรบกับการสรุปบทเรียน

สามปีหลังการเคลื่อนไหวในฐานะกลุ่มฮักบ้านเกิด ทางกลุ่มสรุปบทเรียนร่วมกันว่า จุดแข็งของตำบลเมืองเพียคือทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ คนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรมีความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพิงกับทรัพยากรและสภาพแวดล้อมอยู่มาก จึงน่าจะทำให้การรณรงค์เรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของทางกลุ่มมีน้ำหนักมากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยสภาวะเศรษฐกิจในชุมชนที่ยังมีปัญหาด้านความยากจนก็ทำให้คนในชุมชนในบางส่วนต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้าเพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ยังเห็นโอกาสเฉพาะหน้าในการทำงานโรงงานหรือการขายที่ดิน ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นโจทก์สำคัญที่ทางกลุ่มจะต้องตีให้แตกด้วยการนำเสนอทางเลือกทางอาชีพหรือโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆให้กับคนในชุมชนส่วนนี้ต่อไป

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮักบ้านเกิดในช่วงปี 2565 เหมือนอยู่ในสภาวะพักรบเพราะโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในตำบลบ้านเพียถูกชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเกิดจากหลายเหตุปัจจัยทั้งจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มฮักบ้านเกิดผ่านการยื่นหนังสือร้องเรียน การขึ้นป้ายคัดค้านและทำงานรณรงค์ในพื้นที่รวมถึงการเคลื่อนไหวผ่านทางสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งในปี 2562 จนมีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษากระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ก็น่าจะมีผลให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมตัดสินใจชะลอการก่อสร้างอยู่บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับที่ดินที่ทางกลุ่มทุนซื้อไปขณะนี้ได้ปล่อยให้คนในพื้นที่เช่าเพื่อปลูกอ้อยไปพลางก่อน

สิ่งหนึ่งที่กลุ่มฮักบ้านเกิดตกผลึกร่วมกันหลังต่อสู้ร่วมกันมาเป็นเวลาอย่างน้อยสามปี (สมาชิกบางคนอาจเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนมีการจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการแล้ว) คือปัญหาของพวกเขาไม่ใช่แค่ปัญหาในพื้นที่แต่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาโครงสร้างทางการเมือง การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 สมาชิกกลุ่มจึงเริ่มมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองร่วมกันเวลามีการประชุมกลุ่มด้วยทำให้สมาชิกกลุ่มสามารถมองปัญหาในพื้นที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมืองภาพใหญ่ได้ชัดเจนมากขึ้น 

นอกจากการตื่นตัวในเรื่องการเมืองภาพใหญ่แล้วกลุ่มฮักบ้านเกิดยังส่งตัวแทนไปเรียนรู้ปัญหาและเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่คัดค้านโครงการลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆของภาคอีสานด้วยโดยเคยส่งตัวแทนไปร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายที่จังหวัดศรีสะเกษขณะที่เครือข่ายจากจังหวัดยโสธรก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่บ้านเพีย กลุ่มฮักบ้านเกิดเห็นว่าโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ไม่ใช่โครงการที่เป็นเอกเทศแต่เป็นส่วนหนึ่งโครงการลักษณะเดียวกันในพื้นที่ภาคอีสาน การทำงานเครือข่ายและการเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ผู้ได้รับผลกระทบจึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จของการเคลื่อนไหว

สัมภาษณ์โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

ถอดความและเรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์

ภาพการเคลื่อนไหวและกิจกรรมจากเพจ กลุ่มฮักบ้านเกิด