Skip to main content

นิทรรศการ 112 Tales เรื่องเล่าว่าด้วยมาตรา 112 จัดแสดงที่ร้าน Abdul Book ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2565 เป็นนิทรรศการขนาดเล็กของทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้รับชมได้ทำความรู้จักกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านเรื่องราวของคนที่ถูกดำเนินคดี สิ่งของที่บอกเล่าบริบาททางการเมืองแวดล้อมการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อประเด็นแวดล้อมมาตรา 112 ทั้งการรณรงค์แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายรวมทั้งการรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 

ผลงานศิลปะชุด “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยศิลปิน Prettyboy80 

คอลเลคชันภาพวาดของผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังมากกว่า 20 ชิ้น เช่น อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ศิลปินเจ้าของผลงานออกแบบภาพให้มีลักษณะเป็นใบหน้าของจำเลยที่อยู่ภายในขีดสามขีด ซึ่งดัดแปลงมาจากสัญลักษณ์ 3 นิ้ว ที่ใช้กันในหมู่ผู้ชุมนุมราษฎร

ทุกภาพจะมีข้อความ FREE ตามด้วยชื่อคนที่ถูกคุมขัง ใต้ภาพ นอกจากนั้นยังมีสโลแกน “ปล่อยเพื่อนเรา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิก 112” เขียนไว้ในทุกๆภาพด้วย ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างผลงานทางศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

คอลเลกชันเสื้อว่าด้วยมาตรา 112

จัดแสดงเสื้อยืดพิมพ์ลายใบหน้าจำเลยหรือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 รวมทั้งข้อความคัดค้านมาตรา 112 เช่น 

เสื้อยืดรายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 112 อัปเดตล่าสุดในปี พ.ศ.2565 โดยเพจ Shirtpaganda 

เสื้อยืดยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เสื้อยืดพิมพ์ลายมือของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวินหนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 เสื้อยืดตัวต้นแบบคือเสื้อยืดสีขาวที่เพนกวินสวมออกมาจากเรือนจำในเดือนพฤษภาคน 2564 โดยเจ้าตัวได้นำปากกาเมจิกมาเขียนข้อความ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ในภายหลัง เพจ Shirtpaganda ได้นำลายมือของเพนกวินมาเป็นต้นแบบของเสื้อตัวนี้ 
 
เสื้อยืดพิมพ์ลายใบหน้าของไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก , รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ทนายอานนท์ นำภา และเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยเพจ Shirtpaganda พร้อมลายเซ็นของเพนกวิน รุ้ง และไมค์ ที่มาเซ็นบนตัวเสื้อระหว่างร่วมชมนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน @ Kinjai Contemporary
 
เสื้อยืดของ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กลุ่มเคลื่อนไหวที่คอยตรวจสอบ เฝ้าระวัง และรวบรวมหลักฐานการโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นจากสื่อออนไลน์ที่อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 

เสื้อยืดเขียนสีเป็นลายขีดฆ่าเลข 112 เป็นเสื้อที่มีเพียง 7 ตัว เนื่องจากเป็นเสื้อยืดที่ทำขึ้นมาให้คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ใส่เพื่อไปรายงานตัวในวันเดียวกัน ในภายหลังมีการนำลายนี้ไปผลิตเป็นเสื้อออกจำหน่าย

เสื้อที่ “ตี้” หนึ่งใน 13 จำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมัน สวมใส่ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ระหว่างการชุมนุมโดยเธอเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันท่อนสุดท้าย ก่อนมอบเสื้อตัวนี้ให้ทางพิพิธภัณฑ์ระหว่างมาร่วมชมนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ที่ Kinjai Contemporary เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ตี้ยังใช้ปากกาเมจิกเขียนประโยค ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎณจงเจริญ เป็นภาษาเยอรมันบนเสื้อไว้ด้วย
 
คอลเลกชันสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับมาตรา 112

หนังสือ “ห้องเช่าหมายเลข 112” ของ iLaw จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.2559 รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของจำเลยที่ถูกดำเนินคดีคดีมาตรา 112 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของจำเลยกลุ่มนี้

หนังสือ “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด” เขียนโดย ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ดา ตอร์ปิโดเขียนหนังสือเล่มนี้หลังทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายโดยหวังจัดพิมพ์เพื้อใช้แจกในพิธีฌาปณกิจศพของตัวเอง ในช่วงที่หนังสือเวอร์ชันแรกถูกตีพิมพ์ดายังไม่เสียชีวิต แต่หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่สองถูกตีพิมพ์หลังเธอเสียชีวิตไปแล้ว
 
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะ รุ้ง ปนัสยา กรีดแขนของตัวเองเป็นตัวเลขในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมเปิดตัวการรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นครั้งแรก

หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 มิถุนายน พ.ศ.2563 ภาพปกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาพร้อมกับข้อความ “ทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้มาตรา 112” ซึ่งอธิบายปรากฎการณ์ที่ไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 คดีใหม่ ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2561 - ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ของจัดแสดงอื่น

แถลงการณ์เปื้อนเลือดของรุ้ง ปนัสยา ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ประจำนิทรรศการนี้ เป็นแถลงการณ์ของคณะราษฎรยกเลิก 112 ที่รุ้ง ปนัสยาใช้อ่านในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นวันเปิดตัวการรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แถลงการณ์ฉบับนี้มีเลือดของรุ้งปนัสยาเปื้อนอยู่ โดยระหว่างที่อ่านแถลงการณ์รุ้งใช้มีดกรีดแขนตัวเองเป็นตัวเลข “112” พร้อมเครื่องหมายขีดฆ่าโดยการกรีดแขนนี้รุ้งต้องการสื่อถึงความเจ็บปวดที่เพื่อนของเธอได้รับจากการถูกคุมขังระหว่างถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112

ม้วนกระดาษชำระพิมพ์ลายหมายเรียกผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เป็นม้วนกระดาษชำระที่ artn't กลุ่มศิลปินจากเชียงใหม่ทำเลียนแบบหมายเรียกผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เพื่อสื่อถึงการใช้มาตรา 112 อย่างสิ้นเปลืองของผู้มีอำนาจ เหมือนการใช้กระดาษชำระที่ใช้เสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป และเพื่อเปรียบเทียบถึงความบอบบางของมาตรา 112 ที่บาง และยุ่ยขาดง่ายเหมือนกับกระดาษชำระ

ม้วนกระดาษพิมพ์รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นผลงานของ iLaw ที่รวบรวมรายชื่อของผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 112 เท่าที่ทาง iLaw รวบรวมได้ หากดึงม้วนกระดาษออกมาจะมีรายชื่อของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 112 จำนวนมาก ยังมีการเขียนรายชื่อเพิ่มลงไปบนม้วนกระดาษด้วยปากกา แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ถูกดำเนินคดียังคงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ 112 Tales เรื่องเล่าว่าด้วยมาตรา 112 สามารถเข้าชมงานได้ที่ร้าน Abdul Book ขอนแก่น จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 20.00 น. โดยสามารถติดต่อไปทางเพจเพื่อนัดหมายเข้าชมนิทรรศการ

เรียบเรียงโดย ปรเมษฐ์ ชูเสียงแจ้ว