Skip to main content

“ที่ดิน สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม” คือคำขวัญของสหพันธ์เกษตรภาคใต้

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งเรียกร้อง ตรวจสอบ สิทธิในการถือครองที่ดินของนายทุนบนพื้นที่ของรัฐ และมุ่งเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร ชาวบ้านหรือคนไร้ที่ดิน 

ในปี 2546 กลุ่มคนไร้ที่ดินนับหมื่นคนในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ได้ร่วมเข้าชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการถือครองที่ดินของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี การชุมนุมครั้งนั้นทำให้เกิดมติ ครม. 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้มีการตรวจสอบการถือครองที่ดินของนายทุนที่ถือครองที่ดินของรัฐและให้ปฏิรูปที่ดิน นำที่ดินของนายทุนที่ถือครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจัดสรรให้กับเกษตรกร คนไร้ที่ดิน 

ทั้งนี้การชุมนุมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไป และได้มีการขยายพื้นที่ปักหลักอาศัย ชุมนุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องและตรวจสอบที่ดิน อย่างบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าควนยิงวัว จังหวัดกระบี่ และบริเวณถนนสาย 41 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผลของมติครม.ดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินในระดับจังหวัด โดยมีตัวแทนของกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินได้รับการแต่งตั้งเข้าไปร่วมทำการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต่างๆของรัฐ เช่น ที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ดินของกระทรวงเกษตร ที่ดินสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าที่ดินเหล่านี้ถูกกลุ่มนายทุนถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายนับแสนไร่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่ ทำให้เกิดการเปิดโปงการร่วมมือกันแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

ท้ายสุดจึงได้มีการผลักดันจากกลุ่มนายทุนโดยการสนับสนุนงบประมาณในด้านต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสบียงอาหาร ค่าปฏิบัติการ แก่เจ้าหน้าที่รัฐให้มีการสนธิกำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าควนยิงวัว จังหวัดกระบี่ และในวันที่ 30-31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 บริเวณพื้นที่ชุมนุมริมถนนสาย 41 เขตอำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หลังจากสลายการชุมนุมและปราบปรามที่กล่าวไปข้างต้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้จึงได้สลายตัวไป กลายเป็นกลุ่มการต่อสู้ย่อย ๆ กระจัดกระจายกันไป ขณะที่แกนนำของเครือข่ายมากกว่า 35 คนหลังก็ถูกจับกุมดำเนินคดี

แม้กลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินจะยังคงเคลื่อนไหวด้วยการเข้าไปยึดที่ดินหมดสัมปทานของนายทุน แต่ก็เป็นเพียงปฏิบัติการแบบกลุ่มย่อย ไม่มีการรวมตัวเป็นองค์กรหรือเครือข่าย ไม่มียุทธศาสตร์ร่วมที่ชัดเจนดังเช่นการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2546 ก่อนการถูกปราบปราม 

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 กลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินนัดพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทั้งในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคม 2546 และได้กำหนดแนวทางการต่อสู้และออกแบบองค์กรนำใหม่ “สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จึงถือกำเนิดขึ้น

ในเดือนเมษายน 2565 สกต. มีสมาชิกอยู่ประมาณ 300 คน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ชุมชน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดชุมพร ภารกิจหลักของสกต.คือการเข้าไปยึดครองที่ดินที่นายทุนถือครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อทำการผลิตและสร้างชุมชนในพื้นที่นั้นๆ นอกจากการทำการผลิตในพื้นที่แล้ว สกต.ยังรณรงค์ประเด็นทางสังคมและการเมืองร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในประเด็นต่างๆอีกด้วย เช่น การเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P Move) เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน การจัดการที่ดิน โดยให้ชุมชนหรือประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร นอกจากนั้นในช่วงที่กลุ่มเยาวชนนักเรียนนักศึกษาออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 -2564 สกต.ก็ขึ้นมาร่วมเคลื่อนไหวด้วย

สัญลักษณ์ของสกต. มีรูปคนสามคน ผู้ชาย ผู้หญิง และเยาวชน คือหน่วยจัดตั้งขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะดำเนินการสร้างกลุ่มใด ๆ จะต้องมีคนอย่างน้อย 3 คนที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา ถือเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรดาวสีแดง หมายถึง อุดมการณ์และเป้าหมายในการต่อสู้ ทั้งนี้ยังสื่อถึงเลือดเนื้อชีวิตที่พร้อมจะสละของสมาชิก ดาวสีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นตัวแทนของเกษตรกรส่วนดาวสีเหลืองหมายถึงคุณธรรมในการต่อสู้ เช่น ความเท่าเทียมและเป็นธรรม 

สัญลักษณ์ของสกต.ยังถูกนำไปพิมพ์บนธงสีแดงด้วยซึ่งพื้นธงสีแดงหมายถึงเลือดเนื้อชีวิตของ ชาวนา ชาวไร่ที่สูญเสียไประหว่างการต่อสู้ ซึ่งสมาชิกของสกต.อย่างน้อยสี่คนก็น่าจะถูกฆาตกรรมด้วยมูลเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน

เรียบเรียงโดย ปรเมษฐ์ ชูเสียงแจ้ว
ภาพกิจกรรมของเครือข่ายจากเฟซบุ๊กเพจ สหพันธ์เกษตกรภาคใต้