ข้าวของเล่าขบวน: เสื้อและหมวก ของ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ
กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ (กลุ่มคนวันเสาร์ฯ) เป็นกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
โดยจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกลุ่มเกิดจากการพูดคุยของผู้ใช้เว็บบอร์ดการเมืองซึ่งนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่สนามหลวง
สุชาติ นาคบางไทร หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จเล่าว่าเมื่อ 16 ปีก่อน ตัวเขายังไม่สนใจเรื่องการเมือง เพราะมองว่าในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรการเมืองไทยดูเรียบง่าย และบ้านเมืองเจริญรุ่งเรื่อง จนกระทั่งในปี 2549 เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทำให้เกิดเป็นภาพที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นแกนนำ สามารถเดินขบวนพามวลชนเข้าพบผู้บัญชาการทหารบกได้โดยที่ไม่มีการปะทะหรือเกิดความรุนแรง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความสงสัย แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่ารัฐบาลนี้ไม่โหดร้ายกับผู้ชุมนุม
กลุ่มพันธมิตรประชาชนชุมนุมต่อไปและยกระดับโดยมีเป้าหมายจะล้มรัฐบาลทักษิณให้ได้ ต่อมาในวันที่19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตน์กลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นทำรัฐประหาร สุชาติจึงมองว่าผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรและทางกองทัพอาจมีการเตรียมการอะไรบางอย่างร่วมกันมาก่อน จึงเกิดความไม่พอใจ ภายหลังการรัฐประหาร ประชาชนบางส่วนยังมีความหวังว่าทักษิณ ชินวัตรอาจจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่ในตอนค่ำวันเดียวกันก็มีภาพพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีในขณะนั้น นำผู้นำเหล่าทัพซึ่งเป็นผู้ทำการรัฐประหารไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่เก้า ขณะที่อดีตนายกทักษิณก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ
สุชาติเล่าว่าปรากฎการณ์ข้างต้นทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ ทั้งไม่พอใจต่อการรัฐประหารและไม่พอใจต่อความเฉยเมยของรัฐบาลเดิม
ช่วงก่อนการรัฐประหารสุชาติเคยติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากห้องราชดำเนิน เว็บบอร์ดพันทิปซึ่งมีผู้นำทางความคิดของฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนใช้เป็นพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลและติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งภายหลังการเกิดรัฐประหาร เจ้าของเว็บบอร์ดพันทิปได้ปิดกั้นการเข้าถึงของผู้ใช้งานเว็บบอร์ดฝ่ายประชาธิปไตย สุชาติซึ่งมีอาชีพเกี่ยวกับการจดโดเมนและทำเว็บไซต์จึงเปิดเว็บบอร์ดใหม่ขึ้น และเชิญกลุ่มคนในห้องราชดำเนินให้มาพูดคุยกันในเว็บบอร์ดแห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ
สุชาติเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการเริ่มออกมาชุมนุมเป็นครั้งแรกคือมีผู้ใช้เว็บบอร์ดของกลุ่มคนวันเสาร์ ชื่อเตมูจิน โพสต์ว่าจะมีคนที่ไม่พอใจการรัฐประหารมารวมตัวกันประมาณ30,000คนที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ทำให้กลุ่มคนวันเสาร์อยากอำนวยความสะดวกในเรื่องอาหาร น้ำ และอุปกรณ์สำหรับการชุมนุม จึงนัดรวมตัวกันที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์เพื่อพูดคุยและทำความรู้จักกันก่อน ปรากฎว่าเมื่อไปถึงโรงแรมกลับไม่พบใคร แต่มีผู้ชายสองสามกลุ่มอยู่บริเวณนั้น ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ สุชาติจึงแจ้งข่าวให้สมาชิกในเว็บบอร์ดทราบและรีบออกมาจากบริเวณนั้น
สุชาติเล่าว่าในวันนั้นไม่พบมวลชน30,000คน มีแต่สมาชิกในกลุ่มที่ออกมาจากเว็บบอร์ดประมาณหลักร้อยคน ซึ่งแต่ละคนได้ไปสังเกตการณ์แบบกระจายตัวกันทั่วบริเวณสนามหลวง จึงเข้าใจว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลอกให้เปิดเผยตัวตน ในวันนั้นมีประชาชนเพียงคนเดียวที่ออกมาจุดตะเกียงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คือคุณวรัญชัย โชคชนะ ซึ่งเป็นมวลชนที่รับรู้ข่าวสารการนัดชุมนุม แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนวันเสาร์
หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มได้คุยกันในเว็บบอร์ดว่าถูกเตมูจินหลอก จึงตั้งใจว่าจะจัดการชุมนุมของกลุ่มขึ้นมาเอง ในวันก่อนที่จะนัดชุมนุมได้นัดเจอกับเตมูจิน ทำให้รู้สึกถึงความแปลกประหลาด เพราะเมื่อสุชาติได้นัดพบกับเตมูจินที่สยามสแควร์ เขาไม่เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ ใช้เว็บบอร์ดไม่เป็น และไม่ตอบคำถามอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยพูดถึงในเว็บบอร์ดเลย แต่เตมูจินที่บนโลกออนไลน์เป็นคนเก่งคอมพิวเตอร์ ชำนาญการใช้เว็บบอร์ดและมีความรู้ความเข้าใจการเมือง สุชาติเล่าว่าก่อนที่เตมูจินจะย้ายมาใช้เว็บบอร์ดของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เขาเป็นแอคเคาท์ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในเว็บบอร์ดPantip.com สุชาติจึงคิดว่าเป็นคนละคนกันและสุชาติเองก็ไม่รู้ความจริงจนปัจจุบันว่าเตมูจินคือใคร
หลังจากถูกหลอกในการชุมนุมครั้งแรก สมาชิกในกลุ่มจึงนัดหมายชุมนุมกันใหม่ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ และเป็นกิจกรรมปราศรัยครั้งแรกของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สุชาติเล่าว่า เมื่อถึงเวลานัดหมายในตอนเย็นก็นำเก้าอี้พร้อมโทรโข่ง ตั้งกลางสนามหลวงฝั่งมหาวิทยลัยธรรมศาสตร์เพื่อพูดแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์รัฐประหาร อยู่คนเดียว แต่ในขณะที่กำลังพูดก็เห็นว่าสมาชิกในกลุ่มหลายคนก็ซุ่มอยู่ใต้ต้นมะขาม เนื่องจากทุกคนกลัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม เมื่อพูดไปสักระยะ กลุ่มคนถึงเริ่มทยอยเข้ามาร่วมฟังประมาณ 50 คน และได้มีสมาชิกในเว็บบอร์ดที่เป็นช่างภาพเข้ามาถ่ายภาพกิจกรรม ถือเป็นกิจกรรมครั้งแรกที่ค่อนข้างทุลักทุเลแต่ก็สนุกสนาน
หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มก็นัดหมายกันอีกครั้งในวันเสาร์ที่11 พฤศจิกายน 2549 ครั้งนี้สมาชิกได้ร่วมกันเตรียมการณ์อุปกรณ์ ทั้งเวทีเล็ก โทรโข่ง เก้าอี้ และพูดคุยกันในเว็บบอร์ดว่าจะประกาศจัดตั้งการชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์อย่างเป็นทางการ ในการปราศรัยวันนั้นสุชาติได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการขึ้นมา
สุชาติอธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ว่านอกเหนือจากการจัดกิจกรรมจะจัดทุกวันเสาร์แล้ว สมาชิกในกลุ่มนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำมาหากิน มีงานทำในวันจันทร์ถึงศุกร์ และต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่ากลุ่มคนวันเสาร์ไม่ได้รับจ้างชุมนุม พวกเขาแค่ตั้งใจจะจัดการชุมนุมทุกสัปดาห์จนกว่าทหารจะยอมคืนอำนาจแก่ประชาชน
ต่อมากิจกรรมของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆและมีคนให้ความสนใจมากขึ้นจากหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน และมีการจัดเวทีชุมนุมขนาดใหญ่ รวมถึงการถ่ายทอดสดในอินเทอร์เน็ต เริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลายสาขาวิชาชีพมาเข้าร่วมสนับสนุน ทั้งนักหนังสือพิมพ์ ช่างภาพ ทางกลุ่มเริ่มทำหนังสือพิมพ์ ใบปลิว ทำซีดีให้ข้อมูล รวมถึงเสื้อเพื่อแจกและขายระดมทุนจัดกิจกรรมครั้งต่อๆไป
สำหรับเสื้อยืดเสื้อยืดสีดำสกรีนโลโก้รูปกำปั้นและชื่อกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สุชาติเล่าว่ากลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการมีทีมงานกราฟฟิกดีไซนเนอร์หลายคน แต่ไม่เปิดเผยตัวตน ทำให้ไม่ทราบรายละเอียดว่าใครเป็นฝ่ายออกแบบ ส่วนรูปกำปั้นก็เข้าใจว่ามีการเสนอกันในเว็บบอร์ดเพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความแข็งแกร่ง และเสื้อสีดำแสดงถึงการอดทน การสู้ไม่ยอมย่อท้อ สุชาติอธิบายเพิ่มเติมว่าในช่วงนั้นสมาชิกในกลุ่มไม่ได้ลงรายละเอียดว่าสิ่งที่ออกแบบมีนัยยะหรือความหมายแฝง ฝ่ายที่ออกแบบก็ออกแบบเน้นความสวยงามเป็นหลัก
สิ่งของอีกชิ้นที่สำคัญของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการคือเหรียญจตุคามซึ่งกลุ่มคนวันเสาร์จัดทำขึ้นและแจกจ่ายเพื่อเป็นที่ระลึก สุชาติเล่าว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2550 ทางกลุ่มไม่เห็นวี่แววของชัยชนะ และต้องการดึงดูดมวลชนให้เข้าร่วมกิจกรรม และในขณะนั้นมีกระแสของจตุคามรามเทพ สมาชิกจึงเสนอไอเดียว่ากลุ่มคนวันเสาร์จะทำจตุคามออกขายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมในราคา 1 บาท จนกลายเป็นที่มาของชื่อ จตุคามรุ่น 1 บาท ปราบกบฎ
สุชาติอธิบายว่าการผลิตจตุคามในสมัยนั้นไม่ยุ่งยาก เพราะเป็นช่วงที่มีโรงงานที่รับจ้างผลิต แต่ต่อมาทหารเริ่มตามไปข่มขู่โรงงานและสั่งห้ามรับทำจตุคามให้กลุ่มคนวันเสาร์ ทางกลุ่มก็เลยต้องหาวิธีผลิตกันเอง สุชาติเล่าว่าเขาเองเรียนด้านเภสัชกรและเคยทำยาเม็ดมาก่อน คิดว่าสามารถใช้วิธีเดียวกันได้ จึงช่วยกันรวบรวมสารตามความเชื่อต่างๆมา และลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เพื่อผลิตจตุคามเอง แต่สมาชิกในกลุ่มไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำพระเครื่องมาก่อน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีความทุลักทุเลเสียหายกันไปบ้าง ในช่วงที่ผลิตก็มีการถกเถียงกันเพราะสมาชิกในกลุ่มหลายคนมาจากแวดวงเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ จึงไม่เห็นด้วยกับการแจกจตุคามซึ่งเป็นสิ่งของตามความเชื่อทางศาสนา ทำให้มีการทะเลาะกันวุ่นวาย แต่สุดผลโหวตเป็นเอกฉันท์ว่าเห็นด้วยกับการแจก สมาชิกที่คัดค้านก็มาช่วยกันผลิต ทำให้เกิดความซาบซึ้งกันระหว่างเพื่อนในกลุ่ม สุชาติเล่าว่าเป็นอีกเรื่องที่สนุกสนานและประทับใจในระหว่างที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคนวันเสาร์ และมองว่าในอนาคตจตุคามปราบกบฎจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง เพราะได้ทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองโดยเฉพาะ
สุชาติได้เล่าถึงความประทับใจในกิจกรรมแต่ละครั้งของกลุ่มคนวันเสาร์ว่าเป็นการชุมนุมที่มีความสุขและสนุกสนาน กิจกรรมที่สมาชิกในกลุ่มประทับใจและเตรียมการมาอย่างดีที่สุด คือการปักหลักต่อต้านรัฐประหารเจ็ดวันเจ็ดคืน สุชาติเล่าว่ากลุ่มคนวันเสาร์มีรหัสลับซึ่งสร้างความสับสนแก่เจ้าหน้าที่รัฐมาก คือ 5450 เนื่องจากผู้ปราศรัยได้พูดถึงรหัสนี้ทุกครั้งว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถต่อต้านเผด็จการได้ สุชาติได้เฉลยให้ฟังว่า 5450 คือวันแรกที่กลุ่มคนวันเสาร์จะปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเจ็ดวันเจ็ดคืนในวันที่ 5 เมษายน 2550 ซึ่งหลังจากการประกาศในครั้งนั้น ทำให้ทหารเข้มงวดกับผู้ชุมุนมมากขึ้น แต่กลุ่มคนวันเสาร์ก็สามารถยึดพื้นที่สนามหลวงได้สำเร็จ
สุชาติเล่าว่าระหว่างการปะทะในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่กำลังปราศรัยอยู่บนรถกระบะ ทหารได้ตั้งแถวสกัดไม่ให้มวลชนเข้าไปในบริเวณท้องสนามหลวง ทันทีที่ทหารตั้งแถว สุชาติก็ประกาศให้มวลชนตั้งแถวบ้าง ในตอนนั้นมีทหารประมาณ200-300คน แต่ผู้ชุมนุมมีแค่ 50 คน สุชาติได้สังเกตุเห็นผู้ชายวัยกลางคนคล้องแขนมวลชนแล้วเดินหน้าเผชิญหน้ากับทหาร และได้มาทราบภายหลังว่าผู้ชายคนนั้นคือจิ้น กรรมาชน ซึ่งเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่14ตุลา จิ้น กรรมาชนก็ได้มาร่วมชุมนุมอีกหลายครั้ง และแต่งเพลงวันของเราให้กับกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการอีกด้วย
นอกจากความสนุกสนานแล้ว การชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์ก็สร้างความกังวลให้สมาชิก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบเป็นประจำ ทำให้ทีมงานต้องระวังตัวและไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ชุมนุมคนเดียวได้ สุชาติเล่าว่าในช่วงนั้นคนที่จะถูกคุกคามเป็นพิเศษคือเจ้าของรถเครื่องเสียง เพราะจะโดนเจ้าหน้าที่สกัดกั้นเพื่อไม่ให้นำเครื่องเสียงเข้าพื้นที่ชุมนุม แต่ก็มีความต่างจากปัจจุบันเพราะไม่มีการดำเนินคดีหรือใช้ความรุนแรง สุชาติมองว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์รุนแรงน้อยกว่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้มองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย
หลังจากกลุ่มคนวันเสาร์เคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมชุมนุมได้ระยะหนึ่ง สุชาติก็ได้ยินข่าวว่ากลุ่มPTV ซึ่งนำโดยวีระ มุสิกพงษ์, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจตุพร พรหมพัน กำลังจะออกมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน จึงพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มว่าจะยุติบทบาทของกลุ่มคนวันเสาร์ และไปเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มPTV เนื่องจากสมาชิกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีทุนและมีมวลชนมากกว่า และการชุมนุมที่เคยจัดมาก่อนหน้านี้ก็เกินความคาดหมายของสมาชิก ทำให้การชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์ยุติลงภายในกลางปี 2550
เมื่อไม่มีการชุมนุม ก็ทำให้ไม่มีการพูดคุยในเว็บบอร์ด กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการจึงห่างหายกันไปเรื่อยๆ สุชาติเล่าเพิ่มเติมว่ากลุ่มคนวันเสาร์บางคนทก็ไม่เคยทำความรู้จักกันจนถึงปัจจุบัน บางคนก็ไม่เปิดเผยตัวตนภายนอกโลกอินเทอร์เน็ต แต่เขาจะภูมิใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยถึงเรื่องราวในอดีตของกลุ่มคนวันเสาร์ในโซเชียลมีเดียเสมอ
แม้ว่าในปัจจุบันกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการจะยุติบทบาทลงแล้ว แต่สมาชิกหลายคนก็ยังเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ บางคนก็เป็นฝ่ายสนับสนุนการชุมนุมทั้งด้านเงินทุนและอุปกรณ์ต่างๆ สุชาติอธิบายว่าคนรุ่นเขามีความพร้อมสูง และเนื่องจากเคยจัดกิจกรรมมาก่อน ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้คล่องตัว เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการความช่วยเหลือ ถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม หรือถูกจับกุม ก็สามารถให้การสนับสนุนได้
สุชาติได้กล่าวทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ว่าในวันนี้อาจจะยังไม่ใช่วันของเรา และเชื่อว่าวันของเราก็ใกล้เข้ามาแล้ว เพราะประเทศไทยไม่ขาดคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สิ่งที่คนในรุ่นเขาขาดไปคือการเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างนักต่อสู้แต่ละรุ่น ซึ่งกลุ่มนักต่อสู้ในปัจจุบันสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้เร็วกว่า ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรุ่นเก่า และเป็นเรื่องน่ายินดีที่กลุ่มคนรุ่นใหม่กับคนเดือนตุลาหรือกลุ่มคนเสื้อแดงได้พูดคุยทำความเข้าใจกันอีกด้วย
เรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์
ภาพถ่ายจาก DemocrazyBMW