Skip to main content

ห้องสมุดสามัญชน via Club House "ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง”
24 เมษายน 2565 พิพิธภัณฑ์สามัญชนชวนสิตา การย์เกรียงไกร ผู้แต่งหนังสือภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง มาพูดคุยทาง Club House ถึงภาพรวมของหนังสือ "ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง" ที่เป็นเสมือนบันทึกประสบการณ์การเข้าป่าของสิตาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยนอกจากสิตาแล้วก็มี พลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2516 มาร่วมสนทนาด้วย

ก่อนเริ่มพูดคุยในหัวข้อหลักสิตาและพลากรร่วมกันกล่าวรำลึกถึงวัฒน์ วรรยางค์กูรนักเขียนและนักกิจกรรมที่เคยเข้าป่าช่วงหลักเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตระหว่างลี้ภัยการเมืองที่ประเทศฝรั่งเศส ว่าพวกเขารู้สึกดีใจที่พบว่าคนที่ไปร่วมงานรำลึกถึงวัฒน์ ซึ่งจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันที่ 24 เมษายน 2565 มีความหลากหลาย ทั้งคนรุ่น 6 ตุลา, คนเสื้อแดง และเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นการรวมกลุ่มของคนที่ยังมีความฝันอยากเห็นสังคมที่ดี สังคมที่ไม่อยู่ในวังวนของรัฐเผด็จการ โดยสิตาระบุเพิ่มเติมด้วยว่าความรู้สึกที่เขาได้รับจากการไปร่วมงานรำลึกถึงวัฒน์สอดคล้องกับงานเขียนที่จะพูดถึงคือ ฝันที่ยังไปไม่ถึงจึงต้องมีคนรุ่นถัดไปมาสานต่อ 

+++แรงบันดาลใจหลังปลายปากกา+++

สิตาเล่าว่า ในตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาเพียงตั้งใจที่จะบันทึกเหตุการณ์และประสบการณ์ของตัวเองเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กเพื่อให้เพื่อนได้อ่านเท่านั้น โดยเขาเริ่มเขียนบันทึกในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเนื้อหาที่บันทึกคือ ประสบการณ์สมัยที่เขาเริ่มเข้าป่านับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินต่อเรื่อยมา ต่อมามีเพื่อนๆที่ติดตามอ่านรู้สึกชื่นชอบเรื่องเล่าของเขาเสนอให้เขารวบรวมเป็นรูปเล่มหนังสือ สิตาจึงตัดสินใจรวบรวมเรื่องเล่าของเขามาจัดพิมพ์ ทว่าในการเล่าเรื่องบนเฟซบุ๊กสิตาไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลา ทำให้เกิดปัญหาในการเรียบเรียง ภรรยาของสิตา จึงอาสาช่วยเป็นผู้เรียบเรียงเหตุการณ์ และช่วยปรับเนื้อหาให้กระชับ  เนื่องจากเธอเคยมีประสบการณ์ทำงานหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ช่วงปี 2517 กับวัฒน์ วรรยางค์กูรมาก่อน

เมื่อถามต่อไปว่าเหตุใดในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาจึงมีผู้คนสมัยหกตุลาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์หรือเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลา ออกมามากขึ้น สิตาระบุว่า
น่าจะเป็นเรื่องความบังเอิญ ขณะที่พลากร ผู้ร่วมสนทนาอีกคนหนึ่งระบุว่า เรื่องราวการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา และเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ควรค่าแก่การบันทึก  เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ของฝั่งประชาชนที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่อยู่ในเหตุการณ์การต่อสู้  เข้าป่า จับปืนน่าจะมีความรู้สึกฝังใจ จนทำให้หลายคนต่างพากันบันทึกไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้ สิตายังเสริมอีกว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คทำให้เรื่องราวประสบการณ์ที่คนๆหนึ่งบันทึกกลายเป็นที่รับรู้ของคนในวงกว้างขึ้น

+++เรื่องเล่าคนเข้าป่า+++

ในส่วนของหนังสือเรื่องเล่าคนเข้าป่าเล่มอื่นๆ “สหาย” ที่เขียนโดยภาณุมาศ ภูมิถาวร คือหนังสือที่สิตารู้สึกประทับใจ โดยอธิบายว่าเป็นหนังสือที่เศร้ามากเล่มหนึ่งที่เล่าถึงเรื่องราวของคนที่ต้องจากบ้านเมืองไปอยู่อาศัยในป่าอย่างลำบากแสนเข็ญ ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม สิตากล่าวว่าเขาเป็นคนที่ชอบรำลึกถึงผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่เสียสละชีวิตไปท่ามกลางการต่อสู้ สำหรับสิตาแม้ชีวิตในป่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากแต่ความฝันก็เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขที่จะอยู่กับมัน ตัวเขาเองเคยแบกปืนน้ำหนัก120-150 กิโลขึ้นภูมาแล้วซึ่งก็ทำไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ ซึ่งก็คงเหมือนเรื่องราวของหลายๆชีวิตที่ถูกบันทึกในหนังสือ“สหาย” ของภานุมาศ

ขณะที่พลากรมองว่าหนังสือหลายๆเล่มล้วนมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการเขียนที่มาจากแง่มุมต่างๆที่แต่ละคนพบเจอ อย่างหนังสือ “คอมมิวนิสต์แนวหลัง” ที่เขียนโดยสุขุม เลาหพูนรังษีก็สนุกและมีการบรรยายที่เก็บรายละเอียดได้ดี รวมถึงหนังสือ “ปฏิวัติเบาๆ” ที่เขียนโดยศิลา  โคมฉาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องจริงของการเข้าไปอยู่ในป่า 

หากถามว่าประทับเล่มใด พลากรตอบว่าชอบ “ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง” ที่เขียนโดยสิตา เพราะเป็นบันทึกที่ไม่ใช่แค่เรื่องในป่าเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงชีวิตตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเรื่องราวของชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดช่วงปี 2516 – 2519 ซึ่งเป็นมิติที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงทำให้รู้สึกได้ย้อนอดีตถึงเหตุการณ์ที่เคยเข้าร่วมและเห็นกระบวนการทั้งก่อนและหลังการเคลื่อนไหว ซึ่งเขามองว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ดีมากเล่มหนึ่ง เนื่องจากพบว่าเป็นการเขียนที่นำอารมณ์เข้ามามีส่วนร่วมน้อย ทั้งยังมีเรื่องราวประสบการณ์หลากหลายพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ และภูร่องกล้า 

+++ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง+++

สิตาระบุว่าในภาพรวม หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประสบการณ์การเคลื่อนไหวของตัวเขาเองและการเปลี่ยนแปลงทางความคิดตั้งแต่ปี 2514 ที่ได้ไปเรียนที่ ม.ขอนแก่น วิกฤติการถูกพักการเรียน การออกมานำการประท้วงขับไล่อธิการซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เขาถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย  รวมถึงวิกฤติที่ทำให้เพื่อนนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายขว้างระเบิดที่สถานีรถไฟขอนแก่น นอกจากนั้นหนังสือยังเล่าถึงงการใช้ชีวิตในป่าของกลุ่มนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการปฏิวัติตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าป่าโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น ประสบการณ์การทำงานมวลชน การ
ทำงานด้านวิศวกรรมในเขตป่าเขารวมถึงภารกิจด้านการทหารของตัวเขา

ในการเขียนหนังสือเล่มนี้สิตาระบุว่าไม่มีช่วงไหนเลยที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกับยิ้มให้กับความหลัง แต่หลายตอนเป็นการเขียนทั้งน้ำตาด้วยความคุกรุ่นของอารมณ์ความรู้สึก เพราะเรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องราวของชีวิตและการต่อสู้   เช่น เหตุการณ์ตอนที่เขานั่งรถจากขอนแก่นลงมาแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2519 หลังเกิดเหตุการณ์ปาระเบิดที่สถานีรถไฟขอนแก่นจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีสองคนและบาดเจ็บอีกเกือบร้อยคน สิตาระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เขารู้สึกเศร้ามากที่สุด ระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพเขาหลีบไม่ลงทั้งคืน ได้แต่ลืมตามองข้างทางตลอดจนกระทั่งถึงกรุงเทพฯ 

อีกสิ่งหนึ่งที่สิตานำมาแทรกในหนังสือเล่มนี้คือรายชื่อของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เสียชีวิตทั้งระหว่างสถานการณ์สู้รบและที่มาเสียชีวิตในภายหลัง โดยสิตาหวังจะคืนใบหน้าและตัวตนให้ให้คนล่วงหล่นไปในสถานการณ์ปฏิวัติ

+++6 ตุลา 2519 หลังการลุกขึ้นสู้เมื่อปี 63+++

ในอดีตงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดูจะเป็นงานรำลึกที่ถูกพูดถึงและมีคนเข้าร่วมมากกว่า ขณะที่บรรยากาศงานรำลีก 6 ตุลาคม 2519 ดูจะเป็นเพียงการรำลึกผู้เสียชีวิตในหมู่คนที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เท่านั้น ทว่าในช่วงหลังจากที่สถานการณ์การเมืองบนท้องถนนเริ่มคุกรุ่นโดยเฉพาะหลังการชุมนุมในปี 2563 – 2564 งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดูจะมีความคึกคักขึ้นและผู้ที่มาร่วมงานก็มีมากขึ้น ทั้งคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ คนเสื้อแดง รวมถึงเยาวชนคนหนุ่มสาว 

ขณะที่พลากรมองว่าการที่มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมในงานรำลึกมากขึ้น น่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการเคลื่อนไหวของประชาชน และนักศึกษาในลักษณะที่เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นประเทศซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคนั้น  และเป็นกระบวนการที่ดำเนินมานาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2516 - 2519 พลากรระบุว่าตัวเขารู้สึกผูกพันธ์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะตัวเขาเองเข้าร่วมเหตุการณ์มาโดยตลอด นอกจากนั้นทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา และการชุมนุมในช่วงปี 2563 – 2564 ก็เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ในแบบที่ผู้กระทำผิดยังลอยนวล หรือ รัฐเผด็จการที่กระทำต่อประชาชน 

สิตากล่าวเพิ่มเติมว่า 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่พวกเรารู้สึกเจ็บปวด  พวกเราถูกทำให้ตายก่อนวัยอันควร ในขณะที่เรามีสองมือเปล่า กับความฝันที่จะสู้กับเขา สิตามองว่าการที่มีคนรุ่นใหม่มาเข้าร่วมงานรำลึกมากขึ้นในช่วงสองสามปีนี้ เป็นเพราะว่า “ฝัน”  ความฝันของคนรุ่นนี้และฝันของคนรุ่นเราน่าจะไม่ต่างกัน จึงทำให้ไปด้วยกันได้ ความฝันที่ว่าคือ ฝันที่จะเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย  

เนื่องด้วยเยาวชนรุ่นนี้เติบโตมาในช่วงรัฐประหาร 2549 กับ รัฐประหาร 2557 เช่นเดียวกับรุ่นของสิตาที่โตมาช่วงรัฐประหาร 2501 กับรัฐประหาร 2514 เมื่อไม่มีประชาธิปไตยจึงต้องแสวงหา ดังนั้น คนจึงมาร่วมงาน เพราะสิ่งที่ตามหาคือเรื่องเดียวกัน

สิตาระบุด้วยว่าเขาดีใจที่ในช่วงที่มีการจัดนิทรรศการ 6 ตุลา มีผู้เข้าชมจำนวนมากที่เป็นนักเรียนมัธยมโดยพวกเขาไม่ได้เพียงมาชมแบบเดินเที่ยวหากแต่จดบันทึกสิ่งต่างๆอย่างจริงจัง 

+++ภารกิจที่ยังไม่จบ+++

สิตาระบุว่าด้วยอายุและเงื่อนไขต่างๆ คนรุ่น 6 ตุลาน่าไม่อยู่ในฐานะที่จะถือธงนำการเคลื่อนไหวแล้ว แต่เขาก็เชื่อว่าเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ของเขาหลายคนน่าจะยังไม่หมดไฟที่จะฝัน และพร้อมที่จะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เพียงแต่ภารกิจในการถือธงนำคงไม่ใช่ภารกิจของคนรุ่น 6 ตุลาอีกแล้ว เช่นเดียวกับที่พลากรระบุว่า ในช่วงที่คนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหว คนเดือนตุลาบางส่วนที่มีอายุ 60-70 ปี ยังคงออกมาร่วมชุมนุมและให้การสนับสนุนกับขบวนเท่าที่พอจะทำได้

สิตาระบุเพิ่มเติมว่า เขาเชื่อว่าความฝันที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไป เช่นเดียวกับที่คนรุ่นตุลาเคยมีความฝันสังคมที่ดีขึ้นแต่ยังไปไม่ถึง จากนั้นคนรุ่นถัดมาที่มีความฝันก็ยังคงออกมาต่อสู่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สำหรับตัวเขาเองแม้ว่าฝันในวันวานจะไปไม่ถึงดังเช่นชื่อหนังสือ แต่มาถึงวันนี้ก็ยังฝันอยู่และเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก็ดีใจที่มีคนมาร่วมฝันมากขึ้น

ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์