เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร คือ การรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ทำการยึดอำนาจในปี 2549
โชติศักดิ์ หนึ่งในผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ ให้ข้อมูลว่าในวันที่ 19 กันยายน 2549 ตัวเขาซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้วได้ยินข่าวลือมาตลอดทั้งวันว่าจะเกิดรัฐประหารโดยเหตุการณ์เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเย็นเมื่อมีการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร เมื่อมีแนวโน้มว่าการรัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นจริงโชติศักดิ์เตรียมร่างแถลงการณ์และได้พูดคุยกับเพื่อนๆที่ทำนิตยสาร QUESTIONMARK ผ่านเว็บบอร์ดและโปรแกรม MSN ซึ่งเป็นโปรแกรมแชทที่ผู้คนนิยมใช้มากในยุคนั้น เพื่อนัดหมายประชุมและเตรียมออกแถลงการณ์ในช่วงบ่ายวันถัดไป (20 กันยายน 2549)
นอกจากพูดคุยกับเพื่อนที่ทำนิตยสารด้วยกัน โชติศักดิ์ยังพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมกับเพื่อนนักกิจกรรมและคนในแวดวง NGO คนอื่นๆที่มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร จนสุดท้าย โชติศักดิ์กับเพื่อนๆนัดประชุมกันที่สำนักงานของสมบัติ บุญงามอนงค์หรือหนูหริ่งที่ซอยรางน้ำในช่วงเย็นวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังการพูดคุย โชติศักดิ์ และเพื่อนนักกิจกรรมได้ร่วมกันก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารขึ้น
สำหรับชื่อกลุ่ม ที่มีคำว่า "19 กันยา" เป็นเพราะสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง อยากให้มีคำนี้อยู่ในชื่อกลุ่มด้วย โดยสมบัติซึ่งเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีได้สร้างเว็บไซต์ 19sep.org ไว้เป็นช่องทางสำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารบนและสื่อสารโลกออนไลน์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
ผู้ประสานงานหรือคนทำงานหลักของเครือข่ายชุดแรกมีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ สมบัติ บุญงามอนงค์, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์, อดิศร เกิดมงคล และสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ในเวลาต่อมามีการตั้งคณะผู้ประสานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งจำนวน 3 คน ได้แก่ อุเชนทร์ เชียงเสน, อุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์ และภัทรดนัย จงเกื้อ โดยยังคงมีโชติศักดิ์ อ่อนสูงเป็นเลขานุการของเครือข่าย สำหรับเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งผู้ประสานงานขึ้นอีกชุดหนึ่งเป็นเพราะมีผู้ประสานงานบางส่วนไปเคลื่อนไหวร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จึงจำเป็นต้องมีการตั้งผู้ประสานงานชุดใหม่
โชติศักดิ์ เล่าว่าทางเครือข่ายฯจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยนัดหมายชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ลานน้ำพุระหว่างห้างสยามพารากอนและสยามเซ็นเตอร์ ในเวลา 18.00 น. สำหรับเหตุผลที่เลือกสถานที่นี้เป็นเพราะเห็นว่าหากในช่วงเวลาที่นัดหมายผู้สื่อข่าวถูกสกัดกั้นไม่ให้มาทำข่าวหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างน้อยๆคนที่อยู่บนรถไฟฟ้าก็จะเห็นเหตุการณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฎว่าพื้นที่ลานน้ำพุระหว่างห้างสยามพารากอนและสยามเซ็นเตอร์ถูกปิด ทางเครือข่ายจึงต้องย้ายสถานที่ชุมนุมเป็นที่หน้าสยามเซ็นเตอร์แทน โดยในวันดังกล่าวมีคนมาร่วมชุมนุมประมาณ 20 - 30 คน
โชติศักดิ์ เล่าต่อว่าหลังจัดการชุมนุมครั้งแรก ทางเครือข่ายฯก็จัดชุมนุมสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2549 จนถึงเดือนเมษายน 2550 โดยการชุมนุมมักจัดช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเป็นสนามหลวง โดยการชุมนุมของทางเครือข่ายจะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กใช้รถกระบะเป็นเวทีปราศรัยชั่วคราว สำหรับบุคคลสาธารณะที่เคยมาขึ้นเวทีของทางเครือข่ายฯก็มีนพ.เหวง โต จิราการ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม และทนายอานนท์ นำภาซึ่งขณะนั้นเป็นทหารเกณฑ์ เขาจึงมักมาร่วมอ่านบทกวีในที่ชุมนุมแต่ไม่ได้ขึ้นปราศรัย
สำหรับจุดยืนของเครือข่ายฯ มีอยู่สามประการ
1. คัดค้านการทำรัฐประหาร
2. ไม่ยอมรับรัฐบาล คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพราะไม่มีความชอบธรรม และ
3.หลังการเลือกตั้งต้องมีการปฏิรูปการเมืองและให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
โชติศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดยืนของเครือข่ายฯ เป็นการตกลงร่วมกันของสมาชิกยุคแรกตั้งที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย สมาชิกส่วนใหญ่มีจุดยืนสองไม่เอา คือ “ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอาทักษิณ” แต่ก็มีสมาชิกบางส่วนที่เห็นใจทักษิณเพราะอย่างน้อยก็เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถูกต้อง และมีสมาชิกบางส่วนที่เป็นผู้สนับสนุนอดีตพรรคไทยรักไทยหรือทักษิณ
โชติศักดิ์ระบุว่า เผด็จการมักจะชอบใช้ชื่อที่ทำให้ตัวเองดูดี อย่างคณะรัฐประหารในปี 2549 เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ทั้งที่ในความเป็นจริงคณะดังกล่าวคือคณะรัฐประหาร โดยก่อนนี้เคยมีคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิวัติ" อย่างคณะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่คำว่าปฏิวัติอาจฟังดูรุนแรงเกินไป และอาจเป็นเพราะการรัฐประหาร 2549 เกิดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีกระแสการปฏิรูปการเมือง คณะรัฐประหารชุดปี 2549 จึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูป แต่ถึงที่สุดสาระสำคัญของคระรัฐประหารไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็คือการล้มรัฐบาลโดยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะการรัฐประหารมักจะคู่กับการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยรัฐประหารปี 2549 ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก แล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 ที่เขียนโดยเนติบริกรของคณะรัฐประหาร จากนั้นก็ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้เป็นฉบับถาวรแทน ดังนั้นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ก็คือให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ในส่วนของการตอบสนองของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดกิจกรรมของทางเครือข่าย โชติศักดิ์ เล่าว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาปราบปรามหรือแทรกแซงการชุมนุมของเครือข่ายฯอย่างรุนแรงหรือดุดันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับการชุมนุมของนปก. ที่มีแกนนำหลักคือจตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ซึ่งอาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของเครือข่ายฯที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาและ NGO ซึ่งต่างจากกลุ่มนปก.ที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง รวมทั้งคนที่มาร่วมชุมนุมกับทางเครือข่ายฯ ก็ไม่มากเท่ากลุ่มนปก. เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้มีการปะทะกับทางกลุ่ม แต่ตัว โชติศักดิ์ เองจะมีเจ้าหน้าที่ที่มาคอยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดโดยเป็นการมาแบบเปิดเผย
สำหรับกิจกรรมที่น่าจดจำของทางเครือข่ายในความเห็นของ โชติศักดิ์ เหตุการณ์แรกคือการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550 ที่ทางเครือข่ายฯจัดเดินขบวนไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ซึ่งเป็นบ้านของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะทางเครือข่ายเห็นว่าบ้านสี่เสาเป็นศูนย์บัญชาการคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เป็นคนสนิทของพล.อ.เปรม
ครั้งนั้นชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ หนึ่งในผู้ประสานงานเครือข่าย ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่หน้าบ้านของพล.อ.เปรมว่า เป็นไปเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าทางเครือข่ายฯและผู้ร่วมชุมนุม ไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารและองคมนตรี รวมทั้งยังเป็นการประกาศจุดยืนโค่นล้ม 4 เสาหลักที่ค้ำจุนอำนาจเผด็จการได้แก่
1. สถาบันทหารที่มีองคมนตรีอยู่เบื้องหลัง
2. สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถูกแต่งตั้งโดยเผด็จการ
3.องค์กรอิสระที่ทำงานอย่างไม่เป็นอิสระ และ
4.กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
โชติศักดิ์ระบุว่าการเดินขบวนไปบ้านพล.อ.เปรมในวันนั้นน่าจะมีคนมาร่วมประมาณ 2000 คน โดยเริ่มตั้งขบวนที่สนามหลวงก่อนจะเดินไปบ้านสี่เสาเทเวศน์ แต่ปรากฎว่าพอเคลื่อนขบวนไปใกล้จะถึงบ้านสี่เสา เจ้าหน้าที่ก็ตั้งแนวสกัดไม่ให้เคลื่อนขบวนต่อ อย่างไรก็ตามในวันนั้นก็ไม่มีเหตุปะทะรุนแรงใดๆ โดยทางเครือข่ายฯประกาศยุติการชุมนุมที่บริเวณบ้านสี่เสาในเวลาประมาณ 20.00 น.
สำหรับกิจกรรมอีกครั้งหนึ่งที่ โชติศักดิ์ ประทับใจ คือการชุมนุมในช่วงเย็นวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2550 ทางเครือข่ายฯจัดการชุมนุมเดินขบวนจากบริเวณท้องสนามหลวงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางบรรยากาศฝนตกปรอยๆ ไฮไลท์ของการชุมนุมในวันนั้นคือการนำผ้าสีดำไปคลุมพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โชติศักดิ์ระบุว่าที่เลือกใช้ผ้าสีดำเป็นสัญลักษณ์ในครั้งนั้นเป็นเพราะต้องการสื่อถึงความมืดมัวของรัฐธรรมนูญและเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้หายไปแล้ว (ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2550 ก่อนวันออกเสียงประชามติ 19 สิงหาคม 2550 ทางเครือข่ายจัดการชุมนุมใหญ่ซึ่งนับเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้ายในนามของเครือข่ายฯ และมีการนำผ้าสีดำมาคลุมที่อนุสาวรีย์ประธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เป็นการใช้ผ้าผืนใหญ่คลุมอนุสาวรีย์ทั้งหมด แต่การชุมนุมครั้งดังกล่าวเป็นคนละครั้งกับที่โชติศักดิ์พูดถึง)
โชติศักดิ์ เล่าต่อไปว่าเครือข่าย19 กันยาต้านรัฐประหารเคลื่อนไหวถึงประมาณสิงหาคม 2550 ก็สลายตัว โดยก่อนหน้าที่จะสลายตัวผู้ประสานงานเครือข่ายบางส่วนได้เปลี่ยนไปเคลื่อนไหวในนามกลุ่มนปก. ขณะที่ผู้ประสานงานอีกส่วนหนึ่งก็เห็นตรงกันว่าภารกิจของเครือข่ายฯคือการรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหาร เมื่อการลงประชามติผ่านพ้นไปก็ถือว่าภารกิจของทางเครือข่ายจบลงแล้ว อย่างไรก็ตามคนที่เคยร่วมทำงานในนามเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารก็ยังคงติดต่อกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรืออาจจะเจอกันโดยบังเอิญตามกิจกรรมต่างๆ
สำหรับการรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหาร โชติศักดิ์ ระบุว่าแม้ทางเครือข่ายฯจะทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ผลการออกเสียงประชามติปรากฎว่าผู้มีสิทธิส่วนใหญ่ไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญจนมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่ง โชติศักดิ์ ระบุว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนออกเสียงรับร่างมากกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารกันในทำนองว่าให้รับๆไปก่อนแล้วค่อยไปแก้เอาเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งถูกยื้ออกไป ซึ่งแม้แต่นักการเมืองจากพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับคณะรัฐประหารบางส่วนเองก็ยังสื่อสารกับฐานเสียงของตัวเองในลักษณะนั้น นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ยังถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นด้วย โดย โชติศักดิ์ ระบุว่ามีครั้งหนึ่งที่นักกิจกรรมจากต่างจังหวัดขอเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างจากทางเครือข่าย นักกิจกรรมคนดังกล่าวนำเอกสารใส่รถและขับกลับต่างจังหวัดปรากฎว่ารถคันดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่เรียกให้หยุดที่ด่านตรวจและทำการยึดเอกสารไปจนหมด ในขณะที่ฝ่ายรัฐใช้เงินภาษีมารณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับความหมายสัญลักษณ์บนเสื้อ โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ คือล้มรัฐประหาร โชติศักดิ์ ระบุว่าเครือข่ายเลือกใช้เสื้อสีดำเพื่อสะท้อนถึงความหม่นหมอง และไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย ส่วนลวดลายบนเสื้อ โชติศักดิ์ ระบุว่าน่าจะเป็นผลงานการออกแบบของประชา สุวีรานนท์ เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญซ้อนทับกับรองเท้าบูททหารสีขาวที่วางอยู่บนใบหน้าของประชาชน สื่อถึงรัฐธรรมนูญของทหารที่เหยียบย่ำ กดขี่ ข่มเหงประชาชนที่มีสีหน้ารู้สึกเป็นทุกข์ ส่วนอีกลายหนึ่งที่เป็นรูปกระบอกปืนจ่อไปที่ประชาชนที่อยู่บริเวณคูหาเลือกตั้ง สื่อถึง การข่มขู่ประชาชนในกระบวนการประชามติที่อยู่ภายใต้การกดดันของเผด็จการทหารอย่างไร้ความยุติธรรม
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์