ช่วงวันที่ 24มิถุนายน ปี 2563 เพจเฟซบุ๊ก Tokyo Hot ซึ่งเป็นเพจอย่างเป็นทางการของร้าน Tokyo Hot ร้านขนมย่านเจริญกรุงที่ตั้งอยู่ในระยะเดินถึงจากอาคารไปรษณีย์กลางบางรักโพสต์ภาพ เครปที่แต่งหน้าจนดูละมห้ายคล้ายหมุดคระราษฎรพร้อมข้อความเชิญวนให้ลูกค้าร่วมฉลองวาระ 88 ปี การเปลี่ยนแปงการปกครอง 2475 หลังจากนั้นในงาน Free Art ศิลปะปลดแอกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 ร้าน Tokyo Hot ก็ไปตั้งบู้ทขายแฮมเบอร์เกอร์ขนมปังลายหมุดคณะราษฎรที่หอศิลป์กรุงเทพอีกครั้ง
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่มีกระแสแฟลชม็อบนักศึกษา สัญลักษณ์หรือเรื่องราวของคณะราษฎรในฐานะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาการปกครอง "ระบอบใหม่" อันได้แก่ประชาธิปไตยในสยามได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ สิ่งปลูกสร้างหรือมรดกจากยุคคณะราษฎร ได้แก่ หมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อนุสาวรีย์ปราบกบฎและหายสาบสูญไป เรื่องราวของคระราษฎรในฐานะสัญลักษณ์อุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องราวของคณะราษฎรไม่เพียงถูกพูดถึงในแง่ของประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการเท่านั้น หากแต่ยังถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะร่วมสมัยด้วย เช่น มีมรูปจอมพลป.กำลังหัวเราะพร้อมข้อความ "เชื่อกูแต่แรกก็จบแล้ว ไอ้สัส" ที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์และต่อมาถูกทำเป็นลายเสื้อ หรือหมุดคณะราษฎรที่แม้ของจริงจะหายสาบสูญไปแต่ก็ถูกทำจำลองในรูปแบบต่างๆ เช่น สติกเกอร์ ที่รองแก้ว ไปจนถึงพวงกุญแจ อย่างไรก็ตามการนำหมุดคณะราษฎรมาเสิร์ฟบนจานน่าจะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พิพิธภัณฑ์จึงอดไม่ได้ที่จะต้องบุกมาถึงโตเกียวฮอทเพื่อพูดคุยกับคุณนะ หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านถึงเรื่องราวเบื้องหลังของที่ระลึกคณะราษฎรในเวอร์ชัน "ประวัติศาสตร์กินได้ ประชาธิปไตยกินดี" เพื่อหาคำตอบถึงที่มาที่ไปของการ "ปักหมุด" คณะราษฎรแบบ "เสิร์ฟร้อนจากเตา"
พิพิธภัณฑ์ฯ: ช่วยเล่าเบื้องหลังที่มาที่ไปของร้านโตเกียวฮอทหน่อยว่าเปิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่อย่างไร
นะ: ร้านโตเกียวฮอทเราเปิดมาได้ประมาณปีเศษแล้ว (นับจากเมษายน 2562 ถึงกันยายน 2563) มันเริ่มจากตัวผมซึ่งมีพื้นฐานเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์ด้านศิลปะ คิดว่าอยากจะหารายด้วยวิธีการใหม่ๆเพื่อให้มีรายได้มากขึ้นพอที่จะใช้จ่ายส่วนตัวรวมไปถึงนำรายได้ส่วนหนึ่งปใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะเลยคุยหาไอเดียกับ คุณจืด (หุ้นส่วน) ว่าทำอะไรกันดี ตัวผมเองนอกจากทำงานศิลปะแล้วก็เป็นคนสนใจเรื่องอาหาร เลยอยากลองเปิดร้านขนม ประกอบกับช่วงนั้นมีเพื่อนชวนมาเช่าพื้นที่ในราคาไม่แพงมากก็เลยตัดสินใจลองเปิดร้านอาหารดู ตอนแรกก็คุยกันว่าจะขายอาหารแบบไหนดี สุดท้ายก็มาตกที่ขนมโตเกียวและขนมทาโก
พิพิธภัณฑ์ฯ: ทำร้านอาหาร เรียนด้านศิลปะแล้วไหงมาสนใจการเมือง?
นะ: ต้องเล่าย้อนไปว่าครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่สนใจการเมือง สมัยเด็กๆที่บ้านก็เคยพาไปม็อบพันธมิตรกู้ชาติช่วงไล่ทักษิณช่วงนั้นผมก็ยังมีความเห็นทางการเมืองคล้อยตามไปกับคนที่บ้าน ช่วงม.ปลายที่ผมมีโอกาสเจอกับเพื่อนที่ชอบทักษิณ เคยถกเถียงประเด็นการเมืองกัน แต่ผมก็ยังมีความคิดความเชื่อของผมแบบหนึ่งและผมได้มารู้จักสื่ออย่าง Way Magazine ผมมาเริ่มเปลี่ยนความคิดก็ตอนเรียนมหาลัยที่โลกมันกว้างขึ้น ที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน ผมเริ่มเปิดตัวเองรับข้อเท็จจริงใหม่ๆสุดท้ายผมก็เลยคล่อยๆเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้แต่ติดตามข่าวแบบคนทั่วไปเท่านั้น
พิพิธภัณฑ์: แล้วหมุดอันแรกมายังไง?
นะ: เราเปิดร้านช่วงเดือนเมษา 62 พอเดือนมิถุนาผมจำไม่ได้แน่ชัดว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับหมุดซักอย่าง แต่จำได้ว่าคุยกับคุณจืดที่เป็นหุ้นส่วนว่าเฮ้ยเราน่าจะลองทำอะไรซักอย่างนะช่วงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เราขายโตเกียวก็เลยคุยกันว่าลองวาดรูปหมุดกันดีไหม ว่าแล้วเราก็เอาขวดแป้งมาร่างลายเส้นบนเตา จากนั้นก็ค่อยๆลงแป้งจนได้เป็นหมุด เท่านั้นยังไม่พอคุณจืดยังวาดรูปอาจารย์ปรีดีบนเป็นเวอร์ชันเครปอีกด้วย แต่ครั้งนั้นเราไม่ได้ทำขายนะแค่โพสต์ขึ้นทางสื่อออนไลน์ของร้ายคนก็ฮือฮาสนใจพอสมควร
พิพิธภัณฑ์: วาดยากไหม ใช้เวลาทำนานหรือเปล่า
นะ: รูปหมุดนี่ผมเป็นคนทำ ใช้เวลาไม่นานประมาณ 20 นาที เริ่มจากใช้แป้งที่อยู่ในขวดบีบขึ้นลายก่อน แล้วค่อยๆเอาแป้งอีกส่วนหนึ่งเติมลงไปแล้วก็พลิกกลับด้าน แต่รูปปรีดีจะทำยากหน่อย คุณจืดเป็นคนทำ เขาวาดเก่งเลยหล่ะ ตอนแรกก็วาดเส้นส่วนหัวก่อนแล้วค่อยๆเติมหูตาจมูกปาก ตอนทำรูปปรีดีคุณจืดจะทิ้งแป้งบางส้วนให้เกรียมคล้ายเป็นการแรงเงาภาพ
พิพิธภัณฑ์: แล้วที่มาทำขายจริงจังคือปีนี้?
นะ: ใช่ครับ ปีนี้เราทำขายสองครั้ง ครั้งแรกตอนเดือนมิถุนายน เราทำเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอี๊ดอ้าด กิจกรรมที่เราตั้งใจจะช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 กิจกรรมอี๊ดอ๊าดนี่เราตั้งชื่อโดยเล่นกับคำพ้องเสียงคือในภาษาอังกฤษมันหมายถึงกินศิลปะหรือศิลปะกินได้ (eat - กิน art - ศิลปะ) แต่พอเขียนเป็นภาษาไทยมันก็เหมือนเป็นซาวนด์อย่างหนึ่ง อี๊ดอ๊าดไรงี้ ช่วงนั้นมันมีร้านอาหารหลายที่ที่ทำอาหารแจก แต่ร้านของเราได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดห้ามนั่งกินในร้านทำให้รายได้หดหายจะไปทำอาหารแจกก็ลำบากเพราะเราเองก็ยังต้องพยุงตัวเอง
เลยคิดกันว่าอะไรที่พอทำได้ อะไรที่เราพอมี ก็คือเพื่อนฝูงและงานศิลปะ พอทางรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการให้นั่งกินที่ร้านได้โดยมีมาตรการเว้นระยะห่าง มีฉากกั้น เราเลยชวนเพื่อนฝูงที่เป็นศิลปินมาวาดภาพแล้วติดแสดงบนฉากกั้น คล้ายๆให้อยู่เป็นเพื่อนลูกค้าที่ต้องนั่งแยกโต๊ะ แล้วถ้าลูกค้าชอบภาพวาดชิ้นไหนก็ซื้อได้ในราคาสามร้อยบาทโดยเงินทั้งหมดจะบริจาคเข้ามูลนิธิกระจกเงาที่เป็นหน่วยงานที่เราเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือและทำงานแบบมืออาชีพ
พิพิธภัณฑ์: โครงการนี้ได้ติดต่อพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) เป็นเรื่องเป็นราวไหมครับ
นะ: เราเคยติดต่อไปทางไลน์ของมูลนิธิเพื่อแจ้งเค้านะ แต่เค้าไม่ได้ตอบข้อความเราซึ่งก็เข้าใจได้ว่าพวกเขายุ่งกันมากในช่วงนั้น ซึ่งทางร้านก็ตัดสินใจเดินหน้าโครงการแล้วบริจาคเงินแบบที่บุคคลทั่วไปบริจาคกันซึ่งเอาเข้าจริงเราก็สบายใจกับวิธีการแบบนั้นนะ ไม่ต้องทำให้เป็นพิธีรีตรองหรือเป็นทางการอะไร ทุกๆวันเวลามีคนซื้อภาพเขียนหรือสินค้าอื่นอย่างสมุดโน๊ตที่เราใช้ใบสั่งอาหารใช้แล้วมาเย็บเป็นกระดาษรียูส เราก็จะนำมายอดมาเคลียร์แล้วโอนเงินพร้อมชี้แจงต่อสาธารณะ
พิพิธภัณฑ์: แล้วหมุดคณะราษฎรอยู่ตรงไหนในแคมเปญนี้
นะ: วันที่ 24 มิถุนาผมก็คุยกับเพื่อนว่าเอเราจะทำอะไรสนุกๆกันดี เราอยากรำลึก 24 มิถุนา แต่ก็อยากทำในแบบของเรา ก็เลยตัดสินใจประชาสัมพันธ์ว่าเราจะทำเครปรูปหมุดขาย แต่จะทำแค่วันเดียว แล้วรายได้ทั้งหมดจากการขายเครปรูปหมุดจะเป็นเงินบริจาคของโครงการอี๊ดอ๊าด วันนี้ก็มีคนออเดอร์มาเยอะพอสมควรเลย บางคนกินที่ร้าน บางคนออเดอร์ให้ไปส่ง สรุปยอดแล้วเราขายเครปหมุดได้มาพันกว่าบาทก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
พิพิธภัณฑ์: แล้วรอบสองที่ไปขายจริงจังหล่ะใครชวนไปยังไง
นะ: ผมอยู่ในแวดวงศิลปะก็พอจะรู้จักเพื่อนศิลปินอยู่บ้าง ตอนที่กลุ่ม Free Art ประกาศจัดงานศิลปะปลดแอกเมื่อวันที่ 13 กันยา ที่หอศิลป์ พี่กระเดื่อง (ศิลปินเจ้าของแบรนด์ Iconoclastor) ที่เคยทำงานวาดชิ้นหนึ่งส่งมาร่วมกับโครงการอี๊ดอ๊าดเป็นคนชวนทางร้านเราไปทำขนมที่เป็นรูปหมุดขายในงาน เมนูวันนั้นเราเลยนำเสนอหมุดที่ทำเป็นเบอร์เกอร์ขายคู่กับไส้กรอกก็มีคนมาอุดหนุนเยอะพอสมควร
พิพิธภัณฑ์: ล่าสุดเห็นว่าทำรูปหมุดคณะราษฎรที่สองด้วย อันนั้นทำขายด้วยเปล่า
นะ: วันที่ 19 กันยา ผมไปด้วยนะ แต่ไม่ได้ไปขาย ไปในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง ทีนี้ผมก็มาเห็นข่าวเรื่องการฝังหมุดที่สองแล้วมันก็สวยดี วันที่ 20 พอดีมีเพื่อนแวะมาที่ร้านผมเลยลองทำให้เพื่อนกินแล้วถ่ายรูปกัน จริงๆเครปรูปหมุดที่สองนี่ผมทำก่อนมันถูกถอนอีกนะ แต่พอทำเสร็จยังตัดสินใจว่าจะยังไม่โพสต์รูป สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำรูปหมุดที่สองไม่ใช่การถอนแต่ผมไปเห็นเพจเพจหนึ่งที่เอาหมุดคระราษฎรที่สองมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชันที่สดใสผมก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ
งานลักษณะนี้ผมเรียกว่างานแฟนอาร์ท คือเอางานที่ศิลปินต้นฉบับสร้างมาต่อยอด ผมเองทำร้านอาหารก็เลยคิดว่าถ้าจะต่อยอดในแบบของผมมันก็ควรจะอยู่บนจานเลยวาดเป็นเครปลายหมุด ทีนี้พอหมุดหายมันก็กลายเป็นว่าคนยิ่งมีแรงบันดาลใจเอาไปตบแต่งต่อเติมเป็นแบบนั้นแบบนี้จนที่สุดมันเรียกได้ว่าหมุดมันหาย หายไปอยู่ในใจของผู้คนนั่นแหละ ถอนไปมันก็ไม่มีประโยชน์แล้ว หลังหมุดหายผมก็เอารูปมาโพสต์ก็มีคนชอบนะ หลายคนก็เชียร์ให้ขายแต่ผมก็คิดว่าอยากแค่ทำกินเองและโพสต์เป็นงานหนึ่งชิ้นก่อน ยังไม่อยากทำขาย
พิพิธภัณฑ์: แล้วมองว่าอะไรทำให้ 2475 ที่ครั้งหนึ่งเหมือนเป็นเรื่องราวที่ถูกลืมกลับมาอีกครั้งในฐานะวัฒนธรรมร่วมสมัย
นะ: ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่มันส่งต่ออย่างรวดเร็วในยุคนี้ ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ทีนี้พอหมุดอันแรกมันหายไปคนก็ส่งสัย อยากรู้ว่ามันก็อยู่กันดีๆตรงนั้นมานานทำไมอยู่ๆหายไป รูเล็กๆของหมุดที่หายไปมันไปกระตุ้นความสงสัยให้คนอยากรู้ว่ามันมีอะไรอยู่ใต้รูที่โบ๋ไปนั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คนในรุ่นผมหรือรุ่นเด้กกว่าผมมองเห็นจากใต้รูนั้นส่วนหนึ่งคือการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของคนรุ่นเก่าที่มีทัศนคติบางอย่าง ที่บอกให้เราเรียนไป ทำหน้าที่ของเราไป เราไม่มีที่ทางในการเมือง ไม่สามารถกำหนดการเมืองได้แต่สุดท้ายการเมืองกระทบพวกเราเต็มๆ
2475 หรือตัวหมุดมันเลยกลายเป็นสัญลักษณื เป็นไอคอนบางอย่างที่ทำให้เรายึดโยงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ของหลักการที่ทุกคนเท่ากัน มันเลยถูกชูขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อสู้กับสภาวะที่มันมีคนบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าคนอีกกลุ่มว่า เฮ้ย ทุกคนเท่ากันนะอะไรแบบนั้น
พิพิธภัณฑ์: แล้วหมุดแรกกับหมุดที่สองมันต่างกันยังไง
นะ: หมุดเก่ามันคือ ต้นฉบับ original ส่วนหมุดใหม่มันคือความร่วมสมัย คือเอาจริงๆแล้วถ้าย้อนกลับไปในวันนั้นหมุดเก่ามันก็คือของใหม่นะ ทั้งในแง่ของศิลปะหรือการออกแบบที่พยายามจะไปให้พ้นจากความเป็นจารีต เช่นเดียวกับที่คณะราษฎรพยายามนำศิลปะแนวอาร์ต เดโคจากยุโรปซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาแทนศิลปะแบบจารีต ในทางการเมือง ระบอบใหม่ที่สถาปนามันก็ใหม่และขัดอย่างสิ้นเชิงกับระบอบเดิมในสมัยนั้น
แต่ตอนนี้มันก็ผ่านไป 88 ปีแล้ว หมุดที่ใคยใหม่กลายเป็นเก่า เป็นoriginal ไป แต่หมุดใหม่มันคือความร่วมสมัยของพวกเรา เราได้เห็นสัญลักษณ์สามนิ้วที่ยึดโยงคนในรุ่นเราถูกนำไปวาดบนหมุด และวาดด้วยลวดลายที่เป็นศิลปะร่วมสมัยของยุคเรา แต่เราก็ยังเห็นความพยายามเชื่อมโยงหรือยึดโยงกับอดีตอยู่นะถ้าไปดูที่คำจารึกบนหมุดใหม่ เหมือนกับพยายามจะสื่อว่าภารกิจของยุคนั้นมันยังไม่จบและคนรุ่นเราจะสานต่อ และที่สำคัญหมุดใหม่มันไม่ใช่แค่หมุดแต่มันคือมีมทุกคนเข้าถึงมันได้ง่ายกว่า
พิพิธภัณฑ์: แล้วตัวนะหรือทางร้าน มองที่ทางของตัวเองในขบวนการเคลื่อนไหวยุคนี้อย่างไร
นะ: ในฐานะปัจเจก ตัวผมก็คงติดตามการเมืองและไปร่วมกิจกรรมอะไรบ้างเท่าที่พอจะทำได้ แต่ในฐานะร้าน ผมก็มีความรับผิดชอบต่อร้าน ถ้าผมทำอะไรแบบ "ไปสุด" แน่นอนมันไม่ใช่แค่ผม แต่ยังมีหุ้นส่วนไปจนถึงครอบครัวที่วันนี้เป็นคนทำแป้งให้ด้วย (หัวเราะ) แต่สิ่งหนึ่งที่พอทำได้คือผมอยากให้ร้านเป็นพื้นที่เล็กๆของการทำงานสร้างสรรค์ งานศิลปะ ชั้นสามของร้านเรามีพื้นที่สำหรับคนที่อยากทำงานสร้างสรรค์ซึ่งในอนาคตก็อาจมีนิทรรศการศิลปะเล็กๆอะไรแบบนี้ ซึ่งการเป็นพื้นที่เล็กๆน่าจะเป็นอะไรที่ผมและทางร้านอาจจะพอทำได้