Skip to main content

พิพิธภัณฑ์สามัญชน จัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน @Kinjai Contemporary ระหว่าง 26 กุมภาพันธ์ - 27 มีนาคม 2565 นิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์สามัญชน การจัดงานในครั้งนี้นอกจากทางพิพิธภัณฑ์กับ Kinjai Contemporary ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่แล้ว iLaw, พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย(Thai Labour Museum), นักเรียนเลว, PrachathipaType และ กลุ่มปฏิกิริยา (Counterreaction) ยังได้เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในการจัดงาน ทั้งร่วมจัดสิ่งของมาจัดแสดงและร่วมจัดกิจกรรม Site Event ระหว่างนิทรรศการ  

นิทรรศการในครั้งนี้ทางพิพิธภัณณฑ์ตั้งใจสื่อสารว่า ถ้าพิพิธภัณฑ์สามัญชนมีอาคารหรือพื้นที่ทางกายภาพขึ้นมา เราจะบอกเล่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนผ่านของสะสมออกมาเป็นแบบไหน หรือเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และของสะสมหลักๆที่จะถูกนำออกมาจัดแสดงจะมีอะไรบ้าง 

นิทรรศการครั้งนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนย่อย

ชั้นลอยแบ่งการจัดแสดงเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือห้องวิดิทรรศน์ฉายสารคดีสั้นที่จัดทำโดยทีมงาน Kinjai Contemporary สารคดีนี้บอกเล่าที่มาของพิพิธภัณฑ์สามัญชน คอนเซปของนิทรรศการ และของสะสมบางชิ้นที่เป็นไฮไลท์ ส่วนที่สองเป็นส่วน "ม็อบจำลอง" จัดแสดงป้ายผ้าที่เคยใช้ในการชุมนุม ทั้งป้าย "นักศึกษาชุมนุมระวังอนาคตดับ - ขอบคุณนะคะที่กล้าสอนหนู" ที่เคยถูกใช้ในการชุมนุมช่วงต้นปี 2563 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ป้าย #มขพอกันที ที่เคยถูกใช้ที่การชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่น และป้าย Fcuk Dictator ที่เคยใช้ที่ม.บูรพา และก่อนจบนิทรรศการประมาณสองสัปดาห์คุณโชคชัย นำป้ายไวนิลที่เคยถูกแขวนบนรถเมลที่จอดอยู่หน้ารัฐสภาเกียกกายระหว่างการสลายการชุมนุม 17 พฤศจิกายน 2563 มามอบให้ เราจึงนำมาจัดแสดงที่โซนนี้ด้วย 

ชั้นสอง. คือส่วนของ "ห้องเสื้อสามัญชน จัดแสดงเสื้อยืดที่มีลวดลายสัญลักษณ์ทางการเมืองต่างๆรวม 84 ตัว มีทั้งลวดลายเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475, เสื้อของกลุ่มคนเสื้อแดง, เสื้อของกลุ่มกปปส. และกลุ่มศปปส. เสื้อของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและเสื้อรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ เสื้อที่ใช้ในการรณรงค์ช่วงปี 2563 - 2564 และเสื้อที่สกรีนลวดลายเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

เสื้อยืด 2475 เชื่อกูแต่แรกก็จบแล้ว - เป็นเสื้อที่กลุ่มนักกิจกรรมใช้รูปของจอมพลป.พิบูลสงครามเพื่อล้อเลียนเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำให้มองได้ว่านักกิจกรรมรุ่นใหม่ใช้บทบาทของคณะราษฎรมาปรับเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมือง

เสื้อยืดไพร่ - เป็นเสื้อที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับจากผู้ชุมนุมเสื้อแดงท่านหนึ่ง เสื้อตัวนี้เป็นกระแสในช่วงหนึ่งเนื่องจากคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มักใส่ขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุมเสื้อแดงอยู่บ่อยครั้ง

เสื้อกำนันสุเทพ- เป็นเสื้อของผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคจากผู้ชุมนุมเสื้อแดงคนหนึ่ง นอกจากลดลายปกติของเสื้อแล้วบนตัวเสื้อยังมีร่องรอยการใช้งานในฐานะ "ผ้าขี้ริ้ว" ติดมาด้วย

เสื้อหมุดราษฎร 2563  - เป็นเสื้อยืดพิมพ์ลายหมุดคณะราษฎร 63 ที่ถูกนำไปปักบนพื้นสนามหลวงในช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน 2563 ระหว่างการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร แม้ว่าตัวหมุดจะถูกฝังไว้ที่สนามหลวงได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็ถูกถอดออกไป แต่ลวดลายของหมุดได้ถูกนำไปแจกจ่ายแล้วสร้างสรรค์เป็นผลงานอื่นๆอีกมากมาย  

เสื้อ112 handmade - เป็นเสื้อที่ถูกทำขึ้นแบบเร่งด่วนเพื่อมอบให้นักกิจกรรมสวมใส่ในวันเดียวกันเพื่อไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ลวดลายบนเสื้อใช้สีมาเขียนเป็นตัวเลข 112 และมีสีน้ำเงินขีดคาด ต่อมาในภายหลังมีการนำลวดลายนี้ไปทำเป็นลวดลายแบบสกรีนขายด้วย

ชั้นสามของแกลอรีเป็นห้องจัดแสดงหลัก ที่รวบรวมของสะสมของทางพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงแยกตามเหตุการณ์ ไล่ตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 เหตุการณ์เดือนตุลา เหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภาคม2535 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง จนถึงการชุมนุมของนักศึกษาราษฎรในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีส่วนจัดแสดงของสะสมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และความรุนแรงที่มีมูลเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองด้วย

เหรียญปราบกบฎหรือเหรีญญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ2476 - เป็นของสะสมที่เก่าแก่ที่สุดในนิทรรศการและของพิพิธภัณฑ์ เหรียญนี้รัฐบาลคณะราษฎรจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้ข้าราชการและราษฎรที่มีส่วนช่วยเหลือในเหตุการณ์ปราบกบฎคณะกู้บ้านกู้เมืองหรือกบฎบวรเดช 

ถ้วยต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน ถ้วยพิมพ์ข้อความต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นมรดกจากยุคสงครามเย็นที่แสดงให้เห็นถึงโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ถูกขุดพบโดยบังเอิญที่จังหวัดสกลนคร ส่วนผ้าพันคอของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ญาติของอดีตลูกเสือชาวบ้านเป็นผู้มอบให้โดยระบุว่าเขาไม่ต้องการเก็บรักษาผ้าพันคอดังกล่าวไว้อีกต่อไป

จดหมายของลุงนวมทอง - หลังจากนวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถแทคซีชนรถถังของรัฐบาลเพื่อต่อต้านรัฐประหาร นวมทองได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ระหว่างนั้นมีทหารคนหนึ่งออกมากล่าวทำนองว่าไม่มีใครยอมตายเพื่ออุดมการณ์จริงๆหรอก นวมทองจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ก่อนจะผูกคอตายที่สะพานลอยหน้าสำนักงานไทยรัฐในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 จดหมายจำลองของนวมทองที่จัดแสดงในงานนี้เป็นทรัพย์สินของภรรยาลุงนวมทองที่ทางพิพิธภัณฑ์ขอยืมมาจัดแสดง

หนังสือกรุงเทพไม่มีคนเสื้อแดง - บันทึกเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ต้นจนถึงช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 เขียนโดย "ปืนลั่นแสกหน้า" สมาชิกเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน

แถลงการณ์เปื้อนเลือดของรุ้งปนัสยา เป็นแถลงการณ์ฉบับที่รุ้งปนัสยาอ่านในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ระหว่างการชุมนุมเปิดตัวการรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยรุ้งได้กรีดแขนตัวเองระหว่างอ่านแถลงการณ์เป็นเลข 112 ส่งผลให้เลือดของรุ้งหยดลงบนแถลงการณ์

ชั้นสี่ของแกลอรีเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการว่าด้วยมาตรา 112 จากไอลอว์ ที่มีทั้งรายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีที่ถูกนำเสนอในรูปแบบม้วนกระดาษยาวซึ่งหากดูจากสถานการณ์ในขณะที่จัดนิทรรศการ (มีนาคม 2565) ก็ดูเหมือนว่าหากมีการจัดนิทรรศการอีกครั้งรายชื่อคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ก็คงจะยืดยาวออกไปอีก นอกจากนั้นก็มีตัวอย่างเอกสารคดีและภาพถ่ายพร้อมเรื่องราวของจำเลยคดีมาตรา 112 บางส่วนว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนและถูกดำเนินคดีเพราะอะไร

นอกจากการแสดงของสะสมแล้ว พิพิธภัณฑ์สามัญชน จัดกิจกรรมวงพูดคุยในประเด็นที่หลากหลาย ทั้งพูดคุยเรื่องบทบาทพิพิธภัณฑ์ทางเลือก ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่รณรงค์ในประเด็นมาตรา 112 และการใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือในการรณรงค์ทางการเมือง ด้วย   

วงสนทนาพิพิธภัณฑ์นอกกระแสกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ภาคสามัญ - พูดคุยกับตัวแทนพิพิธภัณฑ์แรงงานและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนในประเด็นเกี่ยวกับการทำงานในฐานะผู้บันทึกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ภาคประชาชน รวมถึงเรื่องราวของของสะสมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

จากครก.112 ถึง ครย.112 : ทบทวน 10 ปี ข้อเสนอภาคประชาชนว่าด้วยมาตรา 112 - พูดคุยกับ ยิ่งชีพ อัฌฌานนท์ และ อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธ์ ในประเด็นเกี่ยวกับการรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรา112 ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ราษฎรเมาท์มอยและกิจกรรม แกน-นำ-ทัวร์ - ชวนเพนกวิน รุ้ง ไมค์ และเบนจา มาเป็นคำนำชมนิทรรศ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับของสะสมผ่านมุมมองและความทรงจำของพวกเขา และพูดคุยถึงประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 

อยากจะม็อบขาดพร็อบได้ไง - พูดคุยกับนักออกแบบและนักกิจกรรมที่ใช้งานศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากกลุ่มศิลปะปลดแอก ไอลอว์ และประชาธิปไทป์ ถึงความสำคัญของงานศิลปะที่มีผลต่อการรณรงค์ทางเมือง

เรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์

ภาพถ่ายบางส่วนโดย Kinjai Contemporary