สนามหลวงคือลานขนาดใหญ่ที่สร้างติดกับพระบรมมหาราชวัง โดยในอดีตหน้าที่หลักของสนามหลวงคือเป็นลานที่ใช้สร้างพระเมรุเพื่อถวายพระเพลงพระบรมศพ หรือพระศพของเจ้านาย รวมทั้งใช้ประกอบพระราชพิธีอื่นๆ และยังเคยใช้เป็นแปลงนาในสมัยรัชกาลที่ 3
สนามหลวงถูกเปิดให้สาธารณะร่วมใช้ในฐานะพื้นที่สาธารณะครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 สำหรับความเป็นพื้นที่ทางการเมืองของสนามหลวงน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2498 ที่จอมพลป.เปิดให้ประชาชนสามารถพูดปราศรัยทางการเมืองได้ เลียนแบบจากการพูดการเมืองที่สวนสาธารณะไฮด์ในอังกฤษ (ไฮด์ปาร์คคือชื่อสวนสาธารณะแต่ในบริบทของไทยถูกใช้ในความหมายการปราศรัย)
สนามหลวงถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2520 แล้ว (ดูประกาศราชกิจจานุเบกษา) โดยในวันเดียวกันกับที่มีการขึ้นทะเบียนสนามหลวง วัดอีกหลายแห่งทั้งในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีก็ยังถูกประกาศขึ้นทะเบียนด้วยเช่นกัน
เท่าที่มีข้อมูลพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม 2535) ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามการชุมนุมในพื้นที่โบราณสถานโดยตรง และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็มิได้กำหนดให้พื้นที่โบราณสถานที่เป็นพื้นที่ต้องห้ามหรือพื้นที่จำกัดการชุมนุมตามมาตรา 7 และ 8 ตัวบทที่อาจเกี่ยวข้องมากที่สุดน่าจะเป็นมาตรา 32 ของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งกำหนดว่า
"ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
แม้สนามหลวงจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2520 แต่ก็ยังมีบทบาทในฐานะพื้นที่จัดการชุมนุมโดยประชาชนและพรรคการเมืองเรื่อยมา เช่น การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารหลังการรัฐประหาร 2549 การชุมนุมของกลุ่มนปก. ขณะที่พรรคการเมือง เช่น พรรคพลังประชาชนก็เคยจัดการปราศรัยใหญ่ก่อนการเลือกตั้งด้วย โดยครั้งหนึ่งเป็นการปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์ที่สมัคร สุนทรเวช และเฉลิม อยู่บำรุง ขึ้นปราศรัยร่วมกันในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชาชน
นอกจากนั้นในอดีตก็มีอย่างน้อยสองกรณีที่สนามหลวงถูกใช้ก่อสร้างเมรุเผาศพราษฎรสามัญ ได้แก่ ผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับทหารคณะกู้บ้านกู้เมืองของพระองค์เจ้าบวรเดช และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมเดือนตุลาคม 2516
การปิดตัวของสนามหลวงในฐานะพื้นที่ทางการเมือง
ในปี 2552 ซึ่งมรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. ทางกทม.ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ และแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งการปรับปรุงระบบระบายน้ำและประปา, การปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบรักษาความปลอดภัย, การปลูกหญ้าและบำรุงต้นไม้, การปรับปรุงทางเท้าและถนน, จากนั้นในปี 2553 กรุงเทพมหานครลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 1 ให้เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ท้องสนามหลวง
ในปี 2555 กทม.ออกระเบียบว่าด้วยการใช้และบำรุงรักษาสนามหลวง
จำกัดประเภทกิจกรรมที่สามารถใช้พื้นที่สนามหลวงได้ 4 ประเภทคือ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสําคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และ การจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี
โดยการจัดงานทั้ง 4 ประเภทจะต้องควบคุมไม่ให้มีการแสดงกิจกรรมหรือข้อความหรือการกระทําด้วยประการใด ที่ไม่เหมาะสม ขัดกฎหมาย หรือในลักษณะเป็นการดูหมิ่นชาติ ศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย หรือของประเทศอื่น รวมทั้งต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีและประเพณีไทยและต้อง ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าด้วยประการใด และไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การที่ระเบียบกทม.กำหนดประเภทกิจกรรมที่ให้จัดได้ไว้ 4 ประเภททำให้กิจกรรมลักษณะอื่นจะไม่สามารถเข้าไปจัดได้และกทม.อาจถือว่าผู้จัดกระทำการบุกรุก
ที่ผ่านมาในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นเวลาหลังกทม.ออกประกาศจำกัดประเภทกิจกรรมที่ทำได้ในท้องสนามหลวงแล้วก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งคือการชุมนุมของกลุ่มคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน ที่ชุมนุมคัดค้านการพิจารณษคดีเขาพระวิหารของศาลโลก ทั้งนี้มีเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่ากทม.ส่งตัวแทนไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้จัดชุมนุมบางส่วนในความผิดฐานบุกรุกโบราณสถาน แต่ไม่มีข้อมูลว่ามีการดำเนินคดีต่อไปหรือไม่และหากมีผลของคดีเป็นประการใด
อ่านเพิ่มเติม
https://theurbanis.com/public-realm/05/12/2019/206
https://m.mgronline.com/qol/detail/9550000107287
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/180/4.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/D/126/5036.PDF