We Volunteer หรือ WeVo เป็นกลุ่มกิจกรรมที่คนทั่วไปรู้จักในฐานะกลุ่มการ์ดอาสาในพื้นที่การชุมนุม ทำหน้าที่ทั้งคอยดูแลความปลอดภัยและเป็นชุดนำขบวนเวลาที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่ใดที่หนึ่ง โดยสมาชิกกลุ่มจะสวมปลอกแขนสีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม
โตโต้หรือปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมที่เคยถูกดำเนินคดีเพราะฉีกบัตรออกเสียงประชามติในปี 2559 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาในปี 2563 โตโต้ (ปิยรัฐ จงเทพ) เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองงานมวลชนอาสา We Volunteer ด้วย
ก่อนที่จะเกิดกลุ่ม We Volunteer โตโต้ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้่าพระนครเหนือเคยเข้่าไปทำกิจกรรมกับนักศึกษาที่พระนครเหนือ ในช่วงที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆเคลื่อนไหวจัดแฟลชม็ิอบในช่วงต้นปี และกลางปี 2563
ในช่วงเวลาดังกล่าว นักศึกษาส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้่าทั้งสามแห่ง ได้แก่ พระนครเหนือ ลาดกระบัง และธนบุรี ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกันในนาม สามพระจอมต่อต้านเผด็จการ โดยในช่วงแรกพวกเขาเคลื่อนไหวภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมใหญ่นอกมหาวิทยาลัยของกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นักกิจกรรมกลุ่มสามพระจอมต่อต้านเผด็จการจึงเริ่มออกเคลื่อนไหวในนามมวลชนอาสาหรือ We Volunteer
ในวันที่ 19 ถึง 20 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง กลุ่ม We Volunteer จึงเปิดรับสมัครสมาชิกเพื่อทำหน้าที่การ์ดอาสา ดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม และดูแลความเรียบร้อยภายในพื้นที่ชุมนุม และทางกลุ่มก็ทำกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าวเรื่อยมา และสมาชิกของกลุ่มก็ขยายออกไปไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง
รัฐภูมิ เลิศไพจิตร เติร์ด โฆษกของกลุ่ม We Volunteer ระบุว่า ทางกลุ่มเลือกทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาเพราะเห็นว่าในขบวนมีคนทำหน้าที่ปราศรัยหรือให้ความรู้แก่ประชาชนอยู่แล้ว และคิดว่าในการชุมนุมเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีคนทำงาน
ที่ผ่านมาสังคมมักมีภาพจำเกี่ยวกับ “การ์ด” หรือ ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม ว่าเป็นผู้นิยมใช้ความรุนแรง แต่เติร์ดยืนยันว่า We volunteer ไม่ได้เป็นแบบนั้น สมาชิกของทางกลุ่มมีทั้งนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ที่มีความเชื่อคล้ายกันว่าแนวทางสันติวิธีปราศจากความรุนแรง จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง และทางกลุ่มก็พยายามที่จะลบภาพจำเดิมๆของการ์ดออกไป
เติร์ดขยายความว่า การที่กลุ่มการ์ดไม่ใช้ความรุนแรงจะช่วยสามารถสร้างความชอบธรรมให้การชุมนุม ทำให้การชุมนุมไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องรุนแรงหรือน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวในปี 2563 ที่ผู้เข้าร่วมมีความหลากหลาย การสร้างสภาพแวดล้อมให้พื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่ปลอดภัยมีความสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้คนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น อย่างครั้งหนึ่งเติร์ดได้ยินคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมบอกว่ารู้สึกปลอดภัยเมื่อเห็นทีมการ์ดของ we volunteer ซึ่งตัวเขาถือว่าเป็นหนึ่งในเสียงตอบรับว่าการทำงานของทางกลุ่มประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
เติร์ดระบุว่าจากบทบาทของกลุ่ม We Volunteer ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุม ทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม สมาชิกกลุ่มเคยถูกจับกุมโดยใช้กำลัง และถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นกองกำลังที่มีอาวุธ ครั้งหนึ่งสมาชิกของกลุ่มเคยถูกจับกุมระหว่างรับประทานอาหารในห้างแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้พื้นที่การชุมนุม โดยที่การจับกุมครั้งนั้นเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือเป็นผู้ทำการจับกุม และต่อมาสมาชิกกลุ่มยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรด้วย
เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ความรุนแรง เติร์ดระบุว่า ที่ผ่านมา We Volunteer พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีการพกอาวุธหรือใช้ความรุนแรงใดๆ เพราะหากข้อกล่าวหาของฝ่ายรัฐเป็นจริงประชาชนย่อมต้องเห็นแล้ว แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยปรากฎการใช้ความรุนแรงจากทางกลุ่มเลย
เติร์ดเล่าต่อว่า กลุ่ม We Volunteer ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมเท่านั้น ในระยะหลังทางกลุ่มเริ่มมีการจัดการชุมนุมและการเคลื่อนไหวของตัวเองด้วย นอกจากนั้นก็ขยายประเด็นการเคลื่อนไหวไปทำงานในประเด็นเศรษฐกิจหรือการเมืองโลกด้วย เช่น ช่วยเกษตรกรขายกุ้งหน้าที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กิจกรรมกรรมขายกุ้งในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่สนามหลวง และวันที่เมียนมาร์เกิดรัฐประหาร กลุ่ม We Volunteer ก็น่าจะเป็นกลุ่มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจของรัฐบาลทหารในประเทศเมียนมาร์
สำหรับตัวของเติร์ดในบรรดาการชุมนุมที่ผ่านๆมาตั้งแต่ปี 63 จนถึงปี 64 เขาประทับใจการเคลื่อนไหวช่วงที่ผู้ชุมนุมปรับขบวนเป็นการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำที่สุด อย่างการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มีประชาชนรวมตัวกัน แต่ไม่มีกลุ่มใดที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำ การชุมนุมครั้งนั้นทำให้ได้เห็นภาพของความช่วยเหลือและความศรัทธาที่มีต่ออุดมการณ์เดียวกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่ออกมาเพราะชอบแกนนำคนไหน แต่ทุกคนออกมาเพราะอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้นจริงๆ
สำหรับเสื้อยืด “กู กบฎ” เป็นเสื้อที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นเพื่อเสียดสีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินว่าการเคลื่อนไหววันที่10 สิงหาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเติร์ดได้เล่าว่า รุ่นน้องคนหนึ่งในกลุ่มเป็นผู้ออกแบบ แต่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน โดยแนวคิดของเสื้อตัวนี้คือ ถ้ารัฐอยากจะให้เราเป็นกบฎ เราก็จะเป็น
เติร์ดอธิบายด้วยว่าทางกลุ่มทำสินค้าออกมาหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากไม่อยากที่จะพึ่งพาประชาชนหรือรับเงินบริจาคจากประชาชนมากนัก ทางกลุ่มจึงพยายามที่จะขายสินค้าของตัวเอง อย่างน้ำปลาร้า WeVo ที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง ก็มาจากประเด็นที่น้องในกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่เมเจอร์รัชโยธิน ทางบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ได้ทำการค้นกระเป๋าแล้วพบน้ำปลาร้า และเจ้าหน้าที่แจ้งกับทีม We Volunteer ว่าน้ำปลาร้าเป็นอาวุธชีวภาพ ทำให้เกิดสินค้าเพื่อเสียดสีเหตุการณ์ดังกล่าว
เติร์ดได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการทำสินค้าออกมาขายเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ หรือทางวัฒนธรรม ว่าครั้งนึงรัฐไทยเคยบอกว่าน้ำปลาร้าคืออาวุธชีวภาพ ทางกลุ่มก็ทำมาขายเองเพื่อไม่ให้คนลืมเหตุการณ์นั้น
We Volunteer ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นการ์ดเท่านั้น ยังมีกลุ่มคนที่มีความสามารถที่หลากหลาย มีทีมสื่อ ทีมอินโฟกราฟฟิก ซึ่งทำให้สามารถเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่ที่ประเทศคาซัคสถาน เพจ We Volunteer ก็นำสถานการณ์มาเปรียบเทียบกับประเทศไทย หรือเมื่อมีสถานการณ์ราคาหมูที่ปรับเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มก็หาข้อมูลว่าเหตุใดราคาหมูจึงปรับสูงขึ้น ก็ได้ทราบว่าเกิดโรคระบาดในหมูแต่ภาครัฐปิดข่าว
ส่วนในช่องทางออฟไลน์ We volunteer ก็พร้อมช่วยเหลือกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่มและทุกสถาบันทางการเมืองที่เห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตย ทางกลุ่มก็พร้อมระดมทรัพยากรที่มีเพื่อช่วยขับเคลื่อนการสร้างประชาธิปไตย
สำหรับเป้าหมายหลักของกลุ่ม We Volunteer เติร์ดระบุว่ามีสองเป้าหลัก หนึ่งคือเป้าหมายในการทำงานในพื้นที่การชุมนุม ทางกลุ่มหวังจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม ทางกลุ่มเห็นว่าถ้าสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมได้ คนจะเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น และเป้าหมายที่สอง ทางกลุ่มหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในสังคมไทยจริงๆ เช่นเดียวกับอีกหลายๆกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์
ขอขอบคุณภาพกิจกรรมจากเฟซบุ๊กเพจ We Volunteer