Skip to main content

ช่วงปี 2563 จังหวัดนนทบุรีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคัก ในขณะที่หลายๆพื้นที่มีกลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวโดยผูกพันกับพื้นที่มหาวิทยาลัย ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว ตั้งชื่อกลุ่มโดยมีความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยหรือมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกลุ่มกิจกรรม “เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี” กลับมีความแตกต่างออกไปเพราะทางกลุ่มเลือกที่จะตั้งชื่อโดยยึดโยงตัวเองเข้ากับพื้นที่แทนที่จะเป็นสถาบันการศึกษา พื้นที่จัดกิจกรรมก็ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะของจังหวัดแทนที่จะใช้สถาบันการศึกษา ที่สำคัญสมาชิกของกลุ่มที่เป็นคนทำงานหลักก็ไม่ใช่นักศึกษา

.

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เมื่อกระแสการชุมนุมในกรุงเทพพุ่งสูงขึ้น เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีเข้ามามีบทบาทกับการชุมนุมของส่วนกลางมากขึ้น ทั้งการเข้ามาแจกน้ำ มาร่วมชุมนุม ร่วมถ่ายทอดสดการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของพวกเขา ในปี 2564 เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรียังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอร่างกฎหมายประชาชน ให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย 

การก่อตัว

เจมส์ เจษฎา หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายเล่าว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีเริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2563 ที่มีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ทางกลุ่มเริ่มมาเคลื่อนไหวแบบเข้มข้นจริงๆในช่วงเดือนตุลาคม 2563 หลังแกนนำคณะราษฎรถูกจับกุม โดยคนที่มารวมตัวเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีในช่วงแรกมีทั้งคนเสื้อแดง มีนักศึกษานิดหน่อย และมีนักเรียนมัธยมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีซึ่งกลุ่มนี้น่าจะมีมากกว่านักศึกษา เจมส์เองยังตกใจที่มีนักเรียนมาร่วมทำกิจกรรมกับทางกลุ่มเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นม.5 และ ม.6 เวลาที่ทางกลุ่มจัดการชุมนุมทั้งที่ปากเกร็ด เซนทรัลเวสเกต หรือกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีกลุ่มนักเรียนมัธยมเข้ามาร่วมชุมนุมเป็นหลัก สำหรับเหตุที่นักศึกษาไม่ได้เป็นกำลังหลักในการเคลื่อนไหวที่นนทบุรี เจมส์มองว่าคงเป็นเพราะในจังหวัดไม่ได้มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ แต่มีโรงเรียนหลายโรงเรียนที่นักเรียนมีความตื่นตัว

.

เจมส์เล่าต่อไปว่า พื้นที่จังหวัดนนทบุรีถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็เคยมีเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงไปชุมนุมคัดค้านการปิดสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว พอสถานการณ์ทางการเมืองมีความเข้มข้นในช่วงปี 2563 ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยการชุมนุมในพื้นที่ครั้งแรกๆอย่างการชุมนุมที่หน้ากระทรวงสาธารณสุขเป็นการจัดชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ มีการเปิดฟรีไมค์ให้คนที่อยากปราศรัยขึ้นปราศรัยได้ ต่อมาเมื่อเริ่มมีการจัดชุมนุมบ่อยครั้งขึ้นในพื้นที่คนที่ไปเจอกันก็เริ่มมีการคุยกันว่าน่าจะตั้งกลุ่มขึ้นมาทำกิจกรรมให้เป็นเรื่องเป็นราว ปัญญารัตน์ หรือ "รัตน์" ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงและเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างยาวนานเริ่มชักชวนนักเรียนหรือคนที่พบเจอในพื้นที่การชุมนุมบางส่วนที่สนใจ มากันตั้งเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างจริงจัง และเปิดเพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารของทางกลุ่ม

.

เจมส์เล่าว่าตัวเขาเองเข้ามาร่วมกลุ่มในภายหลัง โดยก่อนหน้านั้นเขาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่และมักพบกับทีมของรัตน์ในพื้นที่การชุมนุม เขาจึงสนใจเข้าไปพูดคุยจนได้มาเป็นสมาชิกของทางเครือข่าย ซึ่งต่อมาเวลาที่ทางเครือข่ายไปร่วมการชุมนุมไม่ว่าที่ใดก็จะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจโดยเจมส์จะรับหน้าที่เป็นคนบรรยายเหตุการณ์ระหว่างการถ่ายทอดสด สำหรับเหตุผลที่ทางเครือข่ายใช้ชื่อว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เจมส์ระบุว่าเป็นเพราะสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนและทีมงานส่วนใหญ่ก็ยังอายุไม่เยอะประมาณยี่สิบปลายๆถึงสามสิบต้นๆเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุมากกว่านี้จะมาเป็นสมาชิกกลุ่มไม่ได้ 

.

สำหรับโลโกของทางเครือข่ายที่เป็นตัว N สีส้ม มีเจดีย์อยู่ด้านใน เจมส์ระบุว่าเจดีย์ในโลโกคือเจดีย์มอญที่เกาะเกร็ดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนนท์ ส่วนตัว N คือตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวของของชื่อจังหวัด ส่วนที่ทางเครือข่ายเลือกใช้สีส้มเป็นเพราะสีส้มคือการสลายของสีเสื้อ จากเหลืองแดง เปลี่ยนมาเป็นส้ม และสีส้มเป็นสีที่สดใส เปรี้ยว เปรียบเสมือนการแสดงเจตจำนงค์ของเครือข่ายว่าจะทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนานแต่แฝงด้วยความจริงจัง 

การเมือง การพัฒนา เรื่องเดียวกัน 

แม้ในสายตาคนภายนอก ภาพลักษณ์ของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีอาจจะไม่ต่างจากกลุ่มกิจกรรมอื่นๆที่ก่อตัวขึ้นเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในช่วงที่กระแสการเมืองบนท้องถนนมีความร้อนแรง แต่เจมส์มองว่าเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีน่าจะมีความต่างจากกลุ่มกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อตัวในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง เพราะเครือข่ายของเขามีความผูกพันธ์กับพื้นที่ และมีความสนใจในประเด็นการเมืองท้องถิ่นด้วย นอกจากการทำกิจกรรมการเมืองในประเด็นเชิงนโยบายระดับชาติ อย่างการยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎร ทางกลุ่มก็ทำกิจกรรมช่วยเหลือคนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย เช่นการลงพื้นที่แจกของบรรเทาทุกข์เวลามีปัญหาน้ำท่วมหรือปัญหาอื่นๆในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เจมส์ระบุว่าสมาชิกในกลุ่มมีความเห็นในทางเดียวกันว่า หากพวกเขายังไม่สามารถช่วยเหลือหรือพัฒนาพื้นที่จังหวัดนนทบุรีให้ดีขึ้นได้ ก็คงไม่สามารถฝันไกลไปถึงการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองภาพใหญ่ให้สำเร็จได้  

.

สำหรับปัญหาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เจมส์ระบุว่ามีปัญหาสำคัญๆ เช่น เรื่องการคมนาคม การบริการของรถสาธารณะยังไม่ครอบคลุม บางอำเภอยังไม่มีรถประจำทางที่เข้าถึงได้ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว รถไฟฟ้าที่มีก็ไม่ครอบคลุม นอกจากนั้นก็มีปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปี เจมส์ระบุด้วยว่า แม้ทางกลุ่มจะขับเคลื่อนการเมืองบนท้องถนน แต่สุดท้ายปัญหาต่างก็ต้องแก้ไขด้วยระบบการเมือง ทางกลุ่มจึงไม่ปฏิเสธการทำงานกับพรรคการเมือง และในช่วงที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทางกลุ่มก็มีการทำงานและพูดคุยกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในท้องถิ่นเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านกลไกการเมืองตามระบบ

.

อีกประเด็นหนึ่งที่เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีพูดถึงอย่างต่อเนื่องนอกจากประเด็นสามข้อเรียกร้องของราษฎรก็ยังมีประเด็นรัฐสวัสดิการรวมอยู่ด้วย เจมส์สะท้อนว่าปัญหาทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีมีความตื่นตัวทางการเมืองและออกมาเคลื่อนไหว เพราะเมื่อปัญหาเศรษฐกิจกระทบกับครอบครัวของพวกเขา พ่อแม่ขาดรายได้หรือรายได้ลดลง พวกเขาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ได้เงินค่าขนมน้อยลง บางคนต้องเริ่มห่อข้าวไปกินที่โรงเรียนเพื่อประหยัดเงิน ปัญหาเศรษฐกิจและการไม่มีรัฐสวัสดิการจึงเป็นประเด็นที่ทางเครือข่ายมักหยิบยกมาปราศรัย เพราะเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับชีวิตของทุกๆคน และเป็นประเด็นที่ทำให้ทุกคนสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ถ้าการเมืองดี ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร เพราะภายใต้รัฐเผด็จการที่ประชาชนไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ผู้นำเผด็จการคงไม่สนใจสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน  

ทัพเรือบุกสภา

เจมส์ระบุว่า สถานที่จัดชุมนุมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีมีค่อนข้างจำกัด เวลาจัดการชุมนุมพวกเขาจึงมักเวียนไปใช้สถานที่เดิมๆ เช่น ท่าน้ำนนท์ เซ็นทรัลเวสเกต รวมถึงสี่แยกแคราย ซึ่งเวลาจัดแต่ละครั้งก็จะมีคนมาร่วมชุมนุมอยู่ไม่น้อย นอกจากการชุมนุมในพื้นที่สิ่งหนึ่งที่ทางกลุ่มจะทำไม่ได้ขาดคือการไปร่วมการชุมนุมในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพ และใช้เพจเฟซบุ๊กของทางกลุ่มรายงานสถานการณ์ให้แฟนเพจและคนในพื้นที่ที่ไม่สามารถไปร่วมชุมนุม ได้ติดตาม เจมส์ระบุว่า เพจของทางเครือข่ายไม่ได้มีคนติดตามแค่ในจังหวัดนนทบุรีแต่มีคนติดตามทั่วประเทศ รวมถึงอาจจะมีคนที่อยู่ต่างประเทศติดตามด้วย ซึ่งเจทส์คิดว่าการถ่ายทอดและการบรรยายเหตุการณ์ของเขาน่าจะถูกใจแฟนคลับอยู่บ้าง สังเกตจากที่เวลาเขาไปร่วมชุมนุมและไม่ได้ Live ก็มักจะมีคนทักมาถามว่าไม่ Live เหรอ 

.

สำหรับการชุมนุมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในกรุงเทพที่ทางเครือข่ายไปเข้าร่วม คือการชุมนุมติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย ครั้งนั้นนับเป็นการชุมนุมที่พิเศษเพราะเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีประกาศเข้าร่วมเป็น "ทัพเรือ" เตรียมเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพด้วยการเหมาเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นบกที่ท่าน้ำเกียกกาย เจมส์ระบุว่า ตอนที่ประกาศจัดกิจกรรมเคลื่อนทัพเรือไปรัฐสภา เขากับเพื่อนๆก็คิดกันว่า แค่เหมาเรือไปเกียกกายคงไม่น่ามีอะไร แต่ปรากฎว่าการทำกิจกรรมครั้งนั้นกลับเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค

.

หลังประกาศนัดหมายเคลื่อนพลด้วยทัพเรือ ปรากฎว่ามีตำรวจทั้งไปล้อมบ้านทั้งโทรข่มขู่เจ้าของเรือที่ทางกลุ่มไปเหมาเรือไว้ว่าไม่ให้ออกเรือ ถ้ายอมให้ทางเครือข่ายเช่าเรือจะผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดี ทำให้สุดท้ายเรือที่เหมาไว้ทั้งสิบลำก็ไม่มา แต่เนื่องจากเรือด่วนเจ้าพระยายังคงวิ่งตามปรกติ ทางกลุ่มจึงเปลี่ยนแผนตีตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยาเข้ากรุงเทพแทน คนที่จะไปร่วมชุมนุมก็ขึ้นเรือตีตั๋วเหมือนผู้โดยสารทั่วไป เจมส์เล่าอีกว่าหลังจ่ายเงินค่าตั๋วเขากับเพื่อนๆในเครือข่ายก็ประกาศบนเรือว่าพวกเขาจะไม่รับเงินคืนทุกกรณี ขอให้เรือไปส่งพวกเขาให้ถึงที่หมายเท่านั้น จากนั้นเรือก็แล่นไปตามปรกติ ประมาณ 30 นาที ก็ถึงท่าน้ำเกียกกาย แต่ปรากฎว่าเรือไม่ยอมเข้าเทียบท่า เจมส์กับเพื่อนๆจึงทำการ "ยึดเรือ" เจมส์เดินไปข้างๆคนขับและบอกว่าถ้าไม่ให้พวกเขาลงที่ท่าน้ำเกียกกายจะขออนุญาตดับเครื่อง จากนั้นเขาก็ประกาศกับผู้โดยสารบนเรือว่า 

.

“พี่น้องที่เคารพครับ เราไม่ได้อยากมีเรื่องกับท่าน หากท่านไปช้าไม่ใช่ความผิดผม แต่เขาไม่ยอมจอดให้ผมลงสถานีนี้ เพราะฉะนั้นเราจะลอยอยู่ตรงนี้หละครับ ไม่ไปไหนครับ แล้วผมจะดึงกุญแจแล้วนะครับ” คนขับเรือจึงประสานงานกับตำรวจให้ว่าเขาจะยึดเรือแล้วจะให้ทำยังไง สุดท้ายตำรวจก็ยอมให้เรือเทียบท่า แต่ตอนแรกก็ยังเข้าท่าไม่ได้เพราะมีเรือของส.ส.กับส.ว.ที่กำลังออกจากสภาด้วยเรือติดแอร์พวกเขาจึงต้องรออยู่ครู่หนึ่งกว่าจะเทียบท่าได้ ระหว่างที่เรือจอดอยู่บนแม่น้ำ ไบรท์ ชินวัตรกับคนที่มาร่วมชุมนุมอีกคนหนึ่งยังกระโดดลงจากเรือและว่ายน้ำไปขึ้นที่รัฐสภาด้วย เจมส์ระบุว่าแม้ทางกลุ่มจะไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพอยู่ตลอดแต่คงไม่มีครั้งไหนที่เป็นที่น่าจดจำเท่าการชุมนุมที่หน้าสภาอีกแล้ว 

ทางข้างหน้า

เมื่อให้ประเมินภาพรวมการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เจมส์ประเมินว่าเครือข่ายประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวพอสมควร ทางกลุ่มได้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนใหญ่ราษฎรมากขึ้น รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมกับทั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้าอยู่เป็นระยะ ในปี 2564 ทางเครือข่ายยังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎรยกเลิก 112 ซึ่งเคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งการรณรงค์นี้จะเปิดทางให้ข้อเรียกร้องข้อที่สามของราษฎรคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นได้จริงเพราะหากยังมีมาตรา 112 ก็อยากที่จะผลักดันข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปได้ 

แม้การเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนใหญ่จะประสบความสำเร็จแต่เจมส์ก็คิดว่าการไปทุ่มพลังร่วมกับขบวนใหญ่ทำให้ทางเครือข่ายไม่ได้ทำงานกับนักเรียนมัธยมที่เคยมาทำกิจกรรมร่วมกันบางส่วนก็ไม่ได้ติดต่อกันแล้ว น้องๆเองบางส่วนก็หยุดเคลื่อนไหว ทั้งเพราะโดนคดีและโดนที่บ้านสั่งห้าม อย่างไรก็ตามหากมีการเปิดเรียนแบบปกติในอนาคตอันใกล้เจมส์คิดว่าทางเครือข่ายคงจะกลับไปทำงานร่วมกับน้องๆเยาวชนอีกครั้งและจะใช้ประเด็นรัฐสวัสดิการเป็นประเด็นหลักที่จะทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป ควบคู่ไปกับการทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนใหญ่

.

ถอดความและเรียบเรียงโดย อภิรักษ์ นันทเสรี

ภาพการชุมนุมที่เมเจอร์ปากเกร็ด 22 ตุลาคม 2563 จากเพจ เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี