Skip to main content

วันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2564 พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดนิทรรศการ “Unmute 112” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Book Fair 2021 ณ Bangkok Citycity Gallery
.
เทศการหนังสือนี้มีความพิเศษตรงที่ไม่ได้มีแค่การแสดงหนังสือศิลปะ แต่ยังมีการจัดแสดงสิ่งของและ scene ที่สะท้อนสถานการณ์การเมืองในรอบหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมาด้วย โดยในงานมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆที่มาออกบูธเช่น นักเรียนเลว x ประชาธิปไทป์ ที่มาจัดกิจกรรมท่องอาขยาน กถึงฮด้วยคำศัพท์การเมืองร่วมสมัยและ iLaw ที่มาตั้งโต๊ะเข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112
.
สำหรับแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการ Unmute 112 คือการสื่อสารว่าเสียงที่มันดังแล้ว ปิดอย่างไรก็ปิดไม่ได้ 
.
ปุ่ม Mute คือปุ่มกดปิดเสียง
.
ตลอดปี 2563 เสียงของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เริ่มดังขึ้นเป็นลำดับ การออกมาตอบสนองต่อกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ของคนหนุ่มสาว เริ่มพัฒนาไปเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ใหญ่ขึ้น จากความไม่พอใจต่อสภาพปัญหาในประเทศทั้งการบริหารสถานการณ์โควิด ความเหลื่อมล้ำ และการปิดปากผู้เห็นต่าง ผู้ชุมนุมทั้งรุ่นเยาว์และรุ่นเก๋าที่ออกมาเคลื่อนไหวต่างตกผลึกจุดยืนร่วมกันเป็นสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมราษฎร
.
ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ที่แหลมคมขึ้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เหมือนถูก "พักใช้" ไปตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2561 ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังนายกประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563 
.
ดูเหมือนผู้มีอำนาจพยายามที่จะกด Mute เสียงที่ดังอื้ออึงบนท้องถนนจนทำให้พวกเขารู้สึกรำคาญ ทว่ามาถึงวันนี้ปุ่ม Mute ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้งานได้ดีดูจะไม่สามารถปิดเสียงให้เงียบสนิทได้ดังเดิมแล้ว เพราะแม้จะมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้น เสียงจากท้องถนนกลับไม่ได้เงียบลงทว่าพัฒนาเป็นอีกข้อเรียกร้องที่จะเอาปุ่ม Mute อยากมาตรา 112 ออกจากรีโมทของผู้มีอำนาจเสียด้วย
.
++แถลงการณ์เลือดของรุ้งปนัสยา กระดาษชำระมาตรา 112 และจดหมายน้อยจากลูกกปปส ของสะสมที่บันทึกยุคสมัย++
.
ในนิทรรศการ Unmute 112 พิพิธภัณฑ์สามัญชนคัดเลือกของจัดแสดงที่บอกเล่าเรื่องราวของการเคลื่อนไหวเมื่อปี 63 ต่อเนื่องถึงปี 64 และของสะสมเกี่ยวกับมาตรา 112 ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำกลับมาใช้เพื่อกดปราบการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมราษฎร เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถกดปุ่ม “Mute” เสียงของประชาชนที่ค่อยๆดังขึ้นได้อีกต่อไปแม้จะใช้เครื่องมือทรงพลังอย่างมาตรา 112
.
แถลงการณ์เปื้อนเลือดของรุ้งปนัสยา และภาพในวันที่เธอกรีดแขนตนเองเป็นเลข 112 
.
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ระหว่างการชุมนุมราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ รุ้ง ปนัสยาขึ้นไปร่วมอ่านแถลงการณ์ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 และเธอได้ทำการกรีดเลือดตัวเองลงบนแถลงการณ์ 
.
การกรีดแขนของรุ้งในวันนั้นมีนัยยะเพื่อต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 กับประชาชน และแถลงการณ์ที่เธอได้อ่านมีใจความเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของราษฎร และเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง 
.
แถลงการณ์ที่ถูกเซ็นเซอร์
.
คืองานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากแถลงการณ์เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์สิบข้อที่ถูกอ่านระหว่างการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกที่มีการนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันฯอย่างเป็นรูปธรรม โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้ชวนให้ศิลปินท่านหนึ่งมาทำงานศิลปะจากแถลงการฉบับนั้น โดยเราหวังว่าผู้ชมจะได้มีส่วนร่วมในการตีความและขบคิดถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย
.
ป้ายผ้า ราษฎร - อำนาจสูงสุด
.
ป้ายผ้า ราษฏร - อำนาจสูงสุด ครั้งหนึ่งเคยแขวนที่อาคารแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับมาจากเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ป้ายนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าในประเทศนี้ราษฎรคืออำนาจสูงสุด อำนาจสูงสุด ไม่ได้เป็นของ หรือไม่ได้มาจากราษฎรเพราะแท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งคือหนึ่งเดียว 
.
กระดาษทิชชู่พิมพ์ลายหมายเรียกมาตรา 112 
.
กลุ่ม artn’t กลุ่มกิจกรรมศิลปะที่ไม่ใช่ศิลปินจากเชียงใหม่ทำขึ้นเพื่อสื่อว่า กระดาษทิชชู่เป็นสิ่งที่บอบบาง เป็นสิ่งที่ใช้เพื่อชำระสิ่งปฏิกูลแล้วทิ้งไป เหมือนกับกฎหมายมาตรา 112 ที่ถูกใช้อย่างกระจัดกระจาย และพร่ำเพรื่อเหมือนกับกระดาษทิชชู่
.
นกหวีดและจดหมายน้อยจากลูกสาวกปปส
.
ของสะสมชิ้นสำคัญอีหหนึ่งชิ้นคือ นกหวีด จดหมายน้อยและหนังสือรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เราได้รับบริจาคมาจากนักศึกษาคนหนึ่ง เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับนกหวีดกปปส. จากคนในครอบครัว ในตอนนั้นเธอเข้าใจว่านกหวีดเป็นตัวแทนของคนดี การที่เธอมีนกหวีดทำให้เธอได้รับการชื่นชมจากคนรอบตัว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลามาอ่าน ทำให้ทัศนคติทางการเมืองของเธอนั้นเปลี่ยนไป
.
ในส่วนของเสื้อยืดการเมืองที่นำไปแสดง ทางพิพิธภัณฑ์ได้นำเสื้อสกรีนภาพวาดของแกนนำราษฎร ทั้งรุ้ง ปนัสยา, อานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ของ Shirtpaganda เสื้อสกรีนภาพเบนจา อะปัญ เสื้อเพนท์สีเป็นเลข 112 และเครื่องหมายขีดฆ่า เสื้อของกลุ่มทะลุแก๊ซ และเสื้อรูปนักโทษ 112 คนอื่นไปจัดแสดงในนิทรรศการด้วย 
.
ภายในนิทรรศการเรายังจัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนักโทษทางการเมือง ที่ในขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนในเรือนจำมีความหวังได้คือกำลังใจจากเพื่อนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกัน ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจนั้นไปถึงเพื่อนในเรือนจำด้วย
.
ท้ายที่สุดพิพิธภัณฑ์สามัญชนขอขอบคุณผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการทุกท่านที่เข้ามาชมนิทรรศการ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและแชร์ประสบการณ์การเรียกร้องทางการเมือง รวมถึงให้การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ในกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา
เรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์