Skip to main content

ภาคีนักศึกษาศาลายาเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากข่าวพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการจัดชุมนุมครั้งแรกขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 1000 คน

.

ฟรานซิส บุญเกื้อหนุน เป้าทอง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาคีนักศึกษาศาลายาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของภาคีฯว่า ในตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งใจจัดการชุมนุม แต่ในขณะนั้นมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างจุฬาลงกรณ์หรือธรรมศาสตร์ก็มีการชุมนุมในกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่และขับไล่รัฐบาล ทำให้มีการพูดคุยในโซเชียลเน็ตเวิร์คว่าที่มหิดลน่าจะจัดกิจกรรมบ้าง ฟรานซิสเองก็เริ่มมีไอเดีย แต่ยังไม่มีทีมงาน และไม่แน่ใจว่าจะสามารถจัดได้ เนื่องจากในตอนนั้นก็ยังไม่เห็นการตื่นตัวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ภายหลังจากเหตุการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ก็มีเพื่อนในมหาวิทยาลัยสนใจร่วมจัดการชุมนุม จึงตั้งเพจภาคีนักศึกษาศาลายาขึ้นมา โดยมีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกกันภัย เพื่อสื่อว่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม อย่างไรก็ตามเขาตัดสินใจหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “มหิดล” เป็นชื่อเพจเพราะถูกทักท้วง จึงเลี่ยงไปใช้คำว่านักศึกษาศาลายาแทน ส่วนคำว่าภาคีในชื่อของกลุ่ม ได้แรงบันดาลใจจากชื่อ “ภาคีนกฟีนิกซ์” ในหนังเรื่อง Harry Potter

.

ฟรานซิสเล่าต่อว่า หลังโพสต์แถลงการณ์และนัดวันชุมนุมทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ปรากฎว่ามีคนสนใจและแชร์กิจกรรมเป็นจำนวนมาก ก่อนการจัดกิจกรรมก็มีแรงต้านจากทางมหาวิทยาลัย มีอาจารย์พยายามตามหาตัวนักศึกษาที่ตั้งเพจ และมีกระแสตีกลับจากการใช้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีท่าทีไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิดในตอนนั้น ฟรานซิสเล่าว่าทางมหาวิทยาลัยเคยออกแถลงการณ์ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร และทุกครั้งที่จัดกิจกรรมจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ รวมถึงมีรถตำรวจเข้ามาในบริเวณที่จัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย

.

ในช่วงที่จัดกิจกรรมชุมนุมมีนักศึกษามาเข้าร่วมมากกว่าหนึ่งพันคน มีเพื่อนนักศึกษาจากวิทยาลัยศาสนศึกษามาถือป้ายผ้าประท้วง และมีเพื่อนจากคณะแพทย์และคณะอื่นๆมาติดต่อขอพูดปราศรัย ฟรานซิสเองไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากขนาดนั้นเพราะในตอนนั้นทุกคนก็เห็นด้วยว่านักศึกษามหิดลจะไม่ค่อยสนใจการเมือง ทำให้มองว่าการประท้วงในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของภาคีนักศึกษาศาลายา และการจัดกิจกรรมทางการเมืองในมหิดลประสบความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง

.

หลังจากกิจกรรมในครั้งนั้น ฟรานซิสเล่าว่าตั้งใจจะทำภาคีนักศึกษาศาลายาให้เป็นองค์กรที่มีความจริงจังมากขึ้น เนื่องจากตอนนั้นทางกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ พยายามรวมนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อีกเหตุผลหนึ่งคือต้องการให้ภาคีนักศึกษาศาลายาเป็นองค์กรที่สื่อสารกับภายนอกว่านักศึกษามหิดลไม่ได้เพิกเฉยกับสถานการณ์การเมือง จากสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ทางรัฐสภาได้ให้โควตาผู้แทนนักศึกษาเข้าร่วมประชุมกับกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาจากมุมมองของนักศึกษา ตัวฟรานซิสก็มีโอกาสเข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ทางภาคีเองก็พยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อ

.

ภาคีนักศึกษาศาลายามีรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่ง คือสื่อสารกับประชาชน ช่วยรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดชุมนุมประท้วง เนื่องจากสมาชิกตกลงกันว่าการเรียกร้องไม่ใช่แค่เพื่อนักศึกษากลุ่มเดียว แต่เรียกร้องเพื่อประชาชนด้วย 

.

ภาคีตั้งขึ้นในช่วงโควิดทำให้ดำเนินงานยาก และไม่สามารถจัดกิจกรรมได้บ่อยเท่าที่คิดไว้ จึงต้องปล่อยให้สถานการณ์ดีขึ้นไปก่อน ระหว่างนั้นก็มีเพื่อนที่มีข้อจำกัดจากสถานการณ์ เพื่อนที่เคยช่วยการชุมนุมครั้งแรกส่วนหนึ่งเรียนคณะวิทย์ และคณะแพทย์ที่พญาไท ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยหลักคือศาลายาและสถานการณ์โควิดทำให้สมาชิกรุ่นก่อตั้งบางคนไม่สามารถมาร่วมจัดกิจกรรมที่ศาลายาได้เหมือนก่อน ขณะที่บางคนก็ตัดสินใจยุติบทบาทการเคลื่อนไหว

.

ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยกลับมาเปิดหลังการล็อคดาวน์รอบแรก ภาคีนักศึกษาศาลายาจัดการชุมนุมอีกสองครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ในช่วงนั้นมีการจัดตั้งหน่วยแพทย์เพื่อมวลชน โดยได้แนวคิดมาจากกลุ่มแพทย์อาสาของมหิดลในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาเมื่อ 45 ปีก่อน และเป็นช่วงที่จัดทำเสื้อภาคีนักศึกษาศาลายา “History is Not Kind to Man Who Play God” ที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับมา

.

ฟรานซิสเล่าให้ฟังว่าได้ที่มาของประโยคบนเสื้อจากหนังเรื่อง James bond มีความหมายคือประวัติศาสตร์ไม่ปราณีกับคนที่ทำตัวเป็นพระเจ้า โดยคำว่า “พระเจ้า” บนเสื้อเขาตั้งใจสื่อถึงนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่พยายามเล่นบทบาทพระเจ้าอยู่เหนือประชาชน 

.

จุดสูงสุดจุดหนึ่งในการเคลื่อนไหวของภาคีนักศึกษาศาลายา คือสามารถนำประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาเล่าใหม่ในการชุมนุมช่วงเดือนกรกฎาคม  ผ่านเพลงรักน้องที่นักศึกษามักจะคิดว่าเป็นเพลงเชียร์ที่แต่งให้นักศึกษาพยาบาล แต่ในความเป็นจริง จิ้น กรรมาชน ศิษย์เก่ามหิดลแต่งเพลงนี้ให้เพื่อนนักศึกษาที่เข้าป่าในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

.

หน่วยแพทย์เพื่อมวลชนถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญอีกอันหนึ่งของทางกลุ่ม เนื่องจากการชุมนุมในปี 2563 ช่วงแรกๆยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยพยาบาลมาดูแลผู้ชุมนุมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทางภาคีจึงตัดสินใจตั้งหน่วยแพทย์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ ซึ่งนอกจะทำให้ทางภาคีมีหน้าที่ที่จับต้องได้ในการชุมนุมแล้ว ยังเป็นการสานต่อภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่รุ่นพี่มหิดลเคยทำหน้าที่แพทย์อาสาในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาปี 2516 - 2519 ด้วย

.

ฟรานซิสมองว่าภาคีฯเป็นเสียงของนักศึกษามหิดลที่ดังสู่ภายนอก เพราะเมื่อก่อนคนมักจะพูดว่ามหิดลเพิกเฉยกับการเมือง แต่ภาคีทำให้ทุกคนรู้ว่านักศึกษาไม่ได้นิ่งเฉย การเคลื่อนไหวของภาคีนักศึกษาศาลายาที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เป็นความสำเร็จที่ทุกคนมองเห็น แต่อย่างน้อยกิจกรรมและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นก็ถูกบันทึก และมีชื่อของนักศึกษามหิดลในประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตย 

.

หากมองย้อนกลับไปเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2563 ที่เริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อนจะปรับขบวนมาเป็นการชุมนุมของราษฎร ฟรานซิสเห็นว่าความตื่นตัวของนักศึกษาและการจัดการชุมนุมในสถานศึกษาช่วงต้นปี 2563 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวทางการเมืองไปในวงกว้าง ทั้งในหมู่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฎการณ์ที่นักศึกษาหลายๆมหาวิทยาลัยพอจัดชุมนุมก็มักตั้งแฮชแทกทวิตเตอร์เหมือนมา “ขิง” กันอยู่บ้าง ต่อหากมองในภาพใหญ่ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้นักศึกษาหลายๆสถาบันมีโอกาสรวมตัว พูดคุย ถอดบทเรียนร่วมกันจนสุดท้ายพัฒนามาเป็นขบวนการเคลื่อนๆไหวอย่างราษฎร ซึ่งหากช่วงต้นปี 2563 ไม่เกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวางในหมู่นัดศึกษา การเคลื่อนไหวใหญ่แบบที่เห็นในช่วงปลายปีก็อาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่แบบที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่หากไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อนหน้านี้ นักศึกษาและเยาวชนก็อาจจะไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 

.

ในปัจจุบันภาคีนักศึกษาศาลายายุติบทบาทไปแล้ว ขณะที่ตัวฟรานซิสเองก็อยู่ในระหว่างทบทวนบทบาทของตัวเองว่าจะผันตัวมาเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้นเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมีความตื่นตัวทางการเมืองต่อไปในอนาคต ขณะที่นักศึกษามหิดลที่เคยร่วมทำงานในนามภาคีนักศึกษาศาลายาก็ออกมารวมกลุ่มกับประชาชนในจังหวัดนครปฐมจัดตั้งองค์กร “ศาลายาเพื่อประชาธิป ไตย” เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่อไป ขณะที่หน่วยแพทย์อาสาเพื่อมวลชนก็ยังคงทำงานด้านสังคมอยู่ในฐานะกลุ่มอิสระอีกกลุ่มหนึ่ง

.

ถอดความและเรียบเรียงโดย: วรกมล องค์วานิชย์