Skip to main content

ทะลุฟ้า คือกลุ่มกิจกรรมที่เริ่มมาจากกิจกรรม "เดินทะลุฟ้า" เดินเท้าจากโคราชเป็นระยะทาง 247.5 กิโลเมตรเข้ากรุงเทพเพื่อส่งจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ เข้าเรือนจำ ระหว่างการเดินทาง ผู้ร่วมเดินบางส่วนตกผลึกร่วมกันว่าการต่อสู้ของพวกเขาไม่ควรจะจบลงแค่กิจกรรมเดิน จึงร่วมกันตั้ง หมู่บ้านทะลุฟ้า ชุมนุมค้างคืนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ส่วนหนึ่งก็เป็นพื้นที่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดได้พัก อีกทางหนึ่งก็เป็นการทำกิจกรรมสื่อสารเรื่องราวที่พวกเขาได้รับรู้ระหว่างทาง หมู่บ้านทะลุฟ้าตั้งได้ประมาณสองสัปดาห์ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลาย การถูกสลายอาจทำให้หมู่บ้านทะลุฟ้ายุติลง หากแต่มันก็ได้ทำให้นักกิจกรรมในกลุ่มที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันผ่านกิจกรรมเดินและการตั้งหมู่บ้านตกผลึกร่วมกันว่าจะทำกลุ่มกิจกรรมต่อเนื่องในระยะยาวจนเกิดเป็นกลุ่ม ทะลุฟ้า

ต๋ง-ทะลุฟ้า หนึ่งในสมาชิกรุ่นก่อตั้งที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 19 วัน เล่าเรื่องราวของกลุ่มทะลุฟ้าให้ทางพิพิธภัณฑ์ฟังว่า

...

กลุ่มทะลุฟ้ามีจุดกำเนิดมาจากกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ซึ่งขณะนั้น (กุมภาพันธ์ 2564) ต๋งและเพื่อนๆแค่อยากเดินมาส่งเพื่อนก็คือไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เข้ากรุงเทพเพื่อรายงานตัวกับอัยการในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตอนที่คุยกันเรื่องกิจกรรมเดินยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าขบวนการทะลุฟ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า หรือสิ่งใดเลย เป็นแค่โปรเจคเดินที่ต๋งกับเพื่อนๆ รู้สึกว่าอยากเชื่อมเครือข่าย เชื่อมกับประชาชนต่างจังหวัด เพราะคิดว่าการจัดการชุมนุมสร้างความตระหนักรู้ได้เฉพาะแต่คนในเมือง หรือคนที่อยู่ในกรุงเทพเท่านั้น แต่เข้าไม่ถึงคนต่างจังหวัด แต่จริงๆแล้วคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีปัญหาที่ต้องการจะสื่อสารปัญหาเช่นกัน การเดินจึงไม่ใช่แค่มาส่งไผ่จตุภัทร์ แต่เป็นการรวบรวมปัญหาจากคนต่างจังหวัดมาบอกให้คนที่กรุงเทพรับรู้ด้วย เพราะถึงที่สุดกรุงเทพยังเป็นศูนย์รวมอำนาจ 

สำหรับชื่อ “ทะลุฟ้า” ต๋งระบุว่ามาจากพี่คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่เคยเดินเท้าเข้ากรุงเทพมาก่อนในโปรเจคเดินมิตรภาพ หรือ WeWalk ที่เดินเท้าจากกรุงเทพ ไปขอนแก่น โดยในขณะที่มีกิจกรรมเดินมิตรภาพ ไผ่จตุภัทร์ก็อยู่ระหว่างถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำในจังหวัดขอนแก่น การเดินทะลุฟ้าจึงเป็นการเดินย้อนจากโคราชเข้ากรุงเทพบ้าง และมีไผ่จตุภัทร์เป็นปลายทางเช่นเดียวกัน

...

สำหรับเหตุผลที่ทีมงานเลือกปักหมุดการเดินบนถนนมิตรภาพในภาคอีสาน ต๋งระบุว่าเป็นเพราะคนที่ร่วมเดินส่วนใหญ่เป็นเด็กอีสาน และส่วนหนึ่งก็เป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรมอันมี (UNME of Anarchy) ที่ไผ่จตุภัทร์เป็นคนร่วมก่อตั้งที่จังหวัดขอนแก่นมาก่อน ตัวของไผ่จตุภัทร์ ก็คนอีสาน คนที่ร่วมเดินที่ต่อมากลายเป็นสมาชิกทะลุฟ้าส่วนหนึ่ง เช่น ยาใจหรือ คาริมก็เป็นคนอีสาน คนที่มาร่วมเดินตั้งแต่ต้นต่างมีความเป็นอีสานอยู่ในตัวและวัฒนธรรมอีสานก็เป็นสิ่งที่คนในกลุ่มเข้าใจเหมือนกัน (ต๋งเองก็เป็นคนอีสาน เกิดที่อำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา) พวกเขาจึงเริ่มเดินจากภาคอีสานเข้ากรุงเทพ โดยคนกลุ่มแรกที่เริ่มเดินจะเป็นตัวของจตุภัทร์และทีมงานกลุ่ม UNME เป็นหลัก

แม้ในระยะตั้งต้นกลุ่มคนที่ร่วมเดินจะมาจากสมาชิกกลุ่ม UNME เป็นหลัก แต่ก็มีเครือข่ายอื่นๆมาร่วมเดินด้วย ที่สำคัญคือเครือข่าย People Go Network ซึ่งเคยจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพมาก่อน นอกจากนั้นก็มีเครือข่ายอื่นๆ เช่น ชาวบ้านนาหนองบง เครือข่ายที่ทำเรื่องคัดค้านเหมืองที่จังหวัดเลยก็มาร่วมเดินด้วยกัน ต๋งระบุว่า ตัวเธอก็ไม่ทราบว่าแต่ละเครือข่ายมาร่วมเดินเพราะอะไร แต่ก็ถือว่าเมื่อเครือข่ายเหล่านั้นมาร่วมเดินก็ถือว่ามีจุดมุ่งหมายเดียวกันแล้ว ต๋งระบุว่าแม้สมาชิกที่ริเริ่มกิจกรรมบางส่วนจะเป็นคนอีสาน แต่ก่อนหน้านั้นทางกลุ่ม UNME เคยจัดค่ายราษฎรออนทัวร์ไปศึกษาปัญหาในพื้นที่นาหนองบงซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็มีคนจากพื้นที่อื่นๆที่ไม่ใช่คนอีสานมาร่วมด้วย กิจกรรมเดินทะลุฟ้าจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนอีสาน 

ส่วนเหตุที่เลือกตัวเลข 247.5 กิโลเมตร เป็นระยะทางในการเดิน ต๋งระบุว่าทางทีมงานเลือกตัวเลขนี้ให้พ้องกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 แค่นอกจากนั้นก็มีเหตุผลด้านการจัดการด้วย เพราะในช่วงเริ่มกิจกรรมก็จวนได้เวลาที่จตุภัทร์จะต้องเข้ารายงานตัวกับอัยการแล้ว ระยะทาง 247.5 กิโลเมตรเป็นระยะทางที่ทีมงานเห็นว่าพอจะสามารถจัดการให้เดินมาถึงกรุงเทพภายในวันนัดที่จตุภัทร์จะต้องเข้ารายงานตัวได้ทัน

สำหรับข้อเรียกร้องของการเดิน ในช่วงที่มีกิจกรรมเดินทะลุฟ้า กลุ่มราษฎรชูข้อเรียกร้องหลักคือ 1.ให้พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพลาออก 2. ให้แก้รัฐธรรมนูญ และ 3.ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลุ่มทะลุฟ้าปรับข้อเรียกร้องใหม่เป็นย 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ยกเลิก 112 และ 4. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพลาออกไป ต๋งให้เหตุผลที่การเดินทะลุฟ้าเปลี่ยนข้อเรียกร้องไปจาก 3 ข้อเรียกร้องเดิมของราษฎรว่า คนที่เข้าร่วมกิจกรรมเดินทะลุฟ้าไม่ใช่คนที่เคลื่อนไหวในนามราษฎรทั้งหมด บางส่วนอาจจะมีความต้องการหรือจุดยืนที่แตกต่างกันโดยเฉพาะประเดก็นการปฏิรูปสถาบันฯ ก่อนเริ่มกิจกรรมไผ่จตุภัทร์และเครือข่ายที่จะร่วมเดินจึงประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเรียกร้องร่วมของกิจกรรมเดินทะลุฟ้าเอง

...

เมื่อถามว่าต๋งและเพื่อนๆคิดหรือไม่ว่า กิจกรรมเดินทะลุฟ้าจะขยายเป็นหมู่บ้านทะลุฟ้าและกลายเป็นกลุ่มทะลุฟ้าอย่างในปัจจุบัน ต๋งระบุว่า ตัวเธอไม่คาดคิดมาก่อนว่าทะลุฟ้าจะกลายเป็นทะลุฟ้าแบบทุกวันนี้ เธอและเพื่อนๆคิดแค่ว่าหลังจากเดินส่งไผ่จตุภัทร์เสร็จต้องทำอะไรต่อ พอส่งจตุภัทร์เข้ารายงานตัวกับอัยการเสร็จต๋งกับเพื่อนๆก็นั่งประชุมกันที่หน้าสำนักงานอัยการเลยว่าจะทำอะไรต่อดี  ต๋งเล่าว่ามีเพื่อนในขบวนคุยกันว่าอยากทำม็อบค้างคืน เพราะกิจกรรมเดินทำให้พวกเขามีโอกาสรับรู้ปัญหาจากภูมิภาคมาว่า คนจากภูมิภาคอยากมาชุมนุมในกรุงเทพ แต่พอเข้ามาแล้วก็จะไม่มีที่พัก พวกเธอเลยคิดกันว่าน่าจะจัดการชุมนุมแบบค้างคืนเพื่อเป็นที่พักให้กับคนจากภูมิภาค ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับฟังมาจากแม่บ้านที่เป็นพนักงานทำความสะอาดปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่แวะมาพูดคุยระหว่างที่ขบวนเดินแวะพักในปั๊มน้ำมัน

"ป้าแกถามว่ากรุงเทพไม่มีม็อบค้างคืนบ้างเหรอ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ป้าแกลางานมาร่วมม็อบที่กรุงเทพเพราะตอนนั้นประกาศกันว่าจะเป็นม็อบค้างคืน  ป้าเล่าว่าป้ามาแบบมีความหวังมาก แต่สุดท้ายตื่นเช้ามาวันที่ 20 กันยาฯ แกนนำก็ประกาศยุติการชุมนุม ป้าแกไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะหาที่พัก ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะสามารถอยู่ในกรุงเทพติดต่อกันได้หลายๆ วัน เลยต้องกลับบ้านโดยที่ได้ไปร่วมม็อบแค่วันเดียว แล้วก็ไม่มีโอกาสได้ไปม็อบที่กรุงเทพอีกเลย ป้ายังเล่าต่อว่าตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ ก็ได้ยินว่ากรุงเทพเขามีม็อบ 14 ตุลาฯ ม็อบ 6 ตุลาฯ ป้าอยากเข้ากรุงเทพไปร่วมมาก แต่ติดอยู่ที่ป้าไม่มีตังค์ จนถึงปัจจุบันป้าก็ยังยึดถืออุดมการเดิมอยู่"

เสียงจากแม่บ้านที่ต๋งและทีมงานได้พบเจอที่อำเภอปากช่อง ทำให้ในการจัดชุมนุมค้างคืน "หมู่บ้านทะลุฟ้า" ทีมงานจะพยายามทำให้คนจากต่างจังหวัดที่ต้องการมาร่วมชุมนุมสามารถมาร่วมชุมนุมค้างคืนโดยมีอาหารและที่พักให้

"เรารู้สึกว่าไม่อยากให้ความหวังมันหมดลง และไม่อยากให้เกิดช่องว่างหนึ่งขึ้นมาที่คนรู้สึกว่า อ้าว! ไม่มีอะไรต่อแล้วเหรอ อย่างน้อยทีมงานเราอยากหล่อเลี้ยงความหวังเหล่านี้ก็เลยจัดม็อบค้างคืนต่อเลย ตอนแรกคุยกันไว้ด้วยซ้ำว่าจะตั้งหมู่บ้านจนกว่าไผ่จะออกจากคุกมา จะอยู่กันไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายหมู่บ้านก่อน" ต๋งเล่าความหลังถึงการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า

...

เมื่อถามย้อนไปถึงการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าว่า คนนอกมาถามว่า พวกต๋งจะมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญทำไม มีการมีงานก็ทำไป จะมานอนข้างถนนทำไม ต๋งกับเพื่อนๆจะอธิบายว่าอย่างไร ต๋งระบุว่า 

"เราจะตอบไปว่า ใช่ค่ะ! เราต้องการสร้างความเดือดร้อน เพราะถ้าเราไม่สร้างความเดือดร้อนรัฐจะรับฟังพวกเราไหมหล่ะ แต่การสร้างความเดือดร้อนที่เราพูดหมายถึงการสร้างความเดือดร้อนให้กระทบกับรัฐ แต่เราจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กระทบกับประชาชน หรือบุคคลที่ไม่ได้รับรู้ และเราก็มองว่านี่แหละคือสันติวิธี ที่เรายึดถือ คำว่าสันติวิธี ไม่ได้แปลว่า สงบเรียบร้อย สันติวิธีของกลุ่มทะลุฟ้าก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้รัฐมันเร่าร้อน ลุ่มร้อนใจ ทำยังไงก็ได้ให้รัฐรู้สึกว่ามันกระทบกับรัฐ แต่ไม่ให้กระทบกับชีวิตของประชาชนคนอื่น ตอนนั้นที่คิดกันแบบนี้เพราะต้องการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ให้คนในสังคมตั้งคำถามว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

"ที่เราไปชุมนุมข้างทำเนียบฯ มันกระทบต่อรัฐแน่นอน เพราะฝั่งรัฐคงไม่รู้สึกดีหรอกที่มีคนที่คิดต่างกับเขา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาไปอยู่ข้างๆ ที่ทำงานของเขา ไม่งั้นเขาจะสั่งให้ตำรวจมาที่หมู่บ้านอย่างใกล้ชิดทำไมหลังจากที่มีป้าๆ ไปตะโกนเข้าไปในทำเนียบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยินจนโกรธ แล้วทุกวันเราก็จะมีโทรโข่งขยายเสียงพูดเสียงให้ได้ยินถึงทำเนียบรัฐบาลทุกวัน ถ้ารัฐไม่เดือดร้อนคงไม่สั่งตำรวจควบคุมฝูงชนมาสลายหมู่บ้านพวกเราหรอก สิ่งที่เราต้องการสร้างความเดือดร้อนให้คือรัฐที่อยู่ในอำนาจรัฐ ไม่ใช่ประชาชนที่อยู่ในรัฐ"

....

แม้ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 หมู่บ้านทะลุฟ้าที่ถูกตั้งขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2564 จะถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายและจับกุมคนที่ค้างคืนในหมู่บ้านไปดำเนินคดี แต่การสลายกลุ่มทะลุฟ้าก็ได้ทำให้เกิดกลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มกิจกรรมที่ยึดแนวทาง "จะต่อสู้กับความรุนแรงของรัฐด้วยความสนุกสนาน" ที่ยังคงเคลื่อนไหวมาและมีความเป็นองค์กรมากขึ้น ต๋งปิดท้ายเรื่องราวของกลุ่มทะลุฟ้าไว้ว่า

“ทะลุฟ้า มันคือแนวความคิด มันคือผู้คนที่คิดว่ากูอยากทำอะไรบางอย่าง เพราะกูไม่ชอบรัฐ กูอยากทำอะไรก็ได้ ความเป็นทะลุฟ้าเราอยากนำเสนอว่าเราเป็นคนปกติ ไม่ต้องมาเคลมตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรม แต่เราเป็นคนคนหนึ่งที่หาวิธีการสู้กับรัฐอาจจะด้วยวิธีการกวนส้นตีน แต่มันคือวิธีการที่มาจากเราจริงๆ ที่ไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์ หรือต้องทำตัวให้น่าเชื่อถืออะไรขนาดนั้น เราแค่ชัดเจนในสิ่งที่เราอยากทำ และมีเป้าหมายคือการกระทำของเราต้องทำให้รัฐกระเทือน และเดือดร้อน

ส่วนเป้าหมาย และจุดที่ต้องการที่แท้จริงของกลุ่มทะลุฟ้า คือต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง ต้องการให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลงในเชิงที่ว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านใด หรือของใครเราควรจะพูดได้ หรือตั้งคำถามกับมันได้ คำว่าทะลุฟ้า มันคือการทะลุไปเลย ไม่มีอะไรมากั้นอยู่แล้ว เช่นมีความกลัวมาจำกัดว่าสิ่งนั้นน่ากลัวจัง สิ่งนี้น่ากลัวจัง มาจำกัดเรา เพราะเราอยากให้ทุกคนเชื่อว่าคนทุกคนมันเท่ากันจริงๆ"

สัมภาษณ์ ต๋ง ทะลุฟ้า โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ถอดความและเรียบเรียงโดย อภิรักษ์ นันทาเสรี