สยาม หนึ่งในสมาชิก สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก เล่าว่า ตัวเธอเองไม่ได้เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกแต่เพิ่งมาร่วมเป็นสมาชิกในช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคม
สำหรับเพจเฟซบุ๊กสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกเริ่มต้นมาจากการเป็นเพจที่ใช้ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงเดือนมกราคม 2563 หลังจากนั้นการเคลื่อนไหวของเพจก็เงียบไป จนกระทั่งเมื่อเริ่มมีกระแสแฟลชมม็อบ
ในกรุงเทพ เพจวิ่งไล่ลุงร้อยเอ็ดก็เปลี่ยนเป็นเพจสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก
ในช่วงต้นของการจัดตั้ง สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกมีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมและนักเรียนเทคนิคนอกจากนั้นก็มีคนที่เรียนจบทำงานแล้วอีกสองถึงสามคน ส่วนนักศึกษาที่ร้อยเอ็ดก็มีมหาวิทยาลัยราชภัฎแต่พวกนักศึกษาจะมีกลุ่มกิจกรรมของเขาเอง อย่างไรก็ตามเวลาสหภาพฯจัดงานก็จะมีช่วยๆกันอยู่ สำหรับที่มาของชื่อสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ที่เรียกว่าสหภาพเป็นเพราะพวกเขาตั้งใจจะทำให้เป็นกลุ่มมีความหลากหลาย ส่วนคำว่าปลดแอกได้มาจากชื่อของกลุ่มเยาวชนปลดแอก
ทั้งนี้หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกก็มีนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่นำคำว่าปลดแอกไปใช้ เช่น ผู้หญิงปลดแอด บุรีรัมย์ปลดแอก และศิลปะปลดแอก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปเพื่อสื่อสารในสภาพสังคมในปัจจุบันมีสิ่งที่กดทับชีวิตคนอยู่ พวกเขาจึงต้องเคลื่อนไหวหรือต่อสู้ของเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการเหล่านั้น
สหภาพร้อยเอ็ดปลกแอกเริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยนัดหมายชุมนุมกันที่บึงพลาญชัย หลังประกาศจัดชุมนุมทางผู้จัดก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและกดดันไม่ให้จัดกิจกรรมแต่สุดท้ายทางผู้จัดก็สามารถปักธงจัดการชุมนุมครั้งแรกในพื้นที่ได้ การชุมนุมครั้งแรกของสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกมีประชาชนให้ความสนใจมาเข้าร่วมการชุมนุมประมาณสองถึงสามร้อยคนและมีคนจากส่วนกลางได้แก่ ไผ่ ดาวดิน และวงสามัญชน มาร่วมกิจกรรมบนเวทีด้วย สยามเองยอมรับว่าการชุมนุมครั้งแรกของทางกลุ่มมีคนมาร่วมน้อยโดยเฉพาะหากไปเทียบกับประเมินผู้เข้าร่วมการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆที่จัดการชุมนุมในเวลาไล่เลี่ยกัน
หลังจัดการชุมนุมครั้งแรกสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกจัดการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 3 กันยายน 2563 หรืออีกหนึ่งเดือนให้หลัง สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกจัดการชุมนุมที่บึงพลาญชัยอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ปรากฎว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางตาลงไปอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงนั้นมีฝนตกและการประชาสัมพันธ์ทำกระชั้นชิดเกินไป
การชุมนุมในครั้งที่สองมีแกนนำจากส่วนกลางทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิ้นและไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือแอมมี่ เดอะบอททอม บลูส์มาร่วมเวที ซึ่งต่อมาปรากฎว่าเพนกวิ้นก็ถูกดำเนินคดี 112 จากการขึ้นปราศรัยที่นี่
นอกจากการเคลื่อวไหวในพื้นที่ สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกก็มาร่วมการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพตามโอกาสด้วย ในการชุมนุมใหญ่การชุมนุมคณะราษฎร 14 ตุลาคม 2563 และการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ทางกลุ่มก็มาร่วมชุมนุมด้วยโดยเข้ามาช่วยงานเป็นฝ่ายสวัสดิการ โดยเฉพาะการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลา สยามกับทีมสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกล่วงหน้ามาตั้งเต็นท์ที่หน้าแม็คโดนัลด์ ราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม แต่ปรากฎว่าวันนั้นมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ สยามเองก็อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวไป
นอกจากการชุมนุมแล้ว สหภาพร้อยเอ็ดก็ทำกิจกรรมในส่วนอื่นด้วย เช่น ช่วงที่น้องนักเรียนในจังหวัดถูกครูหยิกแขนเพราะผูกโบว์ขาวในโรงเรียน ทางกลุ่มก็เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจนครูยอมออกมาขอโทษ
นอกจากนั้นในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่สิบมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปรากฎว่าสมาชิกกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้านและสถานศึกษาแม้จะไม่ได้ประกาศจัดการชุมนุมหรือมีแผนที่จะชุมนุม เพื่อเป็นการตอบโต้ทางกลุ่มเลยนำรถซาเล้งติดลำโพงแห่รอบเมืองเป็น "ขบวนสะเดิด" เพื่อตอบโต้การคุกคามของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
สยามเล่าด้วยว่าที่บ้านซึ่งทางสหภาพเช่าไว้เป็นที่ประชุมงานหรือสรรงสรรค์กันจะมีการแขวนป้ายรณรงค์ต่างๆ อาทิป้ายคัดค้านมาตรา 112 แขวนไว้นอกบ้านซึ่งก็ทำให้มีเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาถ่ายรูปที่บ้านเป็นระยะอยู่เหมือนกัน
สำหรับทิศทางหลังจากนี้ สยามระบุว่าทางกลุ่มคงต้องขยับไปทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นปากท้องควบคู่ไปด้วยเพราะมีประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนและขาดรายได้เพราะการแพร่ระบาดของโควิด 19
สยามตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ที่จังหวัดร้อยเอ็ดไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีมีการจัดการชุมนุมคนก็มาร่วมไม่มากนักน่าจะเป็นเพราะ ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดเล็กๆและในเมืองคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมชุมนุมมักเป็นคนที่ยังอยู่ในวัยศึกษา ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะต้องขยายไปทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นปากท้องเพื่อสร้างแนวร่วมให้มากขึ้น
สำหรับเสื้อ Democracy Never Smile ที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นเพื่อระดมทุนทำกิจกรรม สยามระบุว่าทางกลุ่มเลือกใช้ข้อความนี้เพราะต้องการสื่อว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง คำว่า Smile บนเสื้อตั้งใจสื่อความหมายว่าเบ่งบาน ซึ่ง Democracy never Smile ก็สื่อว่าประชาธิปไตยยังไม่เคยเบ่งบาน
ในช่วงที่มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพทางกลุ่มก็นำเสื้อตัวนี้มาจำหน่ายและก็มีคนซื้อไปพอสมควร
หมายเหตุ ภาพถ่ายการชุมนุมที่ร้อยเอ็ดจากเพจ สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก