ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักหมายถึงตัวตึก ตัวอาคารที่ถูกเก็บสะสมสมบัติของชาติ หรือวัตถุที่ถูกมองว่าเป็นของมีค่าไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์ หรือการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติ รัฐ อารยะธรรม หรือสถาบัน ที่ถูกยึดโยงและให้คุณค่าตามการสถาปนาอำนาจ ในขณะที่ของเก็บสะสมและถูกรวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สามัญชน คือการเก็บสิ่งของที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมทั้งบนท้องถนน รวมไปถึงการเรียกร้องประเด็นเชิงสังคมที่ตั้งคำถาม เรียกร้อง หรือต่อรองการผู้มีอำนาจอย่างอำนาจรัฐ
วัตถุที่ถูกสะสมโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชนเกิดจากการเก็บข้าวของที่เคยถูกใช้ในการต่อสู้บนท้องถนน รวมไปถึงการเรียกร้อง หรือรณรงค์จากภาคประชาสังคม วัตถุเหล่านี้ประกอบไปด้วยข้าวของที่ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ตามเก็บสะสมมาจากทั้งการชุมนุมเคลื่อนไหว รวมไปถึงกิจกรรมเสวนา โครงการณ์รณรงค์ต่างๆ รวมไปถึงได้รับบริจาคมาจากผู้คน หรือผู้ประท้วงที่เคยเดินถนนไม่ว่าจะประท้วง เรียกร้อง หรือเพื่อการแสดงออกทางความคิดความเห็นที่อยู่บนคนละฝั่งของขั้วอำนาจรัฐ
อาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์สามัญชนไม่เพียงท้าทายขนบธรรมเนียมการเก็บสะสมวัตถุ สิ่งของ แต่เป็นการให้คุณค่า เป็นการบันทึกความทรงจำ และเป็นขบวนการสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ถูกเขียนโดยรัฐ
นิทรรศการสะ-สม: ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเขียน ตั้งใจนำเสนอผลงานบางชิ้น-บางส่วนจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชน เพื่อฉายภาพจำและประสบการณ์ร่วมที่ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับวัตถุเหล่านี้ เนื้อหาสาระของนิทรรศการนี้ไม่ใช่เพียงวัตถุ หากเป็นกระบวนการของการเก็บสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปพร้อมๆกับการต่อสู้ของ ‘สามัญชน’
นิทรรศการ สะ-สม: ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเขียน โดย โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน ภัณฑารักษ์ ไลลา พิมานรัตน์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
(เผยแพร่ครั้งแรก เพจ Many Cuts Art Space 8 ตุลาคม 2563 - ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพบางส่วนจาก Many Cuts Art Space)