Skip to main content

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้ชวนครูสอนวิชาสังคมรุ่นใหม่มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในหัวข้อ ประวัติศาสตร์​ -​ สังคมศึกษา จะสร้างพลเมืองผู้ตื่นตัวตัวต้องสอนอย่างไร? โดยร่วมพูดคุยกับ ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล (ครูทิว) ครูสังคมโรงเรียนมัธยมของรัฐ และสมาชิกกลุ่มครูขอสอน และ ครูจิตตมาศ จิระสถิตย์พร (ครูออม) ครูสังคมโรงเรียนเอกชนและเจ้าของกลุ่มเฟซบุ๊ก กองดอง ในประเด็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยม ทั้งทางด้านหลักสูตร ระบบการสอบวัดผล รวมถึงพื้นที่ของสามัญชนและขบวนการประชาธิปไตยในตำราเรียนของไทย

โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้เรียนเชิญ อ.ธิกานต์ ศรีนารา นักวิชาการผู้เขียนหนังสือรักและการปฏิวัติมาร่วมกล่าวเปิดงาน และเล่าถึงเรื่องราวของ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในฐานะอาจารย์ที่เป็นกำลังสำคัญของขบวนการนักศึกษา เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเดือนแห่งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว

 

อยากให้ อ.ธิกานต์แนะนำหนังสือเมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า ว่าพูดถึงขบวนการนักศึกษาอย่างไรบ้าง และสามารถเชื่อมโยงกับขบวนการการเคลื่อนไหวในปัจจุบันอย่างไร

 

อ.ธิกานต์เล่าถึงช่วงที่เคยเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกว่า เดิมที อ.สุธาชัย เรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอ.ธงชัย วินิจจะกูล อ.สุธาชัยได้ร่วมชุมนุมกับขบวนการนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นได้เข้าป่าเพื่อร่วมขบวนการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเวลาหนึ่งปี ในช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งภายใน ทำให้นักศึกษาบางกลุ่มย้ายไปจังหวัดอื่น และบางกลุ่มได้กลับเข้าเมือง ซึ่งอ.สุธาชัยเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ย้ายกลับเข้าเมือง และได้มาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินรวิโรจน์

อ.สุธาชัย เริ่มทำวารสารการเมืองหลังออกจากป่า และได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยตลอด ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 อ.สุธาชัยก็เป็นสมาชิกพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม และทำการเคลื่อนไหวการเมืองกับ คนป. และได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนการการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

อ.ธิกานต์เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ยังเห็นอ.สุธาชัยพูดปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชน บางครั้งก็ไปร่วมออกรายการสนทนาการเมืองทางโทรทัศน์ อ.สุธาชัยเคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชน แต่ภายหลังไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากมีการเสนอมาตรา 7 (นายกฯ คนนอก) หลังจากนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญต่อขบวนการเสื้อแดง ในช่วงรัฐประหารปี 2557 คสช.เรียกคนไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ อ.สุธาชัยก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกเรียกตัวเช่นกัน

ส่วนหนึ่งของหนังสือ เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า : ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513 ถึง 2519 มาจากบทความ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร’ ที่อ.สุธาชัยเคยเขียนไว้ และอีกส่วนเขียนเพิ่มในช่วงปี 2555 เรื่องขบวนการนักศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับคนทั่วไป  เพราะไม่ค่อยมีใครเขียนถึง งานที่เขียนถึงก็มักจะเน้นเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา เช่น หนังสือ ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ’ ของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ แต่หนังสือของอ.สุธาชัยเขียนถึงการเข้าป่าของนักศึกษาช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และการจัดตั้งสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อ.ธิกานต์คิดว่าเป็นงานที่มีเสน่ห์ เพราะอ.สุธาชัยจำรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆได้ดี คิดว่าผู้สนใจทั่วไป รวมถึงนักศึกษาที่สนใจเงื่อนไข วิธีการการต่อสู้ และรูปแบบกิจกรรมในช่วงนั้น ร่วมถึงประเด็นต่างๆในหนังสือจะมีประโยชน์กับการถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบัน

 

เล่าถึงภาพรวมหลักสูตรสังคมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลไทย โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ว่ารัฐต้องการให้ผู้เรียนรับรู้อะไร และเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาจะนำความรู้ไปต่อยอดอย่างไรได้บ้าง

ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล (ครูทิว) เกริ่นนำว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมทุกสังคมจะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เวทีการศึกษาก็มีการช่วงชิงและประนีประนอมของกลุ่มต่างๆเช่นกัน และหลายครั้งเรามักจะไม่เห็นการเข้ามาควบคุมของอำนาจรัฐที่อยู่เหนือกว่า วิชาในกลุ่มสาระสังคมศึกษาเป็นวิชาหนึ่งที่รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหา เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง การส่งเสริมศีลธรรม หรือการที่รัฐพยายามรื้อเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และเขียนขึ้นมาใหม่อยู่หลายครั้ง ครูทิวยกตัวอย่างหลักสูตรปีการศึกษา 2553 มีการเพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์อีก 1 ชั่วโมง แสดงว่าตัวรัฐเองให้ความสนใจกับวิชาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่สามารถสอดแทรกหรือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อให้กับนักเรียนได้ 

ครูทิวอธิบายเพิ่มเติมถึงขอบเขตของวิชาในกลุ่มสาระสังคมศึกษาคือการสร้างพลเมือง แต่ก็มีหลายจุดที่ตนเองตั้งข้อสังเกต

หนึ่งคือเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรม ที่เน้นศาสนาพุทธมากกว่าศาสนาอื่น สาระที่สองคือหน้าที่พลเมือง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายและการรวมกลุ่มทางสังคม หลักสูตรของรัฐจะเน้นย้ำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการพูดถึงบทบาทของสถาบัน และพูดถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ที่มักจะมีตัวอย่างที่ตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เช่น ในหนังสือเรียนมีนักร้องคนหนึ่งถูกนำรูปมาใช้ในหนังสือเป็นตัวอย่างการรับค่านิยมจากตะวันตกที่ผิด แต่ก็ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าผิดอย่างไร

ส่วนสาระประวัติศาสตร์ ในตัวชี้วัดก็มีการพูดถึงกระบวนการทางประวัติศาสตร์ มักจะเรียนเรื่องอาณาจักรโบราณไล่มาตั้งแต่อดีต คือสุโขทัย ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประชาธิปไตย และหลังจากนั้นจึงเรียนประวัติศาสตร์โลก 

ครูทิวยกตัวอย่างของตัวชี้วัดที่พูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองในสมัยรัตนโกสินทร์ หลักสูตรทำให้เราต้องเชื่อว่าในช่วงนั้นมีความเจริญ และต้องหาสาเหตุของความเจริญนั้น และในหัวข้อย่อยก็จะพูดถึงพระมหากษัตริย์ในมุมมอง Great Man Theory คือความเจริญไม่ได้เกิดจากคนทั่วไป แต่เกิดจากผู้ยิ่งใหญ่ที่มีความสามารถมากกว่า ในหลักสูตรจะมีบทบาทของคนธรรมดาน้อยมาก หลายโรงเรียนพยายามสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ไม่ค่อยพูดถึงคนในท้องถิ่นที่มีความขัดแย้งกับรัฐ มักจะพูดถึงเฉพาะความจงรักภักดีต่อรัฐ จะเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือเรียนจะต้องผ่านตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ ครูหลายคนก็ไม่ได้สอนผ่านกิจกรรมหรือการเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน แต่สอนตามหลักสูตรในหนังสือที่บอกมาเป็นสูตรสำเร็จว่าพลเมืองดีคืออะไร อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนก็ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมในห้องเรียนและการตีความของผู้สอนด้วย ถ้าครูไม่เห็นอำนาจทางการเมือง หรือเห็นช่องทางที่จะถอดรื้อเนื้อหาในหนังสือเรียน ก็จะสร้างพลเมืองที่เชื่อฟังรัฐต่อไป

 

หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลหรือไม่

ครูจิตตมาศ จิระสถิตย์พร (ครูออม) เล่าว่า ถึงจะเป็นโรงเรียนเอกชนก็จำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางเช่นเดียวกับ โรงเรียนรัฐบาล การเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนมีความยืดหยุ่นมากกว่าก็จริง แต่ครูในโรงเรียนเอกชนก็ไม่ได้มีโอกาสร่วมออกข้อสอบในระดับชาติ ครูออมยกตัวอย่างการสอนระดับชั้นมัธยมต้น ที่ยังสามารถสอนแบบยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ แต่ถ้าเด็กอยู่มัธยมหก ครูก็ต้องสอนเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางเพื่อให้นักเรียนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วย ในโรงเรียนเอกชนที่ครูออมสอน สามารถออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่นได้ ครูจะเน้นสอนทักษะของเด็กและให้เด็กวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบันได้มากกว่าในโรงเรียนรัฐบาล และสามารถพาเด็กไปออกภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง แต่ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ถ้าทีมครู และผู้บริหารไม่ได้เห็นด้วยกับครูรุ่นใหม่

 

ตำราเรียนของโรงเรียนมีการให้พื้นที่เรื่องราวของสามัญชนที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์มากน้อย แค่ไหน และกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยบ้างหรือไม่

ครูออมเล่าว่าในโรงเรียนเอกชนที่ตนเองสอนอยู่ ไม่ได้ใช้ตำราเรียนแกนกลาง แต่จะให้อิสระครูในการเลือกหนังสือเรียน และให้นักเรียนลงพื้นที่ภาคสนามในชุมชน เป็นเวลาหลายวัน ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องราวของคนในพื้นที่จริงๆ แต่ในท้ายที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนในพื้นที่ก็อาจจะมีชุดความคิดคนละแบบกับที่ครูอยากให้  นักเรียนได้รู้ ครูก็จำเป็นต้องต้องศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งสองแบบคือจากภาครัฐและจากประชาชนจริงๆ 

ครูออมได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ให้นักเรียนศึกษาหมู่บ้านชาวประมงจังหวัดจันทบุรี ที่คนในหมู่บ้านก็จะมีเรื่องเล่าของตัวเอง ในบางครั้งเชื่อมโยงกับเรื่องราวของรัฐ เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนรู้ว่าประชาชนอยู่ร่วมกับรัฐได้อย่างไร และครูก็ต้องแนะนำให้เด็กหยิบยกเรื่องราวของประชาชนที่เขาได้ไปเรียนรู้มาสื่อสารให้สอดคล้องกับ เนื้อหาในห้องเรียนหรือสถานการณ์ในชีวิต สิ่งที่ครูออมได้เรียนรู้คือปฏิกิริยาของเด็กเมื่อรู้ว่าครูเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เด็กนักเรียนมีความสนใจเหตุการณ์เดือนตุลา และเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เด็กหลายคนคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หลายคนศึกษาสถานการณ์ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย เด็กบางคนก็เล่าให้ฟังว่าอยากไปเข้าร่วมการชุมนุมแต่ไม่สามารถไปได้ 

ครูออมเล่าเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ชอบในห้องสมุดของโรงเรียน ว่ามีหนังสือประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น หนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งหนังสือสามารถเป็นสิ่งที่จุดประกายและสื่อสารกับเด็กๆ ถึงสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้เช่นกัน

ส่วนครูทิวเล่าให้ฟังถึงบริบทของโรงเรียนรัฐบาลว่าที่จริงแล้วครูในโรงเรียนรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องสอน ตามหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียว แต่ครูต้องตระหนักถึงพลังและอิสระของตนเองที่จะสามารถออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง ในปัจจุบันครูหลายคนก็ไม่ใช้แบบเรียนของรัฐแล้วถ้าพูดถึงแบบเรียนทั่วไปครูทิวไม่คิดว่าสามัญชนจะมีตัวตนอยู่ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หนังสือเรียนมักจะพูดถึงบุคคลที่ยิ่งใหญ่ หรือคนในท้องถิ่นที่แสดงออกถึงการทำเพื่อชาติ การปกป้องบ้านเมือง เช่นชาวบ้านบางระจัน หรือย่าโม ในหนังสือเรียนอ้างถึงคณะราษฎร์และเหตุการณ์ 2475 อยู่บ้าง ส่วนเหตุการณ์เดือนตุลาจะไม่ลงรายะเอียดที่เกี่ยวกับการต่อสู้ แต่จะกล่าวถึงชื่อของรัฐมนตรีมากกว่า

ครูทิวยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์นอกตำรา ได้มีการหยิบยกบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสามัญชน และให้นักเรียนช่วยกันหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็นว่าสามัญชนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดในหนังสือ เรียน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่สามารถเล่าให้เพื่อนในห้องฟังได้ เช่นเหตุการณ์มรณสักขีแห่งสองคอน การต่อสู้ของกรรมกรโรงงานฮาร่า การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และนักเรียนยังได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสามัญชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่าง ลุงนวมทอง หรือจิตร ภูมิศักดิ์ กิจกรรมนี้ก็ทำให้เด็กๆตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีการพูดถึงคนเหล่านี้ในหนังสือเรียนบ้าง ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางสอนประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว ครูจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถทำข้อสอบได้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้เด็กได้รู้ว่าบางเรื่องไม่ได้มีคำตอบเพียงแค่คำตอบเดียว

ครูออมอธิบายว่าว่าโรงเรียนเองก็ต้องสอนให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ทางโรงเรียนที่สอนอยู่เชื่อในการเรียนรู้ของมนุษย์ และไม่จำกัดว่าครูต้องสอนให้นักเรียนมองประวัติศาสตร์แค่มิติเดียว ครั้งหนึ่งเห็นนักเรียนมัธยมนำหนังสือติวสอบมานั่งอ่านและทำข้อสอบด้วยตัวเอง ทำให้ครูออมเอะใจว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ที่สอนในโรงเรียนสอดคล้องกับสิ่งที่เด็กควรได้รับไหม รวมถึงพ่อแม่ของนักเรียนหลายคนก็คาดหวังมากกว่าสิ่งที่สอนในโรงเรียน นอกจากทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กในแบบที่โรงเรียนคาดหวังแล้ว นักเรียนก็จำเป็นต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ด้วย การที่นักเรียนถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่เป็นเรื่องน่าหดหู่สำหรับครู ในท้ายที่สุดเด็กก็ต้องจำเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็ตาม ครูก็ต้องให้เด็กตามทันสังคมและโลกความเป็นจริงได้เร็วที่สุด ครูออมเล่าว่าการสอนในห้องเรียนจะพยายามสอนนักเรียนให้เห็นมิติโลกปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นข้อสอบเรื่องการค้าประเวณี ครูก็จะพาให้รู้ว่าการค้าประเวณีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นทางเลือกของคนหลายคน รวมถึงการสอนให้เด็กเห็นมุมมองทางกฎหมายและศีลธรรมของอาชีพอื่นในสังคม

ครูออมมองว่าการพาเด็กกลับสู่โลกความเป็นจริงจะทำให้เด็กไม่ตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสาร และจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

ส่วนครูทิวเชื่อว่าการสอนสังคม และประวัติศาสตร์แบบเน้นเรื่องทักษะกระบวนการจะเป็นสิ่งที่ติดตัวนักเรียนไปจนโต แต่ถ้าจำเป็นต้องทำข้อสอบที่บังคับให้เลือกคำตอบเพียงข้อเดียวก็ต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อข้อสอบทุกอย่าง หลายครั้งนักเรียนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วนำข้อสอบที่เฉลยผิดกลับมาถาม  ครูก็จะให้ทางเลือกว่าถ้าต้องการแสดงจุดยืนก็อาจจะเขียนแย้งลงไปในข้อสอบ หรือยกมือค้านในห้องเรียน เพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนคนอื่นๆด้วย ถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ หรือถ้าชั่งน้ำหนักว่าผลประโยชน์สูงสุดคือต้องตอบให้ถูกก็อาจจะตอบไปก่อน แต่ให้รู้แก่ใจว่าสิ่งที่ควรตอบเป็นอย่างไร 

ครูทิวเห็นด้วยกับการคืนนักเรียนสู่โลกแห่งความเป็นจริง โดยการให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และสามารถแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายๆครั้งไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากขอบเขตที่จำกัด อย่างเช่นข้อสอบปรนัยที่นักเรียนจำเป็นต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว 

ในช่วงโควิดยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เนื่องจากเด็กสามารถนำข้อสอบกลับไปทำเองได้ ครูทิวจึงเปลี่ยนข้อสอบข้อเขียนจากการจำคำตอบมาตอบ เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ตามมุมมองของตนเอง โดยอ้างอิงจากเนื้อหาในหนังสือเรียนด้วย ทำให้เป็นข้อสอบที่เชื่อมโยงกับตัวเด็กเองและ เชื่อมโยงกับความเป็นจริง ในช่วงแรกนักเรียนก็คิดคำตอบไม่ได้ แต่ช่วงหลังก็ได้เห็นพัฒนาการ และครูหลายคนก็เห็นด้วยกับการพยายามให้เด็กเขียนถ่ายทอดและแสดงความคิดเห็น แต่ก็อยู่ที่ปัจจัยในชั้นเรียนว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้มาก น้อยแค่ไหนด้วย

 

ในเหตุการณ์ 2020 uprising ที่เด็กๆลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในแวดวงการศึกษาระดับมัธยมบ้าง และโรงเรียนมีการตอบสนองอย่างไรบ้าง

ครูทิวมองว่า 2020 Uprising สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพลเมือง เห็นเยาวชนลุกขึ้นมาส่งเสียงแบบจริงจัง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสมัยก่อนข้อมูลที่นักเรียนรับรู้มักจะมาจากครู หนังสือเรียน หรือห้องสมุด แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเด็กวัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น การที่เด็กเข้าถึงมุมมองที่ต่างออกไปเข้ามาทำให้เกิดการตั้งคำถาม และการตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พลเมืองตื่นตัว การตั้งคำถามเป็นหัวใจหลักของวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่มีชุดข้อมูลที่หลากหลายพอที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ 

ครูทิวมองว่าการตั้งคำถามของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการ เด็กในช่วงวัยก่อน 12 ปี จะเรียนรู้โดยการเชื่อข้อมูลตามที่คนรอบตัวบอก แต่ในช่วงวัยหลังจากนั้นจะพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และสร้างจุดยืนของตนเอง

ส่วนในด้านการการตอบสนองของโรงเรียนนั้น ครูทิวเล่าว่ามีนักเรียนตื่นตัวต่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มากเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนด้วย บางโรงเรียนอาจจะไม่ได้มีเรื่องที่กดดันจนทำให้นักเรียนระเบิด หรือบางโรงเรียนก็มีจุดแตกหักบางอย่าง ที่ทำให้นักเรียนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านได้เช่นกัน

โรงเรียนที่ครูทิวสอนอยู่ยังไม่มีปรากฎการณ์ที่ครูต่อต้านการไปร่วมชุมนุม เนื่องจากอยู่ไกลพื้นที่ชุมนุม และมีนักเรียนไปเข้าร่วมชุมนุมไม่มาก แต่ก็เห็นแรงเสียดทานของครูต่อการแสดงออกในโรงเรียนบ้าง ครูทิวก็พยายามเป็นพื้นที่ปลอดภัยและช่วยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นให้กับนักเรียน เพื่อช่วยให้เด็กรับมือกับความกังวลได้

ทางด้านครูออมนั้นเห็นด้วยกับครูทิว ว่าปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องที่เด็กต้องได้เห็นในโลกความเป็นจริง ในโรงเรียนที่ครูออมสอนอยู่ยังไม่มีเด็กที่ไปร่วมชุมนุม ทำให้ครูที่ไปเข้าร่วมต้องเอาประสบการณ์ของตนเองมาแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานความเป็นจริง เป็นการนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้ในอีกทางหนึ่งด้วย

 

อยากฝากอะไรถึงพิพิธภัณฑ์สามัญชนและครูท่านอื่นๆบ้าง

ครูทิวฝากถึงพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่าเป็นพื้นที่รวบรวมหลักฐานจากสถานการณ์ปัจจุบันและสิ่งของในพิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ ที่ทำให้นักเรียนคิดและสังเคราะห์ข้อสรุปผ่านมุมมองของตนเองได้ อีกทั้งยังอยากให้ครูหรือคนในวงการการศึกษาตั้งคำถามว่าเรามองพลเมืองในสังคมเป็นอย่างไร เราต้องการพลเมืองแบบใดในอนาคต 

ครูออมมองว่าการเรียนรู้ผ่านสิ่งของเป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจและสำคัญต่อเด็ก และมีครูหลายๆ คนที่ออกแบบการเรียนรู้ผ่านสิ่งของ เช่นในบทเรียนเรื่องกรุงเทพมหานคร ก็มีครูที่จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนลองหาสิ่งของรอบตัวที่มีความเชื่อมโยงกับสถานการณต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ 

สุดท้ายครูออมยังฝากถึงครูและผู้ฟังคลับเฮาส์ทุกท่านว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวังกับประเทศ เพราะยังมีเยาวชนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลง ในตอนนี้เราขาดแค่เสียงของคนที่จะส่งไปถึงรัฐ และครูก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลเมือง และเป็นกระบอกเสียงร่วมกับเด็กและเยาวชนได้เช่นกัน

ก่อนปิดห้อง มีผู้ฟังคลับเฮาส์ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยว่า นอกจากวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้ววิชาประวัติศาสตร์ควรผลักดันในเรื่องของการใช้งานหลักฐาน เช่น การใช้หลักฐานชั้นรองที่ในทางประวัติศาสตร์ถือว่ามีน้ำหนักไม่เท่าหลักฐานชั้นต้น และ แชร์มุมมองของผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ในออสเตรเลีย ว่าหลักสูตรไม่มองข้ามความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต มีการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กที่คนขาวกระทำต่อชนพื้นเมือง และการเรียนประวัติศาสตร์ของไทยและออสเตรเลียมีความแตกต่างกันคือในไทยการสอนเพียงด้านเดียว ทำให้เราไม่เคยเห็นข้อเสียของผู้นำ ถ้าเด็กไทยได้เรียนแบบวิเคราะห์ และได้รู้บริบทรอบด้าน จะสามารถสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ได้มากขึ้น