Skip to main content

8 มีนาคม 2564 ก่อนที่ไผ่จตุภัทร์ รุ้งปนัสยา และไมค์ภาณุพงศ์ 3 ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จะมีกำหนดเข้ารายงานตัวรับทราบคำสั่งคดีจากอัยการ กลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนที่อยากมาให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งสามรวมทั้งผู้ต้องหาคนอื่นๆที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุเดียวกันแต่ไม่มีข้อหาหร้ายแรงแห่งยุคสมัยได้ร่วมกันเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดที่อยู่บนถนนรัชดา

เมื่อขบวนไปถึงหน้าสำนักงานอัยการปรากฎภาพตามรายงานของสื่อว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อยืดพื้นขาวพิมพ์ใบหน้าชายหนุ่มคนหนึ่งในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวผูกเนคไทร์ผมเผ้ารุงรังไม่เป็นทรง ดูเผินๆเหมือนจะเป็นภาพของดีเจอ๋องแอ๋งสะบัดแผ่นแต่เมื่อดูใกล้ๆใบหน้านั้นกลับละม้ายคล้ายกับหนึ่งในผู้ต้องหาที่มีกำหนดเข้ารายงานตัวกับอัยการและมีโอกาสสูยสิ้นอิสรภาพในวันนั้น ใบหน้าของ จตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน"

"ป่าน" หนึ่งในนักกิจกรรมที่ร่วมเดินทะลุฟ้า 247.5 กิโลเมตรจากนครราชสีมาสู่กรุงเทพกับไผ่ดาวดินและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสื้อ "ดีเจไผ่สะบัดแผ่น" จับเข่าคุยกับพิพิธภัณฑ์ถึงความเป็นมาเป็นไปของเสื้อตัวนี้ที่แม้ตัวคนทำก็ไม่คาดคิดถึงความปังของมัน

"เราเริ่มทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาลัยแห่งนึงทางภาคใต้ นั่นทำให้เราได้รู้จักกับพี่ไผ่สมัยที่เรียนอยู่มหาลัยขอนแก่น พอถึงปี 58 ไผ่กับเพื่อนๆกลุ่มดาวดินเข้ามาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กับกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพจนเป็นคดี "14 นักศึกษา" ในปี 58 ก็เป็นเรานี่แหละที่รับหน้าที่ดูแลไผ่ตอนอยู่กรุงเทพ แล้วก็เลยเริ่มสนิทกับไผ่" (มั้ง ไม่รู้สิไม่อยากพูดฝ่ายเดียว หัวเราะ)

"เสื้อตัวนี้ที่มาของมันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย คือเราเห็นว่าช่วงหลังๆนักกิจกรรมชอบเอาเสื้อดีเจอ๋องแอ๋งมาใส่กัน แล้วเราเองก็ชอบแกล้งพี่ไผ่ (แม่พี่ไผ่ยังบอกเลย) เราเพิ่งเอาไอแพดไปซ่อมแล้วกู้ข้อมูลไปเจอรูปพี่ไผ่สมัยเป็นนักศึกษา (รูปบนเสื้อ) คือตอนที่พี่ไผ่ถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษามันมีนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งรวมทั้งเราที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปพี่ไผ่ แต่พี่ไผ่มันมันชอบรูปนี้มากๆเลยเว้ย"

"พี่ไผ่บอกว่ารูปนี้มันไม่หล่อ ไม่เท่ แล้วผมก็ไม่เป็นทรง (หัวเราะ) เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ พี่ไผ่มันขายหล่อไม่ได้ มันต้องขายขำ มึงจะเป็นคณะมาดแต่มึงไม่มีมาดเลย (ฮ่าฮ่า) เราคิดว่าต้องมาแบบฉีก ก็เลยส่งรูปนี้ไปทำเสื้อ"

"วันที่พี่ไผ่จะไปศาล เราเองไม่ได้คิดเรื่องที่แกจะถูกขังมาก่อน ก็แค่อยากแกล้งพี่ไผ่และหวังว่าถ้าพี่ไผ่เห็นเสื้อตัวนี้มันจะช่วยคลายความตึงเครียดก่อนเข้าไปรายงานตัวได้บ้าง เราบอกกับพี่ๆที่ช่วยจัดการเรื่องเสื้อว่าเราอยากได้วันนั้น (8 มีนาคม 2564) คือพี่ไผ่มันไม่รู้เรื่องเสื้อเลย มารู้ก็ตอนที่แม่กับน้องของพี่ไผ่ใส่แล้วเดินไปหาแก"

"เราสั่งทำเสื้อล็อตแรก 50 ตัว ใช้เงินของทีมเดินทะลุฟ้าทำ แล้วตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำขาย แค่จะแจกกันใส่ในทีมวันนั้น เป็นสัญลักษณ์ว่าแสตนด์บายไผ่ แสตนด์วิทยู คืออยากให้พี่ไผ่รู้ว่าเราซัพพอตกันนะ ส่วนอีกเหตุผลที่เราเจาะจงว่าต้องใส่วันนั้นเพราะถ้าเป็นวันอื่นมันคงด่าเปิงเลย (หัวเราะ)"

"พอพี่ไผ่เห็นเสื้อมันก็แบบโวยวายว่าใครทำวะ แต่เรารู้นะว่ามันรู้ว่าเราทำเพราะมีไม่กี่คนหรอกที่มีรูปนั้น รูปจากบัตรนักศึกษาของพี่ไผ่ แม่พี่ไผ่เองแซวเราอยู่ว่าเราชอบแกล้งพี่ไผ่แต่วันนั้น (8 มีนาคม 2564) กลายเป็นว่าแม่เป็นคนแรกที่เอาเสื้อตัวนี้ไปใส่"

"กลายเป็นว่าพอพี่ไผ่ติดคุกเสื้อตัวนี้มันก็เลยบูม วันที่ส.ส.โรมแต่งงาน (13 มีนาคม 2564) วงสามัญชนก็พากันใส่วงนี้ไป มันก็ทำให้รู้สึกว่าพี่ไผ่มึงไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่ข้างในคนเดียวนะ แต่มึงอยู่กับพวกเราทุกๆที่"

"พอทีมเดินทะลุฟ้าใส่กันวันที่พี่ไผ่ไปอัยการ แล้ววงสามัญชนก็ใส่ไปงานแต่งส.ส.โรม เสื้อตัวนี้ก็เลยบูมชนิดที่เราเองยังตกใจ มีคนถามกันมาเยอะว่าอยากได้จะสั่งที่ไหน เราก็เลยขอให้พี่ๆวงสามัญชนเอาไปทำขายแล้วเอารายได้เข้าวงไปเพราะเวลาพี่ๆเขาไปเล่นตามม็อบก็ไปฟรีกัน เราก็หวังว่าเงินจากการขายเสื้อก็คงพอจะช่วยให้พี่ๆวงสามัญชนมีกำลังทำเพลงรับใช้ขบวนได้ อีกอย่างวงสามัญชนก็เป็นวงที่อยู่กับพี่ไผ่มานานเท่าที่เรารู้ก็ตั้งแต่ปี 58หรือ59"

"เสื้อตัวนี้มันเกิดจากความตั้งใจที่เราจะแกล้งพี่ไผ่ แล้วก็อยากผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดของคดีวันนั้น แต่พอพี่ไผ่ติดคุกมันก็บูมซึ่งเอาจริงๆเราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น พี่ไผ่จะพูดกับเรา กับน้องเสมอว่าอย่ายึดติดกับตัวบุคคล พอทำเสื้อแบบนี้มันก็ดูแปลกๆอยู่ แต่ในมุมนึงเราคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะสื่อว่าพี่เค้าไม่ได้โดดเดี่ยว มันมีคนที่อยู่กับเค้า"

"เสื้อตัวนี้กลายเป็นเสื้อที่พี่ไผ่ใส่เข้าเรือนจำ ก็เป็นไปได้ว่าวันที่แกออกมาแกคงต้องใส่ตัวนี้ออกมา ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้เห็นแกใส่เสื้อตัวนี้กลับมาหาพวกเราเร็วๆนี้"

ภาพจากป่าน ทะลุฟ้า