Skip to main content

สรุป Clubhouse ทบทวน 15 ปีแห่งการต่อสู้ จาก 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ถึง 19 กันยา ทวงอำนาจราษฎร

 

“ภาพที่มีประชาชนไปมอบดอกไม้ให้ทหาร คิดว่าเป็นภาพที่เกิดจากการจัดตั้งของรัฐ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาถ่ายรูปกับรถถัง และในช่วงนั้นสวนดุสิตโพลล์ได้สำรวจข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ในวันที่มีการประท้วงค้านรัฐประหารหน้าสยามเซนเตอร์ มีผู้ร่วมชุมนุมถูกผู้ชายใส่เสื้อสีเหลืองตบหน้า แต่เขาไม่ได้ตอบโต้อะไรกลับไป”

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง ได้พูดย้อนไปถึงเหตุการณ์ช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 พิพิธภัณฑ์สามัญชนชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง พูดคุยผผ่านทาง Clubhouse ในโอกาสครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และครบรอบ 1 ปี การชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร เพื่อทบทวนความทรงจำ และย้อนดูวิวัฒนาการ และประวัติศาสตร์การต่อสู้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

 

ที่มาที่ไปของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) เล่าว่า ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่เกิดการรัฐประหารขึ้นได้ส่งข้อความถึงเพื่อนนักกิจกรรมผ่าน msn เพื่อนัดมาพูดคุยประเมินสถานการรัฐประหารในเย็นวันที่ 20 กันยายน 2549 สมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นเห็นตรงกันว่าควรออกแถลงการณ์ในนามเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร หลังจากนั้นก็เริ่มกระจายข่าวผ่านทางเว็บบอร์ด 19sep.com หนูหริ่งได้อธิบายเพิ่มเติมว่า คอนเทนต์เกี่ยวกับการเมืองในช่วงก่อนการรัฐประหารมักถูกพูดถึงในห้องสนทนาของเว็บไซต์พันทิป ทางเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องคัดกรองเนื้อหาที่อาจจะมีผลกระทบต่อเว็บไซต์ ทำให้หนูหริ่งก็ถูกลบแอคเคาท์ไปหลายรอบ จึงตัดสินใจทำเว็บบอร์ดของตัวเองขึ้นมา แต่ในที่สุดก็ถูกบล็อคไป

หลังจากการประชุมครั้งนั้น เครือข่ายตกลงกันว่าจะจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเย็นวันที่ 22 กันยายน 2549 การประท้วงครั้งแรกจัดขึ้นที่หน้าสยามเซนเตอร์ โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมใส่เสื้อสีดำ มีอาจารย์ใจลส์ อึ๊งภากรณ์ ร่วมชุมนุมด้วย หลังจากนั้นได้จัดการชุมนุมปราศรัยที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นคุณสิโรจน์ คล้ามไพบูลย์ขึ้นปราศรัย มีกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการร่วมจัดกิจกรรม และมีการเดินขบวนวันรัฐธรรมนูญ จากธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีจำนวนคนเข้าร่วมประมาณหลักพัน 

นักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงนั้นจะมีความเชื่อมโยงกับนักวิชาการ  และกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งในเวลาต่อมามีช่องทางกระจายข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ PTV โดยคุณจักรภพ เพ็ญแข, คุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และคุณจตุพร พรหมพันธุ์ และมีความเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทย

หลายคนเพิ่งเริ่มเคลื่อนไหว และสนใจการเมืองในรัฐบาลคสช. อยากให้หนูหริ่งประเมินภาพรัฐประหารปี 2549 ว่าเหมือนหรือต่างจากปี 2557 อย่างไรบ้าง

หนูหริ่งได้ชี้ให้เข้าใจว่าการต่อต้านรัฐประหาร ยังไม่เป็นประเด็นหลักในสังคมไทย และกลุ่มนักกิจกรรมเองก็มีความหวาดกลัวอยู่ไม่น้อย และในช่วงรัฐประหารปี 2549 ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่มากเท่าช่วงหลัง หนูหริ่งเองก็โดนคดีหมิ่นประมาทจากการจัดกิจกรรม แต่ช่วงรัฐประหารปี 2557 มีการจับกุมและเรียกนักกิจกรรมไปรายงานตัว รวมถึงมีการใช้มาตรา 112 และ 116 มากขึ้น

สถานการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นต่อเนื่องมาจากปี 2534 ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นปัญหาของการรัฐประหาร ทำให้มีคนออกมาต่อต้านไม่มาก แต่การรัฐประหารครั้งต่อๆ มาทำให้คนในสังคมมองเห็นปัญหามากขึ้น ในช่วงรัฐประหารปี 2557 มีปริมาณคนเข้าร่วมการชุมนุมมากพอสมควร เป็นผลให้การเคลื่อนไหวในปี 2557 มีความจริงจังมากกว่าช่วงปี 2549 เพราะคนจำนวนหนึ่งเห็นภาพของรัฐประหาร รวมถึงผ่านการประท้วงมาก่อนแล้ว

 

ขบวนการนักศึกษาในช่วงรัฐประหารปี 2549 เป็นอย่างไรบ้าง

โฉด (โชติศักดิ์ อ่อนสูง) ได้เล่าย้อนถึงกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาในช่วงปลายรัฐบาลชวน หลีกภัย ว่าเป็นช่วงที่นักศึกษายังไม่ค่อยสนใจประเด็นการเมือง จะมีการทำกิจกรรมต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า ต่อต้านการสร้างเขื่อน หรือประเด็นเกี่ยวกับแรงงานบ้าง 
ในช่วงนั้นนักศึกษากลุ่มหลักที่เคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองคือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่มีเครือข่าย 30 องค์กรทั่วประเทศ จะเน้นการทำกิจกรรมชมรม ค่ายอาสา ทำละคร ยื่นหนังสือ หรือจัดเสวนา 
ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 สมาชิกสนนท. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
โฉดคิดว่าการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นเหมือนเริ่มจากศูนย์ เนื่องจากมีมวลชนจำนวนน้อยที่ออกมาต่อต้าน และองค์กรบ้างส่วนก็เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

 

ในช่วงรัฐประหารปี 2549 มีประชาชนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ การรณรงค์ต่อต้านรัฐประหารในช่วงนั้นมีแรงเสียดทานจากคนในสังคมอย่างไร

หนูหริ่งเล่าถึงภาพที่มีประชาชนไปมอบดอกไม้ให้ทหาร คิดว่าเป็นภาพที่เกิดจากการจัดตั้งของรัฐ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาถ่ายรูปกับรถถัง และในช่วงนั้นสวนดุสิตโพลล์ได้สำรวจข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ในวันที่มีการประท้วงค้านรัฐประหารหน้าสยามเซนเตอร์ มีผู้ร่วมชุมนุมถูกผู้ชายใส่เสื้อสีเหลืองตบหน้า แต่เขาไม่ได้ตอบโต้อะไรกลับไป

แรงเสียดทานอีกด้านหนึ่งเกิดจากความคาดหวังต่อเพื่อนนักกิจกรรมและ NGO ที่ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2535 ในช่วงนั้นมีการถอดบทเรียนและทบทวนผลกระทบจากการรัฐประหารปี 2534 และมีความเห็นตรงกันว่าถ้ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกจะต้องต่อต้าน ทำให้หนูหริ่งก็คาดการณ์ว่านักกิจกรรมกลุ่มที่ไปร่วมสนับสนุนกับพันธมิตรจะกลับมาร่วมต่อต้านรัฐประหาร แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ มีนักกิจกรรมบางคนบอกว่าควรดูสถานการก่อน และบางคนก็สนับสนุนการรัฐประหาร


ในช่วงปี 2549 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารของขบวนการนักศึกษาในต่างจังหวัดบ้างไหม และการรัฐประหารส่งผลให้ประเด็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

โฉดเล่าว่าช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 นักศึกษาจะเคลื่อนไหวประเด็นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วทำให้ประเด็นอื่นหยุดชะงัก

ในช่วงปี 2549 ไม่เห็นการต่อต้านรัฐประหารของขบวนการนักศึกษาในต่างจังหวัด จะเห็นการเคลื่อนไหวเเรื่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญช่วงกลางปี 2550 ส่วนการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเทพกับต่างจังหวัดก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยในต่างจังหวัดจะรุนแรงมากกว่า จะมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน หรือข่มขู่นักกิจกรรมด้วย

ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในวันที่ 22 กันยายน 2549 และสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

หนูหริ่ง และโฉดเล่าว่าค่อนข้างกังวล เนื่องจากไม่รู้ว่าในกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นใครบ้าง มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ไม่หวังดีแอบแฝงมาหรือไม่ แต่ก็เตรียมใจมาในระดับหนึ่ง 

หนูหริ่งเล่าเสริมว่าในกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่สนามหลวงช่วงปี 2550 ผู้ช่วยที่เคยทำงานโรงงานทอผ้ามาช่วยในกลุ่มสันติวิธี ถูกทำร้ายหน้าหอพักจนสลบ โดยมีคนขับรถจักรยานยนต์ตามตั้งแต่สนามหลวง ต่อมาอาสาคนนั้นก็ไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีก หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ข่าวการคุกคามผู้ชุมนุมคนอื่น

ระหว่างการพูดคุย คุณสุชาติ ผู้ฟังท่านหนึ่งที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการในช่วงปี 2557 ได้เล่าเสริมว่า ในช่วงแรกกลุ่มคนวันเสาร์ตั้งใจเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. แบบไม่เปิดเผยตัวตน แต่ในช่วงหลังก็ได้เปิดเผยมากขึ้น ทำให้มีผู้ปราศรัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หนึ่งในนั้นคือคุณดา ตอร์ปิโด 

ในการจัดกิจกรรมโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อต่อต้านรัฐประหารในช่วงปี 2550 มีกระแสตอบรับอย่างไรบ้าง ถูกกดดันจากรัฐบาลและประชาชนบ้างไหม

หนูหริ่งเล่าว่า กิจกรรมในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คืนอำนาจให้ประชาชน เป้าหมายอีกอย่างคือต้องการติดตามการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่วมถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หนูหริ่งเลยศึกษาเรื่องวิธีการรณรงค์แบบใหม่ๆ เพิ่มเติม

มีวันหนึ่งจัดกิจกรรมยืนประท้วงที่รัฐสภา ร่วมกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยเริ่มต้นด้วยการใช้สัญลักษณ์สีแดงคือการไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาเริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์ตามสถานที่ต่างๆ มีการแจกสติ๊กเกอร์และใบปลิว รวมถึงจัดปราศรัยที่เชียงราย กิจกรรมครั้งนั้นทำให้หนูหริ่งถูกจับกุมอีกด้วย

 

อยากให้ช่วยถอดบทเรียนจากกิจกรรมนี้

หนูหริ่ง คิดว่าในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มากกว่าการรณรงค์ ด้วยเงื่อนไขทางเทคโนโลยี และจำนวนของคนที่สนใจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็มีสื่อเป็นเครื่องมือ และมีการใช้วาทกรรมโน้มน้าวประชาชน เช่น รับร่างไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง 

ในช่วงหนึ่งที่คุณอภิสิทธิ์พูดว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจจะเอาฉบับไหนมาใช้ก็ได้ หรือมีการโน้มน้าวว่ารับร่างแล้วจะจัดเลือกตั้งใหม่ ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก 

แต่ในปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น หนูหริ่งเชื่อว่าประชาชนจะไม่ถูกรัฐโน้มน้าวได้ง่าย และการมีโซเชียลมีเดียยังช่วยเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองให้กับประชาชนได้ดี

 

คิดว่าช่วงรัฐบาล คมช. นั้นเปิดกว้างกว่าช่วง คสช. ไหม

โฉดมองว่ารัฐบาล คมช.ยังอยากรักษาภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตย และแรงต่อต้านจากประชาชนยังไม่มากเท่าช่วงรัฐบาล คสช. ในช่วงหลัง มวลชนเสื้อแดงมีกำลังมากขึ้น และรัฐบาล คสช. เองน่าจะถอดบทเรียนจากการปฏิวัติปี 2549 ได้เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2553 พรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง อาจจะเป็นผลให้การปฏิวัติในปี 2557 มีความรุนแรงมากกว่า


คิดว่าการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนมากน้อยแค่ไหน

หนูหริ่งอธิบายว่าการรัฐประหารครั้ง 19 กันยาฯ  เหมือนประตูที่ทำให้กองทัพกลับเข้าสู่การเมือง เพราะก่อนการรัฐประหารปี 2549 ทหารไม่ได้อยู่ในสมการการเมือง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ส่งผลให้ทหารกลับเข้าสู่สนามการเมืองได้อีกครั้ง 

หนูหริ่งได้ยกตัวอย่างตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และยังมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย 
ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลคสช. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตนเองได้เปรียบ และเสนอยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้ได้จริงเนื่องจากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ผลจากการรัฐประหารยังทำให้คนที่มีศักยภาพทางการเมืองหายไปจากสภา เนื่องจากมาตรา 111 และบรรยากาศในสภาไม่ทำให้คนอยากมีส่วนร่วม รวมถึงเกิดความขัดแย้งทางการเมืองของคนในสังคม มีการแบ่งขั้วทางการเมืองเป็นฝั่งฝ่ายที่เป็นศัตรูกันชัดเจน ส่งผลให้ความหลากหลายของการพูดคุยประเด็นการเมืองในสังคมลดลง

 

คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวกลับมาชุมนุมทวงคืนอำนาจราษฎรในวันที่ 19 กันยายน 2563 และมีประเด็นใดที่น่าสนใจ

โฉดคิดว่า เกิดจากปัญหาที่สะสมมานาน คนหนุ่มสาวที่อายุยี่สิบปลายๆ คือกลุ่มคนที่โตทันช่วงรัฐประหารปี 2549 ส่วนคนหนุ่มสาวในช่วงอายุยี่สิบลงมาจะโตมากับรัฐบาลประยุทธ์ เลยทำให้รับรู้ผลกระทบจากเผด็จการ และมองไม่เห็นอนาคตถ้ายังอยู่ในรัฐบาลเผด็จการต่อไป 

ส่วนหนูหริ่งมองว่า ประเด็นที่น่าสนใจในการชุมนุมทวงคืนอำนาจราษฎรคือประเด็นเกี่ยวกับสถาบัน
เพราะช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 ได้มีการพูดถึงเรื่องสถาบันอยู่บ้าง และมีคนที่โดนคดีมาตรา 112 เช่น คุณสุวิชา ท่าค้อ, คุณดา ตอร์ปิโด และตัวของหนูหริ่งเอง ซึ่งในช่วงนั้นหนูหริ่งเองยังไม่เคยดันเพดานเรื่องมาตรา 112 เท่ากับเยาวชนรุ่นนี้ แต่คิดว่าโดนคดีเนื่องจากสามารถเชิญชวนมวลชนออกมาชุมนุมได้เป็นจำนวนมาก

 

คิดว่าการเคลื่อนไหววันที่ 19 กันยายน 2563 ประสบความสำเร็จในการช่วงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์หรือมิติอื่นๆ กลับคืนมามากน้อยแค่ไหน และอยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่บ้าง

หนูหริ่งคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรากฎตัวของขบวนการคนหนุ่มสาวทั้งเจเนอเรชั่น ที่สามารถทำได้มากกว่าในยุค 14ตุลา และ 6 ตุลา เนื่องจากความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้รับความสนใจตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงนักเรียนชั้นมัธยมต้น และสำนึกการเมืองติดไปกับคนรุ่นใหม่ ทำให้มั่นใจว่าหลังจากนี้การต่อสู้จะเบ่งบานต่อไปเรื่อยๆ 
ในปัจจุบันวัฒนธรรมการสื่อสารรวดเร็วกว่าช่วงก่อนหน้านี้มาก คนรุ่นใหม่มีความสามารถในการสืบค้นข้อมูล และไม่ติดภาพจำต่อการชุมนุมแบบเดิม ทำให้รูปแบบการเรียกร้องหลากหลายไปจากการเคลื่อนไหวช่วงปี 2549 หรือกลุ่มคนเดือนตุลา
ถ้ามองในมุมของการเมืองภาพใหญ่ หนูหริ่งคิดว่ารัฐบาลเผด็จการไม่สามารถแก้เกมในเรื่องข้อมูลได้ 

อีกประเด็นสำคัญคือการชูข้อสามในที่สาธารณะ ข้อมูลหลายเรื่องได้รับความสนใจจากประชาชนและส่งผลกระทบต่อรัฐ ทำให้กลุ่มราษฎรได้รับความสนใจอย่างมาก 

โฉดยกตัวอย่างเสริมว่า ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีทัศนคติต่างจาก ผบ.ทบ.ในวันนี้ และไม่เชื่อว่าโลกทัศน์เดิมๆของคนรุ่นหลังจะสืบทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ได้มากขนาดนั้น ซึ่งในระยะยาวฝ่ายเผด็จการจะยิ่งเสียเปรียบขึ้นเรื่อยๆ 

ผู้เข้าร่วมคลับเฮาส์ท่านหนึ่งได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจ เกี่ยวกับอำนาจศาล ว่าเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการต่อสู้กับเผด็จการในปัจจุบัน ซึ่งศาลยึดโยงกับกลุ่มชนชั้นนำและรัฐบาลเผด็จการมากกว่าประชาชน จึงควรปฏิรูปศาลให้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง และมีการเลือกตั้งประธานศาลฎีกา

สุดท้ายหนูหริ่งฝากถึงประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549 ให้ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเกมยาว และการประท้วงในปัจจุบันคือการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ เป็นขั้นตอนที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นปัญหา  แต่การจะออกแบบโครงสร้างใหม่จำเป็นต้องมองเห็นภาพอนาคตด้วย และจำเป็นต้องคิดถึงการรักษาและประคองกำลังใจและความปลอดภัยของมวลชน โดยให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ในอนาคตมีมวลชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น และรัฐบาลเผด็จการก็จะอ่อนแอลง

ถอดความและเรียบเรียงโดย: วรกมล องค์วานิชย์